ขอหย่าด้วยสาเหตุที่สามีถูกจำคุกนาน
  จำนวนคนเข้าชม  2626


ร้องขอการหย่า ด้วยสาเหตุที่สามีถูกจำคุกเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

 

แปลเรียบเรียง อาบีดีน พัสดุ

 

คำถาม

 

          หญิงคนหนึ่งที่สามีของนางถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลามากกว่า ๑๕ ปี นางมีสิทธิที่จะร้องขอการหย่า เพื่อทำการแต่งงานกับชายอื่นหรือไม่ ?

 

คำตอบ

 

          เป็นที่ชัดเจนว่า หญิงสาวที่ยังคงอยู่ในการดูแลของสามี ย่อมไม่เป็นที่อนุมัติแก่นาง ในการที่นางจะไปแต่งงานกับชายอื่น ถึงแม้ว่าสามีของนางจะห่างหายไปนานเพียงใดก็ตาม เว้นแต่ว่า สามีของนางได้ทำการหย่านาง หรือผู้พิพากษาที่เป็นมุสลิมได้ทำการตัดสินให้การหย่าเกิดขึ้นและระยะเวลาการครองอิดดะฮฺของนางได้หมดลงแล้ว (จึงจะอนุญาตให้นางแต่งงานกับชายอื่นได้)

 

          ส่วนในเรื่อง สิทธิของนางที่จะร้องขอการหย่า ด้วยเหตุที่สามีถูกคุมขังเป็นระยะเวลาอันยาวนานนั้น หากหมายถึงการที่นางจะขอให้สามีทำการหย่านาง อันเนื่องจากความยากลำบากที่ประสบกับนางจากการที่สามีห่างหายไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้น นี่คือสิทธิของนาง โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ เพราะแท้จริงการที่ฝ่ายหญิงขอให้ทำการหย่านั้น เป็นผลสืบเนื่องจากความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับนาง จึงไม่มีความผิดแก่นาง (ที่จะขอให้สามีทำการหย่า)

 

          เพราะการห้ามมิให้ภรรยาร้องขอการหย่าจากสามี (ในหลักศาสนา) นั้น คือในกรณีที่ภรรยามิได้มีเหตุผลอันสมควรแต่อย่างใดเลย และจึงไม่เป็นที่สงสัยว่า การที่สามีห่างหายไปด้วยระยะเวลาที่ยาวนานดังกล่าว คือความเดือดร้อนชัดเจนที่เกิดขึ้นกับฝ่ายภรรยา

 

          ส่วนหากสิทธิของฝ่ายหญิง หมายถึง การร้องขอ (ผู้พิพากษา ให้ทำการบังคับหย่า ) เป็นการบังคับสามี ไม่ว่าเขาจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ตาม โดยในประเด็นนี้ บรรดาปราชญ์ได้มีความเห็นที่แตกต่างกันในฮูก่มข้อชี้ขาด โดยปราชญ์ส่วนมากให้ทัศนะว่าไม่เป็นที่อนุมัติ เมื่อสามียังคงให้ค่าเลี้ยงดูแก่ภรรยาอยู่ และปราชญ์บางส่วนให้ทัศนะว่า เป็นที่อนุมัติให้กระทำได้

 

          ขอให้ย้อนกลับไปดูในฟัตวา เลขที่ ๖๒๓๙๒ ทัศนะที่กล่าวว่าเป็นที่อนุมัติให้กระทำได้นั้น - والله أعلم - เป็นทัศนะที่ใกล้เคียงกับเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติและหลักการของศาสนามากที่สุด แต่สำหรับฝ่ายภรรยาในสภาพการณ์เช่นนี้ ก็สมควรที่จะชั่งระหว่างข้อดีและข้อเสียอย่างมีสติและความคิดอันเหมาะสม , และให้ผลประโยชน์ของศาสนามาก่อนผลประโยชน์ของดุนยา

 

 

https://www.islamweb.net/ar/fatwa/135340/