จะเลือกแบบไหนดี ?
  จำนวนคนเข้าชม  2038


จะเลือกแบบไหนดี ?

 

อาจารย์ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในส่วนต้นของอัลกุรอานซูเราะฮฺ อัลมุลก์ อายะฮฺที่ 15 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

هُوَ الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ الْأَرْضَ ذَلُولًا فَامْشُوا فِي مَنَاكِبِهَا وَكُلُوا مِن رِّزْقِهِ ۖ

 

     “พระองค์(อัลลอฮฺ)คือผู้ทรงทำแผ่นดินนี้ให้แผ่ราบสำหรับพวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงสัญจรไปตามขอบเขตของมัน และจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระองค์ ...”

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งต่างๆขึ้นมา เพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์เรา เป็นมหากรุณาธิคุณ (เนี๊ยะอฺมะฮฺ )ที่พระองค์ทรงประทานให้เพื่อให้เราได้จัดสรรนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต มันจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องพยายามขวนขวายหาปัจจัยยังชีพ หาทรัพย์สินเงินทองจากเนี๊ยะอฺมะฮฺที่พระองค์ทรงประทานให้

 

          นั่นก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ให้มุสลิมทำงาน ใครก็ตามที่มีความสามารถ เขาผู้นั้นมีหน้าที่ต้องทำงาน ผู้ชายมีหน้าที่ต้องแสวงหาปัจจัยยังชีพมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยวิธีการแสวงหานั้นก็ต้องเป็นวิธีการที่อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา ในทัศนะของอิสลามถือว่าการทำงานเป็นสิ่งที่มีเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆก็ตามที่ฮะลาล อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา แม้แต่การเข็นรถขายผลไม้ ขายลูกชิ้นปิ้งก็ถือว่าเป็นงานที่มีเกียรติในทัศนะของอิสลาม 

 

          และอิสลามถือว่าการขอจากผู้อื่นเป็นการกระทำที่ต่ำต้อย เราจะเห็นว่า หนทางที่จะได้ปัจจัยยังชีพ ได้ทรัพย์สินเงินทองมานั้นมีอยู่มาก อาจจะได้จากการค้าขาย เป็นข้าราชการ ได้จากการทำไร่ทำสวน ได้รับมรดตกทอดมา แต่ทั้งหมดนั้นปัจจัยยังชีพที่ถือว่าดีที่สุดคือปัจจัยยังชีพที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเราเอง 

 

          อัลฮะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอัซซุบัยร์ อิบนิลเอาวาม ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

لَأَنْ يَأْخُذَ أَحَدُكُمْ حَبْلَهُ فَيَأْتِيَ بِحُزْمَةِ الْحَطَبِ عَلَى ظَهْرِهِ فَيَبِيعَهَا فَيَكُفَّ اللَّهُ بِهَا وَجْهَهُ ، خَيْرٌ لَهُ مِنْ أَنْ يَسْأَلَ النَّاسَ أَعْطَوْهُ أَوْ مَنَعُوهُ

 

     “การที่คนๆหนึ่งเอาเชือกไปมัดฟืนแล้วแบกใส่หลังเพื่อนำไปขาย ซึ่งอัลลอฮฺทรงให้เขามีความพอเพียงที่ได้ดำรงชีวิตจากอาชีพขายฟืนนั้น ย่อมเป็นความดีสำหรับเขายิ่งกว่าการที่เขาจะไปขอจากผู้อื่น เพราะมนุษย์นั้น บางทีก็ให้ บางทีก็ไม่ให้

 

          ดังนั้นปัจจัยยังชีพ ทรัพย์สินเงินทองที่ได้จากน้ำพักน้ำแรง ที่เราต้องเหน็ดเหนื่อยหามาได้ และเป็นงานที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ฮะรอม ย่อมมีคุณค่าและมีเกียรติต่อเรามากกว่าสิ่งที่ได้มาฟรีๆ โดยไม่ได้เหนื่อยยากอะไร แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานที่คนอื่น ๆมองดูว่ามันไม่เกียรติอะไรเลยก็ตาม อิสลามสนับสนุนให้มุสลิมทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและครอบครัว และยังสามารถแบ่งปันริสกีย์ที่ได้รับมานั้นให้กับผู้อื่นได้ด้วย

     อัลฮะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ บอกว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

الْيَدُ الْعُلْيَا خَيْرٌ مِنَ الْيَدِ السُّفْلَى

 

มือบนย่อมดีกว่ามือล่าง

 

     มือบน หมายถึงมือที่เป็นผู้ให้ ผู้บริจาค ส่วนมือล่างหมายถึงมือของผู้รับ หรือมือของผู้ที่ขอ

     ท่านนบีชอบที่จะให้มุสลิมเป็นมือบน เป็นผู้ให้ เป็นผู้บริจาคมากกว่าที่จะเป็นผู้ที่แบมือขอแต่เพียงอย่างเดียว

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เราแต่ละคนได้รับริสกีย์ ได้รับปัจจัยยังชีพไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน บางคนได้มาก บางคนได้น้อย บางคนมีโอกาสมาก ทำให้หาริสกีย์ได้มาก บางคนมีโอกาสน้อย ขาดช่องทางที่จะทำมาหากิน ดังนั้น การที่คนๆหนึ่งเริ่มต้นทำงานด้วยการเลี้ยงแพะ 1 ตัวตามจำนวนเงินที่เขามีอยู่ แล้วขายแพะไปได้กำไร จากทั้งทุนทั้งกำไรที่เขาได้รับมานั้น เขานำไปต่อยอดด้วยการซื้อแพะมาเลี้ยงอีก 2 ตัว จากแพะ 2 ตัว อาจจะออกลูกเพิ่มขึ้นมา กลายเป็นแพะ 3 ตัว 4 ตัว เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเมตตา ความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาได้กลายเป็นเจ้าของฟาร์มแพะ 

          สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ นอกจากเขาจะได้รับริสกีย์ที่เพิ่มพูนนำมาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวแล้ว เขายังมีส่วนสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนอื่นๆ อันเนื่องมาจากว่า เขาก็จะต้องไปว่าจ้างให้คนอื่นมาช่วยเลี้ยง มาช่วยทำงานในฟาร์มแพะของเขา เขาจะทำคนเดียวก็คงไม่ไหว เพราะมีแพะเป็นจำนวนมากขึ้น นี่ก็เท่ากับว่าเขาช่วยทำให้คนอื่นๆ ที่ด้อยโอกาสกว่า ได้มีรายได้สำหรับดำรงชีวิตโดยไม่ต้องแบมือขอใครเช่นกัน 

          นอกจากนี้แล้ว เขายังต้องออกซะกาต เงินซะกาตที่เขาจ่ายออกไปก็ไปเป็นประโยชน์กับมุสลิมคนอื่นๆ และมีโอกาสได้ช่วยเหลือสังคมมุสลิม แล้วก็ยังมีโอกาสที่จะแบ่งปันให้แก่คนอื่นๆได้มากขึ้นอีกด้วย เมื่อเขาสร้างรายได้ได้มาก เขาก็สามารถที่จะช่วยเหลือคนอื่นหรือช่วยเหลือสังคมได้มาก นั่นก็คือสร้างตัวเองให้มีสถานะเป็นมือบนนั่นเอง แต่ในเรื่องนี้ เขาก็ต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้เกิดความโลภ

 

          อัลฮะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอิบนิอับบาส และท่านอนัส บินมาลิก เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมได้เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

لَوْ أَنَّ لِابْنِ آدَمَ وَادِيًا مِنْ ذَهَبٍ أَحَبَّ أَنْ يَكُونَ لَهُ ثَانِيًا , وَلَنْ يَمْلأَ فَاهُ إِلا التُّرَابُ ، وَيَتُوبُ اللَّهُ عَلَى مَنْ تَابَ

