การคลุมฮิญาบของสตรี กับการศึกษาและการประกอบอาชีพ
ฮิญาบ คือการแต่งกายที่ศาสนาอิสลามบังคับสำหรับสตรีมุสลิม เพื่อเป็นการป้องกันพวกเธอไม่ให้เกิดการเกี้ยวพาราสีและถูกรบกวนจากบรรดาบุรุษที่ไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นการคลุมฮิญาบ(ศรีษะ)จึงมีไว้เพื่อปกป้องเกียรติภูมิความมีศักดิ์ศรีของสตรี และการคลุมฮิญาบก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว หรือประกอบกิจการอะไรเลย อิสลามมิได้บังคับให้สตรีต้องปิดหน้าหรือใส่ถุงมือ
การคลุมฮิญาบมิใช่จะมีแต่เพียงในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่มีในศาสนาคริสต์อีกด้วย ซึ่งจะเห็นว่าแม่ชีชาวคริสต์แต่งกายคลุมศรีษะ และปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด จะเปิดเฉพาะใบหน้าและฝ่ามือเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะทำการสวดมนต์ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มีบทบัญญัติในคัมภีร์ไบเบิ้ล นอกจากนั้นจะเห็นว่าภรรยาของผู้นำชาติตะวันตก หรือบรรดาดาราที่มีชื่อเสียง ก็มีการคลุมศรีษะในขณะเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา(บาทหลวงในสาสนาคริสต์)
ในภาพเป็นแม่ชีชาวคริสต์ ซึ่งแต่งกายมิดชิดและคลุมฮิญาบเช่นกัน
อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่จำกัดสิทธิของสตรีในด้านการศึกษา แต่ในทางตรงกันข้ามอิสลามยังส่งเสริม อีกทั้งยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ทั้งหญิงและชายในการใฝ่หาความรู้ดังที่ศาสดามุฮัมมัด ได้กล่าวว่า
"การศึกษาความรู้นั้นเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทั้งชายและหญิง"
ประวัติศาสตร์อิสลามได้จารึกผลงานของบรรดาสตรีมุสลิมที่โดดเด่นในสาขาวิชาต่างๆเช่น วิทยาศาสตร์ ศาสนา วรรณกรรม เป็นต้น เมื่อครั้งที่ศาสดามุฮัมมัด แต่งงานกับท่านหญิงฮับเซาะ นั้นนางยังอยู่ในระหว่างการศึกษา การอ่าน การเขียน ท่านศาสดาจึงบอกให้ อัลชาฟ์ อัลอาดาวี เป็นผู้สอนวิชาการเขียนและการอ่านให้กับนางอีกด้วย ส่วนท่านหญิงอาอีซะฮ์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศาสนาอย่างดี ยิ่งกว่าผู้อื่นหลายคนในสมัยศาสดา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบกันดีในหมู่สาวกของศาสดามุฮัมมัด และท่านยังสั่งเสียบรรดาสาวกของท่านด้วยตัวเองว่า ให้สอบถามหรือหาความรู้เรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนาได้จากตัวท่านหญิงอาอิซะฮ์ นอกจากวิชาความรู้ทางด้านศาสนาแล้ว นางยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวรรณคดีประวัติสาสตร์ของเผ่าพันธ์อาหรับ ซึ่งถือว่าเป็นสาขาวิชาที่สำคัญในสมัยนั้นอีกด้วย
อิสลามมิได้ห้ามสตรีประกอบอาชีพ เธอย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำงานเมื่อมีความต้องการ และการเลือกประเภทของงานที่เหมาะสมกับประสบการณ์ความสามารถ และคุณวุฒิของเธอ นอกจากนั้นอิสลามก็มิได้ห้ามสตรีทำการศึกษาและประกอบอาชีพ ในสมัยที่ศาสดายังมีชีวิตอยู่นั้น มีสตรีที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพ โดยทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลทหาร ผู้บาดเจ็บ นอกเหนือจากการปรุงอาหารให้เหล่าทหารหาญที่ทำการสู้รบอีกด้วย
อย่างไรก็ดีจะต้องแยกแยะกฏหมายอิสลามซึ่งปกป้องและคุ้มครองความมีศักดิ์ศรี ความปลอดภัยของสตรีออกจากจารีต ประเพณีที่มีมาในยุคก่อนอิสลาม ประเพณีดังกล่าวนั้นกีดกันมิให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาหรือมีส่วนร่วมในการประกอบกิจการใดๆ อันที่จริงแล้วอิสลามให้เกียรติแก่สตรี และให้พวกเธอเสรี และเสริมสร้างบุคคลิกภาพของตนเอง เพื่อที่จะได้อบรมดูแลบุตร ธิดา ได้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้สตรีจะได้มีบทบาทในการร่วมพัฒนาสังคมต่อไปตลอดกาล
"และจงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) แก่บรรดามุมินะฮ์(สตรีมุสลิม)
ให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ และให้พวกเธอรักษาทวารของพวกเธอ
และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอเว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้
และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศรีษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ
และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอเว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ
หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายของสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ
หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือผู้หญิงของพวกเธอ
หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง(ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ
หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอ
เพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดในเครื่องประดับของพวกเธอ
และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์เถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ"
(อันนูร โองการที่ 31)
ศาสตราจารย์ ดร. มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก
د. محمود حمدي زقزوق