เ พื่ อ น ...
  จำนวนคนเข้าชม  2317


เ พื่ อ น ...

 

.ฮาซัน เจริญจิตต์

 

  1. พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ผมขอสั่งเสียตัวผมเองและท่านทั้งหลายให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ-ซุบฮานะฮู วะตะอาลา-ด้วยการยำเกรงอย่างแท้จริง

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّـهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسْلِمُونَ ﴿١٠٢﴾

 

     “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงยำเกรงอัลลอฮ์อย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตาย เป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมเท่านั้น

(อาละอิมรอน/102)

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّـهَ وَقُولُوا قَوْلًا سَدِيدًا ﴿٧٠﴾ يُصْلِحْ لَكُمْ أَعْمَالَكُمْ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ وَمَن يُطِعِ اللَّـهَ وَرَسُولَهُ فَقَدْ فَازَ فَوْزًا عَظِيمًا ﴿٧١﴾

 

     “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! จงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงกล่าวถ้อยคำที่เที่ยงธรรมเถิด 

     พระองค์จะทรงปรับปรุงการงานของพวกเจ้าให้ดีขึ้นสำหรับพวกเจ้า

     และจะทรงอภัยโทษความผิดของพวกเจ้าให้แก่พวกเจ้า

     และผู้ใดเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ แน่นอนเขาได้รับความสำเร็จใหญ่หลวง

( อัลอะห์ซาบ/70,71)

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّـهَ وَكُونُوا مَعَ الصَّادِقِينَ ﴿١١٩﴾

 

โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่พูดจริง

( อัตเตาบะฮฺ/119)

 

  2. ขอเรียกร้องท่านทั้งหลายให้ยึดมั่นในแนวทาง แบบอย่างซุนนะฮฺของท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะซัลลัม-อย่างแน่นแฟ้น

 

  3. ขอเรียกร้องท่านทั้งหลายให้มีความรัก ความสามัคคี ความปรารถนาดีแก่พี่น้องมุสลิม

 

  4. และขอกำชับท่านทั้งหลายให้รักษาการละหมาดทั้งของตัวท่านเองและบุคคลภายได้การดูแล การปกครองของท่าน อัลลอฮฺ-ซุบฮานะฮูวะตะอาลา-ตรัสว่า

 

فَإِذَا قَضَيْتُمُ الصَّلَاةَ فَاذْكُرُوا اللَّـهَ قِيَامًا وَقُعُودًا وَعَلَىٰ جُنُوبِكُمْ ۚ فَإِذَا اطْمَأْنَنتُمْ فَأَقِيمُوا الصَّلَاةَ ۚ إِنَّ الصَّلَاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَّوْقُوتًا ﴿١٠٣﴾

 

     “ครั้นเมื่อพวกเจ้าเสร็จจากการละหมาดแล้ว ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ทั้งในสภาพยืนและนั่งและในสภาพนอนเอกเขนกของพวกเจ้า

     ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ก็จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลา ไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย

( อันนิสาอฺ/103)

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا وَقُودُهَا النَّاسُ وَالْحِجَارَةُ عَلَيْهَا مَلَائِكَةٌ غِلَاظٌ شِدَادٌ لَّا يَعْصُونَ اللَّـهَ مَا أَمَرَهُمْ وَيَفْعَلُونَ مَا يُؤْمَرُونَ ﴿٦﴾

 

     “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์ และก้อนหิน

     มีมะลาอิกะฮฺผู้แข็งกร้าวหาญคอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามที่ถูกบัญชา

( อัตตะห์รีม/6)

 

  5. ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ของลูกหลานเราผ่านมาสักพักหนึ่งแล้ว ตอนนี้เกือบทุกชุมชนมุสลิมจัดให้มีการเรียนการสอนขึ้นเป็นกรณีพิเศษในช่วงปิดเทอม ทั้งที่เรียนแบบไปกลับและแบบพักค้าง เป็นระยะเวลาตามความเหมาะสมและตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่

 

  6. เป็นความตื่นตัวที่ปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง หลายชุมชนมีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการให้สอดคล้องกับสภาพลิ่งแวดล้อม สภาพปัญหาของแต่ละชุมชน

 

