ไม่มีหนี้ ดีที่สุด
  จำนวนคนเข้าชม  2231


ไม่มีหนี้ ดีที่สุด

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

           ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

     ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลหากิม รายงานจากท่านญาบิร บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า

 

قَالَ: مَاتَ رَجُلٌ، فَغَسَّلْنَاهُ، وَكَفَّنَّاهُ، وَحَنَّطْنَاهُ، وَوَضَعْنَاهُ لِرَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَيْثُ تُوضَعُ الْجَنَائِزُ عِنْدَ مَقَامِ جِبْرِيلَ ثُمَّ آذَنَّا رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِالصَّلَاةِ عَلَيْهِ، فَجَاءَ مَعَنَا خُطًى، ثُمَّ قَالَ: «لَعَلَّ عَلَى صَاحِبِكُمْ دَيْنًا؟» قَالُوا: نَعَمْ، دِينَارَانِ فَتَخَلَّفَ، فَقَالَ لَهُ رَجُلٌ مِنَّا يُقَالُ لَهُ أَبُو قَتَادَةَ: يَا رَسُولَ اللَّهِ، هُمَا عَلَيَّ فَجَعَلَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُولُ: «هُمَا عَلَيْكَ وَفِي مَالِكَ وَالْمَيِّتُ مِنْهُمَا بَرِيءٌ» فَقَالَ: نَعَمْ فَصَلَّى عَلَيْهِ فَجَعَلَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا لَقِيَ أَبَا قَتَادَةَ يَقُولُ: «مَا صَنَعَتِ الدِّينَارَانِ؟» حَتَّى كَانَ آخِرَ ذَلِكَ قَالَ: قَدْ قَضَيْتُهُمَا يَا رَسُولَ اللَّهِ قَالَ: «الْآنَ حِينَ بَرَدَتْ عَلَيْهِ جِلْدُهُ»

 

ชายคนหนึ่งได้เสียชีวิต เราจึงได้อาบน้ำมะยัตและห่อกะฝั่นให้แก่เขา แล้ววางมะยัตลง สถานที่ที่เตรียมไว้ เพื่อรอท่านเราะซูลุลลอฮฺมานำละหมาด 

เมื่อท่านเราะซูลุลลอฮฺเดินทางมาถึง ท่านเราะซูลุลลอฮฺถามว่าสหายของพวกท่านมีหนี้สินหรือไม่ ?”

พวกเขาตอบว่ามีครับ มะยัตนี้มีหนี้สินเป็นเงินสองดีนาร์

ท่านเราะซูลุลลอฮฺจึงได้กล่าวว่าพวกท่านจงละหมาดให้สหายของพวกท่านเถิด

ชายคนที่ชื่ออบูเกาะตาดะฮฺ จึงได้กล่าวขึ้นว่าโอ้ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ผมขอรับผิดชอบ(ที่จะชดใช้)เงินสองดีนาร์ให้แก่เขาเอง

ท่านเราะซูลุลลอฮฺจึงได้ถามว่าท่านจะชดใช้เงินสองดีนาร์นี้ด้วยทรัพย์สินของท่าน และถือว่ามะยัตนี้ได้หมดหนี้สินแล้วใช่หรือไม่ ?”

เขา(ท่านอบูเกาะตาดะฮฺ)ตอบว่าครับ

ท่านเราะซูลุลลอฮฺจึงได้นำละหมาดให้แก่มะยัตนี้ ..แล้วหลังจากนั้น ทุกครั้งที่ท่านเราะซูลุลลอฮฺได้พบท่านอบูเกาะตาดะฮฺ ท่านเราะซูลุลลอฮฺก็จะถามว่าท่านจัดการเงินสองดีนาร์นั้นหรือยัง ?”

จนกระทั่งท่านอบูเกาะตาดะฮฺได้ตอบว่าผมชดใช้หนี้สินเรียบร้อยแล้วครับ

ท่านเราะซูลุลลอฮฺจึงกล่าวว่าในที่สุด ท่านก็ทำให้ผิวหนังของเขา(ชายคนที่เสียชีวิต)เย็นลงเสียที

 

จากอัลหะดีษนี้ เราจะได้รับความรู้อย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกันคือ

 

♣- ท่านนบีไม่นำละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่มะยัตที่ยังมีหนี้สิน แม้ว่าจะเป็นหนี้สินเพียงเล็กน้อยก็ตาม จนกว่าจะมีผู้รับชำระหนี้สินนั้นเสียก่อน

 

♣- ผิวหนังของมะยัตที่มีหนี้สินจะร้อนรุ่ม ไม่มีความสุขสบาย จนกว่าหนี้สินจะหมดไป

 

          นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการที่เราต้องรีบจัดการชำระหนี้สินให้หมดสิ้นโดยเร็ว ดังนั้น การก่อหนี้สินจึงถือเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงมาก แม้ว่าจะเป็นหนี้สินเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะการก่อหนี้สินมีผลผูกพันกับเขาทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ ..ไม่ใช่ว่า เมื่อเขาเสียชีวิตลงแล้ว หนี้สินจะถูกตัดขาด แต่ความจริงก็คือ เมื่อดุนยา เขาไม่ได้ชดใช้หนี้สิน แต่ในอาคิเราะฮฺ เขาก็ต้องชดใช้ เว้นเสียแต่ว่า เจ้าของสิทธิหรือคนที่เป็นเจ้าหนี้จะยอมยกหนี้สินนั้นให้แก่เขา.. 

 

          ทั้งนี้เพราะ หนี้สินคือการก่อภาระผูกพันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เป็นภาระผูกพันระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งมีสิทธิที่ต้องพึงปฏิบัติต่อกันตามบทบัญญัติศาสนา เมื่อในดุนยา สิทธิของฝ่ายใดได้รับการละเลย เพิกเฉย ถูกอธรรม มันก็จะถูกนำมาสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ผ่านกระบวนการต่าง ๆของวันกิยามะฮฺ จนกระทั่งจะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่แล้ว แต่ยังเข้าไม่ได้ เพราะมีหนี้สินที่เขาได้ล่วงเกินสิทธิของเจ้าหนี้ไว้ ซึ่งมันยังไม่ได้รับการชดใช้

 

     อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลหากิม รายงานจาก سَمُرَةَ بْنِ جُنْدَبٍ عَنْ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إِنَّ الرَّجُلَ الَّذِي مَاتَ فِيكُمْ قَدِ احْتَبَسَ عَنِ الْجَنَّةِ مِنْ أَجْلِ الدَّيْنِ الَّذِي عَلَيْهِ ، فَإِنْ شِئْتُمْ فَافْدُوهُ ، وَإِنْ شِئْتُمْ فَأَسْلِمُوهُ إِلَى عَذَابِ اللّهِ »

 

          “ชายคนหนึ่งในหมู่พวกท่านที่เสียชีวิตลง ได้ถูกกักตัวไว้ ยังไม่ใด้เข้าสวรรค์ อันเนื่องจากว่า เขามีหนี้สินที่ยังค้างชำระ(ในโลกดุนยา) ...แต่หากพวกท่านประสงค์จะช่วยปลดปล่อยเขา ( ช่วยให้เขาได้เข้าสวรรค์ด้วยการชดใช้หนี้สินแทนเขา ก็จงทำ) ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ต้องปล่อยให้เขาเผชิญกับการลงโทษของอัลลอฮฺต่อไป

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขนาดผู้ตายชะฮีด หรือผู้ที่ทำญิฮาด เสียชีวิตในสงครามเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น ผลบุญของเขาคือการที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษในทุก ๆบาปให้แก่เขา แต่ยกเว้นบาปที่เกิดจากหนี้สินเท่านั้น ที่ผู้ตายชะฮีดต้องถูกชำระสะสางหนี้สินเสียก่อน

 

     อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจาก وعَنْ عبدِاللَّهِ بنِ عَمرو بنِ العاص، رضي اللَّه عنْهما เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

