ผู้ศรัทธาเท่านั้นที่ทะนุบำรุงรักษามัสญิด
  จำนวนคนเข้าชม  2277


ผู้ศรัทธาเท่านั้นที่ทะนุบำรุงรักษามัสญิด

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยต้องพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เราบางคนคงได้เคยดูคลิป หรือดูยูทุปที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดมัสญิดอัลหะรอมทั้งสองแห่ง หรือบางคนก็ได้มีโอกาสเดินทางไปทำอุมเราะฮฺ หรือไปทำหัจญ์ ก็จะต้องเคยเห็นพนักงานแผนกทำความสะอาดของมัสญิดอัลหะรอมทั้งสองแห่ง ได้เคยเห็นพวกเขาทำงาน แล้วเราก็อดไม่ได้ที่หยุดมองดูการทำงานของพวกเขา ดูด้วยความทึ่ง ดูด้วยความประทับใจในการทำงานของพวกเขาที่พร้อมเพรียง สอดรับกัน ซึ่งแสดงว่าต้องผ่านการฝึกฝน ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างดี 

 

          ซึ่งเบื้องหลังของการทำความสะอาดนี้ ต้องใช้บุคลากรจำนวนมากมาย โดยเป็นพนักงานทำความสะอาดจำนวนมากกว่าสองพันคนทั้งชายและหญิง ซึ่งก็จะต้องใช้เจ้าหน้าที่สำหรับการดูแลการทำงานของพนักงานในแผนกนี้มากกว่าสองร้อยคน โดยพนักงานทั้งหมดจะมีการผลัดเปลี่ยนเวรการทำความสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง และมีการดูแลรักษา ทำความสะอาดกันทุกวันโดยไม่มีวันหยุดเลย ทั้งดูดฝุ่น เช็ดถู เก็บขยะ ทำงานดูแลรักษาความสะอาดกันตลอดเวลาในทุก ๆพื้นที่ของมัสญิดอัลหะรอม นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำซัมซัมและน้ำหอมจากดอกกุหลาบมาใช้ทำความสะอาดในส่วนของอัลกะอ์บะฮฺอีกด้วย...

 

          นอกจากจะมีพนักงานแล้ว ก็ยังมีการนำเครื่องมือที่ทันสมัยมากมายมาใช้ในการทำความสะอาดอีกด้วย มีรถดูดฝุ่นมากกว่า 40 คัน มีรถสำหรับขนย้ายขยะมากกว่า 120 คัน ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องดูดฝุ่น ต้องใช้เคมีภัณฑ์จำนวนมากมาย ทั้งน้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ ..มีห้องน้ำมากกว่าหนึ่งหมื่นสี่พันห้องที่ต้องทำความสะอาดทุกวัน ..มีพรมที่ใช้ในมัสญิดอัลหะรอมมากกว่าสามหมื่นผืนที่จะต้องถูกทำความสะอาด 3 ครั้งต่อวัน ..มีการเก็บขยะจากถังเก็บขยะที่อยู่ในเขตมัสญิดอัลหะรอมมากกว่าสองพันถัง และมีการเก็บขยะทั้งหมด 25 ครั้งต่อวัน โดยจำนวนขยะที่เก็บได้ในแต่ละวันนั้น ว่ากันว่า อาจมากถึง 90 ตันเลยทีเดียว

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือ สิ่งที่ทางการของประเทศซาอุดิอารเบียได้ให้ความสำคัญ และยอมทุ่มงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล ให้กับการทะนุบำรุงดูแลรักษามัสญิดอัลหะรอมทั้งสองแห่งให้มีความสะอาด ให้มีระเบียบ ให้มีความสวยงาม ทำให้มัสญิดอัลหะรอมเป็นบ่อเกิดของความดีงามต่าง ๆ ..เป็นแหล่งของการศึกษาอัลกุรอาน ศึกษาอัลหะดีษ ..แหล่งของวิชาความรู้ในเรื่องราวของอัลอิสลาม ...มีการเอาใจใส่ที่จะทำให้ผู้คนมีสุขภาพพลานามัยที่ดี ไม่เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บแม้จะมีผู้คนจำนวนมากมายนับล้านคนมาอยู่รวมกัน ..ซึ่งการที่ทางการของประเทศซาอุดิอารเบียทำเช่นนี้ได้ ยอมทุ่มงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลในเรื่องนี้ได้นั้น ก็เนื่องมาจากการที่พวกเขาต้องรักและศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง

 

     ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 18 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

( إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللّهِ مَنْ آمَنَ بِاللّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاَةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلاَّ اللّهَ فَعَسَى أُوْلَئِكَ أَن يَكُونُواْ مِنَ الْمُهْتَدِينَ )

 

     “แท้จริง ผู้ที่จะทะนุบำรุง ดูแลรักษาบรรดามัสญิดของอัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีอีมาน มีการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ..ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ ..อีกทั้งเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ..และเป็นผู้ที่จ่ายซะกาต ..เขาจะไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น..ซึ่งบุคคลดังกล่าวนี้แหละคือผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งแนวทางอันถูกต้องอย่างแน่น่อน

 