 

     “ถ้าหากมนุษย์มีหุบเขาทองคำหนึ่งแห่ง เขาก็อยากจะให้มีอีกสองแห่ง แต่จะไม่มีอะไรเต็มปากของเขานอกจากดินเท่านั้น และอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่ผู้ที่ขออภัยโทษต่อพระองค์เท่านั้น

 

          นั่นก็หมายถึงว่า โดยอุปนิสัยของมนุษย์แล้วมักเป็นผู้ที่มีความโลภ มีความลุ่มหลงในโลกดุนยา มีความหลงใหลในทรัพย์สินเงินทอง แม้จะมีอยู่มากมายแล้ว ก็จะไม่พอใจ มีความโลภอยากจะได้อีก แต่เมื่อความตายมาถึงเขา เขาก็ไม่สามารถเอาทรัพย์สินเงินทองอะไรติดตัวไปได้เลย จะมีก็แต่ดินที่กลบเนื้อตัวหรืออยู่ในปากของเขาเท่านั้น

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อิสลามอนุญาตให้เราแสวงหาและครอบครองทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมากได้ แต่ก็ได้วางมาตรการไว้ว่าจะต้องอยู่ในบทบัญญัติศาสนา จะต้องฮะลาล จะต้องไม่ล่วงละเมิดต่อสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และไม่ล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้คน ( ฮักกุลอาดัม ) สิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้นได้แก่การที่เราต้องรักษาบทบัญญัติของพระองค์ไว้ไม่ให้สูญหาย โดยการปฎิบัติตามบทบัญญัติต่างๆของพระองค์อย่างเคร่งครัด อันไหนที่เป็นคำสั่งใช้ก็ให้ทำ อันไหนเป็นคำสั่งห้ามก็ให้ละห่าง ไม่เข้าใกล้ ไม่ทำ 

 

          ส่วนสิทธิของผู้คน (ฮักกุลอาดัม ) เช่น การที่เราต้องจ่ายซะกาต ทำศ่อดะเกาะฮฺ ช่วยเหลือผู้คนและสังคมมุสลิม หากเขาทำได้เช่นนี้ก็เท่ากับเขาสามารถเอาชนะความโลภและสามารถบังคับจิตใจของตัวเองได้ แต่ถ้าหากเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เขาก็คือผู้ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนา กลายเป็นผู้ที่สะสมทรัพย์สินเงินทอง แล้วไม่นำมาใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งสุดท้าย ผลของมันจะเป็นอย่างไร ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 35 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

يَوْمَ يُحْمَىٰ عَلَيْهَا فِي نَارِ جَهَنَّمَ فَتُكْوَىٰ بِهَا جِبَاهُهُمْ وَجُنُوبُهُمْ وَظُهُورُهُمْ ۖ هَٰذَا مَا كَنَزْتُمْ لِأَنفُسِكُمْ فَذُوقُوا مَا كُنتُمْ تَكْنِزُونَ

 

     “ในวันกิยามะฮฺ เงินทองที่เขาสะสมไว้นั้นจะถูกเผาด้วยไฟนรกญะฮันนัม แล้วถูกนำมานาบที่หน้าผากของเขา ที่สีข้างของพวกเขา และที่แผ่นหลังของพวกเขา พร้อมกับมีเสียงกล่าวกับพวกเขาว่า

     นี่แหละคือสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง (โดยไม่ยอมออกซะกาตและไม่ใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮฺ) ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เถิด

