โทษของผู้ทิ้งละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  34781


โทษของผู้ทิ้งละหมาด

 

.อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          หน้าที่หลักของมนุษย์บนโลกนี้คือ เคารพสักการะ อัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น ทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์เท่านั้น อัลลอฮฺได้กำหนดให้มุสลิมทุกคนต้องต้องปฏิบัติหลักการอิสลาม 5 ประการ คือ การละหมาด เพราะมันคือสิ่งสำคัญรองลงมาจาก การปฏิญาณตน

 

          มุสลิมจำเป็นจะต้องละหมาดวันกับคืนหนึ่ง 5 เวลาไม่ว่าเขานั้นจะอยู่ในสภาพใดก็ตามจะต้องละหมาด คนป่วย คนชรา คนเดินทาง คนป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตตราบใดที่เขายังมีชีวิตมีลมหายใจการละหมาดถือว่าเป็นสิ่งวายิบสำหรับเขา

 

การละหมาด คือ อิบาดะฮฺ ที่เป็นแก่นของศาสนา

 

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

(وَأَقِيمُوا الصَّلَاةَ وَآتُوا الزَّكَاةَ وَارْكَعُوا مَعَ الرَّاكِعِينَ)

 

และพวกเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจงชำระซะกาต และจงรุกัวะรวมกับผู้รุกัวะทั้งหลาย

( อัล บะเกาะเราห์ : 43)

 

♥ การละหมาดเป็นรุก่น (หลักการ) ที่สองของรุก่นอิสลาม

 

          อัลลอฮฺได้บัญญัติห้าเวลาละหมาดในหนึ่งวันและหนึ่งคืนสำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺทุกคน นั่นคืออัซ-ซุฮรฺ อัล-อัศรฺ อัล-มัฆริบฺ อัล-อิชาอ์ และอัล-ฟัจญ์รฺ ดังดำรัสของพระองค์ที่มีว่า

 

حَافِظُواْ عَلَى الصَّلَوَاتِ والصَّلاَةِ الْوُسْطَى وَقُومُواْ لِلّهِ قَانِتِينَ

 

     “พวกเจ้าจงรักษาการละหมาดทั้งหลายไว้ และละหมาดที่อยู่กึ่งกลาง (คือ ละหมาดอัศริ) และจงยืนละหมาดเพื่ออัลลอฮฺโดยนอบน้อม” 

( อัล-บะเกาะเราะ 238)

 

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

 وَأَنْ أَقِيمُواْ الصَّلاةَ وَاتَّقُوهُ وَهُوَ الَّذِيَ إِلَيْهِ تُحْشَرُونَ

 

     “และ (พวกเราได้รับบัญชา) ว่า จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และจงยำเกรงพระองค์เถิด และพระองค์คือผู้ที่พวกเจ้าจะถูกนกกลับไปชุมนุมยังพระองค์

(อัลอาม 72)

อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

 

الَّذِينَ يُقِيمُونَ الصَّلاَةَ وَمِمَّا رَزَقْنَاهُمْ يُنفِقُونَ

 

     “คือบรรดาผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา พวกเขาก็บริจาค

(อัล-บะเกาะเราะ 3)

 

     ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

بُنِيَ اْلإِسْلاَمُ عَلَى خَمْسٍ

 

ศาสนาอิสลามถูกสร้างขึ้นบนหลักพื้นฐาน (รู่ก่น) 5 ประการ

 

     และหนึ่งในห้าประการที่ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงก็คือ

 

وَإِقَامِ الصَّلاَةِ   “การดำรงละหมาด

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

♥ การละหมาดลบล้างความผิด

 

     ท่านอะบีฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ความว่า

 

"الصَّلَوَاتُ الْخَمْسُ، وَالْجُمُعَةُ إِلَى الْجُمُعَةِ، وَرَمَضَانُ إِلَى رَمَضَانَ، مُكَفِّرَاتٌ مَا بَيْنَهُنَّ، إِذَا اجْتَنَبَ الْكَبَائِرَ". رواه مسلم.

 

      “การละหมาดห้าเวลาและการละหมาดญุมอะฮฺ (ละหมาดวันศุกร์) หนึ่งไปยังอีกญุมอะฮฺหนึ่ง มีผลตอบแทนคือ อัลลอฮฺจะทรงไถ่โทษ (ชำระบาป) ในสิ่งที่ไม่ไช่บาปใหญ่” 

(รายงานโดย มุสลิม)

 

♥ การละหมาดคือเสาหลักของศาสนาอิสลาม

 

     ท่านมุอาซบินญะบัล ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

رَأْسُ الأَمْرِ اْلإِسْلاَمُ وَعَمُودُهُ الصَّلاَةُ

 

สิ่งสำคัญสุดของกิจการทั้งปวงคืออิสลาม และเสาหลักของอิสลามคือการละหมาด

(บันทึกโดยอะหมัดและอัดติรมิซีย์)

 

♥ การละหมาดคือภารกิจแรกที่จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮ์

 

     ท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

إنَّ أَوَّلَ مَا يُـحَاسَبُ بِـهِ العَبْدُ يَوْمَ القِيَامَةِ صَلاتُـهُ، فَإنْ وُجِدَتْ تَامَّةً كُتِبَتْ تَامَّةً، وَإنْ كَانَ انْتَقَصَ مِنْـهَا شَيْءٌ، قَالَ: انْظُرُوا هَلْ تَـجِدُوْنَ لَـهُ مِنْ تَطَوُّعٍ يُكَمِّلُ لَـهُ مَا ضَيَّعَ مِنْ فَرِيضَةٍ مِنْ تَطَوُّعِهِ، ثُمَّ سَائِرُ الأَعْمَالِ تَـجْرِي عَلَى حَسَبِ ذَلِكَ»

 

     “แท้จริงสิ่งแรกที่มนุษย์จะถูกสอบถามในวันกิยามะฮฺจากการงานของพวกเขา ก็คือ การละหมาด หากพบว่าการละหมาดของเขาสมบูรณ์ เขาก็จะถูกประทับตรารับรองว่าสมบูรณ์ แต่หากการละหมาดของเขาบกพร่องส่วนหนึ่งส่วนใด 

     อัลลอฮฺจะตรัสแก่มลาอิกะฮฺ ทั้ง ที่พระองค์ทรงรอบรู้ดียิ่งว่า พวกเจ้าจงดูซิว่า บ่าวของข้าคนนี้มีละหมาดสุนนะฮฺบ้างไหม

     หากว่าเขามีละหมาดสุนนะฮฺ ก็จงทำให้การละหมาดฟัรฎูของของบ่าวผู้นี้สมบูรณ์ด้วยการละหมาดสุนนะฮฺของเขา แล้วกิจการงานอื่น ก็จะถูกสอบสวนในทำนองนี้

(เป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอันนะสาอียฺ และบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ )

 

♥ การละหมาดยังสามารถสร้างเกราะป้องกันบาปและสิ่งลามก

 

ดังดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า

 

إِنَّ الصَّلاَةَ تَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاء وَالْمُنكَرِ

 

แท้จริงการละหมาดสามารถยับยั้งมิให้กระทำความโสมมและความชั่ว” 

(อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-อันกะบูต : 45)

 

บทลงโทษของผู้ทิ้งละหมาด

 

♣ ทิ้งละหมาดแยกระหว่างผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ

     
     ท่านนบี กล่าวไว้ว่า

 

الْعَهْدُ الَّذِي بَيْنَنَا وَبَيْنَهُمُ الصَّلاَةُ، فَمَنْ تَرَكَهَا؛ فَقَدْ كَفَرَ

 

พันธะระหว่างฉันกับพวกเขาเหล่านั้น คือ การละหมาด ใครที่ทิ้งละหมาดเขาเป็นกาเฟร

(บันทึกโดย อิม่ามติรมีซีย์)

 

♦ ท่านอิบนุ ก็อยยิมกล่าวว่าหากใครละทิ้งการละหมาด ในสภาพที่เขาสุขภาพแข็งแรงไม่อนุญาตเป็นพยานแก่เขา ไม่ร่วมวงกินข้าวกับเขาและ ห้ามเข้าไปในบ้านของเขา

 

♦ ท่านอิบนุ มัสอู๊ด กล่าวว่าคนไม่ละหมาดคือ คนไม่มีศาสนา

 

♦ ท่าน อิบนุ อุมัรกล่าวว่าไม่มีอิสลาม สำหรับคนที่ไม่ละหมาด

 

♣ การงานในวันนั้นจะสูญเสียทั้งหมด

 

     ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

 

مَنْ تَرَكَ صَلَاةَ الْعَصْرِ مُتَعَمِّدًا ، حَتَّى تَفُوتَهُ ، فَقَدْ أُحْبِطَ عَمَلُهُ،

 

ใครที่ทิ้งละหมาดอัศรฺโดยเจตนาหมดเวลา การงานของเขาก็เสียหมด

(บันทึกโดย อิม่ามอะหมัด)

หมายถึง หากเขาชดใช้ละหมาดอัสรีแล้ว แต่เขาจะไม่ได้รับผลบุญนั้น

 

ท่านนบี กล่าวไว้อีกว่า

 

«مَنْ فَاتَتْهُ الْعَصْرُ؛ فَكَأَنَّمَا وُتِرَ أَهْلَهُ وَمَالَهُ»

 

ใครที่ทิ้งละหมาดอัศรฺโดยเจตนา ประหนึ่งว่า เขานั้น ไร้ครอบครัว และ ทรัพย์สิน หรือ ชีวิตเขาจะบกพร่อง” 

(บันทึกโดย บุคอรีย์)

 

♣ สำหรับโทษในโลกดุนยานี้ เขาจะมีชีวิตอย่างอึดอัด หม่นหมอง กระวนกระวาย

 

อัลลอฮฺ ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

 

وَمَنْ أَعْرَضَ عَن ذِكْرِي فَإِنَّ لَهُ مَعِيشَةً ضَنكًا وَنَحْشُرُهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَعْمَىٰ قَالَ رَبِّ لِمَ حَشَرْتَنِي أَعْمَىٰ وَقَدْ كُنتُ بَصِيرًا قَالَ كَذَٰلِكَ أَتَتْكَ آيَاتُنَا فَنَسِيتَهَا ۖ وَكَذَٰلِكَ الْيَوْمَ تُنسَىٰ

 

     “ใครก็ตามที่หันเหออกจากการรำลึกถึงพระองค์ พวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างอึดอัด และเราจะรวมเขาในวันกิยามะฮฺอย่างคนตาบอด

     เขาจะร้องออกมาว่าอัลลอฮฺ ทำไมรวมฉันให้ตาบอดทั้งๆที่ฉันเคยมองเห็น

     อัลลอฮฺจะกล่าวแก่เขาว่าเมื่อโองการต่างๆของฉันมีมายังเจ้า เจ้ากับทำลืมไม่รู้ไม่เห็น วันนี้เจ้าก็ต้องถูกลืมบ้าง” 

(ตอฮา 124-126)

 

♣ สำหรับโทษของผู้ที่ทิ้งละหมดในกุบู๊ร อะลัมบัรซัค

 

     ในฮะดีษที่รายงานท่านซัมเราะ บิน ญุนดุบฮฺ ที่กล่าวถึงสิ่งที่ท่านนบี ฝันเห็นว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

أَتَانِي اللَّيْلَةَ آتِيَانِ، وَإِنَّهُمَا ابْتَعَثَانِي، وَإِنَّهُمَا قَالاَ لِي: انْطَلِقْ، وَإِنِّي انْطَلَقْتُ مَعَهُمَا، وَإِنَّا أَتَيْنَا عَلَى رَجُلٍ مُضْطَجِعٍ، وَإِذَا آخَرُ قَائِمٌ عَلَيْهِ بِصَخْرَةٍ، وَإِذَا هُوَ يَهْوِي بِالصَّخْرَةِ لِرَأْسِهِ، فَيَثْلَغُ رَأْسَهُ، فَيَتَدَهْدَهُ الحَجَرُ هَا هُنَا، فَيَتْبَعُ الحَجَرَ، فَيَأْخُذُهُ، فَلاَ يَرْجِعُ إِلَيْهِ حَتَّى يَصِحَّ رَأْسُهُ كَمَا كَانَ، ثُمَّ يَعُودُ عَلَيْهِ، فَيَفْعَلُ بِهِ مِثْلَ مَا فَعَلَ المَرَّةَ الأُولَى، قال: قلت: لهما سبحان الله، ما هذا؟.. قالا لي: إنا سنخبرك.. أَمَّا الرَّجُلُ الأَوَّلُ الَّذِي أَتَيْتَ عَلَيْهِ يُثْلَغُ رَأْسُهُ بِالحَجَرِ، فَإِنَّهُ الرَّجُلُ يَأْخُذُ القُرْآنَ فَيَرْفُضُهُ وَيَنَامُ عَنِ الصَّلاَةِ المَكْتُوبَةِ.

