สภาพผู้ที่หลงทาง
  จำนวนคนเข้าชม  2771


สภาพผู้ที่หลงทาง

 

โดยเชค มุฮัมหมัด อมีน อั้ชชันกีตี้ย์ 

แปลเรียบเรียง อาบีดีณ โยธาสมุทร

 

ซูเราะฮฺ อั้ดดุฮา บิ้สมิ้ลลาฮิ้รร่ฮฺมานิ้รร่อฮีม คำพูดของพระองค์ ตะอาลา ที่ว่า

 

وَوَجَدَكَ ضَالًّا فَهَدَىٰ :الضحى:

 

และพระองค์ทรงพบเจ้าในสภาพที่เป็นผู้ที่หลงทาง แล้วพระองค์จึงได้นำเจ้าสู่ทาง

 

          การสื่อความหมายตามนัยปกติของอายะฮฺอันทรงเกียรติอายะฮฺนี้ อาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ท่านเคยเป็นคนที่หลงผิดออกจากทางมาก่อน ก่อนที่ท่านจะได้รับวะฮีย์ 

 

ทั้งๆที่คำพูดของพระองค์ ตะอาลา ที่ว่า

 

فَأَقِمْ وَجْهَكَ لِلدِّينِ حَنِيفًا ۚ فِطْرَتَ اللَّهِ الَّتِي فَطَرَ النَّاسَ عَلَيْهَا  الروم: ٣٠

 

     “ดังนั้น เจ้าจงผินหน้าของเจ้าให้มุ่งตรงสู่ศาสนานี้อย่างแน่วแน่ในความถูกต้อง อันเป็นข้อมูลสามัญพื้นฐานจากอัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาโดยให้มีมันไว้อยู่ด้วย

 

           ได้บ่งบอกไว้ว่า ท่าน ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ถูกทำให้มีการยึดถือต่อศาสนาที่มุ่งสู่ความถูกต้องนี้ติดตัวไว้อยู่แล้ว  อีกทั้งยังเป็นที่ทราบกันว่า พ่อแม่ของท่านเองก็ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ตัวท่านกลายไปเป็นยิว, กลายไปเป็นคริสต์หรือกลายไปเป็นพวกบูชาไฟแต่อย่างใด 

 

          แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ท่านยังคงมั่งคงอยู่ในข้อมูลสามัญพื้นฐานนี้เรื่อยมาจนกระทั่งอัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นร่อซูล ซึ่งสิ่งที่ทำหน้าที่ยืนยันให้กับข้อมูลข้างต้นนี่ก็คือ ข้อมูลที่ผ่านการยืนยันแล้วว่าถูกต้องที่ได้บอกไว้ว่า ช่วงแรกของการประทานวะฮีย์ลงมานั้น ตอนนั้นท่านกำลังทำอิบาดะฮฺอยู่ในถ้ำฮิร้ออฺ ซึ่งการทำอิบาดะฮฺก่อนที่จะมีการประทานวะฮีย์ลงมาให้นี้ เป็นเครื่องยืนยันว่าท่านยังคงมั่นคงอยู่ในข้อมูลสามัญพื้นฐานที่ว่าอยู่เรื่อยมา

 

ซึ่งคำตอบของประเด็นนี้ก็คือ ที่จริงแล้ว ความหมายของคำพูดของพระองค์ที่ว่า

 

ضَالًّا فَهَدَىٰ  الضحى: ٧

 

ในสภาพที่เป็นผู้ที่หลงทาง แล้วพระองค์จึงได้นำเจ้าสู่ทาง

 

          นั้น หมายถึง เป็นผู้ที่ไม่เคยมีสิ่งที่เจ้าได้รู้เกี่ยวกับมัน ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติต่างๆ ตลอดจนรายละเอียดเชิงลึกต่างๆ ของความรู้ทางศาสนาที่ไม่สามารถรู้ได้ด้วยข้อมูลสามัญพื้นฐานและด้วยปัญญา แต่ที่เจ้ารู้เกี่ยวกับมันได้ก็เพราะด้วยกับวะฮีย์เท่านั้น อยู่ในความคิดมาก่อนเลย แล้วพระองค์จึงทรงนำเจ้าสู่เรื่องเหล่านั้นด้วยกับสิ่งที่พระองค์ได้ทรงวะฮีย์มาให้เจ้า ดังนั้น ความหมายของคำว่าหลงทางตามคำอธิบายนี้ จึงหมายถึงการไม่ได้เคยมีความรู้นั่นเอง

