ฟอเร็กซ์ Forex ตามหลักอิสลาม
เรียบเรียง.... สมีธ อีซอ
FOREX ย่อมาจาก Foreign Exchange Market ตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน คือ การซื้อสกุลเงินหนึ่ง และทำการขายอีกสกุลเงินหนึ่ง (การแลกเปลี่ยน) ดังนั้น จะต้องมีการจับคู่กันของ 2 สกุลเงินเสมอ ซึ่งเรียกว่า คู่เงิน ยกตัวอย่างเช่น
- EUR/USD คู่เงินยูโร และดอลลาร์สหรัฐ
- USD/JPY คู่เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินเยน
- GBP/USD คู่เงินปอนด์ และดอลลาร์สหรัฐ
การซื้อขายฟอเร็กซ์นั้น คือ การลงทุนในสกุลเงินต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ ซึ่งใช้การเทรดผ่านบัญชีมาร์จิ้น ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการลงทุนสามารถผ่านโบรกเกอร์ หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการส่งคำสั่งซื้อ-ขายเข้าไปสู่ศูนย์กลางตลาดฟอเร็กซ์
ยกตัวอย่าง
การลงทุนซื้อเงิน EUR/USD เงินยูโรและดอลลาร์ ที่ราคา 1.38510 นั่นหมายถึง 1 ยูโร แลกได้ 1.38510 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากซื้อมาแล้วราคาดังกล่าวมีการขยับขึ้น เช่น 1.38520 ดอลลาร์สหรัฐ (0.00010) และถ้าหากได้ขายออกไป ผู้ลงทุนก็จะได้กำไร ในกรณีกลับกันถ้าปรับราคาลงก็จะเกิดการขาดทุน (การคิดคำนวณการปรับขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนในเรื่องของ Pip Point และ Lot size ไม่ขออธิบาย ณ ที่นี้)
ฟอเร็กซ์ลงทุนได้ทั้งขาขึ้นและขาลง
การลงทุนในหุ้นโดยทั่วไป จะมีการลงทุนในขาขึ้น กล่าวคือ ถ้าหากหุ้นราคาขึ้นยิ่งสูงยิ่งได้กำไร แต่ฟอเร็กซ์ สามารถลงทุนได้ทั้งขาขึ้นและขาลง เนื่องจากมีการจับคู่กันของ 2 สกุลเงิน ดังนั้น ถ้าหากเลือกลงทุนแบบ Buy หลักการก็จะเหมือนกับหุ้น ยิ่งราคา (สกุลเงินในตำแหน่งที่ 2 สูงขึ้น จากตัวอย่างคือ ดอลล่าร์เพิ่มขึ้น) ยิ่งได้กำไร ในกรณีกลับกันราคาลดลงยิ่งขาดทุน
แต่ถ้าหากเลือกลงทุนแบบ Sell ในทางกลับกันราคายิ่งลดลง (ราคาสกุลเงินในตำแหน่งที่ 2 จากตัวอย่างคือ ดอลล่าร์ลดลง) ผู้ลงทุนยิ่งจะได้กำไรมากขึ้น แต่ถ้าหากราคาเพิ่มขึ้นผู้ลงทุนขาดทุนมากขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะมีการลงทุนผู้ลงทุนต้องเลือกก่อน (เปิดออเดอร์) ว่าจะลงทุนในรูปแบบ Buy หรือ Sell
อันดับแรกก่อนที่จะมีการลงทุนฟอเร็กซ์ Forex จำเป็นต้องมีการเปิดบัญชีผ่านโบรกเกอร์หรือสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นบัญชีที่มีการใช้อัตราทด Leverage และมาร์จิ้น Margin
อัตราทด leverage اَلرَّافِعَة الْمَالِيَّة
Leverage คือ "อัตราทด" หมายถึงการใช้เงินน้อยกว่าเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวในการลงทุน เช่น อัตราทด Leverage 1:100
ยกตัวอย่าง
เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง โดยมีอัตรา Leverage ที่ 1:100 นั่นหมายถึง ผู้ลงทุน สามารถใช้เงินในบัญชีซื้อหุ้นที่มีราคาใหญ่กว่าเดิมได้ 100 เท่า ถ้าหากมีเงิน 1,000 USD 1,000 x 100 = 100,000 USD กล่าวคือ ผู้ลงทุนมีเงินเพียง 1% และโบรกเกอร์ให้กู้ยืม 99 % สำหรับ การใช้อัตราทด ทำให้มีเงินลงทุนมากขึ้น และสามารถทำกำไรได้มากขึ้นหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตามในกรณีขาดทุนก็จะขาดทุนหลายเท่าตัว (ล้างพอรต์) ดังนั้น การให้อัตราทด leverage ก็คือ การที่โบรกเกอร์ให้ผู้ลงทุนกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