          อายะฮฺนี้ ชี้ให้เราเห็นว่า ผู้ศรัทธาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่ทะนุบำรุง ดูแลรักษามัสญิด คำว่า يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللّهِ ทะนุบำรุง ดูแลรักษาบรรดามัสญิดของอัลลอฮฺ นั้น นักวิชาการของอัลอิสลามได้ให้ความหมายไว้ 2 ความหมายคือ ความหมายในด้านรูปธรรม และความหมายในด้านนามธรรม

 

     ความหมายในด้านรูปธรรม ก็คือการทะนุบำรุง ดูแล รักษาซ่อมแซม ให้มัสญิดอยู่ในสภาพที่ดี ให้มีความสะอาด มีระเบียบ มีความสวยงาม ตรงไหนที่ชำรุดทรุดโรม ผุพัง ก็ต้องหาช่างมาซ่อมแซม หาเจ้าหน้าที่มาดูแลมารักษา

 

     ส่วนความหมายในด้านนามธรรม ก็คือ การที่ผู้คนดำรงรักษาการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้มัสญิดเป็นสถานที่สำหรับการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นสถานที่สำหรับการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ ทำแต่สิ่งที่ดีงามอย่างแท้จริง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การทะนุบำรุง ดูแลรักษามัสญิดเป็นเรื่องที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้ความสำคัญและสั่งกำชับไว้ให้เราได้ดูแลในเรื่องนี้

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัตติรมิซีย์ ( โดยชัยค์อัลอัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะหิหฺ ) รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮาเล่าว่า

 

أَمَرَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِبِنَاءِ الْمَسَاجِدِ فِي الدُّورِ ( أي الأحياء ) وَأَنْ تُنَظَّفَ وَتُطَيَّبَ " .

 

     “ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้สั่งใช้ให้มีการสร้างมัสญิดในแต่ละหมู่บ้าน และให้มีการทำความสะอาด(มัสญิด) และดูแล(มัสญิดเหล่านั้น)ให้ดีงาม ให้มีกลิ่นหอม ให้เป็นระเบียบ

 

          นอกจากนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยังได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่ทำความสะอาดมัสญิดเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าคน ๆ นั้นจะไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงอะไร หรือไม่ได้เป็นคนสำคัญอะไร แต่เมื่อเขาเป็นผู้ที่ดูแลรักษามัสญิด ทำความสะอาดมัสญิด ท่านเราะซูลุลลอฮฺก็ยกย่องให้เกียรติต่อเขาเป็นอย่างยิ่ง

 

     อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า หญิงผิวดำคนหนึ่งซึ่งได้เคยทำความสะอาดมัสญิด 

     วันหนึ่งท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่เห็นนาง จึงได้ถามถึงว่าหายไปไหน 

     (บรรดาเศาะฮาบะฮฺ)จึงได้ตอบว่า นางเสียชีวิตแล้ว 

     ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้กล่าวว่า

 

قالَ: أَفلا كُنْتُمْ آذَنْتُمُونِي قالَ: فَكَأنَّهُمْ صَغَّرُوا أَمْرَهَا، أَوْ أَمْرَهُ، فَقالَ: دُلُّونِي علَى قَبْرِهِ فَدَلُّوهُ، فَصَلَّى عَلَيْهَا، ثُمَّ قالَ: إنَّ هذِه القُبُورَ مَمْلُوءَةٌ ظُلْمَةً علَى أَهْلِهَا، وإنَّ اللَّهَ عَزَّ وَجَلَّ يُنَوِّرُهَا لهمْ بصَلَاتي عليهم.

 

     “ทำไมพวกท่านจึงไม่บอกฉัน(ว่านางเสียชีวิต เพื่อที่ท่านเราะซูลุลลอฮฺจะได้ละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่นาง ) ราวกับว่า พวกเขาเห็นเรื่องของนางเป็นเรื่องเล็ก ๆ เห็นว่าไม่สำคัญ 

     แล้วท่านเราะซูลุลลอฮฺจึงได้กล่าวว่า พวกท่านจงพาฉันไปยังกุบูรของนาง

     เมื่อพวกเขาพาท่านเราะซูลุลลอฮฺไปถึงกุบูรของนาง ท่านเราะซูลุลลอฮฺก็ได้ละหมาดให้แก่นาง

     ต่อจากนั้น ท่านเราะซูลุลลอฮฺจึงได้กล่าวว่า แท้จริง กุบูรนี้เต็มไปด้วยความมืดมิด และแท้จริง อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลได้ทำให้กุบูรเหล่านี้สว่างไสวด้วยการละหมาดของฉันให้แก่พวกเขา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลหะดีษนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อคน ๆ หนึ่งที่ผู้คนมองเขาว่าเป็นคนธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้มีเกียรติยศอะไร ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร เมื่อเวลาที่เขาเสียชีวิตลง ผู้คนจึงไม่ได้แจ้งข่าวให้ท่านเราะซูลุลลอฮฺทราบ อาจจะเกรงว่าจะเป็นการรบกวนท่านเราะซูลุลลอฮฺ แต่ ทันทีที่ท่านเราะซูลุลลอฮฺทราบข่าวว่าหญิงผู้ที่ทำความสะอาดมัสญิดได้เสียชีวิต ท่านก็ตรงไปยังกุบูรของนาง แล้วก็ละหมาดให้แก่นาง นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ให้ความสำคัญกับการทะนุบำรุงดูแลรักษามัสญิดตลอดจนให้เกียรติต่อผู้ที่ทำความสะอาดมัสญิดด้วยนั่นเอง