 

     “มะลาอิกะฮฺสองท่านได้มาหาท่าน และกล่าวแก่ท่านว่า ลุกขึ้นไปกับเรา ท่านนบีก็ไปกับทั้งสอง เขาพาไปเห็นชายสองคน คนหนึ่งนอนตะแคงอยู่ ส่วนอีกคนหนึ่งยืนยกหินก้อนใหญ่ แล้วทุ่มลงไปที่หัวคนที่นอนอยู่ หัวของเขาแตก แล้วหินก็กลิ้งไป ชายผู้นั้นจึงตามไปหยิบหินก้อนนั้น เขาจะไม่กลับไปจนกว่าหัวที่แตกนั้นจะกลับเหมือนเดิน แล้วเขาก็เอาหินทุ่ม ลงไปอีก ทำอยู่อย่างนี้อย่างต่อเนื่อง

     ท่านนบี จึงกล่าวว่า (ซุบอานัลลอฮฺ) นี่มันโทษอะไรกันนี่...

     ในตอนท้ายของฮะดีษ มะลาอิกะฮฺ ก็เฉลยว่านั่นแหละ คือโทษของคนอ่านกุรอานแล้วไม่ทำตาม และคนที่นอนไม่ละหมาดฟัรฎู

(โดยอิมาม บุคอรีย์)

 

♣ การลงโทษครั้งแรกก็คือ เมื่อมีเสียงประกาศให้สุญูดต่ออัลลอฮฺ เขาไม่สามารถจะสุญูดได้


     อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

يَوْمَ يُكْشَفُ عَنْ سَاقٍ وَيُدْعَوْنَ إِلَى السُّجُودِ فَلَا يَسْتَطِيعُونَ خَاشِعَةً أَبْصَارُهُمْ تَرْهَقُهُمْ ذِلَّةٌ وَقَدْ كَانُوا يُدْعَوْنَ إِلَى السُّجُودِ وَهُمْ سَالِمُونَ }.

 

     “วันที่หน้าแข้งจะถูกเลิกขึ้น (ในวันกิยามะฮฺ วันที่อัลลอฮฺพิพากษา) พวกเขาถูกเรียกให้มาสุญูดต่ออัลลอฮฺ

     พวกที่ทิ้งละหมาดไม่สามารถ สุญูดได้” (สายตาของพวกเขาจะละห้อย ความต่ำต้อยจะปกคลุมพวกเขา และแน่นอนพวกเขาเคยถูกเรียกให้มาสุญูดแล้วขณะที่พวกเขายังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยดี )“

(อัลกอลัม 68:42)

 

♣ ขุมนรก สะก๊อต สำหรับโทษของผู้ทิ้งละหมาด

 

     อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

إِلاَّ أَصْحَابَ الْيَمِينِ فِي جَنَّاتٍ يَتَسَاءَلُونَ عَنِ الْمُجْرِمِينَ مَا سَلَكَكُمْ فِي سَقَرَ قَالُوا لَمْ نَكُ مِنَ الْمُصَلِّينَ

 

     "ยกเว้นบรรดาผู้อยู่เบื้องขวา อยู่ในสวนสวรรค์หลากหลาย พวกเขาจะไต้ถามซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับพวกที่กระทำความผิด อะไรที่นำพวกท่านเข้าสู่กองไฟที่เผาไหม้

     พวกเขาเหล่านั้น ก็จะตอบว่าเพราะเรามิได้เป็นผู้ที่ทำการละหมาด

( อัลมุดดัรซิร 39-47)

 

♣ คนทิ้งละหมาดเขาจะอยู่ในนรกกับ กอรูน ฟิรเอาน์ ฮามาน และอุบัยลูกคอลัฟ

 

     วันหนึ่ง ท่านนบี ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องละหมาด ท่านได้กล่าวว่า

 