มาร์จิ้น Margin اَلْهَامِش
มาร์จิ้น (Margin) คือ จำนวนเงินที่ต้องมีในบัญชีของผู้ลงทุนเพื่อเปิดและรักษาการซื้อขาย กล่าวคือ เงินหลักประกันที่อยู่ในบัญชีที่ถูกหักไว้เมื่อเปิด Order (สั่งซื้อขาย) และจะคืนให้เมื่อปิด Order ในส่วนของ Margin จะเกี่ยวข้องกันกับ ค่า Leverage ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้
- Leverage 1:1 ถ้าต้องการเปิด Order 1 Lot เราต้องใช้เงิน 100,000 USD เป็นเงินหลักประกัน (Margin) Margin = 100,000 USD
- แต่ถ้าใช้ Leverage ที 1:100 จะทำให้ Margin จะลดลง 100 เท่า จากที่ต้องวางเงินหลักประกัน 100,000 USD ก็จะเหลือเพียง 1,000 USD เท่านั้น
*ดังนั้น Margin = 1,000 USD ถือเป็นเงินหลักประกัน
SWAP فَوَائِدُ التَّبْيِيْتِ
Swap (สวอป) เงินค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเมื่อมีการเทรดข้ามคืน คือ ค่าผลต่างของอัตราดอกเบี้ย (overnight interest) ตามคู่เงินที่มีการเทรด โดยค่า Swap มีทั้งแบบ Debit หรือ Credit จะมีค่าทั้ง บวก (+) และ ลบ (-) ดังนั้น Swap ก็คือ ดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้หรือเสียไปให้กับโบรคเกอร์ เมื่อทำการเปิดออเดอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน หากไม่ต้องการให้มีค่า Swap ที่เป็นลบเกิดขึ้น จะต้องระวังในการเปิดออเดอร์ข้ามคืน โดยเฉพาะการเปิดออเดอร์ที่มีจำนวนหลาย ๆ สัญญา เป็นต้น หรือหลีกเลี่ยงโบรกเกอร์ที่คิดค่า Swap ชนิดเป็นลบแบบสูง ๆ
ข้อสรุป
การลงทุนในเฟอเร็กซ์ คือ การเปิดบัญชีผ่านโบรกเกอร์เพื่อลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 สกุลเงิน โดยใช้เงินทุนที่ได้รับอัตราทดเพิ่มมากขึ้นกว่าทุนที่มี่อยู่ (การให้ยืมจากโบรกเกอร์) ฟอเร็กซ์สามารถลงทุนได้ทั้งในขาขึ้นและขาลง เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดกำไรหลายเท่าตัวหรือขาดทุนหลายตัว สำหรับโบรกเกอร์จะได้ค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียมตอบแทนตามอัตราส่วนที่ผู้ลงทุนมีการซื้อขาย
สรุปธุรกรรมต่าง ๆ ในการลงทุนในฟอเร็กซ์ Forex
ก่อนที่จะพิจารณาว่า การลงทุนในฟอเร็กซ์ ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามหรือไม่ จำเป็นจะต้องสรุปธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการลงทุนในฟอเร็กซ์ ดังต่อไปนี้
- การซื้อ-ขาย โดยมุ่งหวังกำไร (การเทรดดิ้ง) ส่วนใหญ่จะอยู่ในการซื้อ-ขายเงินตราสกุลหลัก (การแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่าง ๆ ) ในกรณีฟอเร็กซ์ คือ การแลกเปลี่ยนของ 2 สกุลเงินที่จับคู่กัน
- การกู้ยืม คือ จำนวนเงินที่โบรกเกอร์ให้ยืมแก่ลูกค้าโดยตรง บางทีอาจเป็นธนาคาร หรืออาจเป็นสถาบันการเงินอื่น ๆ กล่าวคือ การให้อัตราทด (leverage) จากโบรกเกอร์ให้กับผู้ลงทุนนั่นเอง เช่น ในอัตราส่วน 1:100
- ดอกเบี้ย จะเกิดขึ้นในเรื่องของ SWAP رَسُوْمُ التَّبْيِيْتِ) หรือ(فَوَائِدُ التَّبْيِيْتِ หมายถึง ดอกเบี้ยที่จะได้หรือเสียไปให้กับโบรกเกอร์ เมื่อทำการเปิดออเดอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน โดยที่ไม่ได้มีการซื้อขาย บางแห่งอาจกำหนดเป็นจำนวนร้อยละ หรือเป็นจำนวนอื่น ๆ