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านเชค อะหฺมัด มุสฏอฟา มะรอฆีย์ เจ้าของหนังสือตัฟซีร อัลมะรอฆีย์ ได้อธิบายตรงนี้ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้มุสลิมล้าหลัง อ่อนแอ และตกต่ำอย่างที่เราพูดๆกันอยู่ จนทำให้บรรดาศัตรูของอิสลามมีอำนาจมากกว่ามุสลิม และพยายามหันเหมุสลิมให้ออกจากหลักการศาสนา ก็เพราะความตระหนี่ถี่เหนียวของผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองแล้วไม่ยอมจ่ายซะกาต ไม่ทำศ่อดะเกาะฮฺ หากว่าผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายได้รักษาสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นำมันมาจ่ายซะกาต ทำศ่อดะเกาะฮฺ สนับสนุนในเรื่องของสถาบันการศึกษา ส่งเสริมในเรื่องของการศึกษา มีการอบรมสั่งสอนในวิชาการแขนงต่างๆทั้งทางศาสนาและทางโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อไว้ปกป้องตัวเอง อินชาอัลลอฮฺ เราก็สามารถที่จะสร้างเยาวชนเพื่อมาพิทักษ์รักษาศาสนา สร้างประชาชาติอิสลามให้มีความเข้มแข็ง เราสามารถที่จะเรียกศักดิ์ศรีที่เคยมีอย่างมากมายในสมัยสะละฟุซซอและฮฺให้กลับคืนมา และยังสามารถดึงดูดให้คนต่างศาสนิกหันมาสนใจอิสลาม และอาจเป็นสาเหตุให้พวกเขาเข้ารับอิสลามได้

 

          นั่นก็คือคำอธิบายของท่านเชค อะหฺมัด มุสฏอฟา มะรอฆีย์ เราจะเห็นว่า หากเราต้องการที่จะให้ประชาชาติอิสลามมีความเข้มแข็ง มันต้องมีปัจจัยต่างๆ มีทรัพย์สิน มีเงินทองเข้ามาช่วยด้วย หากว่าเราเป็นผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดให้มีความสามารถและมีช่องทางหรือมีโอกาสที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดในวงกว้าง ย่อมเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะมันคือการเป็นมือบน

         แต่หากว่าเรามองว่ามันคือการสะสมทรัพย์สินเงินทอง ก็ขอให้เรามาพิจารณารายงานของท่านอิบนิ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่กล่าวว่า เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานอายะฮฺที่ว่า

 

وَالَّذِينَ يَكْنِزُونَ الذَّهَبَ وَالْفِضَّةَ وَلَا يُنفِقُونَهَا فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَبَشِّرْهُم بِعَذَابٍ أَلِيمٍ 

 

     “และส่วนบรรดาผู้ที่สะสมทองและเงิน และไม่จ่ายมันในทางของอัลลอฮฺนั้น จงแจ้งข่าวแก่พวกเขาเถิด ด้วยการลงโทษอันเจ็บปวด

 

         อายะฮฺนี้ทำให้มุสลิมหนักใจ และต่างก็พูดกันว่า อายะฮฺนี้ทำให้ใครๆไม่สามารถสะสมเงินทองทรัพย์สมบัติไว้ให้ลูกหลานได้อีกต่อไปแล้ว ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุจึงได้กล่าวว่า ฉันจะทำให้ความหนักอกหนักใจนั้นหายไป แล้วท่านอุมัรก็ได้ไปพบท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัม โดยมีท่านเษาว์บานติดตามไปด้วย 

 

     ท่านอุมัรได้กล่าวกับท่านร่อซูลว่าโอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ อัลกุรอานอายะฮฺนี้ทำให้บรรดาศ่อฮะบะฮฺหนักใจเป็นอย่างมาก

     ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้กล่าวว่าแท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงกำหนดซะกาตให้เป็นฟัรฎูเหนือพวกท่าน เพื่อพระองค์จะทรงทำให้ทรัพย์สินเงินทองที่เหลือ( จากการออกซะกาตนั้น )สะอาดบริสุทธิ์ และแท้จริงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงกำหนดให้มีการแบ่งมรดกจากทรัพย์สินเงินทองที่พวกท่านได้ทิ้งไว้( หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว )”

     เมื่อท่านอุมัรได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมตอบดังนั้น ท่านอุมัรจึงได้กล่าวตักบีร...อัลลอฮุอักบัร...