 

          ดังนั้น สิ่งที่ทางการของประเทศซาอุดิอารเบียทำในเรื่องนี้ ลงทุนให้งบประมาณอย่างมากมายให้กับการทะนุบำรุงดูแลรักษามัสญิดอัลหะรอมดังที่เล่ามาข้างต้น นั่นก็คือ แบบอย่างให้เราได้นำมาปฏิบัติตามทั้งในด้านขององค์กรและในส่วนของปัจเจกชน เพราะเราก็ประกาศตัวเราว่าเป็นผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา .. เป็นผู้ที่เชื่อมั่นศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺว่ามีจริง จะเกิดขึ้นจริง..เป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาด ...ดำรงรักษาการจ่ายซะกาต ...อีกทั้งเรายังเป็นผู้ที่พยายามที่จะไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น เราจึงเป็นผู้เหมาะสมยิ่งที่จะเป็นผู้ที่ทะนุบำรุง ดูแลรักษามัสญิดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นองค์กรที่ยอมจ่ายเงินให้กับการทะนุบำรุง ดูแลรักษามัสญิด ..เป็นองค์กรที่ยอมจ่ายงบประมาณอย่างเต็มที่ที่สามารถจ่ายได้ เพื่อใช้ในการดูแลรักษามัสญิดให้มีความสะอาด มีระเบียบ จัดหาเจ้าหน้าที่สำหรับการทำความสะอาดมัสญิดให้เพียงพอ เพราะนอกจากจะช่วยให้มัสญิดสะอาดสะอ้านในทุก ๆพื้นที่แล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือผู้คนที่เราจ้างเขามา ทำให้เขามีรายได้ในการดำรงชีวิตอีกด้วย

 

          สำหรับในส่วนของปัจเจกชน ส่วนของแต่ละบุคคลนั้นก็สามารถดูแลรักษามัสญิดได้ด้วยการไม่ทำให้มัสญิดเปรอะเปื้อน ไม่ทำให้สกปรก ดูแลให้มีระเบียบเรียบร้อย ทำให้มัสญิดเป็นสถานที่สำหรับการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ ไม่ใช่การทำเรื่องที่เหลวไหล หรือไร้สาระ ...การบริจาคให้แก่มัสญิดก็เป็นแนวทางหนึ่งของการทะนุบำรุงรักษามัสญิด ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ หรือการบริจาคเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายเกี่ยวกับมัสญิด ...ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ มันคือการที่เราต้องเสียสละ เสียสละแรงกาย เสียสละทรัพย์สินเงินทอง เสียสละงบประมาณ.. บางทีเราก็อาจจะนึกเสียดาย ไม่อยากจ่ายออกไปมาก แต่หากเราตระหนักได้ว่า มัสญิดทั้งหลายนั้น คือบ้านของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราก็จะต้องยอมเสียสละในเรื่องนี้

 

     อัลหะดีษ ( الحديث القدسي )ในบันทึกของอิมามอบูนะอีม  รายงานจากท่านอบีสะอี๊ด อัลคุฎรีย์ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า แท้จริง ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า..อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า

 

بُيُوتي في الأرض المساجد نَّإ

 

แท้จริง บ้านของข้าบนแผ่นดินนี้ ก็คือ มัสญิดทั้งหลาย...”

 

          ดังนั้น เมื่อเรารักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราก็จะรักบ้านของพระองค์ด้วย แล้วเราก็จะทะนุบำรุง ดูแลรักษาบ้านของพระองค์อย่างดี ...เมื่อหัวใจของเราผูกพันอยู่กับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หัวใจของเราก็จะผูกพันอยู่กับมัสญิดด้วย และผู้ใดก็ตามที่หัวใจของเขาผูกพันอยู่กับมัสญิด เขาย่อมได้รับผลบุญต่าง ๆ มากมาย และหนึ่งในผลบุญนั้นก็คือ เขาจะได้เป็นคนหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับร่มเงาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺ ในวันที่ไม่มีร่มเงาใด ๆ อีกแล้วที่จะป้องกันเขาจากความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ในวันกิยามะฮฺได้ นอกจากร่มเงาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่จะประทานให้กับกลุ่มคน 7 กลุ่มเท่านั้น และ 1ใน 7 กลุ่มนั้นก็คือ คนที่หัวใจของเขารักและผูกพันอยู่กับมัสญิด

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่เห็นถึงความสำคัญของการทะนุบำรุงดูแลรักษามัสญิด และลงมือปฏิบัติในทางใดทางหนึ่งเพื่อยืนยันถึงการเป็นผู้ที่ يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللّهِ ทะนุบำรุง ดูแลรักษาบรรดามัสญิดของอัลลอฮฺ อย่างแท้จริง

 

 

 



( คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )