ปรับพฤติกรรมลูก ต้องเปลี่ยนที่พฤติกรรมพ่อแม่
  จำนวนคนเข้าชม  3973


ปรับพฤติกรรมลูก ต้องเปลี่ยนที่พฤติกรรมพ่อแม่

 

โดย .. อุมมุ  อั๊ฟว์

 

           เรากำลังอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว ทั้งในชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ การสื่อสาร การเรียนการสอน ฯลฯ หลายครอบครัวต้องใช้เวลาปรับตัวกับความฉับไวที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว โลกยุคใหม่เร่งเราให้ต้องวิ่งตาม เยาวชนในยุคแห่งความรีบร้อน จึงถูกหล่อหลอมให้เป็นคนใจร้อน ไม่รู้จักรอ โมโหง่าย อดทนน้อย ขวนขวายแต่สิทธิของตนเองจนมองข้ามหน้าที่ที่ตัวมี เด็กเล็กถูกแย่งเวลาความเป็นเด็กไร้เดียงสาด้วยอุปกรณ์ไอทีที่เปลี่ยนคนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ จิตใจที่ควรนุ่มนวลอ่อนโยน ถูกกระตุ้นให้ชินชาและแข็งกร้าวเร็วกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว

 

          พ่อแม่ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดด ต่างประสบปัญหาในการจัดการลูกไม่มากก็น้อย ผนวกกับความจริงที่ว่า โลกที่ห้อมลอมลูกเราไม่ได้สวยงามชวนฝันอีกต่อไป ชีวิตของลูกต่อไปนี้จะแวดล้อมด้วยผู้คนหลากหลายที่มีจิตใจแต่ไร้มโนธรรม สังคมตัวใครตัวมันที่ไม่ยินดียินร้ายกับผิดชอบชั่วดี

          - นะอูซุบิ้ลลาฮิมินซาลิก - มลภาวะรอบตัวลูกนับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ลำพังเพียงพฤติกรรมแก้ยากที่เป็นปัญหาภายในครอบครัวก็หนักหนาพอตัวอยู่แล้ว ยิ่งบวกกับแรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกของลูก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เพื่อนฝูง ตลอดจนสิ่งยัวยุจากหน้าจอต่างๆ ที่ลูกเห็นและได้ยิน ซึ่งพร้อมจูงลูกให้ห่างออกไปจากแนวทางที่ถูกต้องก็นับว่าสาหัสไม่แพ้กัน 

 

           หลายคนแห่แหนกันขอคำปรึกษา และแนวทางในการรับมือสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากผู้เชี่ยวชาญ คุณหมอ จิตแพทย์ กุมารแพทย์ นักจิตวิทยา หรือแม้แต่จากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน การขอคำชี้แนะ หรือเสาะหากลเม็ดและ “How to” ต่างๆ นานามาเยียวยาแก้ไข “วิกฤติของลูกที่สามารถพบได้ตลอดทุกช่วงวัยไม่ใช่สิ่งผิดแปลก หากคำแนะนำเหล่านั้นไม่ได้ข้ามเส้นเกินเลยขอบเขตจากกรอบของศาสนา

          แต่อย่าลืมว่า เมื่อสูตรปรุงแต่งลูกเหล่านั้นมาจากประสบการณ์ของคนบางกลุ่ม จึงไม่แปลกที่สามารถใช้วิธีหนึ่งได้ดีกับคนหนึ่ง แต่กลับอีกคนอาจไม่ใช่ แม้จะคลานตามกันมาจากท้องเดียวกันก็ตาม เราจะพบทฤษฎีที่ขัดแย้งกันไปมาไม่รู้จักจบสิ้น จนกว่าจะพบหนทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกของเรา 

 

           โชคดีสำหรับชีวิตมุสลิม ที่ไม่ต้องออกแรงเสาะหาลองผิดลองถูกด้วยตัวเองในทุกเรื่อง เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูกที่อิสลามสอนให้ยึดความอ่อนโยนเป็นที่ตั้ง เรามีแบบอย่างให้เห็นจากนบีของเรา ท่ามกลางความก้าวร้าวรุนแรงรอบตัวท่าน ท่านตอบโต้ด้วยความอ่อนโยนละมุนละม่อมจนได้รับชัยชนะมาแล้ว ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:

 

«إن الله رفيق يحب الرفق في الأمر كله»

 

แท้จริง อัลลอฮฺคือผู้ทรงอ่อนโยนละมุนละม่อม พระองค์ทรงโปรดปรานความอ่อนโยนในทุกๆ กิจการ

(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)

 

إنَّ الرفق لا يكون في شيءٍ إلا زانه، ولا يُنزع من شيءٍ إلَّا شانه

 

     “แท้จริง ความอ่อนโยนละมุนละม่อมนั้น เมื่อปรากฏอยู่ในสิ่งใด  ย่อมทำให้สิ่งนั้นงดงาม และเมื่อมันถูกถอดถอนออกจากสิ่งใด ย่อมทำให้สิ่งนั้นอัปลักษณ์ น่าตำหนิ” 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

           หลายครั้งที่แนวทางการดัดนิสัยลูกถูกเพ่งตรงไปที่ตัวลูกเป็นหลัก เรามัวแต่ทดลองวิธีนั้นวิธีนี้ ปรับตรงนั้นเปลี่ยนตรงนี้เพื่อให้เหมาะกับลูกของเรา จนลืมไปเสียสนิทว่า ผลผลิตตรงหน้าเราคือกระจกสะท้อนตัวเราเอง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก เราจำเป็นต้องเริ่มต้นที่ตัวของเราก่อน ต่อไปนี้คือแนวทางการปรับเปลี่ยนนิสัยของลูกที่ผู้เป็นพ่อแม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฝึกฝนด้วยความจริงจังและสม่ำเสมอ

 

. ลุกขึ้นละหมาดตะฮัดญุดให้มาก 

 

     ท่านสอี๊ด อิบนิ มุซัยยิบ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้บอกกับลูกของท่านว่าลูกรัก ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ พ่อลุกขึ้นละหมาดในตอนกลางคืน ก็เพื่อลูก” 

(เพื่อใช้ช่วงเวลาพิเศษที่อัลลอฮฺทรงลงมาสู่ฟากฟ้าดุนยา และทรงตอบรับดุอาอฺเพื่อขอดุอาอฺให้กับลูกเป็นการเฉพาะ)

 

     มีรายงานว่า ท่านมุฮัมมัด อิบนิ้ล มุนกะดิร ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ บอกกับลูกของท่านว่าลูกรัก แท้จริงฉันละหมาดเพิ่มมากขึ้น ก็เพื่อหวังให้ลูกดีขึ้น

 

           นี่คือแบบอย่างจากคนดีก่อนหน้าเรา ที่เขาพยายามทำความดีโดยมีเจตนาเพื่อหวังให้ลูกเป็นคนดี การละหมาดในยามค่ำคืนเป็นกิจวัตรและวิถีปฏิบัติของบรรดาคนดีในทุกยุคทุกสมัย เป็นสถานะอันสูงส่งที่เขาจะได้รับทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และที่สำคัญเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้การันตีแล้วว่า เขาผู้นั้นคือ نِعم العبد  “บ่าวที่ประเสริฐยิ่ง

 

. ทำความดีสะสมเอาไว้ให้มาก

 

     แม่ของท่านอัลฮาซัน อัลบัศรีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ เคยถามท่านว่า"ลูกรู้ไหมเหตุใดลูกจึงได้ดี"

     "เป็นเพราะอะไรหรือครับ"

     "ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แม่ไม่เคยให้นมเจ้าครั้งใด นอกจากแม่จะมีน้ำละหมาดด้วยเสมอ

 

           ตัวอย่างจากมารดาของท่านอัลฮาซัน สะท้อนให้เห็นถึงความพิถีพิถันละเอียดละออในการทำหน้าที่แม่ของท่าน ความดีที่พ่อแม่ทำเพื่อหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงส่งต่อเจตนานี้ให้ถึงลูกไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความดีที่ไม่ใช่แค่การคอยกำชับออกคำสั่งหรือห้ามปราม แต่คือความดีที่พ่อแม่ลงมือทำด้วยตัวเองจนเป็นปกติวิสัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงตัวเอง ประหนึ่งปรับดินให้สมบูรณ์พอที่จะปลูกเมล็ดพันธ์ุ เพื่อรอวันที่มันจะเติบโตผลิดอกออกผลอย่างงดงาม

 

           สอดคล้องกับเรื่องราวในซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟิ ที่อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ตรัสถึงขุมทรัพย์ของเด็กกำพร้าที่ถูกฝังอยู่ใต้กำแพงที่ท่านนบีมูซากับท่านนบีค่อฎิร อะลัยฮิมัสสลาม ช่วยกันบูรณะไม่ให้มันถล่มลงมา คำตอบของท่านนบีค่อฎิรที่ตอบแก่ท่านนบีมูซาถึงเหตุผลที่ไม่ยอมรับค่าจ้างจากการออกแรงทำงานครั้งนี้ก็เพราะ

 

وكان أبوهما صالحا

 

เพราะบิดาของเขาทั้งสองเป็นคนดี

(อัลกะฮฺฟิ : 82)

           อัลลอฮฺ ตะอาลาจึงประสงค์ให้บูรณะกำแพงนี้ เพื่อปกป้องทรัพย์สินของเด็กกำพร้า ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของผู้อธรรม ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่บิดาของพวกเขาเป็นบ่าวที่ดี คุณความดีของบุพการีจึงส่งผลถึงชีวิตของลูกหลานเชื้อสายของเขาในภายภาคหน้า พระองค์ทรงรักษาผลประโยชน์ของเด็กกำพร้า ทรงดูแลชีวิตของพวกเขาอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลจากพระองค์

 

           จากอายะฮฺนี้จึงนับเป็นหนึ่งในกำลังใจและแรงกระตุ้นเตือนที่ดีสำหรับบุพการีว่า  หากเราเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นบ่าวที่ดีในวันนี้ แน่นอนพระองค์จะทรงดูแลรักษาแก้วตาดวงใจของเราแม้ในวันที่เราไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับพวกเขาอีกต่อไป สิ่งที่สมควรต้องกังวลไม่ใช่อนาคตของพวกเขาว่าต้องประสบพบเจออะไร แต่คือหน้าที่การเป็นบ่าวของเราต่างหากที่ได้กระทำครบถ้วนเต็มที่แล้วหรือยัง

 

      ท่านอัมรฺ บิน อุตบะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวไว้ว่า

     “พึงให้ประการแรกที่ท่านจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบุตรของท่าน คือการที่ท่านได้ปรับปรุงแก้ไขตัวของท่านเองเสียก่อน เพราะสายตาของพวกเขาพันผูกอยู่กับท่านเท่านั้น ความดีงามที่พวกเขามี คือ สิ่งที่ท่านได้กระทำไว้ ส่วนความไม่ดีไม่งามที่พวกเขามี ก็คือสิ่งที่ท่านได้ละเลยเพิกเฉยไปเช่นกัน

 

. ขอดุอาอฺให้ลูกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอยู่เสมอ

 

           พ่อแม่ทุกคนมีอาวุธอันทรงพลังอยู่กับตัว เป็นอาวุธที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตของลูกได้ ไม่ว่าปัญหาที่พบจะเล็กน้อยหรือหนักหนาเพียงใด เพียงยกมือด้วยความตั้งใจและมั่นใจ วอนขอต่อผู้ทรงประทานให้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ทรงช่วยเหลือแม้ในวันที่เราไม่พบตัวช่วยอื่นใด  ทรงมองเห็น และรับรู้ ในเรื่องราวที่เรายากจะเอ่ยปากบอกกับผู้ใด 

 

           หลายครั้งในบางสถานการณ์ที่เราอาจหลุดปาก กล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับลูก พึงสังวรณ์ในข้อนี้ไว้ให้ดี เพราะเราไม่รู้ว่าคำพูดใดของเราจะประจวบเหมาะตรงกับช่วงเวลาที่ชั้นฟ้าเปิดออกทำไมดื้ออย่างนี้ ทำไมพูดยากนัก ไม่รู้เรื่องหรือยังไง ไปอยู่ป่าดีไหม”  หรือประโยคสารพัดที่พรั่งพรูออกมาในยามอารมณ์ครุกรุ่นของพ่อแม่ เพราะคำของพ่อแม่คือประกาศิตที่ลิขิตชีวิตลูกได้ พ่อแม่พูดดี ผลลัพธ์ที่เกิดกับลูกก็จะออกมาดี หากพ่อแม่พูดแต่ถ้อยคำที่ไม่รื่นหู สักวันลูกก็อาจกลายเป็นเช่นคำที่เคยลั่นวาจา เมื่อนั้นก็อย่าได้โทษใครเลยนอกจากโทษตัวเอง !

 

ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

     “พวกท่านอย่าได้ขอดุอาอฺสาปแช่งตัวของพวกท่านเอง อย่าได้ขอดุอาอฺสาปแช่งบุตรหลานของพวกท่านเอง และอย่าได้ขอดุอาอฺสาปแช่งทรัพย์สินเงินทองของพวกท่านเอง เพราะคำวอนขอใดๆ  ที่ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่อัลลอฮฺ(จะทรงตอบรับ) พระองค์ก็จะทรงตอบรับพวกท่านเสมอ” 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม 3009) 

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า :

 

رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَامًا

 

พระเจ้าของเหล่าข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่เหล่าข้าพระองค์ซึ่งคู่ครอง

และลูกหลานของเหล่าข้าพระองค์ อันเป็นที่รื่นรมย์แก่สายตา (เป็นที่รักยิ่งด้วยความดีที่กระทำ)

และโปรดทรงทำให้เราเป็นผู้นำแก่บรรดาผู้ยำเกรงทั้งหลายด้วยเถิด"

(อัลฟุรกอน :74)

     มีผู้ถามท่านอัลฮาซันอัลบัศรีย์ว่า : อายะฮฺนี้หมายถึงในดุนยาหรือในอาคิเราะฮฺ ?

     ท่านตอบว่า หมายถึงในดุนยานี้ นั่นคือการที่มุอฺมินได้เห็นภรรยาและลูกของตนเป็นผู้ภักดีเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตะอาลา จะมีอะไรที่ทำให้เย็นตาเย็นใจแก่มุอฺมินยิ่งไปกว่าการที่เขาได้เห็นภรรยาและลูกเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตะอาลาอีกอย่างนั้นหรือ !

 

. ฝากลูกไว้กับอัลลอฮฺ 

 

           ไม่ว่าลูกจะอยู่ที่ไหน  ทำอะไร อยู่กับใคร ขอฝากลูกไว้กับอัลลอฮฺในทุกๆ สถานการณ์ของลูก เพราะท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

إنّ اللهَ إذا استُودِعَ شَيئًا حَفِظَه

 

แท้จริง อัลลอฮฺนั้นเมื่อพระองค์ได้รับฝากในสิ่งใด พระองค์จะทรงปกป้องดูแลสิ่งนั้นเสมอ


  (บันทึกโดย อิมามอันนะซาอีย์)

 

          ชีวิตที่ปลอดภัยแบบนี้ จะหาได้จากที่ไหน ถ้าไม่ใช่อิสลามสายป่านความห่วงใยของพ่อแม่เริ่มต้นตั้งแต่ลูกยังไม่ลืมตาดูโลก กระทั่งหลับตาลาโลกนี้ไป ความห่วงใยของพ่อแม่ไม่ได้หยุดที่ลูกเติบใหญ่ เป็นฝั่งเป็นฝา แต่ยังคงเดินทางร่วมกับกาลเวลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในเมื่อความปลอดภัย ความไว้เนื้อเชื่อใจกับสังคมรอบข้างทุกวันนี้ หายากยิ่งกว่าเงินตรา จึงนับได้ว่า มุสลิมคือผู้ที่โชคดีที่สุดแล้ว ที่เขามีผู้พิทักษ์รักษา มีผู้ปกป้อง คุ้มครองดูแล ทั้งตนเองและบุคคลอันเป็นที่รักในยามที่ต้องพลัดพรากจากสายตา 

 

          “ขอฝากลูกไว้กับอัลลอฮฺประโยคที่ควรติดปากบอกกับลูกทุกครั้งในยามร่ำลา เพื่อย้ำกับตนเองว่า อย่าวิตกกังวลจนเกินไป อย่าหวาดระแวงจนเกินควร เพราะลูกจะอยู่ในการพิทักษ์ปกป้องของพระองค์เสมอ และเป็นการย้ำกับลูกว่า จงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงปกปักษ์คุ้มครองลูกตลอดเวลา ไม่ว่าลูกจะอยู่ ณ ที่ใด

 

احفظ أولادك با الصالحات يحفظهم الله حتي الممات

 

     “จงดูแลรักษาลูกของท่าน ด้วยการทำคุณงามความดีอยู่เป็นนิจ อัลลอฮฺจะทรงปกปักษ์คุ้มครองชีวิตของพวกเขาจวบจนวันตาย

 

رَبِّ أَوْزِعْنِي أَنْ أَشْكُرَ نِعْمَتَكَ الَّتِي أَنْعَمْتَ عَلَيَّ وَعَلَى وَالِدَيَّ وَأَنْ أَعْمَلَ صَالِحًا تَرْضَاهُ  وَأَصْلِحْ لِي فِي ذُرِّيَّتِي إِنِّي تُبْتُ إِلَيْكَ وَإِنِّي مِنَ الْمُسْلِمِينَ

 

     “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงดลบรรดาลให้ข้าพระองค์ ได้ทำการขอบคุณต่อความโปรดปรานของพระองค์ ที่พระองค์ได้ทรงประทานแก่ข้าพระองค์ และแก่บิดามารดาของข้าพระองค์

     ขอพระองค์โปรดทรงให้ข้าพระองค์ได้กระทำความดีอันเป็นที่พึงพอพระทัย และขอพระองค์โปรดทรงปรับปรุงลูกหลานเชื้อสายของข้าพระองค์ให้อยู่ในความดีงาม

     แท้จริง ข้าพระองค์ขอลุแก่โทษต่อพระองค์ และแท้จริง ข้าพระองค์อยู่ในหมู่ผู้นอบน้อมยอมจำนน

(อัลอะฮฺก๊อฟ : 15)

 

 

 

 

 



อ้างอิงส่วนหนึ่งของข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/100026051839899/videos/188444062033987