ภาษาอาหรับภาษาอัลกุรอาน
  จำนวนคนเข้าชม  4516


ภาษาอาหรับภาษาอัลกุรอาน

 

โดย.... .อิหฺซาน มีพลกิจ

 

         อัลกุรอานเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางภาษาที่ท้าทายมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถที่จะนำมาให้เหมือนอัลกุรอานได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางสำนวนหรือทางความหมายก็ตาม นักวิชาการได้กล่าวถึงอัลกุรอานว่า :

 

     “อัลกุรอาน คือ มัวะญิซะฮ์ที่ยังคงอยู่ตลอดกาล ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปสักเท่าไหร่ก็ตาม และบรรดาปัญญาชนทั้งหลายที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ ก็สามารถเข้าถึงความมหัศจรรย์ของอัลกุรอานได้ โดยผ่านการแปลและการอธิบายตีความ

 

          อัลลอฮฺ ทรงท้าทายนักวิชาการชาวอาหรับในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ให้นำมาเพียงอายะฮฺเดียวให้เหมือนกับอัลกุรอาน แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่สามารถนำมาได้เลย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นนักปราชญ์ที่เชี่ยวชาญทางภาษาอาหรับและการแต่งบทกวี แต่ก็ไม่สามารถที่จะประพันธ์ให้เหมือนกับอัลกุรอานที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้นำมาได้ อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า :

 

     “และหากพวกเจ้าสงสัยในสิ่งที่ถูกประทานลงมา (อัลกุรอาน) แก่บ่าว (มุฮัมมัด) ของเราแล้ว ก็จงนำมาสักซูเราะฮฺหนึ่งที่เหมือนเฉกเช่นกับอัลกุรอาน

(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 23)

 

     ท่านอบูอุบัยดะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า มีชายชาวอาหรับท่านหนึ่งได้ยินอัลกุรอานอายะฮฺหนึ่งที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า :

 

ดังนั้น เจ้าจงป่าวประกาศอย่างเปิดเผยในสิ่งที่ถูกใช้ และจงผินหลังให้กับพวกมุชริกเถิด

(อัลฮิญร์รฺ 15 : 94)

 

         ชายอาหรับท่านนี้ก็ก้มลงสุญูดทันทีเมื่อได้ยินอายะฮฺดังกล่าว พร้อมกับได้กล่าวว่าข้าพเจ้าสุญูดเพราะประทับใจก็คือ คำว่า " اصدع " ซึ่งเป็นคำศัพท์คำเดียวแต่ให้ความหมายที่กว้าง ลึกซึ้งและกินใจ ซึ่งคำดังกล่าวหมายถึงจงทำการเผยแผ่อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใด

          บรรดาชาวกุรอยช์จะไม่ยินยอมให้ใครฟังอัลกุรอานโดยเด็ดขาด เพราะพวกเขาเข้าใจดีว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ที่ได้สดับฟังอัลกุรอานแล้ว เป็นต้องประทับใจ หลงใหล และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจนเข้ารับอิสลาม ดังนั้น พวกเขาจะกำชับกันไม่ให้ฟังอัลกุรอาน หรือหากใครที่ได้ยินการอ่านอัลกุรอานก็ให้เบือนหน้าหนีไปให้ไกล หรือไม่ก็เฉไฉด้วยการสร้างสถานการณ์ก่อความวุ่นวาย ส่งเสียงดัง เพื่อจะได้กลบเสียงอัลกุรอาน หรือไม่ก็ทำการก่อกวนผู้อ่านให้อ่านผิดหรือไม่มีสมาธิในการอ่าน

ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า :

 

     “และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาได้กล่าวว่า พวกท่านอย่าได้ฟังอัลกุรอาน แต่จงทำเสียงรบกวนเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้มีชัยเหนือกว่า

(ฟุตซิลัต 41 : 26)

 

           ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าบรรดาชาวกุรอยช์จะไม่ยอมฟังอัลกุรอานโดยเด็ดขาด เพราะพวกเขาต่างทราบดีว่า ใครก็ตามที่ได้รับฟังการอ่านอัลกุรอานแล้ว แน่นอน เขาจะเกิดความประทับใจ จะต้องหลงใหลในสำนวน และซาบซึ่งในความหมาย นั่นก็หมายความว่าอัลกุรอานนั้นเป็นภาษาที่มีความเป็นเลิศ มีความมหัศจรรย์ ไม่ว่าจะในด้านภาษาหรือความหมายก็ตาม และแน่นอน ผู้ที่จะสามารถเข้าใจอัลกุรอานได้อย่างดีและลึกซึ้งนั้น เขาก็จะต้องศึกษาเล่าเรียนภาษาอาหรับจนเกิดความแตกฉานให้ได้เป็นอันดับแรกเสียก่อน

 

          นับตั้งแต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับวะฮีย์ ท่านนบีได้นำเอาเรื่องราวคำสอนต่าง ๆ ที่อยู่ในอัลกุรอานมาถ่ายทอด ตักเตือนให้กับมนุษย์ในเรื่องการดำรงชีวิตบนโลกดุนยา และเรื่องราวของโลกหน้าอาคิเราะฮฺและสิ่งที่นับว่าเป็นสิ่งสูงสุดที่บรรดาผู้ศรัทธาควรเรียนรู้ก็คือการได้รู้จักอัลลอฮฺพระเจ้าที่แท้จริง ดังนั้น การเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งเป็นอันดับแรกก็คือ การเรียนรู้หลักการเตาฮีด และต่อมาก็เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับบัญญัติต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนหรือผู้สอน หากไม่ศึกษาภาษาอาหรับให้แตกฉานเสียก่อน ก็จะไม่สามารถเข้าถึงเรื่องราวของอัลลอฮฺและบัญญัติแห่งศาสนาได้เลย

 

          ดังนั้น ภาษาอาหรับจึงเป็นกุญแจหรือเครื่องมือที่มีความสำคัญที่สุด ที่มุสลิมทุก ๆ คน จะต้องศึกษาเพื่อที่จะได้เข้าถึงหลักการของศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง ดังกฎเกณฑ์ทางนิติบัญญัติที่กล่าวว่า :

 

อะไรที่วาญิบจำเป็นและจะไม่สมบูรณ์ได้ เว้นแต่ต้องมีสิ่งนั้นมาเติมเต็ม สิ่งนั้นย่อมจำเป็นเช่นกัน

 

          ในเมื่อภาษาอาหรับคือกุญแจที่จะนำไปสู่ความเข้าใจอัลกุรอานที่เป็นบัญญัติสูงสุดสำหรับมนุษยชาติแล้ว แน่นอน การเรียนภาษาอาหรับเพื่อเข้าใจอัลกุรอานก็จะต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องให้ความสำคัญที่สุดเช่นกัน

 

          บรรดามัซฮับต่าง ๆ ตลอดจนบรรดานักวิชาการทั้งหลายต่างก็ยอมรับว่า การที่จะเข้าใจเรื่องราวของอัลกุรอานนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาหรือเข้าใจเรื่องของภาษาอาหรับให้ดีเสียก่อน เช่น ไวยกรณ์ การผันคำ สำนวนโวหาร เป็นต้น ดังที่อุละมาอฺบางท่านได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

 

ความรู้ทางภาษาเป็นกุญแจไขสู่เรื่องบทบัญญัติต่าง ๆ

 

          ประชาชาติอิสลามทั้งหลาย พวกเราทุก ๆ คนเป็นอุมมะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีอิสลามเป็นศาสนา มีอัลกุรอาน เป็นรัฐธรรมนูญที่สำคัญและสูงที่สุด ซึ่งอิสลามจะอยู่ได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลปกป้อง รักษาอัลกุรอานให้คงอยู่สมบูรณ์ และแน่นอน การรักษาที่ได้ผลมากที่สุดนั่นก็คือ การรักษาด้านความหมายและเนื้อหาสาระซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากจะต้องศึกษาเรียนรู้ให้เกิดความแตกฉานและเข้าใจตัวบทตามเจตนารมณ์ของอัลลอฮฺนั่นเอง

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเลือกภาษาอาหรับเป็นภาษาสื่อไปยังมวลมนุษยชาติในการแสดงความปรารถนาของพระองค์ในเรื่องอะฮ์กามหรือบัญญัติต่าง ๆ ดังนั้น การเข้าใจภาษาอาหรับ ก็จะทำให้เข้าใจเรื่องศาสนาอิสลาม และการให้เกียรติต่อการเรียนภาษาอาหรับ ก็เท่ากับการให้เกียรติกับศาสนาอิสลามนั่นเอง

 

ท่านอุมัร อิบนุ้ล ค็อฏฏ็อบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า :

 

จงศึกษาภาษาอาหรับกันเถิด เพราะมันคือส่วนหนึ่งของศาสนาของพวกท่าน

 

          แน่นอนที่สุดว่า ศาสนาอิสลามจะสืบทอดต่อไปถึงชนรุ่นหลังไม่ได้ หากไม่เข้าใจภาษาอาหรับ บรรดนักวิชาการศาสนาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม เขาจะต้องรู้ เชี่ยวชาญในภาษาอาหรับ นักปราชญ์ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

 

การรู้เรื่องภาษาอาหรับคือ เงื่อนไขของการวินิจฉัยศาสนา

 

          ท้ายที่สุดนี้ ครูขอแสดงความยินดีกับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาด้านศาสนาและภาษาอาหรับ ณ โรงเรียนแห่งนี้ ครูไม่เพียงแต่จะดีใจกับการจบการศึกษาของพวกเธอ แต่ครูยังมีความสุข ปลาบปลื้มและมีความภูมิใจมากในทุกสิ่งที่เธอทำสำเร็จนะ ขอให้นักเรียนทุก ๆ คนก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญสู่ความ ท้าทายใหม่ ๆ ในชีวิต และถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อหกปีก่อนแล้วถามว่า ทั้งหมดที่ผ่านมานั้น มันคุ้มค่าไหม ครูแน่ใจว่าทุก ๆ คน จะพยักหน้า ... แต่สำหรับครูแล้วครูว่ามันเกินคุ้ม...นะ

 

          ทางนำของอัลลอฮฺได้เปิดต้อนรับพวกกเธอทั้งหลาย เมื่อเธอตัดสินใจเข้ามาศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ที่อัลฟุรกอนแห่งนี้ และตอนนี้เธอทั้งหลายเรียนจบแล้ว ก็ขออย่าปิดประตูการเรียนรู้นั้นนะ จงเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ และขณะเดียวกันก็จงนำเอาความรู้ที่ได้รับไปเป็นประโยชน์กับสังคมให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือจุดหมายที่ไม่ใช่ปลายทาง

ที่ระลึกงานโรงเรียนอัลฟุรกอนศึกษา ครั้งที่ 24 รุ่น 23 ปีการศึกษา 2563