หุ้น ตราสารการเงินตามหลักอิสลาม
สมีธ อีซอ ... เรียบเรียง
(Islamic Financial Instruments اَلصُّكُوكُ اْلإِسْلاَمِيَّةُ)
ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกรรมการเงินมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมุสลิมเพียงใด หากแต่มุสลิมจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของอิสลามด้วย ดังนั้น ธุรกรรมการเงินในด้านต่าง ๆ จำเป็นจะต้องสอดคล้องต่อหลักชะรีอะห์ นั่นก็คือ การปราศจากข้อห้ามต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ย (اَلرِّباَ) ความคลุมเครือ )اَلْغَرَرُ( การพนันเสี่ยงโชค (المَيْسِرُ) และการลงทุนในสิ่งต้องห้าม (اَلتَّمْوِيْلُ الْمَحْرَمُ) และข้อห้ามอื่น ๆ เป็นต้น สำหรับธุรกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญและถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลงทุน คือ ตราสารการเงิน (Financial Instruments صُكُوْكٌ مَالِيَّةٌ) เช่น หุ้นสามัญ และหุ้นกู้ เป็นต้น
ตราสารการเงินทั่วไป (Financial Instruments صُكُوْكٌ مَالِيَّةٌ )
ตราสารการเงิน คือ สัญญาที่แสดงถึงสิทธิเรียกร้องที่ผู้ถือตราสารการเงินมีต่อรายได้ในอนาคต หรือต่อทรัพย์สินของกิจการผู้ออกตราสารนั้น ๆ โดยตราสารการเงินแบ่งประเภทหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. ตราสารหนี้ (debt instruments صُكُوْكُ الدُّيُوْنِ) เป็นตราสารที่ผู้ถือ (ในฐานะเจ้าหนี้) มีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ออกตราสารหนี้ (ในฐานะขอกู้ยืมเงิน) ให้จ่ายเงินต้นคืนเต็มจำนวนและเพิ่มเติมดอกเบี้ยในเวลาที่กำหนด ตราสารประเภทนี้ เช่น หุ้นกู้ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น
2. ตราสารทุน (equity instruments صُكُوْكُ الأَسْهَمِ ) เป็นตราสารที่ผู้ถือ (ในฐานะเจ้าของร่วมกิจการ) มีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ออกตราสารทุน (ผู้ร่วมกิจการ) ให้จ่ายกำไรในกรณีที่กิจการได้กำไรโดยจ่ายเป็นเงินปันผล (dividend) ตราสารประเภทนี้ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ เป็นต้น
3. ตราสารอนุพันธ์ (derivatives اَلْمُشْتَقَاتُ الْمَالِيَّةُ ) เป็นตราสารที่สองฝ่ายสัญญาระบุในการซื้อ-ขายสินค้าอ้างอิง ณ เวลาหนึ่งในอนาคต ในราคาและจำนวนของสินค้าที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า เช่น ฟิวเจอร์ ออปชั่น ฟอร์เวิร์ด และสวอป เป็นต้น
ตราสารการเงินทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว มีข้อพิจารณาและข้อตัดสินตามหลักการของอิสลามที่แตกต่างกันไป บางตราสารการเงินเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของอิสลาม และบางตราสารการเงินเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งมีรายละเอียดที่เฉพาะ ที่จะต้องมีการพิจารณาในแต่ละประเภทต่อไป
ตราสารการเงินอิสลาม (Islamic Financial Instruments اَلصُّكُوكُ اْلإِسْلاَمِيَّةُ)
ตราสารการเงินตามหลักอิสลามนั้น การดำเนินการจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยและข้อห้ามอื่น ๆ ตามหลักชะรีอะห์ ดังนั้น ตราสารการเงินที่ถูกต้องตามหลักอิสลาม คือ การใช้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ลงทุน (ผู้ถือตราสาร) และผู้ประกอบการ (บริษัท) เช่น ในตราสารทุน มาแทนที่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ (กู้ยืมและจ่ายดอกเบี้ย) เช่น ตราสารหนี้
ด้วยเหตุนี้ ผลตอบแทนจาการลงทุน จะไม่มีการประกันรายได้ (fixed guaranteed return) และจะไม่มีการกำหนด อัตรากำไรตายตัวล่วงหน้า เช่น ถ้าหากลงทุนร่วมกับบริษัทจะให้กำไร 5 % อย่างแน่นอน ถึงแม้บริษัทจะขาดทุนก็ตาม ซึ่งลักษณะนี้เป็นสิ่งต้องห้าม กล่าวคือ มีลักษณะเหมือนกับการกู้ยืมเงินโดยกำหนดดอกเบี้ย ซึ่งเจ้าหนี้ไม่มีโอกาสที่จะขาดทุนเลย
หากแต่การลงทุนที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม คือ การร่วมกันลงทุนและแชร์กำไรขาดทุนร่วมกัน โดยกำหนดว่าถ้าหากกรณีที่บริษัทได้กำไร จะแบ่งกำไร 5% แต่ถ้าหากขาดทุนก็จะต้องขาดทุนร่วมกัน กล่าวคือ การร่วมกันลงทุนนั้นจะต้องมีโอกาสกำไรหรือขาดทุนร่วมกัน
