ช่องว่างระหว่างปฏิทินจันทรคติกับสุริยคติกับผลพวงทางศาสนบัญญัติ 2
  จำนวนคนเข้าชม  1366


ช่องว่างระหว่างปฏิทินจันทรคติกับสุริยคติกับผลพวงทางศาสนบัญญัติ 2

 

โดย อบูลัยซ์ อัลอัซฮะรีย์

 

การบรรลุศาสนภาวะ

 

          การบรรลุศาสนภาวะถือว่ามีความสำคัญกับชีวิตแต่ละคนอย่างมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของบุคคล จากผู้ไม่มีภาระทางศาสนาเป็นผู้มีภาระทางศาสนา นักวิชาการให้นิยามของการบรรลุ ศาสนภาวะไว้ว่าเป็นการสิ้นสุดของวัยเด็ก เปลี่ยนสภาพเป็นผู้มีคุณสมบัติรับภาระทางศาสนา

(ดู.....เล่ม 8 หน้า 186)

 

          เมื่อบุคคลบรรลุศาสนภาวะแล้วจึงถือเป็นการเริ่มบัญชีเรื่องบาปบุญคุณโทษอย่างเป็นทางการ สำหรับการถึงวัยบรรลุศาสนภาวะ ศาสนาให้เกณฑ์ไว้หลายประการด้วยกัน โดยถือเอาการเคลื่อนของอสุจิและเลือดประจำเดือนเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณา เกณฑ์ต่าง ๆ นั้น บ่งบอกถึงว่าพวกเขามีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆทางร่างกาย แสดงถึงวัยที่เปลี่ยนไปและความรับผิดชอบที่มากขึ้น กระนั้นนักวิชาการก็ยังต้องวิเคราะห์เกณฑ์ทางอายุเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์สากลในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในเด็กบางคนเกิดขึ้นช้าหรือไม่เกิดขึ้นในเวลาปกติทั่วไป นักวิชาการกลุ่มหนึ่งมองว่าเด็กจะบรรลุศาสนภาวะกลายเป็นเกณฑ์อายุต่ำที่สุดที่ถูกพูดถึงในประเด็นนี้ นั่นหมายถึงเมื่อเด็กมีอายุครบเกณฑ์แล้วไม่ปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาที่ตนได้รับ เขาย่อมมีความผิด

 

          แน่นอนว่าเกณฑ์อายุดังกล่าวใช้การนับแบบจันทรคติอิสลามไม่ใช่อายุ 15 ปีตามสูติบัตรหรือ บัตรประชาชนที่ออกให้จากทางราชการ ความแตกต่างจะชัดเจนเมื่อเราลองสมมติเปรียบเทียบเด็กที่เกิด 1 มกราคม พ.. 2543 (.. 2000) จะมีอายุครบ 15 ปีสากลในวันที่ 1 มกราคม พ.. 2558 (.. 2015) ขณะที่ในปฏิทินอิสลามเขาเกิดวันที่ 24 รอมฎอน ฮ.. 1420 เขาจะอายุครบ 15 ปีแบบฮิจเราะฮ์ในวันที่ 24 รอมฎอน ฮ.. 1435 ซึ่งตรงกับปฏิทินสากลวันที่ 21 กรกฎาคม พ.. 2557 (.. 2014) เป็นอันว่าเขาบรรลุศาสนภาวะโดยนับอายุครบ 15 ปี

- แบบสากล 1 มกราคม พ.. 2558

- แบบอิสลาม ตรงกับ 21 กรกฎาคม พ.. 2557

 

          สองเวลานั้นห่างกัน 5 เดือนเศษหรือ 163 วัน คิดเป็นเวลาละหมาด 815 เวลา ตามตัวเลขจะเห็นว่าปีอิสลามหมุนเร็วกว่าตามที่พูดแล้วก่อนหน้านี้ เขาครบกำหนดบรรลุศาสนภาวะเร็วกว่าการนับแบบสากลอยู่เกือบครึ่งปี ลองนึกภาพว่าหากยึดถือตามบัญญัติแบบเถรตรงให้ละหมาดบ้าง ไม่ละหมาดบ้าง เอาตามสมัครใจ ไม่บังคับจนกว่าจะเข้าเกณฑ์แล้วไม่มีความรู้ในการนับวัน ใช้การนับวันแบบสากล เด็กคนนั้นอาจมีภาระการละหมาดที่ต้องชดใช้เหยียบพันเวลาในวัย 15-16 ปีเลยทีเดียว ยังไม่นับการถือศีลอดซึ่งกรณีนี้หาก

          นับแบบสากลก็เท่ากับเขามีบวชติดตัวใช้อีกราวหนึ่งอาทิตย์ ส่วนซะกาตนั้นถือเป็นภาระทางการเงิน ไม่เกี่ยวข้องกับวัย หมายถึง หากเด็กมีทรัพย์ครบเกณฑ์ซะกาต (นิศอบ) แม้ยังไม่เข้าวัยบรรลุศาสนภาวะ ผู้ปกครองก็จำเป็นต้องจัดการให้ เพราะทรัพย์ของเด็กเข้าเงื่อนไขชำระซะกาต โดยนับตั้งแต่เวลาที่ทรัพย์ถึงเกณฑ์เป็นต้นไปให้ครบรอบปีปฏิทินจันทรคติแบบอิสลาม หากไม่จัดการก็จะมีภาระติดตัวต้องชดใช้ต่อไปอีก

          ความจริงยังมีประเด็นผูกพันอีกมากมายเกี่ยวกับการบรรลุศาสนภาวะ ผู้ปกครองเป็นบุคคลแรกที่ต้องเรียนรู้และดูแลบุตรหลานของตน จึงต้องใส่ใจประเด็นนี้ให้มาก

 

อะกีเกาะฮ์

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

     “เด็กแต่ละคนจะติดอยู่กับสัตว์อะกีเกาะฮ์ของตนซึ่งถูกเชือดให้ในวันที่เจ็ด ให้โกนศีรษะและบริจาคทานเป็นเงินหรือเทียบเท่าตามน้ำหนักผมของเขา และให้มีการตั้งชื่อ

(บันทึกโดย อิมามอะหมัด อบูดาวู๊ด อัตติรมิซีย์)

ท่านกล่าวว่าเป็นฮะดิษฮะซันซอเฮียะฮ์

 

          อะกีเกาะฮ์ หมายถึง สัตว์ตามเงื่อนไขที่ถูกเชือดเพื่อขอบคุณอัลลอฮฺที่ได้ประทานเด็กเกิดใหม่มาให้ คือเป็นชื่อเรียกสัตว์เช่นเดียวกับคำว่ากุรบาน (ใช้เรียกสัตว์เช่นเดียวกัน) หลายคนมักเข้าใจว่าคือชื่องานกินเลี้ยงประเภทหนึ่ง อันที่จริงแล้วงานเลี้ยงดังกล่าวเป็นการนำแกะหรือแพะอะกีเกาะฮ์ที่เชือดมาเลี้ยงเท่านั้นเอง

 

          ตามฮะดิษข้างต้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ระบุการเชือดอะกีเกาะฮ์เอาไว้ในวันที่ 7 ของอายุเด็ก รวมถึงมีการโกนผม บริจาค และตั้งชื่อ บัญญัตินี้เกี่ยวพันกับการนับวัน จึงต้องนับในแบบอิสลาม โดยกลางคืนมาก่อนกลางวัน เข้าสู่วันใหม่เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทั้งดวงหรือเวลาละหมาดมัฆริบนั่นเอง โดยนับวันที่เด็กคลอดออกมาเป็นวันแรก (นับหนึ่ง) แล้วนับต่อไปให้ลงวันที่เจ็ด วันนั้นคือวันเชือดอะกีเกาะฮ์ (แม้จะจัดงานหรือรับประทานหลังจากนั้นก็ตาม) หากเกิดหลังจากตะวันลับฟ้า (มัฆริบ) แล้ว ให้นับเป็นวันใหม่ หากเกิดเย็นวันพุธก่อนตะวันตกก็นับวันพุธเป็นวันแรก การเชือดอะกีเกาะฮ์จะเกิดขึ้นในวันอังคารสัปดาห์ถัดไป เพราะจะเป็นวันที่เจ็ดพอดี หากเกิดหลังจากตะวันตกไปแล้วในวันพุธ ให้นับวันแรกเป็นวันพฤหัสบดี อะกีเกาะฮ์จะถูกเชือดในวันพุธสัปดาห์ถัดไป เป็นต้น ดังกล่าวเป็นวิธีการนับตามมัซฮับซาฟิอีย์ ส่วนมัซฮับมาลิกีย์นั้นไม่นับเอาวันเกิดเป็นวันแรก แต่ให้นับเป็นวันถัดมา ดังนั้น เมื่อเด็กเกิดกลางวันวันพุธ อะกีเกาะฮ์ก็จะเชือดวันพุธสัปดาห์ถัดมา หากเกิดพฤหัสบดีก็จะเป็นพฤหัสบดีถัดมา ลักษณะนี้ถือว่านับง่ายเช่นกัน แต่แบบแรกใช้กันแพร่หลายในประเทศไทย

          หากมีการนับวันผิดจะด้วยสาเหตุนับตามระบบสากล, เข้าใจผิด หรืออันใดก็ตาม ผลมักจะไม่ร้ายแรงนักในกรณีอะกีเกาะฮ์นี้ เพราะถือว่าหากเชือดหลังจากที่เกิดมาแล้วก็ถือว่าใช้ได้ หรือเลยวันที่เจ็ดไปแล้วก็ถือว่าให้ได้เช่นกัน เพียงแต่ที่ดีที่สุดนั้นให้เป็นวันที่เจ็ดตามวิธีนับที่ได้กล่าวไป กรณีที่จะใช้ไม่ได้เลยคือเชือดก่อนเด็กเกิดนั่นเอง

          ส่วนสัตว์ที่จะเชือดก็มีเงื่อนไขเดียวกับกุรบาน (อุฏฮียะฮ์) ในด้านชนิด ร่างกาย อายุ ฯลฯ โดยในอายุสัตว์ก็ให้นับแบบอายุคน ก็คือตามปีจันทรคติอิสลาม เช่น แกะหนึ่งปีขึ้นไป แพะ-วัวสองปีขึ้นไป อูฐห้าปีขึ้นไป เป็นต้น (นอกเหนือจากแพะ, แกะแล้ว อูฐ, วัวสมารถเชือดเป็นอะกีเกาะฮ์ได้เช่นกัน ใช้รายละเอียดเดียวกับกุรบานทุกประการตามท่กล่าวถึงข้างต้น)

 

การหย่าร้าง

 

          การหย่าร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนับเวลามักจะเป็นการหย่าแบบมีเงื่อนไข คือมีการนำการหย่าไปผูกกับการมาถึงของระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงเวลานั้นการหย่าร้างถือว่าเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามที่ได้ลั่นวาจาเอาไว้ เช่นเมื่อขึ้นเดือนใหม่เราขาดกันถือเป็นการวางการหย่าไว้ผูกพันกับเงื่อนเวลา เมื่อขึ้นเดือนใหม่ก็ถือว่าขาดกัน

 

          ในตำราฟิกฮ์เมื่อกล่าวถึงกรณีเช่นนี้ พบว่าจะใช้เวลาในแบบจันทรคติอิสลามกำกับทั้งหมด นั่นหมายถึง หากกล่าวหย่าแบบเงื่อนไขตามประโยคข้างต้น เมื่อตะวันลับขอบฟ้าในวันสุดท้ายของเดือน (เข้าสู่เดือนใหม่) ตามเดือนฮิจเราะฮ์ ให้ถือว่าการหย่าเป็นผลทันที นั่นคงไม่สับสนมากนัก เมื่อบรรดานักวิชาการฟิกฮ์วินิจฉัยปัญหาเหล่านั้นในบริบทสังคมที่ใช้ปฏิทินฮิจเราะฮ์อยู่แล้ว เมื่อผู้พูด ๆ อะไรออกมา เงื่อนไขเวลาจึงผูกพันกับปฏิทินฮิจเราะฮ์อันเป็นระบบที่ใช้กันแพร่หลายในท้องถิ่นนั้นทันที ปัญหาจะมาตกกับถิ่นที่ไม่ได้ใช้ระบบฮิจเราะฮ์เป็นระบบหลัก (เช่นไทย) เมื่อมีกรณีการพูดเช่นประโยคข้างต้นมา จะให้ถือเกณฑ์ใดเป็นตัวตัดสิน?

 

          ตามที่ควรจะเป็นในกรณีนี้คือ ให้พิจารณาจากบริบทสังคมของผู้พูดเป็นหลัก (แม้สมมติว่าภรรยาอาจจะเป็นต่างชาติที่ใช้คนละปฏิทินกันก็ตาม) เนื่องจากฝ่ายชาย (ผู้พูดหย่า) เป็นฝ่ายดำเนินกระบวนการ ดังนั้นหากกล่าวถึงระบบของเวลาในพื้นที่ที่ใช้ปฏิทิน, การนับเวลาในแบบสากล ก็ควรให้เวลาที่ถูกอ้างถึงดำเนินไปตามระบบดังกล่าว หากในพื้นที่มักใช้ปฏิทินฮิจเราะฮ์ก็ให้ยึดถือแบบฮิจเราะฮ์ เป็นเช่นนี้ กรณีนี้คล้ายกับระบบเวลาในเนื้อหาสัญญา ตามที่กล่าวถึงแล้วก่อนหน้านี้ คือเป็นการกำหนดเวลาจากผู้ทำสัญญา การนับระยะเวลาในระบบใดก็ให้เป็นไปตามการตกลงระหว่างคู่สัญญา แต่หากไม่มีการระบุระบบเอาไว้ก็ให้ถือเอาระบบที่ใช้กันโดยทั่วไปในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเกณฑ์

          นี่คงเป็นคำตอบด้วยว่า ทำไมในทางศาสนา สิ่งที่ถูกกำหนดระยะเวลาเอาไว้แน่นอนแล้วจึงถึงเป็นระบบทางจันทรคติแบบอิสลามทั้งหมด นั่นก็เพราะอัลลอฮฺเป็นผู้ตรัส ร่อซูลเป็นผู้พูด การกำหนดระยะเวลาทั้งหมดจากผู้กำหนดบทบัญญัติจึงถือตามที่ผู้พูดหมาย นั่นก็คือในระบบจันทรคติ ส่วนสิ่งใดที่เป็นการกำหนดเอาเองจากบุคคลต่างถิ่นฐาน ต่างเวลา ก็ให้ถือเอาตามที่ผู้พูดหมายหรือใช้กันในท้องถิ่นของผู้พูดเป็นเกณฑ์เช่นกัน การพูดหย่าแบบเงื่อนไขเวลานี้ก็เช่นกัน แนวคิดยิ่งมีน้ำหนักเมื่อมองจากแนวคิดของนักวิชาการฟิกฮ์ที่มักจะอ้างอิงเจตนาของผู้พูดเป็นหลัก หากคำพูดใด ๆ ที่ใช้ในการดำเนินการมีความกำกวมหรือไม่ชัดเจน วัลลอฮุอะลัม

 

อิดดะฮ์

 

     อิดดะฮ์ คือ ช่วงระยะที่ผู้หญิงต้องรอในกรณีการหย่าร้างหรือสูญเสียสามี ที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้คือ

 

1. การอยู่อิดดะฮ์ 3 เดือน

 

          กรณีนี้สำหรับหญิงผู้ถูกหย่าโดยไม่สามารถนับระยะเวลาตามแบบปกติ (รอบประจำเดือน) ได้ ให้นับอิดดะฮ์เป็น 3 เดือน

 

2. การอยู่อิดดะฮ์ 4 เดือน 10 วัน

 

          เป็นอิดดะฮ์สำหรับหญิงที่สามีเสียชีวิตและเธอไม่ได้ตั้งครรภ์ ให้อยู่ในอิดดะฮ์ 4 เดือน 10 วัน

          ทั้งสองกรณีให้นับวันและเดือนเป็นแบบจันทรคติอิสลามทั้งหมด (เอกฉันท์ในหมู่นักวิชาการ) โดยนับวันและเวลาเกิดเหตุ (หย่า, เสียชีวิต) เป็นจุดเริ่มต้น โดยทั้งหมดนับเป็นเศษเดือน กรณีแรก 3 เดือน กรณีหลัง 4 เดือน 10 วัน ไม่ใช่นับเป็นวัน (90 วัน กับ 130 วัน) เศษของเดือนให้นับให้เต็ม 30 วัน เช่น สามีเสียชีวิต 15 รอมฏอน โดยรอมฎอนปีนั้นมี 29 วัน เธออยู่อิดดะฮ์มาก 14 วัน หลังจากนั้นให้อยู่ในอิดดะฮ์อีกสามเดือน เซาวาล ซุลเกาะอ์ดะฮ์ ซุลฮิจยะฮ์ เมื่อสิ้นสุดซุลฮิจยะฮ์เท่ากับอยู่ในอิดดะฮ์มากแล้ว 3 เดือน 14 วัน เพื่อให้ครบ 4 เดือน ให้เธออยู่ต่อไปอีก 16 วัน เพื่อให้เศษครบ 30 วัน เท่ากับเต็มเดือนที่ 4 (16 เดือนมุหัรรอม) เมื่อได้ 4 เดือนเต็มแล้วอิดดะฮ์ยังเหลืออีก 10 วันก็นับต่อไปให้ครบ ก็จะสิ้นสุดอิดดะฮ์วันที่ 26 มุหัรรอม โดยให้มาจรดกับเวลาที่สามีเสียชีวิตถือว่าสิ้นสุดอิดดะฮ์ เป็นต้น

          ระยะอิดดะฮ์มีความสำคัญทางศาสนบัญญัติ คือ หญิงที่ยังอยู่ในระยะอิดดะฮ์จะไม่สามารถแต่งงานได้ และหากเกิดการแต่งงานขึ้นในระยะนี้จะถือว่าการแต่งงานนั้นใช้ไม่ได้ นำความยุ่งยากตามมาอีกหลายประการ หากคู่บ่าวสาวทราบบัญญัติห้ามการแต่งงานระหว่างอิดดะฮ์หลังแต่งไปแล้ว ยังยืนกรานที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในฐานะสามีภรรยา การร่วมหลับนอนระหว่างกันมีสถานะเท่ากับการผิดประเวณี (ซินา) หากมีลูกอันเกิดมาจากการร่วมเพศหลังจากทราบบัญญัติแล้วจะถือว่าเป็นลูกผิดประเวณี จะไม่มีการอ้างอิงความสัมพันธ์ใด ๆ กับฝ่ายชายและไม่มีการรับ-ให้มรดกแก่กัน แต่หากเป็นลูกที่เกิดจากการร่วมประเวณีขณะที่ยังไม่ทราบข้อบัญญัติ ให้ถือว่าเป็นลูกโดยสมบูรณ์และรับ-ให้มรดกกันได้ เช่นเดียวกับการร่วมประเวณีก่อน ทราบฮุกมจะไม่ถูกเอาความเพราะอยู่ในข่ายมีข้อกังขา หากเกิดกรณีแต่งงานในอิดดะฮ์ขึ้นก็ให้แยกกันเสมือนก่อนแต่ง แล้วกระทำตามขั้นตอนกันใหม่

          ดังนั้น การนับวันในกรณีนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก แต่หากใช้ระบบสุริยคติสากลมานับในกรณีนี้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลนัก เพราะเท่ากับเป็นการยืดระยะอิดดะฮ์ออกไปเกินกว่าความเป็นจริง ความเสียหายจึงไม่มากนักเมื่อเทียบกับการย่นระยะเข้ามา

 

อิห์ด๊าด

 

         เป็นประเด็นต่อเนื่องกรณีหญิงที่สูญเสียสามี ระหว่างอยู่ในอิดดะฮ์ให้ทำอิห์ด๊าด คือ การที่ผู้หญิง ละการตกแต่งใด ๆ ในระยะนั้น เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ กันว่าไว้ทุกข์ โดยระยะเวลาของอิห์ด๊าดก็คือเวลาเดียวกับอิดดะฮ์ จึงดำเนินไปพร้อมกันทุกประการ เริ่มและสิ้นสุดพร้อมกัน

          ส่วนกรณีไม่ใช่สามี ศาสนาอนุญาตให้อิห์ด๊าดในระยะไม่เกิน 3 วันเท่านั้น โดยระยะ 3 วันดังกล่าวสามารถนับเป็นชั่วโมงได้ คือ 72 ชั่วโมง (เพราะ 1 วันทั้งระบบอิสลามและสากลมีจำนวนชั่วโมงไม่ต่างกัน) นับตั้งแต่เวลาเสียชีวิต อิห์ด๊าดแบบหลังนี้อนุญาตให้กระทำโดยไม่บังคับ กรณีเป็นญาติพี่น้อง แต่แบบแรก (การสูญเสียสามี) ศาสนาบังคับให้กระทำ

 

ระยะยืนยันการไร้สมรรถนะทางเพศ

 

          สมรรถนะทางเพศเป็นปัจจัยสำคัญที่ศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คู่สามีภรรยาใช้ชีวิตคู่กันต่อไปได้หรือไม่ได้ โดยกรณีฝ่ายชายไม่มีความสามารถมอบความสุขทางเพศให้กับภรรยาได้ โดยมีการยื่นเรื่องเพื่อให้ผู้พิพากษาตัดสินให้มีการหย่าขาด ผู้พิพากษาจะต้องสืบสาวเรื่องราวและจะมีการทิ้งระยะเวลาเอาไว้ให้ 1 ปีเพื่อยืนยันปัญหาดังกล่าวว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและเชื่อได้ว่าอาจมีผลถาวร จนภรยาอาจไม่สามารถได้สิทธิอันพึงได้อีกเลย กรณี 1 ปีที่กล่าวถึงนี้ก็นับเป็นระยะ 12 เดือนอาหรับที่ยึดถือระบบจันทรคตินั่นเอง

 

การตั้งครรภ์เกี่ยวพันกับการนับระยะเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

          โดยนักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่าระยะตั้งครรภ์อย่างน้อยคือ 6 เดือน โดยในทางศาสนานับตั้งแต่การเริ่มปฏิสนธิแล้วนับต่อไปอีก 6 รอบเดือนจันทรคติอิสลาม หากมีการคลอดบุตรจะมีการนับย้อนกลับไปอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อยืนยันพ่อของเด็ก

 

          มีกรณีในสมัยท่านอุสมาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เกิดขึ้น โดยมีหญิงคนหนึ่งถูกนำตัวมาเพราะต้องสงสัยว่ากระทำผิดประเวณีเนื่องจากตั้งครรภ์มาเพียง 6 เดือนแล้วคลอด ท่านจะลงโทษหญิงคนดังกล่าว เพราะเชื่อได้ว่าประพฤติผิดประเวณี (เมื่อนับย้อนไป 9 เดือนแบบปกติ ไม่ได้อยู่กินกับสามีปัจจุบัน) แต่ได้ท่านอาลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ทัดทานเอาไว้ โดยอ้างอิงดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ 233 กับอัลอะห์ก๊อฟ 15 โดยอายะฮ์แรกกล่าวถึงการหย่านมเป็นเวลาทั้งสิ้น 30 เดือน ท่านอาลีอธิบายว่า ในเมื่อการให้นมใช้เวลา 24 เดือนจาก 30 เดือน เวลาของการตั้งครรภ์จึงเหลือ 6 เดือน อันเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุดของการตั้งครรภ์ที่เด็กสามารถคลอดออกมาและใช้ชีวิตอย่างปกติได้ ดังนั้น หญิงคนนี้จึงอยู่ในระยะคลอดที่เป็นไปได้ ท่านอุสมานเห็นด้วยและไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับหญิงคนดังกล่าว

 

การลูบที่รองเท้า

 

            ในการอาบน้ำละหมาด ผู้ปฏิบัติอาจมีเหตุบางประการที่ไม่สะดวกที่จะถอดรองเท้าศาสนามีบัญญัติอนุญาตให้ใช้น้ำลูบบนรองเท้าได้แทนที่การล้างเท้า โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่มีการกำหนดในเรื่องคุณลักษณะของรองเท้า และคุณสมบัติของผู้ที่จะลูบ โดยศาสนาให้โอกาสใช้การลูบสำหรับผู้ไม่เดินทางหนึ่งวันหนึ่งคืน กรณีผู้เดินทางอนุญาตให้สามวันสามคืน โดยนับตั้งแต่การเสียน้ำละหมาด (ก่อนจะมีการลูบ) อันเป็นเวลาที่อนุญาตให้เริ่มใช้การลูบได้ ดังนั้น ในกรณีผู้ไม่เดินทาง เมื่อสวมใส่รองเท้าที่มีลักษณะตามที่กำหนดโดยมีน้ำละหมาดสมบูรณ์อยู่แล้ว หลังจากนั้นเขาเสียน้ำละหมาด นับตั้งแต่นั้นนับไปอีก 24 ชั่วโมงคือเวลาที่เขาสามารถใช้การลูบแทนการล้างเท้าได้ ส่วนผู้เดินทางก็นับไปอีก 72 ชั่วโมง โดยจุดเริ่มต้นคือเวลาที่เสียน้ำละหมาดเหมือนกัน

          จะสังเกตได้ว่ากรณีบัญญัติที่ให้นับเป็นวันสามารถนับเป็น 24 ชั่วโมงได้ เนื่องจากเป็นระยะเต็มหนึ่งวันหนึ่งคืนในทุกระบบเวลานั่นเอง

 

การบนบาน

 

           การบนบาน หมายถึง การที่ผู้มีภาระทางศาสนากำหนดภารกิจบางอย่างให้เป็นภาระผูกพันกับตนผ่านการพูด โดยผู้บนบานจำเป็นต้องรักษาการบนบานของตนโดยถือเป็นวาญิบที่เขาสร้างขึ้นบังคับตนเอง โดยหลายครั้งมีการระบุระยะเวลาในการกระทำ เช่น การถือศีลอดหนึ่งเดือน การเอี๊ยะอ์ติก๊าฟหนึ่งอาทิตย์ การละหมาดสองร็อกอะฮ์ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปี เป็นต้น

           สำหรับการระบุเวลาโดยปราศจากเจตนาเจาะจงว่าเป็นระบบใด หากเป็นหนึ่งเดือนให้ถือเวลา 30 วันเป็นเกณฑ์ เช่นเดียวกับหนึ่งปีให้ถือเกณฑ์ 360 วัน ถือว่าดีที่สุด เนื่องจากเป็นเวลาที่เป็นไปได้มากที่สุดของจำนวนเดือนและปีในระบบจันทรคติ เพราะหนึ่งเดือนจะไม่เกิน 30 วัน ขณะที่หนึ่งปีหากคิด 30 วันทุกเดือนก็จะเท่ากับ 360 วัน ซึ่งถือว่ามากกว่าระบบสุริยคติสากลเสียอีกจึงตัดปัญหาทุกอย่างออกไปทั้งหมด (ดู...เล่ม 1 หน้า 582)