- ค่านายหน้า หรือ ค่าธรรมเนียม คือ จำนวนเงินที่โบรกเกอร์ได้รับ เป็นผลมาจากการเทรดของผู้ลงทุน ตามอัตราส่วนที่สอดคล้องมูลค่าการซื้อและการขาย
- การจำนำหลักทรัพย์ (การค้ำประกัน) เป็นข้อผูกมัด โดยผู้ลงทุนเป็นผู้ค้ำ ซึ่งใช้หลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขายอยู่นำมาค้ำประกัน ถูกกำหนดให้เป็นการค้ำประกันให้กับเงินกู้ยืมของโบรกเกอร์ด้วย จึงทำให้โบรกเกอร์มีสิทธิในการขายหลักทรัพย์นี้ และนำมาชำระหนี้ในกรณีที่ผู้ลงทุนขาดทุนในอัตราส่วนที่ถูกกำหนดเอาไว้จากบัญชี
ข้อตัดสินตามหลักศาสนาอิสลามในการลงทุนฟอเร็กซ์ Forex
- SWAP (สวอป)
SWAP เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย (ริบา) อย่างชัดเจน เป็นผลมาจากเงินจำนวนหนึ่งที่เพิ่มเกินมาจากจำนวนเงินที่กู้ยืมไป ซึ่งถูกเรียกว่า SWAP (رَسُوْمُ التَّبْيِيْتِ أَوْ فَوَائِدُ التَّبْيِيْتِ โดยค่า Swap มีทั้งแบบ Debit และ Credit คือ มีค่าทั้ง บวก และ ลบ และสำหรับค่า Swap เมื่อเป็นบวกหมายความว่าจะได้กำไรขณะเปิดออเดอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน ถ้าเป็นลบก็จะหมายความว่าจะขาดทุน ดังนั้น จึงถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็น ริบา (ดอกเบี้ย) ที่ต้องห้าม
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَذَرُوا مَا بَقِيَ مِنَ الرِّبَا إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ * فَإِنْ لَمْ تَفْعَلُوا فَأْذَنُوا بِحَرْبٍ مِنَ اللَّهِ وَرَسُولِهِ وَإِنْ تُبْتُمْ فَلَكُمْ رُؤُوسُ أَمْوَالِكُمْ لَا تَظْلِمُونَ وَلَا تُظْلَمُونَ (البقرة: 279-278)-
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮ์ เถิด และจงละเว้นดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่เสีย หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา
และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตาม ก็พึงรู้ถึงสงครามจากอัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ (หมายถึง อัลลอฮ์ และศาสนทูตประกาศเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย)
และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้ว สำหรับพวกเจ้าก็คือ ต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรมและไม่ถูกอธรรม”
(อัลบะกอเราะฮฺ 278-279)
- การรวมกันของ 2 สัญญา
การลงทุนในฟอเร็กซ์ ทำให้เกิดการรวมกันของ 2 สัญญา หนึ่ง คือ สัญญาของการให้จากฝ่ายเดียว (ไม่มีผลตอบแทน) เช่น การให้กู้ยืม และสอง คือ สัญญาต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยน เช่น ค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้า (เป็นการตอบแทนผลประโยชน์) กล่าวคือ การที่โบรกเกอร์จะให้กู้ยืม พร้อมกับโบรกเกอร์จะได้รับค่าธรรมเนียมตอบแทน ซึ่งการรวมกันระหว่าง 2 สัญญาเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่ท่านร่อซู้ล ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لَا يَحِلُّ سَلَفٌ وَبَيْعٌ ، وَلَا شَرْطَانِ فِي بَيْعٍ ، وَلَا رِبْحُ مَا لَمْ تَضْمَنْ ، وَلَا بَيْعُ مَا لَيْسَ عِنْدَكَ
“ไม่อนุญาตการกู้ยืมเงิน (سَلَفٌ) อยู่พร้อมกับการขาย ( بَيْع) (รวมอยู่ในธุรกรรมเดียว) และไม่มี 2 เงื่อนไขอยู่ในการขายเดียว ไม่มีกำไรในสิ่งที่ยังไม่ได้รับประกัน (ยังไม่ได้รับสิ่งที่จะนำไปขาย) ไม่มีการขายในสิ่งที่ยังไม่มีอยู่กับท่าน”
ความหมายจากหะดีษ คือ ไม่อนุญาตการขายพร้อมกับตั้งเงื่อนไขการกู้ยืม เช่น คำพูดที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะขายผ้าผืนนี้ 10 บาท ให้กับท่าน โดยที่ท่านจะต้องให้ฉันยืม 10 บาท” ดังนั้น การขายโดยมีเงื่อนไขกู้ยืม จึงเป็นสัญญาที่โมฆะ เพราะมีสัญญาซื้อขายและสัญญาการยืมร่วมอยู่ด้วยกัน ท่านรอซู้ล ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ทรงห้ามเอาไว้ในหะดีษดังกล่าว
สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า การวมกันของ 2 สัญญา ทำให้การกู้ยืมเงิน มีผลประโยชน์ตอบแทน ในกรณีนี้ ผลประโยชน์ตอบแทน คือ การจะขายของให้ “ถ้าหากไม่ให้กู้ยืมเงินก็จะไม่ขายของให้” ดังนั้น การกู้ยืมที่มีผลประโยชน์ตอบแทน จะถือว่า ผลตอบแทนนั้น เป็นดอกเบี้ย (ริบา) ซึ่งนักวิชาการนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นพ้องในเรื่องนี้ ท่านรอซู้ล ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเอาไว้ว่า
كلُ قـَرْضٍ جَرَّ نَفْعًا فَهُوَ رِبَا
“การยืมที่มีผลประโยชน์ตอบแทน สิ่งนั่น คือ ริบา (ดอกเบี้ย)”
สำหรับในเรื่องการลงทุนฟอเร็กซ์นี้ ถึงแม้โบรกเกอร์ให้กู้ยืม (leverage) โดยไม่มีกำหนดดอกเบี้ยตอบแทน อย่างไรก็ตาม แต่โบรกเกอร์กำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าหากผู้ลงทุนได้เข้ามาเปิดบัญชี โบรกเกอร์ก็จะให้ยืมเงิน (หรือ การให้อัตราทด leverage 1:100) นั่นหมายถึง เป็นการให้กู้ยืม พร้อมกับตั้งเงื่อนไขจะต้องเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ หลังจากนั้น เมื่อมีการซื้อ-ขาย (เทรดดิ้ง) ทำให้โบรกเกอร์ได้รับค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทน
สรุปคือ การที่โบรกเกอร์ให้กู้ยืมเงินโดยจะได้รับค่าธรรมเนียมตามมาทีหลัง ตามหลักศาสนาถือว่าค่าธรรมเนียมเป็นผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมา เพราะตามหลักการกู้ยืมนั้น จะต้องไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม ดังนั้น การรวมของ 2 สัญญา การกู้ยืม และการได้รับผลตอบแทนจึงเป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่หะดีษได้ระบุเอาไว้
- ส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นการซื้อขายในสิ่งต้องห้าม
การซื้อ-ขาย (เทรดดิ้ง) ส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์โลกเกี่ยวข้องกับสัญญาที่ต้องห้าม เช่น การเทรดดิ้งหุ้นกู้ การเทรดดิ้งหุ้นสามัญของบริษัทที่ลงทุนในสิ่งต้องห้ามหรือเกี่ยวข้องกับริบา หรือการซื้อ-ขายสกุลเงินตราที่ไม่ได้มีการรับในทันที หรือการเทรดดิ้งในสัญญาออปชัน ฟิวเจอร์ เป็นต้น
- เกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจ
การซื้อ-ขาย (เทรดดิ้ง) ฟอเร็กซ์ ทำให้เกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ลงทุน รวมถึงเศรษฐกิจส่วนรวม เพราะทำให้เกิดหนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่ห์เหลี่ยม กลอุบาย การกักตุน และการผันผวนของราคา การเทรดดิ้งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ความมั่งคั่งอย่างรวดเร็ว และยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินในสังคมที่อยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงๆ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่หลอกลวง ซึ่งไม่ส่งผลดีกับทางเศรษฐกิจ
