ความสะอาด
  จำนวนคนเข้าชม  38899


ความสะอาด

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา แปลเรียบเรียง

 

ความหมายและความสำคัญ

 

          ความสะอาด ( اَلطَّهَارَةُ ) ความสะอาดและปราศจากสิ่งสกปรก ซึ่งจะต้องทำความสะอาดโดยน้ำ เป็นหลักการสำคัญในศาสนาอิสลาม เป็นครึ่งหนึ่งของการศรัทธา เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของมุสลิมผู้ศรัทธาในศาสนา และอิสลามได้กำหนดบทบาทหน้าที่ประจำวันของมุสลิม ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน

 

หลักการ

 

          อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

( إِنَّ اللهَ يُحِبُّ التَّوَّابِيْنَ وَ يُحِبُّ اْلمُتَطَهِّرِيْنَ )

แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้เตาบะห์ (กลับเนื้อกลับตัว) และทรงรักผู้มีความสะอาด” 

[อัลบะเกาะเราะฮฺ :222]

 

ความประเสริฐ

 

          ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มุสลิมมีความสะอาดภายในด้วย คือความบริสุทธิ์ใจ และภายนอกด้วยการชำระร่างกาย อัลลอฮ์ ตรัสว่า

( إِنَّ اللهَ يُحِبُّ التَّوَّابِيْنَ وَ يُحِبُّ اْلمُتَطَهِّرِيْنَ )

แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้เตาบะห์ (กลับเนื้อกลับตัว) และทรงรักผู้มีความสะอาด

(ซูเราะห์อัลบะก่อเราะห์ 222)

          อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

(وَثِيَابَكَ فَطَهِّرْ )

และอาภรณ์ของเจ้าก็จงทำความสะอาด

(ซูเราะห์อัลอุดดัษษิร 4)

          ท่านอาบูมาลิกกะอฺ บินอาศิมอัลอัช อะรีย์ ร่อฎิยัลลอ ฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

الطُّهُورُ شَطْرُ الإِيْمَانِ

การทำความสะอาด เป็นครึ่งหนึ่งของการศรัทธา

(บันทึกโดยมุสลิม)

          ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

لاَ تُقْبَلُ صَلاَةٌ بِغَيْرِ طُهُوْرٍ

การละหมาดโดยไม่มีการทำความสะอาดตามศาสนบัญญัติจะไม่ถูกตอบรับ

 (บันทึกโดยอัดติรมิซีย์)

          อิสลามให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดร่างกาย ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้กล่าวไว้ว่า

( الْفِطْرَةُ خَمْسٌ : الْخِتَانُ ، وَالاِسْتِحْدَادُ ، وَنَتْفُ الإِبْطِ ، وَتَقْلِيمُ الأَظْفَارِ ، وَقَصُّ الشَّارِبِ )

     “ธรรมชาติมีห้าประการคือ การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ การโกน (ขนลับ) การถอน(ขน)รักแร้ การตัดเล็บ การตัดหนวด” 

(อัลบุคอรีย์ มุสลิม)

 

     ในหลักการของ ศาสนาอิสลามได้จำแนกประเภทความสะอาดที่เป็นเงื่อนไขเกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติศาสนกิจออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

1. ความสะอาดจากหะดัษ

 

     หะดัษ ( الْحَدَثُ ) คือ สภาพความไม่สะอาดของร่างกายที่มีผลทำให้ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจบางประการได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

     1.หะดัษเล็ก (الْحَدَثُ الأَصْغَرُ ) คือ สภาพความไม่สะอาดของร่างกายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ผายลม ฯลฯ

     2.หะดัษใหญ่ (الْحَدَثُ الأَكْبَرُ ) คือ สภาพความไม่สะอาดของร่างกายที่เกิดขึ้นจากการหลั่งอสุจิ การมีเลือดระดูหรือเลือดประจำเดือน (เฮฎ) เลือดจากการคลอดบุตร

 

2. ความสะอาดจากนะยิส

 

     นะยิส ( النَّجَاسَةُ ) คือสิ่งสกปรกโสโครก อันเป็นที่น่ารังเกียจตามศาสนบัญญัติ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด น้ำลายสุนัข ซากสัตว์ เป็นต้น บรรดานักวิชาการได้แบ่งหรือจำแนกนะยิสออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

     - นะยิสมุค็อฟะฟะฮ์ ( الْمُخَفَّفَةُ ) ชนิดเบา คือ นะยิสที่เกิดจากปัสสาวะของเด็กทารกเพศชายที่อายุไม่เกิน 2 ขวบ ไม่ได้กินและดื่มสิ่งอื่นใดที่ ทำให้อิ่มหมายถึงเป็นอาหารนอกจากน้ำนมของมารดาเท่านั้น

 

     - นะยิสมุตะวัสซิเฏาะฮ์ ( الْمُتَوَسِّطَةُ ) ชนิดปานกลาง คือ นะยิสที่เกิดจากอุจจาระ ปัสสาวะ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อาเจียน สิ่งที่ออกมาจากทวารทั้งสองยกเว้นอสุจิ ซากสัตว์ที่ตายเอง

 

     - นะยิสมุฆ็อลละเซาะฮ์ ( الْمُغَلَّظَةُ ) ชนิดหนัก คือ นะยิสที่เกิดจากน้ำลายของสุนัขที่เลียภาชนะ

 

การทำความสะอาด

 

น้ำมี 3 ประเภท

 

     หนึ่ง : เฏาะฮูร (น้ำสะอาดและสามารถนำไปใช้ทำความสะอาดได้) คือ น้ำที่ยังคงสภาพเดิม ซึ่งใช้ในการชำระร่างกายให้สะอาดจากหะดัษ และชำระสิ่งโสโครกปฏิกูลได้ 

อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿وَيُنَزِّلُ عَلَيۡكُم مِّنَ ٱلسَّمَآءِمَآءٗلِّيُطَهِّرَكُم بِهِۦ﴾

และพระองค์ทรงหลั่งน้ำสะอาดจากฟากฟ้าแก่พวกเจ้า เพื่อทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดด้วยน้ำนั้น” 

(อัลอันฟาล : 11)

 

     สอง : ฏอฮิร (น้ำสะอาดแต่ไม่สามารถนำไปใช้ทำความสะอาดได้) คือ น้ำสะอาดที่ได้เปลี่ยนสภาพของสี รส หรือกลิ่น อันเนื่องจากสิ่งอื่นซึ่งมิใช่สิ่งปฏิกูล(นะญิส) น้ำประเภทนี้สะอาด แต่ไม่สามารถใช้ในการปลดเปลื้องหะดัษได้ เพราะได้เปลี่ยนจากสภาพเดิม

 

     สาม : นะญิส (น้ำสกปรก) คือ น้ำที่เปลี่ยนสภาพของสี กลิ่น หรือรส อันเนื่องจากสิ่งปฏิกูล(นะญิส) ไม่ว่าน้ำจะมีปริมาณน้อยหรือมากก็ตาม น้ำที่สกปรก ( นะญิส ) จะเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำสะอาดเมื่อมันเปลี่ยนสภาพด้วยตัวเอง หรือมันเหือดแห้ง หรือโดยการเพิ่มปริมาณน้ำสะอาดลงไป ดังนั้นการเปลี่ยนสภาพของน้ำจะทำให้หายจากการเป็นน้ำสกปร

 

การทำความสะอาดจากหะดัษ มี 3 ประเภท

- หะดัษใหญ่ คือการอาบน้ำ

- หะดัษเล็ก คือการอาบน้ำละหมาด ชำระด้วยน้ำสะอาด

- และการตะยำมุม ( การใช้ดินหรือฝุ่น) ในกรณีที่มีอุปสรรคในการใช้น้ำ

 

การทำความสะอาดจากสิ่งปฏิกูล มี 3 ประเภท

- การล้าง

- การเช็ดถู

- การพรมน้ำ

 

การอาบน้ำฆุสลฺ ( الْغُسْلُ ) อาบน้ำชำระให้สะอาดหมดจดทั่วทั้งร่างกาย ตามลักษณะวิธีที่ศาสนาบัญญัติ ดังนี้

 

     1. การมีญะนาบะฮ์ (ตัวไม่สะอาด) ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้จะไม่มีการหลั่ง ในขณะนอนหลับ หรือตื่น จากชายหรือหญิง

     2. หมดเฮด (เลือดประจำเดือน) หรือนิฟาส (เลือดหลังคลอด)

     3. การเข้าสู่อิสลาม ดังนั้น ใครที่เข้าสู่อิสลาม จากพวกปฏิเสธ (กาเฟร์) ต้องอาบน้ำ

     4. การตาย เมื่อมุสลิมตาย จำเป็นต้องชำระล้าง

 

ดุอาอ์หลังอาบน้ำละหมาด

 

أَشْهدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ وَحْدَهُ لاَ شَريْكَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ، اللَّهُمَّ اجْعَلْنِي مِنَ التَّوَّابِيْنَ وَاجْعَلْنِي مِنَ الـمُتَطَهِّرِينَ

 

     อ่านว่า : อัชฮะดู้ อัลลาอิลาฮ่า อิลลัลลอฮู่ วะฮฺด้าฮู ลาช่ารีก้าละฮฺ วะอัชฮะดู้ อันน่า มุฮัมม่าดัน อับดุฮู ว่าร่อซูลู่ฮู อัลลอฮุมมัจอัลนี มินัตเตาวาบีน่า วัจอัลนี มินัลมุต้าเตาะฮฺฮี่รีน

 

     ความว่า : ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ เพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์
     และฉันขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดเป็นบ่าว และเป็นศาสนทูตของพระองค์
     โอ้อัลลอฮฺ โปรดทำให้ฉันอยู่ในหมู่ผู้ที่กลับตัวสู่พระองค์ และโปรดทำให้ฉันอยู่ในหมู่ผู้ที่ได้รับการขัดเกลาให้สะอาดด้วยเถิด

 

ความประเสริฐของความสะอาด : ประตูสวรรค์ทั้งแปดบานจะถูกเปิดออกให้เขาเข้าตามใจปรารถนา