  7. หลายพื้นที่มีเยาวชนมุสลิมเข้าเรียนภาคฤดูร้อน มีช่วงอายุที่กว้างมาก บางพื้นที่มีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ถึง 18 หรือ20 ปี เรียกว่าตั้งแต่ .1 ถึงมัธยมปลายเลยทีเดียว แต่ในชุมชนของพวกเรามีช่วงอายุของเยาวชนที่เข้ารับการอบรมที่แคบมาก คือ 7-12 หรือ 13 ปีเท่านั้น ไม่เกิน 13 ปี ประมาณระดับประถมเท่านั้น เกินจากนั้นไม่มีแล้ว ทั้งที่กลุ่มเสี่ยงของเยาวชนและช่วงอายุที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลมากที่สุดก็คือตั้งแต่ มัธยม 1 เป็นต้นไป ในสังคมบ้านเรา พอเราเห็นเขาเริ่มขับจักรยานยนต์ได้แล้ว เราก็เริ่มเป็นห่วงแล้วครับว่า ปีหน้าเขาจะไม่เข้ามาอบรมอีกแล้ว

 

  8. ท่านพี่น้องผู้ศรัทธา ท่านผู้ปกครองที่รักทุกๆท่านครับ พี่น้องต้องทำใจและต้องเข้าใจว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่ง หรือช่วงอายุหนึ่งของลูกเราของหลานเรา เขาจะเริ่มติดเพื่อน เริ่มเชื่อเพื่อนมากกว่าผู้ปกครองหรือพ่อแม่ และเรามักจะเรียกพฤติกรรมช่วงนี้ของพวกเขาว่าตามเพื่อน เพื่อนจะมีอิทธิพลสูงมากในความคิดของลูกเรา

 

  9. ด้วยความเป็นเด็กและเริ่มที่จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น วัยหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต เขาก็จะมีชุดความคิดของเขาเอง ยังขาดประสบการณ์ขาดวุฒิภาวะในการเลือกคบเพื่อน ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จำเป็นต้องช่วยเหลือ ประคับประคองลูกหลานของเราให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องปลอดภัยให้ได้ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจและวิธีการที่เหมาะสมในการสื่อสารกับพวกเขา หาไม่แล้วพวกเขาก็จะเตลิดไป และมีอคติ มีความรู้สึกต่อต้านและแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้เราเห็นให้เรารับรู้ได้

 

  10. อัลลอฮฺ-ซุบฮานะฮู วะตะอาลา-ตรัสว่า

 

الْأَخِلَّاءُ يَوْمَئِذٍ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ عَدُوٌّ إِلَّا الْمُتَّقِينَ ﴿٦٧﴾

 

ในวันนั้นบรรดามิตรสหายจะเป็นศัตรูกัน นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง (อัลลอฮฺ)”

( อัซุครุฟ/67)

 

           ในวันกิยามะฮฺ บรรดามิตรสหายทั้งหลาย ต่างไม่ใยดีต่อกัน อันเนื่องจากแต่ละคนก็จะมีภาระของตัวเองที่หนักหน่วงใหญ่หลวงอยู่แล้ว ยิ่งสหายที่กอดคอกัน ชักจูงกัน ร่วมกันก่อความเสียหาย ทำความผิดในโลกดุนยานี้ ต่างก็จะเป็นศัตรูกัน โยนความผิดใส่กัน ว่าแต่ละฝ่ายเป็นผู้ชักจูงอันเป็นเหตุให้พบกับความวิบัติในวันนี้ ต่างฝ่ายต่างพยายามหาทางรอดและหลบหนีจากเพื่อนร่วมผิด  เว้นแต่มิตรสหายที่คบหากัน บนพื้นฐานของความศรัทธา บนพื้นฐานของความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ-ซุบฮานะฮูวะตะอาลา-เท่านั้น ที่จะยังคงสถานะของความเป็นเพื่อนเป็นมิตรสหายกันไปถึงโลกหน้าอาคิเราะห์

 

  11. นี่คือสิ่งที่เราต้องตระหนักแก่ตัวของเราเองและปลูกฝังความเข้าใจนี้ให้แก่ลูกหลานของเรา เป็นความห่วงใยที่เราจำเป็นต้องหาช่องทาง หาวิธีการกุศโลบายที่จะช่วยเหลือ ประคับประคองลูกหลานของเรา สร้างโอกาสแก่ลูกหลานของเราในการที่จะให้เขาได้พบ ได้เจอ ได้มีโอกาสเป็นเพื่อนกับคนดีๆทั้งหลาย

 