 

          ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ทรัพย์สินเงินทอง ที่ถูกถือว่าเก็บสะสมไว้นั้น คือทรัพย์สินที่ไม่ได้มีการจ่ายซะกาต ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นเงิน เป็นทอง เป็นเงินสดหรือเป็นเงินตราสกุลต่างๆ ทุกสิ่งที่เก็บสะสมไว้โดยไม่นำออกซะกาตถือเป็นการสะสมหรือเป็นขุมรัพย์ แม้ว่าจะเก็บเอาไว้โดยไม่ได้ไปซ่อนไว้ที่ไหนก็ตาม ส่วนทรัพย์สินที่นำมาจ่ายซะกาตแล้วไม่เรียกว่าขุมทรัพย์ แม้ว่าจะเก็บซ่อนเอาไว้ก็ตาม 

 

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า

 

كُلُّ مَا أَدَّيْتَ زَكَاتَهُ وَإِنْ كَانَ تَحْتَ سَبْعِ أَرَضِينَ فَلَيْسَ بِكَنْزٍ ، وَكُلُّ مَا لَا تُؤَدَّى زَكَاتُهُ فَهُوَ كَنْزٌ وَإِنْ كَانَ ظَاهِرًا عَلَى وَجْهِ الْأَرْضِ

 

     “ทรัพย์สินที่ถูกออกซะกาตไปแล้วนั้นไม่ใช่ขุมทรัพย์ แม้ว่าจะอยู่ใต้พื้นดินก็ตาม และทรัพย์สินใดๆที่ยังไม่ได้จ่ายซะกาตถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นขุมทรัพย์ แม้ว่าจะอยู่บนพื้นดินก็ตาม

 

     ซึ่งท่านยังได้กล่าวไว้อีกว่าฉันไม่ห่วงที่ฉันจะมีทรัพย์สินมากมายเท่าภูเขาอุฮุดซึ่งฉันรู้ถึงปริมาณของมัน ตราบใดที่ฉันได้จ่ายซะกาตของทรัพย์สินนั้น และนำออกแจกจ่ายในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

( จากหนังสือคำอธิบายอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ โดยอิมามเชคอาลี อีซา เราะฮิมะฮุลลอฮฺ )

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ความจริงแล้วทรัพย์สินเงินทองถือเป็นเนี๊ยะอฺมะฮฺ เป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมอบให้แก่มนุษย์เรา แต่มันจะกลายเป็นฟิตนะฮฺทันทีที่เจ้าของทรัพย์สินนั้นไม่รักษาสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และสิทธิของผู้คน( ฮักกุลอาดัม ) หรือสิทธิต่อเพื่อนมนุษย์ มันจะเป็นฟิตนะฮฺเมื่อเขาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และเช่นเดียวกัน มันก็จะกลายเป็นฟิตนะฮฺเมื่อเขาตระหนี่ถี่เหนียวจนไม่ยอมจ่ายซะกาต ไม่ยอมใช้จ่ายในการช่วยเหลือในหนทางของอัลลอฮฺ 

 

          หนทางของอัลลอฮฺ เช่น ใช้ในการผลิตตำราทางศาสนา สร้างโรงเรียน อุดหนุนในเรื่องวิชาการ ช่วยเหลือเกี่ยวกับโรงพยาบาล สนับสนุนในเรื่องที่รักษาหรือปกป้องไว้ซึ่งดำรัสของอัลลอฮฺ หรือสร้างหอพักให้กับนักเรียนที่เรียนทางด้านศาสนา ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความสำคัญ เพราะการที่เยาวชนที่อยู่ต่างหวัดหรืออยู่ในที่ไกลๆ ถ้าเขาต้องการเรียนศาสนา แต่ไม่มีที่พักให้เขาอยู่ ก็ทำให้เขาต้องหมดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ในเรื่องราวศาสนา เป็นการตัดโอกาสเยาวชนไม่ให้สืบทอดความรู้ในเรื่องราวของอิสลามต่อไป

