ตัวแทนบนหน้าแผ่นดิน
อ. อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อันเนื่องมาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เกียรติแก่มนุษย์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์จึงทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นสิ่งถูกสร้างที่สวยงามที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ให้มีสติปัญญา ให้มีความสามารถ และได้ทรงมอบหน้าที่สำคัญให้แก่มนุษย์ ก็คือการเป็นตัวแทนของพระองค์บนโลกดุนยานี้
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 30 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَإِذۡ قَالَ رَبُّكَ لِلۡمَلَٰٓئِكَةِ إِنِّي جَاعِلٞ فِي ٱلۡأَرۡضِ خَلِيفَةٗۖ
“และจงรำลึกถึงขณะที่พระเจ้าของเจ้าได้ตรัสแก่มะลาอิกะฮฺว่า..แท้จริง ข้าจะให้มี خَلِيفَةٗ (ก็คือมีตัวแทน)ขึ้นบนหน้าแผ่นดิน.”
นั่นก็หมายความว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นเคาะลีฟะฮฺในสังคมโลก ...การเป็นเคาะลีฟะฮฺ ก็คือการที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้มนุษย์ได้ทำหน้าที่ประกาศความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ประกาศเดชานุภาพ ประกาศการเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียว แด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น
โดยพระองค์ได้ประทานคัมภีร์ ประทานบทบัญญัติศาสนา พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งบรรดาศาสนฑูตเพื่อเป็นแบบอย่างในการนำบทบัญญัติศาสนานั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อที่มนุษย์ทุก ๆคนจะได้มีความสุขอย่างแท้จริง และอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสุขสงบ เป็นสังคมที่ร่มเย็นและปลอดภัย
ดังนั้น ใครที่ยึดมั่น เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เขาก็คือ ผู้ที่น้อมรับการทำหน้าที่เคาะลีฟะฮฺ ทำหน้าที่ตัวแทนของพระองค์บนสังคมโลกนี้ .. ส่วนสำหรับใครที่ไม่ยึดมั่น ไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตาม เขาก็คือผู้ที่ปฏิเสธการทำหน้าที่ตัวแทนของพระองค์บนสังคมโลกนี้
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ที่น้อมรับการทำหน้าที่ตัวแทนของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ การมีอัคล๊ากหรือการมีจรรยามารยาทตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงรับรองไว้ ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลเกาะลัม อายะฮฺที่ 4 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَإِنَّكَ لَعَلَىٰ خُلُقٍ عَظِيمٍ
“และแท้จริง เจ้านั้นอยู่บน خُلُقٍ จรรยามารยาทอันยิ่งใหญ่”
อีกทั้งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยังได้กล่าวถึงตัวท่านเองไว้ด้วย อัลหะดีษ (ศอหิหฺ โดยชัยค์อัลอัลบานีย์) ในบันทึกของอิมามหะกิม รายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า
« إِنَّمَا بُعِثْتُ لأُتَمِّمَ مَكَارِمَ الأَخْلاَقِ »
“แท้จริง ฉันถูกแต่งตั้งมาเพื่อให้จรรยามารยาทนั้นครบถ้วนสมบูรณ์”
ดังนั้น การนำจรรยามารยาทของท่านนบีมาปลูกฝังให้อยู่ในหัวใจของเรา และปฏิบัติมันออกมา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ตัวแทนของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ...ซึ่งจรรยามารยาทอันดีงามของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีอยู่มากมาย ณ ที่นี้จะขอนำเสนอใน 2 ประการดังนี้
ประการแรกก็คือ ความเมตตา
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอัมบิยาอ์ อายะฮฺที่ 107 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَمَآ أَرۡسَلۡنَٰكَ إِلَّا رَحۡمَةٗ لِّلۡعَٰلَمِينَ
“และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย”
คำว่า อัรเราะหฺมะฮฺ ความเมตตา คือหนึ่งในบรรดาพระนามอันงดงามและคุณลักษณะอันสูงส่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้เมตตาอย่างล้นเหลือ ทรงแต่งตั้งบรรดานบีแก่กลุ่มชนต่าง ๆ และทรงแต่งตั้งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมา เพื่อให้บอกข่าวดีแก่บรรดามนุษยชาติถึงเรื่องราวที่จะนำพวกเขาให้ไปสู่ความดีทั้งในโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺ ..
ถ้าหากท่านนบีไม่มีความเมตตา ท่านก็จะต้องเก็บเรื่องราวดี ๆนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่แพร่งพรายให้ใครได้รู้ แต่เพราะท่านนบีมีความเมตตา ท่านจึงได้ทำหน้าที่เผยแผ่บทบัญญัติของอัลอิสลาม ประกาศให้สังคมโลกได้รับรู้ ถึงแม้ว่าท่านนบีจะได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงเพียงใดก็ตาม ท่านก็ไม่เคยท้อถอยในการทำหน้าที่ของท่าน
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย คำว่า رَحۡمَةٗ ความเมตตา ก็คือ ความรัก ความหวังดี ความปรารถนาดีที่อยากเห็นผู้อื่นมีความสุข ยอมอภัยให้กับความผิดพลาดของผู้คนได้ ความเมตตาจะไม่มีลักษณะของการสมน้ำหน้า แต่กลับจะมีแต่ความเห็นอกเห็นใจ ..ดังนั้น ความเมตตาจึงนำมาซึ่งสังคมที่สงบสุข มีความรัก มีความสามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่นำมาซึ่งสังคมที่มีความรุนแรง ..และความเมตตาจะส่งผลดีต่อผู้ที่มีความเมตตา เพราะถ้าเรามีความเมตตาต่อผู้อื่น มันจะส่งผลสะท้อนกลับมาถึงเราด้วย
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ อิมามมุสลิม รายงานจากท่านญะรีร บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«لا يَرْحَـمُ اللهُ مَنْ لا يَرْحَـمُ النَّاسَ». متفق عليه
"อัลลอฮฺจะไม่ทรงเมตตาสำหรับผู้ที่ไม่มีความเมตตาต่อคนอื่น"
ดังนั้น เราจึงต้องสร้างตัวเราให้เป็นผู้ที่มีความเมตตา เพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรักเรา ทรงเมตตาต่อเรา เพราะความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่มีต่อเรานั้นจะส่งผลต่อตัวเรา และโดยเฉพาะจะส่งผลให้เราได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ ..
ขอเน้นย้ำว่า เราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้นั้น ก็เนื่องมาจากความเมตตาของพระองค์เท่านั้น
สำหรับอะมัลอิบาดะฮฺศอลิหฺต่าง ๆ มากมายที่เราทำนั้น มันเป็นเพียงสื่อเพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรักเรา ทรงเมตตาต่อเราเท่านั้น
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จรรยามารยาทอันดีงามของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่จะขอเสนอ ณ ที่นี้
ประการที่สองก็คือ ความยุติธรรม.. ٱلۡمِيزَانَ
ความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในบรรดาพระนามอันงดงามและคุณลักษณะอันสูงส่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเช่นกัน ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลหะดีด อายะฮฺที่ 25 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
لَقَدۡ أَرۡسَلۡنَا رُسُلَنَا بِٱلۡبَيِّنَٰتِ وَأَنزَلۡنَا مَعَهُمُ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡمِيزَانَ لِيَقُومَ ٱلنَّاسُ بِٱلۡقِسۡطِۖ
“แน่นอน เราได้ส่งบรรดาเราะซูลของเราพร้อมด้วยบรรดาหลักฐานอันชัดแจ้ง
และเราได้ประทานคัมภีร์และความยุติธรรมลงมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่บนความเที่ยงธรรม...”
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงบอกว่า ٱلۡمِيزَانَ ความยุติธรรม จะทำให้มนุษย์ดำรงตนอยู่บนความเที่ยงธรรม ความถูกต้องดีงาม
ความยุติธรรม ก็คือ การมอบสิทธิอันถูกต้องชอบธรรมให้แก่ผู้มีสิทธิต่อสิ่งนั้น ..คนทำงานรับจ้างต้องได้รับค่าแรงที่เหมาะสม และคนทำงานรับจ้างก็ต้องทำงานให้เหมาะสมกับค่าแรงที่ได้รับด้วย นี่คือความยุติธรรม..คนที่เป็นลูกหนี้ต้องใช้หนี้ให้แก่คนที่เป็นเจ้าหนี้ นี่คือ ความยุติธรรม ..
ความยุติธรรมจะนำมาซึ่งความเป็นธรรมในสังคม ความยุติธรรมจะทำให้เราปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความถูกต้อง ด้วยความเท่าเทียมเช่นเดียวกับที่เราอยากให้ผู้อื่นปฎิบัติต่อเรา ความยุติธรรมจึงทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความรัก ความสามัคคี ทำให้สังคมได้รับความสุขสงบ มีความปลอดภัย มีความเสมอภาคกัน ..
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนไม่รักษาความยุติธรรม ผู้พิพากษาตัดสินความต่าง ๆด้วยความลำเอียง ไม่ยึดมั่นอยู่ในบทบัญญัติศาสนา ไม่ดำรงไว้ซึ่งกฎหมาย เมื่อนั้นแหละ การละเมิดสิทธิของบุคคลก็จะเกิดขึ้นทันที ทำให้ผู้คนเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดการแตกความสามัคคีกัน หวาดระแวงซึ่งกันและกัน เกิดการไม่เคารพกฎหมาย อันจะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ครั้งหนึ่ง ในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีหญิงคนหนึ่งจากตระกูลมัคซูม ซึ่งถือกันว่าเป็นตระกูลที่มีเกียรติ เธอได้ลักขโมย ทำให้เธอต้องได้รับโทษด้วยการตัดมือ ..ท่านอุซามะฮฺ บิน เซด จึงได้มาร้องขอต่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้ละเว้นการลงโทษเธอ อันเนื่องจากว่า เธออยู่ในตระกูลที่มีเกียรติ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้ให้คำสั่งสอนว่า
إِنَّمَا أَهْلَكَ الَّذِينَ قَبْلَكُمْ أَنَّهُمْ كَانُوا إِذَا سَرَقَ فِيهِمْ الشَّرِيفُ تَرَكُوهُ وَإِذَا أَيُّهَا النَّاسُ مَّدٍ سَرَقَتْ لَقَطَعْتُ سَرَقَ فِيهِمْ الضَّعِيفُ أَقَامُوا عَلَيْهِ الْحَدَّ وَايْمُ اللَّهِ لَوْ أَنَّ فَاطِمَةَ بِنْتَ مُحَ يَدَهَا
"แท้จริง บรรดากลุ่มชนที่มาก่อนหน้าพวกท่านนั้น พวกเขาได้ประสบความหายนะมาแล้ว
อันเนื่องจากได้เกิดขึ้นในหมู่พวกเขาที่ เมื่อคนที่มีเกียรติ(อยู่ในตระกูลดี มีชื่อเสียง)ได้ลักขโมย
แล้วพวกเขาก็ละเลย(ในการลงโทษ ไม่ยอมลงโทษ)
แต่ครั้น พวกเขาที่เป็นคนอ่อนแอ(ยากจน ไม่มีชื่อเสียง) ได้ลักขโมย พวกเขาก็จะถูกลงโทษ
ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ..หากฟาติมะฮฺ ลูกสาวของมุฮัมมัดได้ลักขโมย แน่นอน ฉันก็จะตัดมือของเธอ"
(อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮา )
คำสอนของท่านนบีนี้ สอนให้เราดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ให้เราตัดสิน ให้เราชี้ขาดคดีความต่าง ๆให้เป็นไปตามบทบัญญัติศาสนา ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้มันมีมาตรฐานเดียว อย่าให้มีสองมาตรฐาน หรือสามมาตรฐาน .. และเราจะต้องไม่ยอมให้ความรัก ความเกลียดชัง หรือความสัมพันธ์เครือญาติ หรือฐานะ ชาติตระกูล หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม มามีอิทธิพลต่อการตัดสินของเรา เราต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม เพราะไม่เช่นนั้น ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น ผู้คนก็จะไม่ยึดมั่นบทบัญญัติศาสนา ไม่เคารพกฎหมาย เกิดฟิตนะฮฺ เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง อันจะนำมาซึ่งความหายนะ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทั้งหมดนั่นก็คือ เรื่องราวเพียงเล็กน้อยของจรรยามารยาทของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่นำมาเสนอได้เพียงสองประการ เพื่อให้เราได้นำมาปลูกฝังให้อยู่ในหัวใจของเรา และปฏิบัติมันออกมา ให้เราเป็นคนที่มีความเมตตา ให้เราเป็นคนที่มีความยุติธรรม .. เป็นจรรยามารยาทของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่อุละมาอ์บอกว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของหลักอะกีดะฮฺหรือหลักการเชื่อมั่นของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ..
เป็นหลักให้เรายึดเหนี่ยว ให้เราปฏิบัติตาม และเป็นหลักให้เราใช้มองไปยังผู้คนในสังคมว่า คน ๆนั้น เขาเป็นคนมีเมตตาไหม เป็นผู้ใหญ่ที่เมตตาต่อผู้น้อยไหม หรือเป็นผู้ปกครองที่มีเมตตาต่อผู้ที่อยู่ใต้การปกครองหรือเปล่า หรือคนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีความยุติธรรมไหม คนกลุ่มนั้นเป็นคนเห็นแก่พวกพ้องไหม ...
เมื่อเราเห็น เราทราบแล้ว เราจะได้กำหนดท่าทีของเราได้ถูกว่า เราควรจะมีท่าทีต่อพวกเขาอย่างไร ..ควรจะคบหากันไหม ควรจะติดต่อกันไหม ควรจะสนับสนุนไหม หรือควรจะถอยห่าง ไม่เข้าใกล้ ไม่สนับสนุน เพราะผลตอบแทนของทั้งสองฝ่ายไม่เหมือนกัน
การส่งเสริมในเรื่องที่ให้เกิดความเมตตา ความยุติธรรมจะนำไปสู่ความพึงพอใจของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ในทางตรงข้าม หากไม่เมตตา หากไม่มีความยุติธรรมย่อมไม่ได้รับความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดประทานให้เราเป็นผู้ที่มีความเมตตา มีความยุติธรรม เป็นผู้ที่น้อมรับบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ และได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้เป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดินนี้
คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุ้ลอิห์ซาน