- การให้กู้ยืมของโบรกเกอร์ (leverage)
การให้กู้ยืม (leverage) ไม่มีการต่างฝ่ายต่างรับในทันที ที่เป็นการรับที่กระทำจริงๆ (فِعْلِيُّ) หรือการรับที่เป็นด้านการตัดสิน حُكْمِيٌّ) ( ในธุรกรรมการขายสกุลเงินนี้ โบรกเกอร์เสนอเงินกู้เพื่อลงทุนซื้อเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกมอบส่งให้กับลูกค้า (ผู้เปิดบัญชี) หากแต่ถูกใส่เอาไว้ในบัญชีที่เปิดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีการลงทุนนำไปซื้อสกุลเงินอื่นเข้ามาในบัญชี ดังนั้น เมื่อมีการขายเงินสกุลดังกล่าวออกไปอีกครั้ง (ได้กำไรจากการขาย และเบิกเงินออกมา) โดยเงินที่บริษัทให้ยืมมา ซึ่งเป็นเงินที่ลูกค้ายังไม่ได้ชำระใช้หนี้ ด้วยเหตุ นี้จึงเป็นการขัดแย้งต่อหลักการ เพราะไม่มีการต่างฝ่ายต่างรับทันทีในเรื่องของการแลกเปลี่ยน
- ไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินตราที่แท้จริง
การแลกเปลี่ยนเงินตรา 2 สกุลเงิน (اَلصَّرْفُ) เป็นสิ่งที่อนุญาตตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยมีเงือนไขว่า จะต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน และต่างฝ่ายต่างรับในทันที สำหรับลักษณะการเทรด Forex ที่แท้จริง คือ การฝากเงินเข้าโบรกเกอร์ และมีคำส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งการซื้อขายนั้นต้องเกิดขึ้นจริง หรืออีกความหมาย ถ้าหากผู้ลงทุนไม่ใช้ Leverage เลย แล้วส่งคำสั่งซื้อขาย 1 Lot ในค่าเงิน EURUSD ก็จะได้เงิน EURO มา 1 แสนยูโร อย่างนี้เรียกว่าซื้อขาย Forex จริงๆ
แต่ถ้าหากว่าการซื้อขายค่าเงินโดยการเปิดบัญชี แล้วทำการใช้ หรือ ไม่ใช้ Leverage และปรากฏว่าไม่ได้ทำการเชื่อมต่อเข้ากับระบบธนาคารกลาง นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้วไม่มีการส่งเงินจำนวนนั้นเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางเลย หรืออีกความหมาย ไม่ได้มีการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน หากแต่เป็นการพนันที่เอาการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจุดอ้างอิง โบรกเกอร์ลักษณะนี้เหมือนกับบ่อน เพียงแต่ว่าเกมส์การพนันประเภทนี้ มีอัตราการแพ้การชนะที่สามารถกำหนดได้เท่านั้นเอง อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่การเทรด Forex
ถ้าหากมีการเปรียบเทียบในกรณีเดียวกัน การที่จะซื้อเงิน USD dollar จะต้องไปที่ธนาคาร อย่างนี้ถืว่าเป็นการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง ซึ่งการซื้อขายดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจจริง ๆ อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นการ Trade Forex จากประเด็นดังกล่าวมีข้อมูลมายืนยันจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
“กรณีที่ปัจจุบันมีเว็บไซต์จากต่างประเทศชักชวนให้ประชาชนลงทุนในการซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศ ในลักษณะเก็งกำไรค่าเงินนั้น จากการศึกษาของ สศค. และธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจว่า การลงทุนเพื่อ เก็งกำไรดังกล่าวไม่ได้มีการซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศโดยตรง แต่เป็นเพียงกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีแม่ข่ายอยู่ในต่างประเทศ และผลการดำเนินการจะมีการชำระบัญชีของส่วนต่างที่เป็นผลกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการดำเนินธุรกรรม ในลักษณะดังกล่าว อาจมีความเสี่ยงทั้งจากความเสียหายจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและการผิดนัดชำระเงินคืน”
(สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)
ข้อสรุป
ถ้าหาก Forex ไม่มีการแลกเปลี่ยนของเงิน 2 สกุลที่แท้จริง ก็จะกลายเป็นการนำเงินทุนไปฝากบัญชีเพื่อเดิมพัน โดยไปอ้างอิงกับตัวเลขอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้ลงทุนต้องการให้ตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนขยับไปตามที่คาดหวัง สำหรับเงินทุนเดิมพันนั้นยังคงอยู่ในบัญชี (ไม่ได้ไปลงทุนหรือแลกเปลี่ยนใดๆ) เมื่อตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนขยับและผู้ลงทุนปิดออเดอร์ก็จะมีการชำระบัญชีของส่วนต่าง จึงส่งผลให้เกิดการได้หรือการเสีย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการพนันทั่วไป
สรุปข้อตัดสิน
ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา ทำให้การลงทุนในฟอเร็กซ์ จึงเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของอิสลาม ถึงแม้ในปัจจุบันมีบางบริษัทที่ใช้ชื่อว่าฟอเร็กซ์อิสลาม และได้อ้างว่าถูกต้องตามหลักการ ซึ่งบริษัทนั้นจะไม่มีการเรียกเก็บ SWAP ที่ถือเป็นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้ฟอเร็กซ์เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ SWAP อย่างเดียว หากแต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้บริษัทดังกล่าวนั้น ยังมีธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ
เนื้อหาบางส่วนมาจากหนังสือ “หุ้น ตราสารการเงินตามหลักอิสลาม (ดร.สมีธ อีซอ)”
อ้างอิง
- FOREXNEW.org, หลักการลงทุน FOREX การเทรดดิ้งตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงมืออาชีพ, 2018-2019, น.23.
- علي شمالي, التداول الإلكتروني في المصارف الإسلامية (الفوركس الإسلامي), (جمهورية العربية السورية: جامعة تشرين, 2107), ص 24-26.
- عاصم أحمد عطية بدوي ,أحكام الصرف الإلكتروني في الفقه الإسلامي ,( الجامعة الإسلامية-غزة , 2010) ص 93-140.
- مجلس المجمع الفقهي الإسلامي برابط العالم الإسلامي. في دورة الثامنة عشرة المنعقدة بمكة المكرمة (في الفترة من 12-18 ابريل 2006 ) في الموضوع "المتاجرة باالهامش"
- "حكم المتاجرة في العملات بنظام الفوركس مع دفع رسوم على التبييت", สืบค้น 16/02/2021, Islamic question and answers الاسلام سؤال والجواب,จากเว็บไซต์ https://islamqa.info/ar , https://shorturl.asia/keYli
- มาร์จิ้น Margin Forex คืออะไร, สืบค้น16/02/2021, จากเว็บไซต์ Forexinthai.com , https://shorturl.asia/jFtWp
- Swap คือ อะไร, สืบค้น 16/02/2021, จากเว็บไวต์ Forexthai.in.th, https://shorturl.asia/9agdN
- การเทรดฟอเร็กซ์ผิดกฏหมายหรือไม่, สืบค้น 16/02/2021,จากเว็บไซต์ Thaibrokerforex.com, https://bit.ly/2NmJxIB
- คำตอบข้อร้องเรียน จากคำถามขอความอนุเคราะห์คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการเทรด forex, สืบค้น 16/02/2021,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค), จากเว็บไซต์ www2.fpo.go.th, https://shorturl.asia/mwjLo