 

ซึ่งข้อมูลที่มีความหมายในทำนองเดียวกันกับข้อมูลนี้ก็ได้แก่ คำพูดของพระองค์ตะอาลา ที่ว่า

 

أَن تَضِلَّ إِحْدَاهُمَا فَتُذَكِّرَ إِحْدَاهُمَا الْأُخْرَىٰ   البقرة: ٢٨٢

 

เพื่อที่ถ้าหากเธอคนใดคนหนึ่งหลงทางไป อีกคนหนึ่งจะได้คอยเตือนให้ได้

 

และคำพูดของพระองค์ที่ว่า

 

لَّا يَضِلُّ رَبِّي وَلَا يَنسَى  طه: ٥٢

 

พระเจ้าของฉันไม่ทรงหลงทางและไม่ทรงลืม

 

และคำพูดของพระองค์ที่ว่า

 

قَالُوا تَاللَّهِ إِنَّكَ لَفِي ضَلَالِكَ الْقَدِيمِ   يوسف: ٩٥

 

พวกเขาพากันพูดว่า สาบานต่ออัลลอฮฺเลยว่า แน่นอนว่า คุณยังคงอยู่ในการหลงทางครั้งก่อนของคุณอยู่แน่ๆ

 

และในคำของกวี ที่ว่าไว้ว่า

وتظن سلمى أنني أبغى بها .... بدلا أراها في الضلال تهيم

     “และฉันมาคิดไปเองว่าผมไปทำอะไรไม่ดีกับเธอ ... แต่กลับกัน ผมกลับคิดว่าเธอนั่นแหละที่กำลังร่อนเร่อยู่ในการหลงทางอยู่

 

ซึ่งคำพูดของพระองค์ ตะอาลา ที่ว่า

 

مَا كُنتَ تَدْرِي مَا الْكِتَابُ وَلَا الْإِيمَانُ   الشورى: ٥٢

 

เจ้าไม่ได้เคยรู้มาก่อนว่าพระคัมภีร์คืออะไร และอั้ลอีหม่านคืออะไร

 

         ก็เข้ามาทำหน้าที่เป็นหลักฐานให้แก่ความเข้าใจนี้ เพราะคำว่าอั้ลอีหม่าน ตรงนี้ หมายถึง บทบัญญัติต่างๆของศาสนาอิสลามนั่นเอง

และเช่นกันคำพูดของพระองค์ที่ว่า

 

وَإِن كُنتَ مِن قَبْلِهِ لَمِنَ الْغَافِلِينَ  يوسف: ٣

 

แม้ว่าก่อนหน้าข้อมูลนี้ เจ้าจะเคยเป็นหนึ่งจากพวกคนที่ไม่เคยรับรู้อะไรเกี่ยวกับมันมาก่อนก็ตาม

 

และคำพูดของพระองค์ที่ว่า

 

وَعَلَّمَكَ مَا لَمْ تَكُن تَعْلَمُ  النساء: ١١٣

 

และพระองค์ทรงสอนเจ้าในสิ่งที่เจ้าไม่เคยได้รู้มาก่อน

 

และคำพูดของพระองค์ที่ว่า

 

وَمَا كُنتَ تَرْجُو أَن يُلْقَىٰ إِلَيْكَ الْكِتَابُ إِلَّا رَحْمَةً مِّن رَّبِّكَ  القصص: ٨٦

 

 

     “และเจ้าไม่ได้เคยหวังมาก่อนว่าจะมีพระคัมภีร์ถูกประทานมาให้เจ้า นอกเสียจากว่า มันเป็นเพียงความเมตตาจากพระเจ้าของเจ้าเท่านั้น

 

          ในขณะที่บ้างก็ว่าไว้ว่า ความหมายของคำพูดของพระองค์ที่ว่า ( ضالّا )ในสภาพที่เป็นผู้หลงทางนั้นหมายถึง ตอนที่ท่านออกไปตามหุบเขาของมักกะฮฺขณะที่ยังเป็นเด็กอยู่ ส่วนบ้างก็ว่า ตอนที่ท่านออกไปในการเดินทางไปเมืองชาม ซึ่งคำอธิบายแรกนั้นเป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง

 

     อัลลอฮฺตะอาลาทรงเป็นผู้ที่รู้ที่สุด และการอิงความรู้สู่อัลลอฮฺนั้นเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุด