การกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
  จำนวนคนเข้าชม  2506


การกำหนดวันสำคัญทางศาสนา

 

แปลโดย... อาจารย์มุหำหมัด บินต่วน

 

          คำฟัตวา จากคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการชี้ขาดปัญหาศาสนา (ประเทศซาอุดิอารเบีย) เกี่ยวกับการกำหนดวันสำคัญทางศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับการดูจันทร์เสี้ยวและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องของผู้ปฎิบัติตาม 

 

คำถาม

 

         อิสลามมีทรรศนะอย่างไร ? เกี่ยวกับการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาที่แตกต่างกันเช่น อีดอัลฟิตร และอีดอัลอัฎฮา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นผลทำให้มีการถือศีลอดในวันที่ห้ามการถือศีลอดเช่น วันอีดอัลฟิตร และงดการถือศีลอดในวันที่จำเป็นจะต้องทำการถือศีลอด เราหวังว่าจะได้รับคำตอบที่สมบูรณ์เกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญยิ่ง และถือเป็นหลักฐาน ณ ที่อัลลอฮฺ


           และหากว่าความแตกต่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ภายในสองวัน มันก็เป็นไปได้ที่จะเกิดวันอีดที่แตกต่างกันถึงสามวัน และด้วยเหตุที่อิสลามเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความแตกต่างดังกล่าว ดังนั้น อะไรคือแนวทางที่ถูกต้องที่ให้มุสลิมถือเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน?

 

คำตอบ

 

          บรรดาอุละมาอฺ (นักปราชญ์อิสลาม) มีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับความแตกต่างของการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัตละอฺ) ช่วงเริ่มต้นของเดือน เนื่องจากสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้โดยปริยาย ทั้งทางสติปัญญาและการสัมผัส แต่บรรดาอุละมาอฺมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการนำเอาความแตกต่างของการปรากฏจันทร์เสี้ยวในแต่ละส่วนมาเป็นบรรทัดฐานของการกำหนดการเริ่มต้นของเดือนรอมฎอนและการสิ้นสุดของเดือนหรือไม่

 

          บรรดาผู้รู้ (อุละมาอฺ) มีทรรศนะในเรื่องดังกล่าวสองทรรศนะ คือทรรศนะที่ถือเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัตละอฺ) ในแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนดในการดูจันทร์เสี้ยวและทรรศนะไม่ถือเอาความแตกต่างของตำแหน่งของการปรากฏของจันทร์เสี้ยวเป็นตัวกำหนดในการดูดวงจันทร์เสี้ยว ซึ่งนักวิชาการ (ผู้รู้) ทั้งสองกลุ่มต่างก็แสดงหลักฐานทั้งที่เป็น อัลกุรอาน , อัลหะดีษ และหลักอนุมาน (กิยาส) ซึ่งในบางครั้ง นักวิชาการทั้งสองกลุ่มก็ใช้ตัวบทเดียวกันในการอ้างหลักฐาน 

 

พระดำรัสของ อัลลอฮฺ

 

 { فَمَنْ َشهِدَ ِمنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ }  

 

ดังนั้นผู้ใดในหมู่สูเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอด ” 

(อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 185) 

และพระดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลา

 

 { يَسْأَلُوْنَكَ عَنِ الأَهِلَّةِ قُلْ هِيَ مَوَاقِيْتُ للنَّاسِ } 

 

พวกเขาเหล่านั้นจะถามเจ้าเกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิดว่ามันคือกำหนดเวลาต่างๆ สำหรับมนุษย์ ” 

(อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 189) 

 

และจากพระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซั้ลลัม

 

(( صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَ أَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ )) 

 

     “สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน) และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน” 

 

          ดังกล่าวคือตัวบทของบรรดาผู้รู้ทั้งสองทรรศนะที่นำมาอ้างเป็นหลักฐาน แต่พวกเขามีความเห็นที่แตกต่างกันในความเข้าใจตัวบทและแนวทางในการนำเอาตัวบทมาอ้างอิงในเรื่องดังกล่าว

 

         ดังนั้นจึงพูดโดยสรุป ก็คือการขอคำชี้ขาดในเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นการขอคำชี้ขาดในปัญหาเชิงทฤษฎีที่เปิดช่องทางให้มีการวินิจฉัยปัญหาในตัวมันเอง และด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้บรรดานักนิติศาสตร์อิสลามทั้งในอดีตและปัจจุบันมีทรรศนะในเรื่องดังกล่าวที่ต่างกัน 

 

          ดังนั้นจึงไม่เป็นบาปแต่ประการใดสำหรับชาวเมืองหนึ่งเมืองใด เมื่อพวกเขาไม่เห็นจันทร์เสี้ยวในค่ำคืนที่ 30 ของเดือน พวกเขาก็จะยึดเอาการเห็นจันทร์เสี้ยวของทิศทางที่มิใช่การปรากฏของจันทร์เสี้ยวของพวกเขา (หมายถึงการเห็นจันทร์เสี้ยวของอีกเมืองหนึ่ง) หากพวกเขาได้รับการยืนยันที่เชื่อถือได้ในการปรากฏของจันทร์เสี้ยว 

 

          แต่หาก การกระทำดังกล่าวทำให้พวกเขาขัดแย้งกันในหมู่พวกเขา ก็ให้พวกเขายึดเอาคำตัดสินของผู้นำประเทศของพวกเขา หากผู้นำประเทศเป็นมุสลิม และหากผู้นำประเทศได้ตัดสินที่จะปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะ (คือทรรศนะที่ยึดถือดวงจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏที่แตกต่างกัน กับทรรศนะที่ไม่ยึดถือความแตกต่างของตำแหน่งที่ปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัตละอฺ) ) ก็ถือว่าคำตัดสินของผู้นำประเทศเป็นตัวชี้ขาด และเป็นการขจัดความขัดแย้งและจำเป็นที่ผู้อยู่ใต้การปกครองจะต้องปฏิบัติตาม

 

          แต่หากว่าผู้นำประเทศมิใช่มุสลิม ก็ให้ยึดถือเอาคำตัดสินของสภาองค์กรกลางอิสลามของประเทศของพวกเขา เพื่อรักษาการเป็นเอกภาพในการถือศีลอดเดือนรอมฎอน และการละหมาดอีดในประเทศของพวกเขา

 

          ขอดุอาต่อเอกองค์อัลลอฮฺได้ประทานความสำเร็จและทางนำที่ถูกต้องและขอพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานซอละวาตและสลามให้กับท่านศาสดามุฮัมมัดและวงศ์วานของท่านและบรรดาซอฮาบะฮฺทั้งหมด

 

 

 



#คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการชี้ขาดปัญหาศาสนา