 

          อิสลามถือว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะนำเราไปสู่ความสงบสุข นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนความยากจนก็ถือเป็นบททดสอบหนึ่งที่อาจจะส่งผลให้คนบางคนปฏิเสธศรัทธาได้ ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็มีความเป็นห่วงประชาชาติของท่านในเรื่องนี้ และสนับสนุนให้มุสลิมเราได้มีปัจจัยยังชีพอย่างพอเพียง 

 

     อัลฮะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إِنَّكَ أَنْ تَدَعَ وَرَثَتَكَ أَغْنِيَاءَ خَيْرٌ مِنْ أَنْ تَدَعَهُمْ عَالَةً يَتَكَفَّفُونَ النَّاسَ فِي أَيْدِيهِمْ

 

     “การที่ท่านทิ้งทายาทไว้ในสภาพที่ร่ำรวย ดีกว่าที่ท่านจะทิ้งพวกเขาในสภาพที่ยากจนแล้วต้องแบมือขอจากผู้อื่น

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย บางคนมีความรู้ ความสามารถ มีโอกาส พวกเขาสามารถแสวงหาทรัพย์สินเงินทองได้เป็นจำนวนมาก โดยที่จิตใจของเขามีความเข้มแข็ง ไม่ละโมบ พวกเขาปฏิบัติต่อสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และสิทธิต่อเพื่อนมนุษย์อย่างครบถ้วน แต่ก็มีบางคนที่พวกเขามีโอกาสที่จะแสวงหาทรัพย์สินเงินทองได้อย่างมากมาย แต่เพราะพวกเขากลัวความอ่อนแอในจิตใจของตัวเอง กลัวว่าพวกเขาจะพลาดพลั้งไป กลัวว่าตัวเองจะต้องฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนา พวกเขาจึงตัดใจไม่แสวงหาปัจจัยยังชีพให้มันเพิ่มพูนขึ้น 

 

          ลองมาดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยท่านค่อลีฟะฮฺอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งท่านอุมัรได้ส่งท่านสะอี๊ด บินอามิร อัลญุมะฮีย์ ไปเป็นผู้ปกครองเมืองฮิมซ์ ต่อมาท่านค่อลีฟะฮฺได้ทราบว่า ข้าหลวงคนนี้ยากจนมาก ท่านค่อลีฟะฮฺจึงส่งเงินจำนวนหนึ่งพันดีนารฺไปช่วยเหลือ พร้อมกับกำชับว่าให้ท่านสะอี๊ดใช้จ่ายได้ตามประสงค์ แต่แทนที่ท่านสะอี๊ดจะนำเงินดังกล่าวมาซื้อหาสิ่งของให้กับตัวเอง ท่านสะอี๊ดกลับนำมันไปแจกจ่ายให้กับประชาชนจนหมดสิ้น เมื่อท่านค่อลีฟะฮฺทราบข่าวดังนี้จึงส่งเงินไปช่วยเหลืออีกจำนวนสี่ร้อยดีนาร และเขียนจดหมายสำทับไปด้วยว่า ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนนี้เพื่อตัวเองและครอบครัวเท่านั้น 

     เมื่อท่านสะอี๊ดอ่านจดหมายจบลงก็เกิดความวิตกเป็นอย่างมาก ในสิ่งที่ท่านค่อลีฟะฮฺกำชับมา จนกระทั่งภรรยาของท่านสะอี๊ดได้ถามถึงความวิตกดังกล่าว ท่านสะอี๊ดจึงเล่าให้ฟังว่า ท่านถูกทดสอบด้วยความเย้ายวนของโลกดุนยา โดยที่ท่านไม่เคยถูกทดสอบเช่นนี้มาก่อน และท่านได้บอกกับภรรยาของท่านว่า 