          ในห้องเรียน ในโครงการอบรมจริยธรรมอิสลามต่างๆ ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ลูกของเรามีโอกาสได้พบ ได้รู้จัก ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนดีๆ เพื่อนดีๆ ที่เป็นลูกหลานมุสลิม ที่มีความเชื่อเดียวกัน ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่เราจำลองความคิด และวิถีชีวิตแบบอิสลามให้เยาวชนลูกหลานของเราและเพื่อนๆของเราได้เรียนรู้ ได้รู้จักกัน ได้สนิทสนมกันในระเบียบเดียวกับคืออัลอิสลาม

 

12. จากทท่านอบีมูซา กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-กล่าวว่า

 

إِنَّمَا مَثَلُ الجَلِيسِ الصَّالِحِ وَالجَلِيسِ السُّوءِ كَحَامِلِ المِسْكِ وَنَافِخُ الكِيرِ، فَحَامِلُ المِسْكِ إِمَّا أَنْ يُحْذِيَكَ وَإِمَّا أَنْ تَبْتَاعَ مِنْهُ وَإِمَّا أَنْ تَجِدَ مِنْهُ رِيحًا طَيِّبَةً. وَنَافِخُ الكِيرِ إِمَّا أَنْ يُحْرِقَ ثِيَابَكَ وَإِمَّا أَنْ تَجِدَ رِيحًا خَبِيثَةً

 

     “แท้จริงอุปมาเพื่อนที่ดีและเพื่อนที่ไม่ดีนั้น เหมือนดั่งคนขายน้ำหอมและช่างตีเหล็ก

     คนขายน้ำหอมนั้น บางทีเขาอาจจะมอบ(น้ำหอม)ให้กับท่าน หรือท่านจะได้ซื้อ(น้ำหอม)จากเขา หรือไม่เช่นนั้นท่านก็ได้กลิ่นหอมจากเขา

     แต่ช่างตีเหล็กนั้น บางทีอาจทำให้เสื้อผ้าท่านไหม้ไฟ หรือไม่เช่นนั้นท่านอาจจะเจอกลิ่นเหม็น”

( บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

  13. พี่น้องผู้ศรัทธา และผู้ปกครองที่เคารพรักทุกๆท่าน แม้ว่าตรงนี้จะเป็นพื้นที่เล็กๆและช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันคือความพยายามและตระหนักรู้ของทุกๆคน ที่พยายามสร้างโอกาส สร้างภูมิคุ้มกันที่ถูกต้อง ที่แข็งแรงแก่ลูกหลานของเรา ในช่วงเวลาที่เขายังฟังเรา ในช่วงเวลาที่เราพอติดตามเขาได้บ้าง หลังจากนี้แล้ว อย่างที่เราได้เห็นได้เจอกันในชุมชนของเราว่า ลูกหลานของมุสลิมได้หายไปจากสังคมมุสลิม ทั้งๆที่เขาไม่ได้ไปไหนครับ เขายังขับจักรยานยนต์ให้เราเห็น เขายังขับรถให้เราเห็น เรายังพบเห็นเขาในที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่มัสยิด ด้วยท่านเดินที่เปลี่ยนไป ด้วยทรงผมที่เปลี่ยนไป ด้วยคำพูดคำจาที่เปลี่ยนไป เขาไปอยู่ในสังคมใหม่แล้ว มีเพื่อนไหม่แล้ว

 

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ , أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ , قَالَ : " الرَّجُلُ عَلَى دِينِ خَلِيلِهِ فَلْيَنْظُرْ أَحَدُكُمْ مَنْ يُخَالِلْ " .

 

  14. จากท่านอบีฮุรัยเราะห์ รอฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า  ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-กล่าวว่า 

     “คนคนหนึ่งจะมีศาสนาตามเพื่อนสนิทของเขา ดังนั้นพวกท่านแต่ละคน จงพิจารณาเถิดว่า ผู้ใดที่เขาคบหาเป็นเพื่อน” 

(บันทึกโดยอบูดาวูดและอัตติรมีซีย์)

 

  15. พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อย่าปล่อยให้ลูกเราเข้าสู่วัยรุ่นโดยโดดเดี่ยว อย่าปล่อยให้ลูกเราเรียนรู้ และเลือกคบเพื่อนตามลำพัง ช่วยกันประคับประคองและสร้างโอกาสในการได้รู้จักเพื่อนดีๆให้แก่ลูกของเราเถิดครับ เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานที่สำคัญให้แก่อนาคตของลูกๆเราต่อไป

 

 

คุฏบะฮฺ มัสยิดนูรุลฮุดา ป่าตอง

 

higmah.net