 

กัฟฟาเราะฮ์

 

           กัฟฟาเราะฮ์ หมายถึง ศาสนกิจที่ผู้กระทำปฏิบัติเพื่อชดใช้การละเมิดศาสนบัญญัติบางประการ โดยมีหลายแบบด้วยกัน หลัก ๆ จะเกี่ยวพันกับการถือศีลอด ปล่อยทาส บริจาคทาน โดยเรียงลำดับกันไปตามคสามารถ กรณีการถือศีลอดจะมีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ เช่น ถือศีลอดติดต่อกัน 2 เดือน อย่างกรณีฆ่ามุสลิมโดยไม่เจตนา การร่วมเพศช่วงกลางวันของเดือนรอมฎอน เป็นต้น โดย 2 เดือนดังกล่าวเป็นเดือนทางจันทรคติ กรณีเศษของเดือนนับให้ครบเป็น 30 วันตามที่กล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยระยะเวลาทั้งหมดต้องติดต่อกัน หากขาดตอนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น จะผิดไปแม้แต่วันเดียวก็ไม่ได้

           กรณีนี้หากใช้ระบบสากลมานับก็จะมีผลเสียไม่มากนัก เพราะโดยกรณีทั่วไปจะทำให้จำนวนวันมากขึ้น จึงไม่ทำให้เสียหาย ยกเว้นกรณีเดือนกุมภาพันธ์ (มกราคมกับกุมภาพันธ์ หรือกุมภาพันธ์กับมีนาคมในปีที่ไม่ใช่อธิกสุรทิน) หากเริ่มแรกที่ต้นเดือนเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกันจะได้จำนวนวันที่ 59 วัน (31+28) ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้นหากนับโดยจันทรคติอาจต้องใช้เวลาทั้งหมด 60 วัน เพราะหนึ่งเดือนอิสลามเต็มเดือนอาจมี 30 วัน รวมกับเศษของอีกเดือนที่ให้นับครบ 30 วัน เท่ากับต้องถือทั้งสิ้น 60 วัน ขณะที่ปฏิทินสากลอาจลงที่ 59 วันตามที่กล่าวไว้ ทำให้ขาดไปหนึ่งวัน มีผลให้เขาต้องเริ่มถือศีลอดใหม่ทั้งหมด ถือว่าเสียหายมากทีเดียว

          ส่วนอีกแบบหนึ่งคือถือศีลอด 3 วัน กรณีผิดคำสาบาน สามวันดังกล่าวนับตามถือศีลอดธรรมดาทั่วไปจึงไม่เกิดปัญหา

 

สรุป

 

           ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงการนับเวลาในลักษณะต่าง ๆ โดยบางบัญญัติอนุญาตให้นับแบบใดก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะผูกพันกับการนับแบบจันทรคติ ซึ่งมุสลิมหลายคนในประเทศไทยจะไม่เคยชินกับระบบนี้นัก เพราะโดยมากแล้วจะนำมาใช้กันแต่เพียงรอมฎอนซึ่งมีปีละครั้งเดียวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงระบบดังกล่าวยังเกี่ยวพันอยู่กับอีกหลายเรื่องด้วยกันนอกเหนือไปจากรอมฎอน ทางออกที่ดีที่สุดของบุคคลทั่วไปก็คือต้องปรึกษาใกล้ชิดกับผู้มีความรู้ โต๊ะครูก่อนดำเนินการใด ๆ ลงไป เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น อันอาจนำความยุ่งยากและภาระที่เพิ่มมากขึ้นมาให้กับผู้ปฏิบัติก็เป็นได้

 

ดังนั้น พวกเจ้าจงไต่ถามผู้มีความรู้เถิด หากพวกเจ้าไม่รู้

(อัลอัมบิยาอ์ 21 : 7)

 

วัลลอฮุอะอฺลัม

 

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์ พฤศจิกายนธันวาคม 2559