ระวัง ! อย่าให้คำพูดเป็นพิษ
อ.ฮาซัน เจริญจิตต์
การพูดจาให้ร้ายกันหรือสร้างความเจ็บปวด ร้าวฉานให้พี่น้องุสลิม เป็นสิ่งที่อิสลามห้ามไว้อย่างเข้มงวด และสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เขาห่างไกลจากแนวทางและลักษณะของผู้มีความศรัทธาและยำเกรง อัลลอฮฺ-ซุบฮานะฮู วะตะอาลา-ตรัสว่า
وَالَّذِينَ يُؤْذُونَ الْمُؤْمِنِينَ وَالْمُؤْمِنَاتِ بِغَيْرِ مَا اكْتَسَبُوا فَقَدِ احْتَمَلُوا بُهْتَانًا وَإِثْمًا مُّبِينًا ﴿٥٨﴾
“และบรรดาผู้กล่าวร้ายแก่บรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง ในสิ่งที่พวกเขามิได้กระทำ แน่นอนพวกเขาได้แบกการกล่าวร้าย และบาปอันชัดแจ้งไว้”
( อัลอะซาบ/58)
บางครั้งคำพูดบางคำที่ดูเหมือนคำพูดเบาๆ หรือไม่ใช่คำหยาบคาย แต่ถ้าใช้ในความหมายของการดูถูกดูแคลน หรือเหยียดหยาม ก่อให้เกิดการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง ก็เป็นคำที่ต้องห้ามและเป็นบาปที่จะใช้เช่นเดียวกัน ท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-ก็เคยถูกกล่าวร้ายจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและบรรดาศัตรูของอิสลาม
อัลลอฮฺ-ซุบฮานะฮู วะตะอาลา-ตรัสว่า
وَمِنْهُمُ الَّذِينَ يُؤْذُونَ النَّبِيَّ وَيَقُولُونَ هُوَ أُذُنٌ ۚ قُلْ أُذُنُ خَيْرٍ لَّكُمْ يُؤْمِنُ بِاللَّـهِ وَيُؤْمِنُ
لِلْمُؤْمِنِينَ وَرَحْمَةٌ لِّلَّذِينَ آمَنُوا مِنكُمْ ۚ وَالَّذِينَ يُؤْذُونَ رَسُولَ اللَّـهِ لَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ ﴿٦١﴾
“และในหมู่พวกเขานั้นมีบรรดาผู้ที่ก่อความเดือดร้อนแก่นะบี โดยที่พวกเขากล่าวว่า เขาคือหู
จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า คือหูแห่งความดีสำหรับพวกท่าน โดยที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และเชื่อถือต่อผู้ศรัทธาทั้งหลาย และเป็นการเอ็นดูเมตตา แก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกท่านและบรรดาผู้ที่ก่อความเดือดร้อนแก่ร่อซูลของอัลลอฮ์ นั้นพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด”
(อัตเตาบะฮฺ/61)
คือพวกเขาเปรียบเทียบท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-ว่าเป็นหูนั้น พวกเขาต้องการที่จะกล่าวหาท่านนบีว่าเป็นคนหูเบา ได้ยินบรรดาศอฮาบะฮฺพูดถึงพวกเขา(ผู้ตั้งภาคี ผู้ปฏิเสธ หรือพวกกลับกลอก)ว่าอย่างไร ก็เชื่อตามนั้นเลย โดยมิได้ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน
อัลลอฮฺทรงให้ท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม-ตอบโต้พวกเขาว่า ถึงท่านจะเป็นหูแต่เป็นหูที่ฟังสิ่งดีๆมาจากอัลลอฮฺ ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เชื่อถือเชื่อมั่นต่อบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายและเป็นการเอ็นดูต่อบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายโดยการชี้นำพวกเขาสู่หนทางที่ถูกต้องเที่ยงตรง ผู้ใดที่ก่อความเดือดร้อนแก่รอซูลของอัลลอฮฺแม้แต่ด้วยคำพูดของพวกเขาที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ท่านนบี พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด
إِنَّ الَّذِينَ يُؤْذُونَ اللَّـهَ وَرَسُولَهُ لَعَنَهُمُ اللَّـهُ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ وَأَعَدَّ لَهُمْ عَذَابًا مُّهِينًا ﴿٥٧﴾
“แท้จริง บรรดาผู้กล่าวร้ายแก่อัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ อัลลอฮฺทรงสาปแช่งพวกเขาทั้งในโลกนี้และปรโลก และทรงเตรียมการลงโทษอันอัปยศไว้สำหรับพวกเขา”
( อัลอะซาบ/57)