مَنْ حافظ عليها ؛ كانتْ له نورًا وبُرهانًا ونَجاةً يومَ القيامةِ ، ومَنْ لم يُحافِظْ عليها ؛ لم تَكُنْ له نورًا ولا بُرهانًا ولا نَجاةً ، وكان يومَ القيامةِ مع قارونَ وفِرعونَ وهامانَ وأُبَيِّ بنِ خَلَفٍ

 

     “ใครที่ปฏิบัติละหมาดอย่างครบถ้วน ละหมาดจะเป็นรัศมีให้แก่เขา เป็นพยานให้แก่เขา และให้เขาปลอดภัยจากไฟนรกในวันกิยามะฮฺ 

     ถ้าใครไม่ละหมาด ละหมาดก็จะไม่เป็นรัศมีให้แก่เขา ไม่เป็นพยานให้ ไม่ปกป้องเขาให้พ้นจากไฟนรก และเขาจะอยู่ในนรกกับ กอรูน ฟิรเอาน์ ฮามาน และอุบัยลูกคอลัฟ

 

♣ ขุมนรก ฆอย สำหรับคนละทิ้งละหมาด

 

     อีกอายะฮฺ หนึ่ง อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

﴿ فَخَلَفَ مِنْ بَعْدِهِمْ خَلْفٌ أَضَاعُوا الصَّلاَةَ وَاتَّبَعُوا الشَّهَوَاتِ فَسَوْفَ يَلْقَوْنَ غَيًّا ﴾

 

     “หลังจากบุคคลที่กล่าวมาแล้วได้มีคนรุ่นหลังสืบต่อมา ที่ได้ละทิ้งการละหมาด และทำตามอารมณ์ ซึ่งต่อไปจะต้องเข้านรก (อัล ฆอย)” 

(อัลมัรยัม 19:59)

     คำว่าอัลฆอยหมายถึง ความขาดทุนอย่างย่อยยับ และเป็นชื่อหนึ่งของผู้คุมนรกที่ลึกที่สุด และร้อนที่สุดที่มันจะพ่นเอาความร้อนไปยังนรกขุมอื่นๆ

♦ ท่าน อิบนุ มัสอู๊ด กล่าวว่า คำว่าอัลฆอย ขุมนรกมีอาหารที่เลวร้ายที่สุด และ อยู่ก้นบึงของนรก

 

♣ คนละเลยเวลาละหมาด คือ คนที่สับปลับ

 

     อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

﴿ فَوَيْلٌ لِلْمُصَلِّين*َ الَّذِينَ هُمْ عَنْ صَلاتِهِمْ سَاهُونَ *

 

     “นรกจงมีแก่คนสับปลับ ที่ทำละหมาดเถิด ซึ่งพวกเขาไม่ใส่ใจต่อการละหมาดแต่อย่างใด (ว่าตรงเวลาหรือไม่)” 

(อัลมาอูน 107:45)

♦ อิบนุ ฮาซมิน กล่าวว่าการล่าช้าหรือละเลยเวลาละหมาดจนหมดเวลา โดยไม่มีเหตุจำเป็น ถือว่า กระทำบาปใหญ่

 

♣ การทิ้งละหมาดคือพวกหลอกลวงอัลลอฮฺ

 

     อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ว่า

 

إِنَّ الْمُنَافِقِينَ يُخَادِعُونَ اللَّهَ وَهُوَ خَادِعُهُمْ وَإِذَا قَامُوا إِلَى الصَّلاةِ قَامُوا كُسَالَى يُرَاءُونَ النَّاسَ وَلا يَذْكُرُونَ اللَّهَ إِلَّا قَلِيلً

 

     "แท้จริงบรรดามุนาฟิกนั้นกำลังหลอกลวงอัลลอฮฺ อยู่ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงหลอกลวงพวกเขา

     และเมื่อพวกเขาลุกขึ้นไปละหมาด พวกเขาก็ลุกขึ้นในสภาพเกียจคร้านโดยให้ผู้คนเห็นเท่านั้น

     และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

( อัน-นิสาอฺ:142)

มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

     "การละหมาดที่หนักอึ้งกับพวกมุนาฟิกที่สุด คือ อิชาอ์ และฟัจญ์รฺ และหากพวกเขารู้ถึงรางวัลตอบแทนที่อยู่ในสองละหมาดนี้ แน่นอนว่าเขาจะมาละหมาดถึงแม้จะต้องคลานมาก็ตาม 

     แน่แท้ ฉันปรารถนาที่จะให้มีการละหมาดญะมาอะฮ์ โดยถูกจัดขึ้น ต่อมาฉันจะใช้ให้ชายคนหนึ่งให้นำผู้คนละหมาด

     หลังจากนั้นฉันจะพาบรรดาชายหนุ่มออกไปกับฉัน พวกเขามีฟืนเป็นกำๆ โดยไปยังพวกที่ไม่ไปละหมาด และฉันจะเผาบ้านของพวกเขา"

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

♣ คนทิ้งละหมาดจะมีเพื่อนเป็นชัยฏอน

 

     อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

وَمَن يَعْشُ عَن ذِكْرِ الرَّحْمَنِ نُقَيِّضْ لَهُ شَيْطَانًا فَهُوَ لَهُ قَرِينٌ

 

     “และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงกรุณาปราณี เราจะให้ชัยฏอนตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายของเขา

( อัซ-ซุครุฟ:36)

     อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

اسْتَحْوَذَ عَلَيْهِمُ الشَّيْطَانُ فَأَنسَاهُمْ ذِكْرَ اللَّهِ أُوْلَئِكَ حِزْبُ الشَّيْطَانِ أَلَا إِنَّ حِزْبَ الشَّيْطَانِ هُمُ الْخَاسِرُونَ

 

     “ชัยฎอนมารร้ายได้เข้าไปครอบงำพวกเขาเสียแล้ว มันจึงทำให้พวกเขาลืมการรำลึกถึงอัลลอฮ ชนเหล่านั้น คือบรรดาพรรคพวกของชัยฏอน พึงทราบเถิดว่า แท้จริงพรรคพวกของชัยฏอนนั้น พวกเขาเป็นผู้ขาดทุน” 

(อัล มูญาดะละฮฺ 19)

 

♣ คนที่ทิ้งละหมาด เขานั้นผิดสัญญากับอัลลอฮฺ

 

     อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لاَ تَخُونُوا اللَّهَ وَالرَّسُولَ وَتَخُونُوا أَمَانَاتِكُمْ وَأَنْتُمْ تَعْلَمُونَ ﴾

 

     “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงอย่าทุจริต ต่ออัลลอฮฺ และร่อซูล และจงอย่าทุจริตต่อบรรดาของฝาก ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้ารู้กันอยู่

( อัลฟาล 27)

 

          ฉะนั้น ผู้ปกครองจงเตือนคนในครอบครัว ให้มีการรักษาการละหมาด และ สั่งใช้อย่างเคร่งครัด เพราะนี้คือ เสาหลักของศาสนาที่สำคัญสำหรับมุสลิมทุกๆคน

อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า

 

وَأْمُرْ أَهْلَكَ بِالصَّلَاةِ وَاصْطَبِرْ عَلَيْهَا ۖ لَا نَسْأَلُكَ رِزْقًا ۖ نَّحْنُ نَرْزُقُكَ ۗ وَالْعَاقِبَةُ لِلتَّقْوَىٰ

 

     “และเจ้าจงใช้ครอบครัวของเจ้าให้ทำละหมาด และจงอดทนในการปฏิบัติเรามิได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า เราต่างหาก เป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่เจ้า และบั้นปลาย สวรรค์นั้นจะได้แก่ผู้ที่ยำเกรง” 

(ตอฮา 20:132)

ท่านลุกมานสั่งเสียด้วยการสอนลูกของเขาให้ขึ้นใจ อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

 

يَٰبُنَىَّ أَقِمِ ٱلصَّلَوٰةَ وَأْمُرْ بِٱلْمَعْرُوفِ وَٱنْهَ عَنِ ٱلْمُنكَرِ وَٱصْبِرْ عَلَىٰ مَآ أَصَابَكَ ۖ إِنَّ ذَٰلِكَ مِنْ عَزْمِ ٱلْأُمُورِ 

 

     “โอ้ ลูกรัก จงปฏิบัติละหมาด จงกำชับให้กระทำความดี จงกำชับให้ละเว้นความชั่ว

     และเจ้าจงอดทน ต่อสิ่งที่จะมาประสบแก่เจ้า จริงๆแล้ว สิ่งดังกล่าวมาเป็นกิจต่างๆ ที่ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวมั่นคง” 

(ลุกมาน 31:17)