     ท่านได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า คนจนชาวมุฮาญิรีนจะได้เข้าสวรรค์ก่อนคนรวย 40 ฤดูกาล 

     ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า ท่านไม่ชอบความร่ำรวย เพราะท่านอยากจะอยู่ในกลุ่มของบรรดาผู้ที่ได้เข้าสวรรค์ก่อน และในท้ายที่สุดท่านสะอี๊ดก็ได้แจกจ่ายเงินจำนวนสี่ร้อยดีนารให้กับประชาชนไปจนหมดสิ้น ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นการขัดคำสั่งท่านค่อลีฟะฮฺ

 

          นั่นก็คือในส่วนของคนที่ไม่ปรารถนาความร่ำรวย เพราะต้องการจะได้รับผลบุญในส่วนที่ตัวเองปรารถนา และมีความระมัดระวังตัวเองไม่ให้ต้องประสบกับฟิตนะฮฺจากความร่ำรวย แต่ก็มีบางคนที่เขาพยายามขวนขวายแสวงหาการมีชีวิตที่อยู่ดีกินดี แต่เขาก็ไม่สามารถหรือไม่มีช่องทาง ยังไม่มีโอกาสทำได้ ในกรณีอย่างนี้เขาต้องอดทน และต้องรักษาการดำเนินชีวิตของเขาให้อยู่ในบทบัญญัติของศาสนา อย่าได้ใช้จ่ายเกินความจำเป็น หรือใช้จ่ายเกินตัว และอย่าไปสร้างหนี้ เพราะการสร้างหนี้โดยที่มองไม่เห็นทางว่าจะเอารายได้จากตรงไหนมาใช้คืน ย่อมเป็นการนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเอง และท้ายสุดก็อาจจะนำความเดือดร้อนมาสู่ลูกหลานหรือผู้อื่นได้ 

 

     ดังฮะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิมบอกว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

إِنَّكَ أَنْ تَدَعَ وَرَثَتَكَ أَغْنِيَاءَ خَيْرٌ مِنْ أَنْ تَدَعَهُمْ عَالَةً يَتَكَفَّفُونَ النَّاسَ فِي أَيْدِيهِمْ

 

ความรวยไม่ใช่เพราะมีทรัพย์สินเงินทองมาก แต่ความรวยอยู่ที่ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี

 

นั่นก็คือ ใครที่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เขาก็คือคนที่ร่ำรวยที่สุดในทัศนะของอิสลาม

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือในส่วนของทรัพย์สินเงินทองที่เราแสวงหามาได้หรือได้รับมา ซึ่งมันมีโอกาสเป็นได้ทั้งเนี๊ยะอฺมะฮฺและฟิตนะฮฺ ส่วนเราจะดำเนินชีวิตให้อยู่ในลักษณะใดก็อยู่ที่ตัวเราจะเลือก และพึงทราบไว้เถิดว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้พระองค์ทรงคุ้มครองตัวท่านให้พ้นจากฟิตนะฮฺของความยากจน เช่นเดียวกับที่ท่านนบีได้ขอความคุ้มครองให้พ้นจากฟิตนะฮฺของความร่ำรวย ขนาดท่านนบียังขอดุอาอ์อย่างนี้ สำหรับเรายิ่งต้องขอให้มากขึ้นไปอีก

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดคุ้มครองเราให้พ้นจากการกุฟรฺ รอดพ้นจากการถูกทดสอบด้วยกับความยากจนและความร่ำรวย รอดพ้นจากความเกียจคร้าน รอดพ้นจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว พ้นจากการถูกล่อลวงจากชัยฏอนมารร้าย จากมะซีฮิดดัจญาล และรอดพ้นจากอะซาบต่างๆทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ....อามีน



 

 

( จากเอกสารอัลอิศลาหฺ อันดับที่ 423 – 425 ญะมาดิลอาคิร 1436 เมษายน 2558 )