การให้อภัยโทษในอิสลาม
อับดุลวาเฮด สุคนธา เรียบเรียง
การอภัยโทษ ถือว่าเป็นหนึ่งในคุณลักษณะพระนามของอัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮุวาตะอาลา นั้น คือ "อัลอะฟูวุ" (العَفُوُّ) ซึ่งหมายถึง “ผู้ทรงให้อภัยยิ่ง” มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อที่จะสื่อให้มนุษย์ได้รู้ว่า พระองค์นั้นทรงเป็นผู้ให้อภัยยิ่งต่อปวงบ่าวของพระองค์ และทรงรักการให้อภัยเป็นอย่างยิ่ง
โดยอัลลอฮ์ ได้ทรงกำชับให้ท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เป็นคนที่รู้จักให้อภัยผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธเคือง อาฆาต หรือผูกใจพยาบาท ถึงแม้ว่าบรรดาศัตรูของท่านจะสร้างความเจ็บปวดและก่อกรรมทำเข็ญต่อท่านอย่างหนักหนาสาหัสสักเพียงใดก็ตาม
อัลลอฮฺ ตรัสว่า :
فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاصْفَحْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ
"จงอภัยให้พวกเขาเถิด เเละจงละวาง (จากการถือโทษโกรธเคือง)พวกเขา เเท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรักบรรดาผู้ประพฤตดี"
(อัลมาอิดะฮ์ :13)
“ขอโทษ”ยกโทษ ไม่เอาเรื่อง ยินยอม เป็นคำที่น่ารัก และเป็นคำสั้นๆ ในทุกภาษาของประชาคมโลก แต่น่าจะเป็นคำที่มีการกล่าวถึงน้อยที่สุดในจำนวนคำพูดของผู้คนในชีวิตประจำวันของตนเอง
สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่ได้รับการหล่อหลอมให้รู้จักกล่าวคำ “ขอโทษ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอโทษต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด ได้นำเสนอแบบอย่างที่ดีด้วยการกล่าวขอโทษต่ออัลลอฮฺมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน และถือเป็นกิจวัตรของมุสลิมที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เพื่อตอกย้ำว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของสามัญชน การกล่าวขอโทษต่ออัลลอฮฺจะไม่สมบูรณ์จนกว่าจะมีการกล่าวขอโทษต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
นอกจากการกล่าว “ขอโทษ” แล้ว การ “ให้อภัย” ถือเป็นสุดยอดแห่งคำสอนในอิสลาม และถือเป็นคุณลักษณะของมุสลิมอันประเสริฐสุด อิสลามสอนให้มุสลิมรู้จักให้อภัย จึงสมควรที่สังคมมุสลิมเป็นธงนำในการจุดประกายแห่งจริยธรรมอันดีงามนี้ “การขอโทษและการให้อภัย” สมดังเจตนารมณ์แห่งอิสลามที่แท้จริง
มุสลิมทุกคนได้ถูกกำชับให้กล่าวคำขอพรในค่ำคืน อัลก็อดรฺ (คืนหนึ่งในเดือนรอมฎอนที่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอน การปฏิบัติศาสนกิจในคืนดังกล่าวย่อมประเสริฐกว่าการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนอื่นๆ มากกว่า 1,000 เท่า )
ดุอาอฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺ
اَللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوّ ٌتُحِبُّ الْعَفْوَفَاعْفُ عَنِّيْ
คำอ่าน : อัลลอฮุมม่า อินนะก้า อะฟูวุน ตุหิบบุลอัฟว่า ฟะอฺฟุ อันนี
“โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัยอย่างล้นเหลือ และพระองค์ทรงรักการให้อภัย ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอภัยโทษให้กับฉันด้วยเถิด”
(บันทึกโดย อิมามอะหฺมัด อิมามนะซาอีย์ อิมามอิบนุมาญะฮฺ และอิมามอัตติรมิซีย์)
การให้อภัยเป็นคุณลักษณะที่ยิ่งใหญ่ที่มุสลิมจะต้องสร้างมารยาทอันนี้ แท้จริงอัลลอฮฺ ได้พรรณนาตัวของพระองค์ว่า พระองค์นั้นเป็นผู้ที่ให้อภัย และได้ใช้ให้บ่าวของพระองค์ให้เลียนแบบลักษณะนั้น อัลลอฮฺ ตรัสว่า
( خُذِ الْعَفْوَ وَأْمُرْ بِالْعُرْفِ وَأَعْرِضْ عَنِ الْجَاهِلِينَ )
“เจ้า(มุหัมมัด) จงยึดไว้ซึ่งการให้อภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด”
(อัลอะอฺรอฟ : 199)
การให้อภัยนั้น คือ การเอาชัยชนะต่อจิตใจตัวเองจะไม่ให้กระทำชั่ว แท้จริงท่านนบีมุฮัมมัด ได้สั่งเสียในเรื่องของท่านอภัย โดยท่านกล่าวว่า
ما نَقَصَتْ صَدَقَةٌ مِن مالٍ، وما زادَ اللَّهُ عَبْدًا بعَفْوٍ، إلَّا عِزًّا، وما تَواضَعَ أحَدٌ لِلَّهِ إلَّا رَفَعَهُ اللَّهُ.
“การบริจาคทานจะไม่ทำให้ทรัพย์สินลดน้อยลง
และไม่มีบ่าวคนใดที่ให้อภัยนอกจากอัลลอฮ์จะทรงเพิ่มเกียรติยศให้แก่เขา
และไม่มีผู้ใดที่นอบน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮ์ นอกจากอัลลอฮ์จะทรงยกเขาให้สูงขึ้น “
(รายงานโดย มุสลิม)
ดังนั้นความประเสริฐของการให้อภัยยิ่งใหญ่มาก เมื่อการให้อภัยแผ่กระจายออกไปจะทำให้เกิดความรักในหมู่มนุษย์ และมันจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึก ส่งผลทำให้เกิดความรัก และความเป็นมิตรกัน แท้จริงรางวัลของผู้ที่ชอบให้อภัยนั้น คือ อัลลอฮฺจะทรงรักเขา ดังที่พระองค์ตรัสว่า
وَالْكَاظِمِيْنَ الْغَيْظَ وَالْعَافِيْنَ عَنِ النَّاسِ وَاللهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِيْنَ
“และบรรดาผู้ข่มโทษและบรรดาผู้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ อัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย”
(ซูเราะห์ อาลีอิมรอน : 134)
อัลลอฮฺﷻทรงตรัสชมเชยบรรดาผู้ที่ให้อภัยความว่า :
وَٱلْعَافِينَ عَنِ ٱلنَّاسِ “ และบรรดาผู้ที่ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ “
(อาละอิมรอน : 134)
ดังนั้นผู้ที่ให้อภัยเเละปรับปรุงแก้ไขนั้น รางวัลตอบเเทนของเขา ณ ที่อัลลอฮฺﷻ เเละพระองค์ได้ตรัสถึง"การให้อภัย"ตรงนี้ไว้เเบบกว้างๆ เเต่พระองค์ทรงขยายความเอาไว้ในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า :
فَمَنْ عَفَا وَأَصْلَحَ فَأَجْرُهُۥ عَلَى ٱللَّهِ
“ แต่ผู้ใดให้อภัย และปรับปรุงเปลี่ยนแปลง รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ “
(อัชชูรอ : 40)
แท้จริงการให้อภัยนั้น จะไม่เป็นความดีงาม นอกจากจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ในการอภัยนั้นด้วย ดังนั้นเมื่อมีคนที่เป็นที่โจษขานกันว่าเขาเป็นคนที่ชอบทำไม่ดี เป็นคนอวดดีเเละเป็นคนที่ชอบกดขี่คนอื่นมาทำไม่ดีต่อท่าน ในกรณีนี้ที่ประเสริฐที่สุดคือ ท่านจะต้องไม่ให้อภัยต่อเขา เเละท่านต้องเอาสิทธิของท่านคืนมา เพราะถ้าหากท่านไปให้อภัยคนอย่างนี้ ความชั่วของเขาก็จะกำเริบใหญ่ เเต่ถ้าหากว่าคนที่ทำผิดพลาดต่อท่าน เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย เเต่เรื่องมันเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ในกรณีนี้ท่านให้อภัยเขาจะถือว่าประเสริฐที่สุด
♦ การให้อภัยแบบอย่างที่ดีงาม
เมื่อท่านนบียูสุฟ(อะลัยฮิสลาม) ยกโทษเเละ ให้อภัยต่อบรรดาพี่น้องของเขา ท่านโดนทำร้าย เอาไปทิ้งในบ่อ และเอาไปขาย