ดังนั้น ตราสารการเงินตามหลักอิสลาม เป็นตัวแทนของการอ้างสิทธิและการเป็นหุ้นส่วนในทรัพย์สินที่จับต้องได้ (real asset) และทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดผลิตผล (productive asset) ผลตอบแทนของตราสารการเงินอิสลามขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการผลิตของทรัพย์สินที่พวกเขาได้หุ้นส่วนกัน และอีกด้านหนึ่งทีมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก คือ ปัจจัยแวดล้อมของตลาดได้มีการเปลี่ยนแปลงในภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)
สรุปข้อตัดสินตราสารการเงินทั่วไป
♦ ตราสารหนี้ เป็นตราสารที่ผู้ถือมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และตราสารหนี้มีลักษณะเป็นการให้กู้ยืมโดยมีการกำหนดดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่ชัดว่าเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของอิสลาม เช่น หุ้นกู้ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น กล่าวคือ ตราสารนี้เป็นเอกสารยืนยันการกู้ยืม โดยไม่มีการคำนึงว่าผู้กู้จะนำเงินไปลงทุนโดยได้กำไรขาดทุนหรือไม่
♦ ตราสารทุน เป็นตราสารที่ผู้ถือมีสถานะเป็นเจ้าของร่วมในการกิจการ มีกำไรและขาดทุนร่วมกัน ได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรตามจำนวนที่ลงทุน และขาดทุนตามจำนวนที่ลงทุน กล่าวคือ ผู้ถือตราสารทุนมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมกิจการกับผู้ออกตราสารทุน มีสิทธิได้กำไรหรือขาดทุน ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของกิจการนั้น ๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่อนุญาตในหลักการของอิสลาม แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมในการอนุญาต เช่น หุ้นสามัญ เป็นต้น สำหรับ หุ้น ในตราสารทุนมีอีกหลายประเภทซึ่งยังจะต้องมีการพิจารณาในแต่ละประเภทนั้น ๆ ว่าถูกต้องตามหลักการหรือไม่ต่อไป
♦ ตราสารอนุพันธ์ เป็นตราสารที่มีลักษณะการทำสัญญาระหว่างคู่สัญญาว่าจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในอนาคต ซึ่งแตกต่างกับการซื้อขายทั่วไปที่มีการซื้อขายในทันที กล่าวคือ เป็นสัญญาที่ไม่ได้ทำให้มีการครอบครองสินค้าในทันทีทันใด และบางกรณี สัญญาตราสารอนุพันธ์ อยู่ในเรื่องของการขายของบุคคลหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีสิ่งของที่จะขาย และยังไม่ได้ครอบครอง จึงถือว่าตราสารอนุพันธ์เป็นสิ่งต้องห้ามในหลักการของอิสลาม
และตราสารอนุพันธ์ ตามหลักการอิสลามยังถือว่า เป็นเครื่องมือของการเดิมพันชนิดหนึ่ง (قِمَارٌ) เพราะมีฝ่ายหนึ่งได้มีฝ่ายหนึ่งเสีย ยกตัวอย่าง การตกลงว่าจะซื้อจะขายสินค้าหนึ่งในราคาที่ตกลงกันไว้ในอนาคต เช่น ราคาที่ตกลงกันไว้ 5 บาท เมื่อถึงกำหนดระยะเวลา ราคาสินค้าจริง ๆ (ราคาในวันนั้น) สูงกว่าราคาที่ตกลง เช่น 7 บาท ผู้ซื้อได้กำไรเพราะสามารถซื้อได้ในราคา 5 บาท สำหรับผู้ขายขาดทุนแทนที่จะขายได้ในราคา 7 บาท และในกรณีกลับกัน ถ้าหากราคาสินจริงๆถูกกว่าราคาที่ตกลงกันไว้ เช่น 3 บาท ผู้ซื้อขาดทุนเพราะจะต้องจ่ายเกินกว่าราคาที่แท้จริง คือ จ่าย 5 บาท แทนที่จะซื้อในราคา 3 บาท และสำหรับผู้ขายได้กำไร แทนที่จะขาย 3 บาทแต่กลับขายได้ 5 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตามธุรกรรมในตราสารอนุพันธ์นั้นมีอยู่มากมาย ดังนั้น ข้อตัดสินตามหลักการศาสนาจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดในแต่ละประเภทต่อไป เช่น ฟิวเจอร์ (futures) ออปชั่น (Option) ฟอร์เวิร์ด (forward) และสวอป (swap) เป็นต้น
เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ “หุ้น ตราสารการเงินตามหลักอิสลาม”
อ้างอิง
1. ศูนย์ส่งเสริมการลงทุน, ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน, (กรุงเทพ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2560), น.3.
2. Ausaf Ahmad, Towards an Islamic Financial Market (Jeddah: IRTI, 1997), pp.22-23.
3. علي محيي الدين القره داغي ,فقه البنوك الإسلامية دراسية واقتصادية (بيروت : دارالبشائرالإسلامية 2009) ,ص209-210
4. حسام الدين بن موسي عفانة, يسألونك عن المعاملات المالية المعاصرة (فلسطين: العلمية ودارالطيب للطباعة والنشر, 2009), ص259
5. وهبة الزحيلي, المعاملات المالية المعاصرة (دمشق: دارالفكر, 2002) ,ص 370
6. พรมนัส สิริธรังศรี, สถาบันการเงินและตลาดการเงิน, (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2553), น.3-4.
7. عصام أبو النصر, أسواق الأوراق المالية (البورصة) في ميزان الفقه الإسلامي, (القاهرة: دارالنشر للجامعات, 2006), ص 115-117