จุดยืนของมุสลิมกับข่าวลือ
  จำนวนคนเข้าชม  4077


จุดยืนของมุสลิมกับข่าวลือ

 

เรียบเรียง....อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          ปัจจุบันเป็นยุคที่ไม่ต้องรอรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ในยุคที่ทุกคนเป็นผู้ส่งสารผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวได้ เราสามารถเชื่อมั่นได้แค่ไหนว่า ข่าวที่รู้มาเป็นเรื่องจริง 100% ยิ่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตครั้งใหญ่ การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารที่ถูกมองว่าเป็นข่าววงในก็จะยิ่งได้รับความสนใจและถูกส่งต่อมากขึ้นเรื่อยๆ

 

         ทุกวันนี้ วันที่คนไทยกว่า 25 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 38 ของประชากรไทยทั้งหมดสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และในจำนวนนี้ มีผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ถึงกว่า 18 ล้านคนเมื่อมีจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีมากขึ้น โอกาสในการที่คนไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารด้วยตัวเองก็มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อความ รูปภาพหรือวิดีโอ ที่ทุกคนสามารถเขียนข้อความ ถ่ายภาพ หรือถ่ายวิดีโอได้ง่ายๆ

 

          ข่าวลือ คือ ข่าวที่พูดกันทั่วไป แต่ยังไม่มีอะไรยืนยันได้แน่นอน เป็นข่าวเฉพาะที่ถูกเสนอให้คนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เชื่อ โดยการเผยแพร่จากคนหนึ่ง สู่อีกคนหนึ่ง แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ

 

         ในหลักการของศาสนาอัลอิสลามนั้น มุสลิมต้องมีมารยาทและจริยธรรมตามคำสั่งและคำห้ามของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่นิสัย มารยาทและจริยธรรมของเรานั้นต้องสอดคล้องกับแนวทางของกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมในด้านการพูด จะต้องระมัดระวังจากพิษภัยของลิ้นโดยเฉพาะข่าวเท็จ ข่าวลือ ข่าวปลอม

 

          แนวทางของผู้ศรัทธาในการรักษาลิ้นของเขาจากการพูดในสิ่งที่มีผลดีหรือประโยชน์ในชีวิตของเขา นั่นคือชีวิตผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์ ดังที่

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถูกถามว่าโอ้ท่านเราะสูลของอัลลอฮฺ ใครประเสริฐที่สุดบรรดามุสลิมีน?” 

     ท่านนบีตอบว่าเขาคือผู้ที่มุสลิมคนอื่นได้ปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา

(บุคอรีย์และมุสลิม)

 

         ในอัลกุรอ่านเราจะเห็นว่า เหยื่อของข่าวลือ มักเป็นบรรดาศาสนฑูต และคนดีเสมอ ซึ่งในบางกรณี ข่าวลือถูกสร้างจากศัตรู และบางกรณี เขาลือก็เกิดจากความเข้าใจผิดของมิตรที่โง่เขลา จนบางครั้งมีปัญหาต่างๆ มากมายเกิดขึ้น ความรวดเร็วของข่าวลือถูก กระจาย เหมือนไฟลามป่า คุณจะสังเกตเห็นว่า ตั้งแต่ช่วงแรกของการเผยแพร่ของแต่ละนบี มักจะมีกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวขึ้น และสร้างข่าวลือให้พวกเขา ว่าเป็นคนบ้าบ้าง เป็นคนบ้าอำนาจบ้าง เป็นคนหลงผิดบ้าง เป็นคนเล่นไสยศาสตร์บ้าง

 

วิธีการรับมือกับข่าวลือ

 


อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنْ جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَإٍ فَتَبَيَّنُوا أَنْ تُصِيبُوا قَوْمًا بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَىٰ مَا فَعَلْتُمْ نَادِمِينَ)

 

     “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด

     หาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” 

(ฮุญุรอต:6)

 