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
قَالَ لَا تَثۡرِيبَ عَلَيۡكُمُ ٱلۡيَوۡمَۖ يَغۡفِرُ ٱللَّهُ لَكُمۡۖ
“เขา ยุสุฟ กล่าวว่า วันนี้ไม่มีการประณามพวกท่าน อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษพวกท่าน”
(สุเราะสุยุฟ 92)
ท่านนบียูสุฟโดนขนาดนี้ ยังให้อภัยต่อพี่น้องของเขาแล้ว พวกเราล่ะ ให้อภัยกันหรือยัง ท่านนบียูสุฟยกโทษให้เเล้วยังขอดุอาอฺให้อีก ให้อัลลอฮฺ ยกโทษ
จากท่านอับดุลลอฮฺ บุตรมัสอูด กล่าวว่า :
كأني أنظر إلى النبي صلى الله عليه وسلم يحكي نبيًّا من الأنبياء؛ ضربه قومه فأدمَوه، وهو يمسح الدم عن وجهه، ويقول:
ฉันมองดูท่านนบีมุฮัมหมัด ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ขณะที่ท่านกำลังเล่าถึง นบีท่านหนึ่งถูกพวกพ้องของพวกเขาทำร้ายจนเลือดออก เขาใช้มือลูบเลือดที่เปื้อนใบหน้า พลางก็กล่าวว่า
اللهم اغفر لقومي فإنهم لا يعلمون
“ข้าแต่องค์อภิบาลได้โปรดให้อภัยแก่พวกพ้องของฉันด้วยเถิด เพราะความจริงพวกเขาไม่รู้”
(บุคอรีย์และมุสลิม)
ท่านนบีมุฮัมมัด ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ให้อภัยชาวมักกะอฺในวันที่เข้าพิชิตนครมักกะฮฺ ท่านได้กล่าวแก่ชาวกุเรช ซึ่งเป็นศัตรูของท่านและขับไล่ท่านออกไปจากนครมักกะฮฺว่า ฉันเหมือนดังพวกท่าน(ความเป็นพี่น้องกัน)ฉันขอกล่าวแก่พวกท่านเหมือนกับที่นบียูซุฟ ได้กล่าวแก่พี่น้องของเขาว่า
لَا تَثْرِيبَ عَلَيْكُمُ الْيَوْمَ يَغْفِرُ اللَّهُ لَكُمْ ،
“ไม่มีการประณามพวกท่านในวันนี้ พระองค์ทรงอภัยโทษพวกท่าน”
ท่านอุมัรกล่าวว่า มันเผยให้ฉันเห็นความกรุณาของท่านนบี ฟิกฮุซีเราะห์
ท่านอบูบักร์ ได้ให้อภัยต่อเครือญาติของเขา
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
وَلَا يَأۡتَلِ أُوْلُواْ ٱلۡفَضۡلِ مِنكُمۡ وَٱلسَّعَةِ أَن يُؤۡتُوٓاْ أُوْلِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَٱلۡمَسَٰكِينَ وَٱلۡمُهَٰجِرِينَ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِۖ وَلۡيَعۡفُواْ وَلۡيَصۡفَحُوٓاْۗ أَلَا تُحِبُّونَ أَن يَغۡفِرَ ٱللَّهُ لَكُمۡۚ وَٱللَّهُ غَفُورٞ رَّحِيمٌ
“ผู้มีเกียรติและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเจ้าอย่าได้สาบานที่จะไม่ให้ (ความช่วยเหลือ) แก่ญาติมิตร และคนจน และผู้อพยพในหนทางของอัลลอฮฺ
และพวกเขาจงอภัยและยกโทษ (ให้แก่พวกเขาเถิด) พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
(อันนูร : 22)
โองการนี้ประทานลงมาขณะที่ท่านอบูบักร สาบานว่าจะไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูแก่มิสเตาะฮฺ บิน อุซะซะอฺ ซึ่งเป็นญาติของเขา เพราะเขามีส่วนร่วมในการแพร่ข่าวเท็จในการกล่าวหาท่านหญิงอาอิชะฮฺว่ากระทำผิดร้ายแรง มีชู้ ท่านอบูบักร์การสาบานต่อเขาตัดขาดการช่วยเหลือ เพื่อเป็นการลงโทษมิสเตาะฮฺ อัลลอฮฺได้สั่งสอนให้อภัย โดยตรัสว่า
وَلۡيَعۡفُواْ وَلۡيَصۡفَحُوٓاْۗ “พวกเขาจงอภัย และยกโทษ”
อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ท้ายอายะฮฺว่า ผู้ใดให้อภัยแก่คนที่ทำผิดต่อเขา อัลลอฮฺก็จะให้อภัยเขา
أَلَا تُحِبُّونَ أَن يَغۡفِرَ ٱللَّهُ لَكُمۡۚ “พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า”
เมื่อโองการถูกประทานลงมา ท่านอบูบักร์กล่าวว่า เอาสิ ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ว่า ฉันรักยิ่งที่จะให้พระองค์ทรงอภัยแก่ฉัน ท่านอบูบักร์ ให้การช่วยเหลือแก่มิสเตาะฮฺ บิน อุซะซะอฺเหมือนเดิม
พระองค์ทรงตรัสว่า :
وَإِنْ تَعْفُواوَتَصْفَحُواوَتَغْفِرُوفَإِنَّ اللَّهَ غَفُورٌرَحِيمٌ
"และหากพวกเจ้าให้อภัย ละวางและไม่ถือโทษ (อัลลอฮ์ก็จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า)เพราะแท้จริงอัลลอฮ์นั้น ทรงอภัยโทษยิ่ง อีกทั้งทรงเมตตายิ่ง"
(อัตตะฆอบุน :14)
รายงาน อิบนุ อุมัร ท่านนบีกล่าวว่า
(( ما تَجَرَّع عبدٌ جُرعَةً أفضلَ عندَ اللهِ من جُرعَةِ غَيْظٍ يَكْظِمُها ابتغاءَ وجهِ الله ))
"บ่าวของอัลลอฮฺคนหนึ่งคนใด ไม่ได้ลิ้ม(รสชาติ)เครื่องดื่มชนิดหนึ่งชนิดใดที่ประเสริฐ ณ อัลลอฮฺตะอาลา ยิ่งกว่ารสชาติของการระงับความโมโหโดยแสวงหาพระพักตร์(ความพอพระทัย)ของอัลลอฮฺตะอาลา”
(บันทึกโดย อิม่ามอะหมัด ซอเอี้ยะ อัลบานีย์)
อัลหะซัน อัลบัศรียฺ กล่าวว่า สี่ประการใครที่มี อัลลอฮฺจะคุ้มครองให้พ้นจากชัยฏอนและจะถือเป็นที่ต้องห้ามจากนรก คือ
“บุคคลที่สามารถควบคุมอารมณ์ของเขาขณะมีความอยากหรือลำเอียง, และ(สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง)ขณะมีความหวาดกลัว, มีความใคร่, และมีความโมโห"
ท่านอุมัร อิบนุอับดิลอะซีซ กล่าวว่า
“ประสบความสำเร็จแล้วซึ่งผู้ที่ได้รับความปลอดภัยจาก อารมณ์ , ความโมโห , ความหวงแหน และตระหนี่ถี่เหนียว”
คนที่ดีที่สุดคือ คนที่ข่มโทสะของเขาและ ไม่คิดแก้แค้นเมื่อมีโอกาส แต่กลับให้อภัย
อัลลอฮฺอาจให้อภัย ความไม่รู้ของเขา แต่...จะไม่ให้อภัย ความยโสโอหังของคุณ