ดังนั้นพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย พึงระวังคำพูดคำจาของพวกเราให้ดี อย่าให้มีคำที่ทำร้ายน้ำใจพี่น้องของเรา หรือผู้ฟังผู้ได้ยินแล้วรู้สึกเจ็บปวดไม่สบายใจกับคำพูดของเรา
คำพูดที่ดี
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย คำพูดที่ดีที่จริงใจนั้น ส่งผลดีอย่างมากมายแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง สร้างความสบายอกสบายใจแก่ผู้ฟัง สร้างแรงบันดาลใจในสิ่งดีๆอย่างมากมาย
أَلَمْ تَرَ كَيْفَ ضَرَبَ اللَّـهُ مَثَلًا كَلِمَةً طَيِّبَةً كَشَجَرَةٍ طَيِّبَةٍ أَصْلُهَا ثَابِتٌ وَفَرْعُهَا فِي السَّمَاءِ ﴿٢٤﴾تُؤْتِي أُكُلَهَا كُلَّ حِينٍ بِإِذْنِ رَبِّهَا ۗ وَيَضْرِبُ اللَّـهُ الْأَمْثَالَ لِلنَّاسِ لَعَلَّهُمْ يَتَذَكَّرُونَ ﴿٢٥﴾ وَمَثَلُ كَلِمَةٍ خَبِيثَةٍ كَشَجَرَةٍ خَبِيثَةٍ اجْتُثَّتْ مِن فَوْقِ الْأَرْضِ مَا لَهَا مِن قَرَارٍ ﴿٢٦﴾ يُثَبِّتُ اللَّـهُ الَّذِينَ آمَنُوا بِالْقَوْلِ الثَّابِتِ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَفِي الْآخِرَةِ ۖ وَيُضِلُّ اللَّـهُ الظَّالِمِينَ ۚ وَيَفْعَلُ اللَّـهُ مَا يَشَاءُ ﴿٢٧﴾
“เจ้ามิเห็นดอกหรือว่า อัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์ไว้ว่า อุปมาคำพูดที่ดีดั่งต้นไม้ที่ดี รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคง และกิ่งก้านของมันชูขึ้นไปในท้องฟ้า,ผลของมันจะออกมาทุกกาลเวลา โดยอนุมัติของพระเจ้าของมัน และอัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์แก่ปวงมนุษย์เพื่อพวกเขาจะได้รำลึก
และอุปมาคำพูดที่เลว ดั่งต้นไม้ที่อับเฉาถูกถอนราออกจากพื้นดิน มันไม่มีความมั่นคงเลย,อัลลอฮทรงให้บรรดาผู้ศรัทธาหนักแน่นด้วยคำกล่าวที่มั่นคง ในการมีชีวิตอยุ่ทั้งในโลกนี้ และในปรโลก และอัลลอฮทรงให้บรรดาผู้อธรรมหลงทาง และอัลลอฮทรงกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์”
(อิบรอฮีม 24-27)
ผลของคำพูดที่ดีนั้นก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งมีความมั่นคงในคุณค่าของคำพูดนั้น อิสลามจึงกำชับสั่งใช้ให้พูดด้วยคำพูดดีๆ และระวังคำพูดไม่ดี ที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายและฟิตนะฮฺต่างๆ
♥ คำพูดที่ดี อาจจะไม่ใช่คำพูดที่ไพเราะสละสลวยก็ได้ อาจจะเป็นคำพูดตรงๆ สั้นๆ ตรงประเด็น แต่ผู้ฟังสามารถสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ความปรารถนาดีของผู้พูด
♥ คำพูดที่ดีมีแต่จะสร้างความประทับใจ สร้างความสบายใจ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ได้ยิน ได้รับฟัง แม้จะถกเถียงกันหรือมีความเห็นที่ไม่ตรงกันก็ตาม
وَلَا تَسْتَوِي الْحَسَنَةُ وَلَا السَّيِّئَةُ ۚ ادْفَعْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ فَإِذَا الَّذِي بَيْنَكَ وَبَيْنَهُ عَدَاوَةٌ كَأَنَّهُ وَلِيٌّ حَمِيمٌ ﴿٣٤﴾ وَمَا يُلَقَّاهَا إِلَّا الَّذِينَ صَبَرُوا وَمَا يُلَقَّاهَا إِلَّا ذُو حَظٍّ عَظِيمٍ ﴿٣٥﴾
“และความดีและความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่มันดีกว่า แล้วเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้ากับระหว่างเขาเคยเป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน และไม่มีผู้ใดได้รับมัน (คุณธรรมดังกล่าว) นอกจากบรรดาผู้อดทน และจะไม่มีผู้ใดรับมันนอกจากผู้ที่มีโชคลาภอันใหญ่หลวง”
(ฟุตศิลัต/34,35)
ระวังการแพร่คำพูดและเรื่องไม่ดี
ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการต่อสู้กันทางความคิด ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำมาเสนอจากแต่ละฝ่ายนั้น ไม่ได้มีเฉพาะข้อมูลข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่มีการใส่ร้าย มีการสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นแก่ฝ่ายตรงกันข้าม รวมถึงการก่นด่ากันด้วยข้อความหยาบคาย คำพูดหยาบคาย ผู้ศรัทธาทั้งหลายพึงระวังการรับฟังข้อมูลข่าวสารต่างๆ หลีกเลี่ยงการฟังคำหยาบคำด่าและระวังการแพร่เรื่องราวที่ไม่ดี เรื่องไม่จริง เรื่องไม่มีการยืนยัน ไม่แน่ชัดต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดฟิตนะและความวุ่นวายต่างๆ
عن حفص بن عاصم رضي الله عنه قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: " كفى بالمرء كذبا أن يحدّث بكل ما سـمع " رواه مسلم ، المقدمة 6
จากฮับศิบนิ อาศิม รอฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ –ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะซัลลัม-กล่าวว่า
“พอเพียงแล้วที่ชายคนหนึ่งจะเป็นคนโกหก การที่เขาพูดทุกอย่างที่เขาได้ยิน”
( บันทึกโดย มุสลิม ในมุก็อดดิมะฮฺ 6)
อิสลามได้วางมาตรการในตรวจสอบข่าวสาร ข้อมูล คำพูดต่างๆไว้อย่างรัดกุม และให้ระมัดระวังในการที่จะแพร่ข่าว ในการกระจายเรื่องราวต่างๆที่ได้รับฟังมา ต้องตรวจสอบจนมั่นใจในความถูกต้อง มีที่มาที่สามารถอ้างอิงได้ การนำเรื่องราวไปเผยแพร่ต่อ(ซึ่งในปัจจุบันนิยมเรียกกันว่าแชร์หรือแบ่งปันตามศัพท์สังคมออนไลน์)โดยขาดการตรวจสอบและการไตร่ตรองอาจละเมิดสิทธิของผู้อื่น และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตผู้อื่นอย่างไม่คาดฝัน
และบางเหตุการณ์อาจนำมาซึ่งความเสียหายรุนแรงและเกินแก้ไขเยียวยา อันจะนำมาซึ่งความเศร้าสลดเสียใจของผู้ที่ได้กระทำไปและผู้มีส่วนในเหตุการณ์นั้นทุกคน ดังนั้นอิสลามจึงวางมาตรการว่าเรื่องที่จะเผยแพร่ต่อไม่ว่าโดยคำพูดหรือช่องทางอื่นใดต้องเป็นเรื่องจริงและเป็นเรื่องที่เผยแพร่ไปแล้วจะเกิดประโยชน์เกิดความดีงามขึ้นเท่านั้น
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِن جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَإٍ فَتَبَيَّنُوا أَن تُصِيبُوا قَوْمًا بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَىٰ مَا فَعَلْتُمْ نَادِمِينَ ﴿٦﴾
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป”
(อัลหุญุรอต/6)
บรรดาผู้ที่ชอบเผยแพร่สิ่งที่ไม่ดี คำพูดที่ไม่ดี ข้อคิดความเห็น ข้อเขียนบทความ หรือสื่อใดๆก็ตาม เขาย่อมต้องรับผิดชอบต่อการนั้น
إِنَّ الَّذِينَ يُحِبُّونَ أَن تَشِيعَ الْفَاحِشَةُ فِي الَّذِينَ آمَنُوا لَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ ۚ وَاللَّـهُ يَعْلَمُ وَأَنتُمْ لَا تَعْلَمُونَ ﴿١٩﴾
“แท้จริงบรรผู้ชอบที่จะให้เรื่องบัดสีแพร่หลายไปในหมู่ผู้ศรัทธานั้น พวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บปวด ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และอัลลอฮ์ทรงรอบรู้และพวกเจ้าไม่รู้”
( อันนูร/19)
مَّا يَلْفِظُ مِن قَوْلٍ إِلَّا لَدَيْهِ رَقِيبٌ عَتِيدٌ ﴿١٨﴾
“ไม่มีคำพูดคำใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่ใกล้ ๆ เขานั้นมี (มะลัก) ผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อม (ที่จะบันทึก)”
( กอฟ/18)
وَلَا تَقْفُ مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ ۚ إِنَّ السَّمْعَ وَالْبَصَرَ وَالْفُؤَادَ كُلُّ أُولَـٰئِكَ كَانَ عَنْهُ مَسْئُولًا ﴿٣٦﴾
“และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน”
( อัลอิสรออฺ/36)
คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสยิดนูรุลฮุดา ป่าตอง
Higmah.net