         สาเหตุของการประทานโองการนี้ลงมา คือ นักตัฟซีร กล่าวว่า อายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาในเรื่องราวของอัลวะลีด อิบนฺ อุกบะฮฺ อิบนฺ อะบีมุอีฎ เมื่อท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใช้ให้ไปรวบรวมซะกาตจากบะนีมุศฎ้อลิก เมื่อวะลีดเดินทางไปถึงหมู่บ้านดังกล่าว รู้สึกกลัวชาวบ้านออกมาต้อนรับเลยกลับไปหาท่านนบี วะลีดเข้าใจผิดคิดว่าชาวบ้านออกมาเพื่อจะมาทำร้ายเขา จึงรีบเดินทางกลับเพื่อแจ้งข่าวแก่ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าพวกเขามิได้มอบซะกาตให้ แต่ท่านนบีได้ใช้วิจารณญาณโดยส่งคอลิด อิบนุลวะลีด ไปสอบสวนข้อเท็จจริง ปรากฎว่าเหตุการณ์หาได้เป็นตามที่วะลีด รายงาน อายะฮฺนี้จึงถูกประทานลงมาเพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องของบะนีมุศฎ้อลิก

 

ตัวอย่างในอดีตที่เกิดขึ้น

 

         แม้กระทั่งภรรยาของท่านนะบี ท่านหญิงอาฮิชะห์ รอฏิยัลลอฮูอันฮา ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้รับการทดสอบอย่างหนักที่สุดตั้งแต่เมื่อท่านหญิงอาอิชะฮ์อายุยังน้อย โดยนางได้ถูกปรักปรำจากพวกตลบตะแลง คือ อับดุลลอฮฺ บิน อุบัย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางกลับจากสงครามบนูอัลมุสฏอลิก ในปี .. ที่ 5 ก็ถูกใส่ร้ายจากกลุ่มมานาฟิก ที่ไม่หวังดีต่อศาสนาอิสลาม จากการปล่อยข่าวที่ไม่ดี กล่าวหาว่า นางนั้นมีชู้กับท่านซอฟวาน อิบนุล มุอัฏฏอ อัสสะละมี

 

          พวกมุนาฟิกทำให้มุสลิมบางคนเชื่อในข่าวที่ได้รับ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจของท่านหญิงอาฮิชะห์เป็นอย่างมาก ท่านหญิงอาฮิชะห์ต้องทุกข์ระทมกับข่าวลือว่าท่านมีชู้กับชายอื่นเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้ประทานอัลกุรอานมาเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ในตัวของท่าน นี่คือบางตัวอย่างที่ชี้ถึงการรับข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีการตรวจสอบเพื่อใช้ในการพินิจพิจารณา

 

     พระองค์อัลลอฮ์ทรงประทานอัลกุรอานลงมายืนยันความบริสุทธิ์ของนางดังนี้

 

إنَّ الَّذِيْنَ جَاءُوا بِالإفْكِ عُصْبَةٌ مِنْكُمْ لاَ تَحْسَبُوْهُ شَرًّا لَّكُمْ َبلْ هُوَ خَيْرٌ لَّكُمْ لِكُلِّ امْرِئٍ مِّنْهُمْ مَا اكْتَسَبَ مِنَ اللإثْمِ وَالَّذِي تَوَلَّى كِيْرَهُ مِنْهُمْ لَهُ عَذَابٌ عَظِيْمٌ

 

     “แท้จริงบรรดาผู้ซึ่งนำข่าวเท็จมานั้นคือ คนกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเจ้า พวกเจ้าอย่าได้คิดว่ามันเป็นความเลวร้ายแก่พวกเจ้า แต่มันเป็นความดีสำหรับพวกเจ้า

     สำหรับทุกๆคนในหมู่พวกเขานั้นคือสิ่งที่ได้ขวนขวายไว้จากการทำบาป ส่วนผู้ซึ่งเป็นหัวหอกในเรื่องนี้ในหมู่พวกเขานั้น สำหรับเขาคือการลงโทษมหันต์” 

 

(ซูเราะห์อันนูร อายะห์ที่ 11)

 

         นี่คืออันตรายและผลกระทบของคำพูดที่ไม่ได้คำนึงถึงอันตรายหรือความเลวร้ายของมัน นั่นคือสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เตือนประชาชาติของท่านเพื่อให้เรานั้นได้พยายามเฝ้าดูคำพูดที่จะออกจากลิ้นของเรา สอดคล้องกับคำสั่งของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ได้ตรัสไว้ในสูเราะฮฺอัลอิสรออ์ว่า

 

﴿ وَلَا تَقۡفُ مَا لَيۡسَ لَكَ بِهِۦ عِلۡمٌۚ إِنَّ ٱلسَّمۡعَ وَٱلۡبَصَرَ وَٱلۡفُؤَادَ كُلُّ أُوْلَٰٓئِكَ كَانَ عَنۡهُ مَسۡ‍ُٔولٗا ﴾

 

     “และเจ้าอย่าได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านไม่มีความรู้ แท้จริงสิ่งที่ออกจากหูของท่าน ดวงตาของท่าน หัวใจของท่าน ล้วนจะต้องถูกสอบสวนอย่างแน่นอน

 (อัลอิสรออ์ : 36)

 

         จะต้องรักษาความปลอดภัยจากลิ้นของเขา ซึ่งเป็นส่วนอันตรายที่สุดในร่างกายของผู้ศรัทธา ดังที่ท่านนบีได้บอกกับมุอาซ อิบนุ ญะบัล ว่า

 

وَهَلْ يَكُبُّ النَّاسَ عَلَى عَلَى مَنَاخِرِهِمْ- إلَّا حَصَائِدُ أَلْسِنَتِهِمْ

 

 “ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้มนุษย์เข้านรกอย่างมากมาย นอกจากลิ้นของพวกเขาจะเป็นสาเหตุดังกล่าว

(ติรมีซีย์)

 

ข่าวลือเหล่านี้ ประกอบไปด้วย

การกุและสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา

การสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

การทำลายความสงบ

 

จุดยืนของมุสลิมกับวิธีการรับมือ กับข่าวลือ

 

♦ ทุกคำพูดจะถูกสอบสวนในวันกียามะฮฺ

 

          หากใครมิได้ใช้ลิ้นไปในหนทางแห่งการภักดีต่ออัลลอฮฺ แน่นอนว่าจะเป็นความหายนะอย่างร้ายแรงต่อเจ้าของ อัลลอฮฺตรัส ความว่า

 

﴿ يَوۡمَ تَشۡهَدُ عَلَيۡهِمۡ أَلۡسِنَتُهُمۡ وَأَيۡدِيهِمۡ وَأَرۡجُلُهُم بِمَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ﴾

 

วันที่ลิ้น มือ และเท้าของพวกเขาจะเป็นสักขีพยานต่อพวกเขา ตามที่พวกเขาได้กระทำไว้” 

(อัล-นูร : 24)

 

ทุกคำพูดจะถูกจดบันทึก

 

          และยังมีหลักฐานอีกมากมายที่ส่งเสริมให้ระวังรักษาลิ้น ดังที่อัลลอฮฺตรัส ความว่า

 

﴿ مَّا يَلۡفِظُ مِن قَوۡلٍ إِلَّا لَدَيۡهِ رَقِيبٌ عَتِيدٞ ﴾

 

ไม่มีคำพูดใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่จะมีมะลัก(เทวฑูต)ผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อมที่จะบันทึก” 

(กอฟ : 18)

 

จะต้องตรวจสอบข่าวนั้น

 

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنْ جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَإٍ فَتَبَيَّنُوا أَنْ تُصِيبُوا قَوْمًا بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَىٰ مَا فَعَلْتُمْ نَادِمِينَ)

 

     “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด

     หาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” 

[ฮุญุรอต:6]

 

     - ต้องการจะพิจารณา ว่า อะไรคือเรื่องจริงอะไรคือเรื่องเท็จ ให้ดูว่าคนพูดคือคนที่ ยุติธรรม หรือเป็นพวกกดขี่ เป็นพวกละเมิดฝ่าฝืน ? ถ้าเรายังหาไม่ได้ว่าใครเป็นผู้พูดและผู้พูดมีสถานะ ความซื่อสัตย์อย่างไร ก็ควรชั่งไว้ในใจก่อน

     - ตะบัยยุน ในโองการ หมายถึงการแยก หรือการทำให้สว่างหรือการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แบบที่ไม่มีความสงสัย แคลงใจใดๆหลงเหลืออีก

     - โองการ ยังได้ให้หลักการกับเรา ว่า จะต้องไม่ยอมรับข่าวใดๆจากบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ ตราบใดที่มันยังไม่กระจ่างชัด จะต้องไม่ยอมจำนนให้ข่าวลือหรือตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือ แต่จะต้องทำการสืบค้นหาความจริง และคนฉลาด จะต้อง รับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้น หากนำหลักการนี้ไปยึดถือ ในเรื่องของการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง และเรื่องราวต่างๆรอบตัวเรา โรคหูเบาก็จะรักษาให้หายขาดได้

 

ใครรักษาลิ้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม รับประกันให้เขาเข้าสวรรค์

 

     จากสะฮ์ลฺ อิบนุ สะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

«مَنْ يَضْمَنْ لِي مَا بَيْنَ لَحْيَيْهِ وَمَا بَيْنَ رِجْلَيْهِ، أَضْمَنْ لَهُ الْجَنَّةَ»

 

     “ผู้ใดที่ประกันตนเองได้ว่าจะรักษาลิ้นและอวัยวะเพศของเขาจากการละเมิดได้ แน่นอนฉันจะรับประกันสวรรค์ให้แก่เขา

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ )

 

บทลงโทษ ที่พระองค์ฆาตโทษไว้กับ นักสร้างข่าวลือทั้งหลาย คือ

 

(لَئِنْ لَمْ يَنْتَهِ الْمُنَافِقُونَ وَالَّذِينَ فِي قُلُوبِهِمْ مَرَضٌ وَالْمُرْجِفُونَ فِي الْمَدِينَةِ لَنُغْرِيَنَّكَ بِهِمْ ثُمَّ لَا يُجَاوِرُونَكَ فِيهَا إِلَّا قَلِيلًا)

 

     “แน่นอน ถ้าพวกผู้กลับกรอกและบรรดาผู้ที่ในหัวใจของพวกเขาป่วย และกลุ่มผู้ก่อกวนความสงบในนครมะดีนะฮฺไม่ระงับ (การกระทำที่เลวทรามของพวกเขา)

     แน่นอนยิ่ง เราจะให้เจ้ามีอำนาจเหนือพวกเขา แล้วพวกเขาจะไม่กลับมาพำนักเป็นเพื่อนบ้านของเจ้าในนั้นอีกเว้นแต่เพียงชั่วเวลาอันเล็กน้อยเท่านั้น” 

(อะฮซาบ : 60)

 

จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

 

«إِنَّ الْعَبْدَ لَيَتَكَلَّمُ بِالْكَلِمَةِ مَا يَتَبَيَّنُ مَا فِيهَا، يَهْوِي بِهَا فِي النَّارِ أَبْعَدَ مَا بَيْنَ الْمَشْرِقِ وَالْمَغْرِبِ»

 

     “บ่าวผู้หนึ่งอาจจะพูดจาด้วยคำพูด โดยที่เขาไม่ทราบว่าอัลลอฮฺทรงกริ้วหรือไม่ แต่แล้วมันกลับเป็นเหตุทำให้เขาตกไปในหุบเหวแห่งไฟนรก ที่มีความลึกเฉกเช่นความห่างของทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม )

 

มุสลิมต้องคิดในแง่ดีต่อพี่น้องมุสลิมเสมอ

 

         หากได้ยินข่าวลือในด้านลบเกี่ยวกับพี่น้องมุสลิมคนใดก็ตามเราต้องคิดในแง่ดีกับมุสลิมคนนั้นไว้ก่อนอย่าด่วนเชื่อข่าวลืออย่าด่วนคิดว่ามุสลิมคนนั้นต้องเป็นอย่างข่าวลือแน่ๆ

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

لَوْلا إِذْ سَمِعْتُمُوهُ ظَنَّ الْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بِأَنفُسِهِمْ خَيْرًا وَقَالُوا هَذَا إِفْكٌ مُّبِينٌ

 

     “เมื่อพวกเจ้าได้ยินข่าวเท็จนี้ ทำไมบรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง จึงไม่คิดเปรียบเทียบกับตัวของพวกเขาเองในทางที่ดี และกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องโกหกอย่างชัดแจ้ง

(ซูเราะห์อันนูร อายะฮฺที่ 12)

 

ไม่นำข่าวลือที่ได้ยินมาไปแพร่กระจายให้คนอื่นฟัง

 

          คือทำลายด้วยการไม่นำไปลือต่อห้ามเรามิให้บอกหรือเล่าทุกสิ่งที่เราได้ยินมาท่านนบีมุฮัมมัด ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

"كَفَى بِالْمَرْءِ كَذِبًا أَنْ يُحَدِّثَ بِكُلِّ مَا سَمِعَ

 

"เพียงพอแล้วที่คนๆ หนึ่งจะโกหกด้วยการที่เขาเล่า (ให้คนอื่นฟัง) ในทุกสิ่งที่เขาได้ยิน"

(บันทึกโดยอบู ดาวูด)

 

และอัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

إِذْ تَلَقَّوْنَهُ بِأَلْسِنَتِكُمْ وَتَقُولُونَ بِأَفْوَاهِكُم مَّا لَيْسَ لَكُم بِهِ عِلْمٌ وَتَحْسَبُونَهُ هَيِّنًا وَهُوَ عِندَ اللَّهِ عَظِيمٌ

 

     “ขณะที่พวกเจ้าได้รับข่าวนั้น ด้วยการพูดกันระหว่างพวกเจ้า และพวกเจ้าพูดกันในสิ่งที่พวกเจ้าไม่มีความรู้ และพวกเจ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก แต่ ที่อัลลอฮ์นั้นมันเป็นเรื่องใหญ่

(อัน-นูร 15)

 

จงนิ่งเสีย

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ، فَلْيَقُلْ خَيْرًا أَوْ لِيَصْمُتْ،

 

ใครก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และวันสิ้นโลก ก็จงพูดแต่สิ่งที่ดี ไม่เช่นนั้นก็จงนิ่งเงียบ

(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

          การบริโภคข่าวสาร จะต้องเป็นไปอย่างชาญฉลาดมีไหวพริบ ไม่หลงเชื่อใครง่ายๆ แล้วตรวจสอบอย่างแน่นอน ถ้าเรากล่าวหาว่าคนคนหนึ่งเลว ทั้งๆที่ฟังผู้คนเขาพูดกันมา โดยที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ แล้วมาพบในภายหลังว่า ผู้ที่เรากล่าวหานั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เขาลือกันจริงๆ เราเองนี่แหละที่เป็นคนอธรรม ในทางตรงข้าม หากเราไม่เชื่อข่าวลือง่ายๆ และรับรู้แต่สิ่งที่ยืนยันถึงข้อเท็จจริงได้เท่านั้น เราจะปลอดภัยจากการทำร้ายผู้อื่นและทำร้ายหัวใจตัวเอง

 

 


ขอต่อพระองค์ทรงโปรดปกป้องให้ลิ้นของเรา บริสุทธิ์จากพี่น้องมุสลิมด้วยเถิด...อามีน