يغْفِرُ اللَّه للشَّهيدِ كُلَّ ذنب إلاَّ الدَّيْنَ

 

อัลลอฮฺทรงอภัยโทษทุกๆบาปให้แก่ผู้ตายชะฮีด นอกจาก(บาปที่เกิดจาก)หนี้สิน

 

          ดังนั้น เมื่อเรามีหนี้สินจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา ที่ต้องรีบชำระหนี้สินให้หมดไปโดยเร็ว เพราะเราไม่ทราบว่า เมื่อเราเสียชีวิตไปแล้ว โดยที่ยังมีหนี้สินที่ไม่ได้ชำระ จะมีใครมาช่วยสะสางหนี้สินนั้นให้แก่เราหรือไม่ และการที่เราล่าช้าในการชำระหนี้สินนั้น มันคือการอธรรมอย่างหนึ่ง

 

     อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

« مَطْلُ الْغَنِيِّ ظُلْمٌ »

 

     “การผัดผ่อนล่าช้าของผู้ที่มีความสามารถจะใช้หนี้ได้นั้น ถือเป็นการอธรรมประการหนึ่ง(นำมาซึ่งการถูกลงโทษ)”

 

          คนที่ก่อหนี้สินจึงต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่ต้องการจะชำระหนี้สินของเขา ..เมื่อเขามีความสามารถที่จะชดใช้หนี้สินนั้นได้ ก็ให้เขารีบชำระหนี้นั้นเสียทันที ...แต่ถ้าหากเขายังไม่มีความสามารถ แต่เขามีความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะใช้หนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงเปิดหนทางในการใช้หนี้ให้แก่เขาเอง

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

: مَنْ أَخَذَ أَمْوَالَ النَّاسِ يُرِيدُ أَدَاءَهَا أَدَّى اللَّهُ عَنْهُ ، وَمَنْ أَخَذَ يُرِيدُ إِتْلاَفَهَا أَتْلَفَهُ اللَّهُ

 

     “ผู้ใดก็ตามที่ยืมทรัพย์ของผู้คนโดยที่เขามีความต้องการที่จะชดใช้คืน อัลลอฮฺก็จะทรงชดใช้ให้แก่เขา

     (โดยพระองค์ทรงประทานความง่ายดายในการใช้หนี้ของเขา ประทานริสกีที่จะได้มาอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้ เพื่อให้เขานำมาชำระหนี้ หรือถ้าหากเขาไม่สามารถที่จะชำระหนี้ในดุนยานี้ได้ พระองค์ก็จะทรงชดใช้ให้แก่เขาในอาคิเราะฮฺ )

 

     “ส่วนผู้ใดก็ตามที่ยืมทรัพย์โดยต้องการทำให้มันเสียหาย (ก็คือตั้งใจที่จะไม่ชดใช้คืน) อัลลอฮฺก็จะทรงให้เขาได้รับความพินาศ

     (ในดุนยา เขาก็จะได้รับความยากลำบากในการแสวงหาริสกี บะเราะกะฮฺ ความจำเริญในชีวิตจะหายไป ได้รับความพินาศในดุนยาแล้ว ก็ยังได้รับการลงโทษในอาคิเราะฮฺอีกด้วย )

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา บางครั้ง บางคนก็อาจจะมีความขัดสน อาจจะมีความจำเป็น อาจจะต้องมีการยืมทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่บทบัญญัติศาสนาอนุญาตให้ทำได้ แต่ก็ต้องให้อยู่ในวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งมันก็จะมีรายละเอียด ...แต่การไม่ยืม หรือการไม่ก่อหนี้สินถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด 

 

          หากเราไม่มีความจำเป็นอะไรจริง ก็อย่าไปสร้างหนี้ พยายามหลีกห่างจากการก่อหนี้ให้มากที่สุด พยายามใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง อย่าใช้จ่ายเกินตัว จนต้องไปขอยืมเงินทองจากผู้อื่น และต้องไม่ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในเรื่องที่ฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องไม่ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายในเรื่องที่หะรอม เช่น ยืมเงินมาเพื่อนำมาซื้อหวย นำมาซื้อลอตเตอรี่ นำไปซื้อเหล้า ซื้อสุรายาเมา สิ่งเหล่านี้เป็นของหะรอมทั้งสิ้น

 

          อีกทั้งเราต้องไม่ไปกู้เงิน เพราะการกู้เงินคือการยืมเงินโดยมีดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่หะรอมอย่างแน่นอน และเนื่องจากรูปแบบของธุรกรรมต่าง ๆในปัจจุบันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เราต้องพิจารณาเรื่องราวต่าง พิจารณาธุรกรรมต่าง ๆให้ดี ว่ามันจะมีลักษณะของการผิดบทบัญญัติศาสนาแอบแฝงอยู่หรือเปล่า อย่างเช่น อิสลามห้ามเรื่องดอกเบี้ย แต่ในปัจจุบัน อาจมีธุรกรรมที่มีลักษณะเหมือนดอกเบี้ย แต่เรียกในชื่ออื่น ที่ไม่ได้ใช้คำว่าดอกเบี้ย ธุรกรรมในลักษณะนั้นก็ถือว่าต้องห้ามเช่นกัน ถึงแม้ว่า มันจะไม่ได้ใช้คำว่าดอกเบี้ยก็ตาม ...

 

          หรืออย่างเช่น เรื่องของสุรายาเมา ถือเป็นหะรอม เป็นบาปใหญ่เช่นกัน ซึ่งเราอาจจะเจอเครื่องดื่มที่มีลักษณะเช่นเดียวกับเหล้า เช่นเดียวกับสุรา แต่เรียกในชื่ออื่น อย่างนี้ก็ถือว่าเครื่องดื่มนั้นคือเป็นส่วนหนึ่งของเหล้า สุรา ของมึนเมาด้วยเช่นกัน ..ไม่ใช่ไปบอกว่า มันไม่ใช่เหล้า มันไม่ใช่สุรา เพราะชื่อมันไม่เรียกเหล้า ไม่ได้เรียกสุรา ...ลักษณะอย่างนี้แหละคือ การมีเล่ห์เหลี่ยมกับบทบัญญัติของอัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นการมีเล่ห์เหลี่ยมเพื่อที่จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยการหาช่องทางต่าง ๆในการเลี่ยงบทบัญญัติศาสนา อยากดื่มเหล้าก็บอกไม่ได้ดื่ม เพราะที่ดื่มน่ะไม่ได้เรียกเหล้า มันจึงไม่ใช่เหล้า ...เรื่องอื่น ๆก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะมันเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความพินาศในชีวิตของเรา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดคุ้มครองเราให้พ้นจากความกังวลใจ ให้พ้นจากความโศกเศร้า ให้พ้นจากความอ่อนแอ ให้พ้นจากความเกียจคร้าน ให้พ้นจากความขลาดกลัว ให้พ้นจากความตระหนี่ถี่เหนียว ให้พ้นจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว และให้พ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้อธรรม

 

«اللَّهُـمَّ إنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنَ الهَـمِّ وَالحَزَنِ، وَالعَجْزِ وَالكَسَلِ، وَالجُبْنِ وَالبُـخْلِ، وَضَلَعِ الدَّيْنِ، وَغَلَبَةِ الرِّجَالِ».

اللَّهُمَّ أَرِنَا الحَقَّ حقَّاً وَارْزُقْنَا اتِّبَاعَهُ، وَأَرِنَا البَاطِلَ بَاطِلاً وَارْزُقْنَا اجْتِنَابَهُ

 

     “ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเห็นความจริงเป็นความจริง และให้เราปฏิบัติตามความจริงเหล่านั้น 

     และโปรดให้เราเห็นสิ่งที่มันเป็นเท็จว่ามันเป็นเท็จ มันเป็นความผิด และให้เราออกห่างจากความเท็จ ความผิดเหล่านั้นด้วยเถิด

 

 

คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน (บางกอกน้อย)