อะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ
ดร. อับดุลลอฮฺ บิน ดะยีน อั้ซซ้ะฮฺลี่ย์
อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลเรียบเรียง
อะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ เป็นกลุ่มอะชาอิเราะฮฺที่ยึดถือแนวทางของอิบนุกุ้ลล้าบ –อับดุลลอฮฺ บิน ซะอี้ด บิน อั้ลก้อตตอน อั้ลบั้ศรีย์ อั้ลมุตะกั้ลลิม (เสียชีวิตราวๆหลังปีที่๒๔๐เล็กน้อย)- เป็นแนวทางหลักในเรื่องความเชื่อด้านศาสนาของพวกตน
ส่วนประเด็นหลงผิดหลักที่มีอยู่ในกลุ่มอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺนั้น ก็คือ ประเด็นเรื่องการปฏิเสธพระลักษณะของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่อยู่ในหมวดของ อั้ศศิฟ้าต อั้ลฟิ้อฺลียะฮฺ –พระลักษณะด้านการกระทำของอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นพระลักษณะที่มีเรื่องของพระประสงค์ของพระองค์เข้ามาเกี่ยวข้อง-
เนื่องจากพระลักษณะในหมวดนี้ของพระองค์นั้น ขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระองค์ ตะอาลานั่นเอง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้อัลลอฮฺทรงเป็นแหล่งของเรื่องที่เคยผ่านการไม่มีมาก่อน เนื่องจากอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นแหล่งให้กับสิ่งที่เคยผ่านการไม่มีมาก่อน นั่นก็เท่ากับว่าสิ่งนั้นเองก็ต้องเป็นสิ่งที่เคยผ่านการไม่มีมาก่อนตามไปด้วยเช่นกันโดยปริยาย
ซึ่งเหตุผลนี้เป็นหลักคิดเดียวกันกับที่นายญ้ะฮม์ บิน ศ้อฟวาน ตลอดจนพวกสมุนของเขาและพวกมุ้อฺตะซิละฮฺใช้ในการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับพระลักษณะของพระเจ้า เพียงแต่ผลลัพธ์ที่ได้จากหลักคิดอาจจะออกมาแตกต่างกันอยู่บ้างเท่านั้น กล่าวคือ เนื่องจากยึดถือตามหลักคิดๆนี้ จึงทำให้ทั้งมุ้อฺตะซิละฮฺและอะชาอิเราะกุ้ลลาบียะฮฺ มีวาทะกรรมปฏิเสธพระลักษณะของอัลลอฮฺ ตะอาลาขึ้นมา
เพียงแต่พวกมุ้อฺตะซิละฮฺนั้น ภายหลังจากที่ทำการปฏิเสธพระลักษณะของอัลลอฮฺแล้ว พวกเขาก็จะอธิบายพระลักษณะเหล่านั้นว่า คือ สิ่งถูกสร้างที่เป็นคนละส่วนกันอย่างสิ้นเชิงกับอัลลอฮฺตะอาลาแทน เช่น อ้างว่า คำพูดของอัลลอฮฺ ไม่ใช้พระลักษณะของอัลลอฮฺ แต่เป็นสิ่งถูกสร้าง หรือ การพอใจของอัลลอฮฺ การโกรธของพระองค์ การปิติของพระองค์ การมาของพระองค์ และการเสด็จลงมาของพระองค์นั้น ทั้งหมดเป็นสิ่งถูกสร้างไม่ใช่พระลักษณะของอัลลอฮฺแต่อย่างใด เป็นต้น
ในขณะที่พวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺนั้น ภายหลังจากที่ทำการปฏิเสธพระลักษณะที่อยู่ในหมวดของอั้ลฟิ้อฺลียะฮฺแล้ว พวกเขาจะไม่พูดเหมือนกับพวกมุอฺตะซิละฮฺ แต่จะทำการปรับหมวดของพระลักษณะดังกล่าวว่าแทน โดยปรับให้พระลักษณะของอัลลอฮฺทุกๆพระลักษณะมาอยู่ในหมวดของ อั้ศศิฟ้าต อั้ซซาตียะฮฺ –พระลักษณะที่อัลลอฮฺ ทรงมีอยู่ที่พระองค์มาแต่เดิม ซึ่งเป็นพระลักษณะที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับเรื่องของพระประสงค์ของพระองค์ เช่น ทรงยิ่งใหญ่ ทรงสูงส่ง ทรงอยู่เบื้องบน เป็นต้น- เสียหมด ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาหันมาอธิบายพระลักษณะที่เป็นเรื่องของการกระทำของอัลลอฮฺว่า เป็นเรื่องที่อัลลอฮฺทรงมีเช่นนั้นมาแต่ดั้งแต่เดิมแล้วไม่มีเปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่างเช่น การที่พระองค์ทรงเสด็จมานั้น พระองค์ทรงเสร็จมาตั้งแต่เดิมแล้วไม่มีเปลี่ยนแปลง หรือการที่พระองค์ทรงเสด็จลงมานั้น จริงๆแล้วก็คือพระองค์ทรงเสด็จลงมาตั้งแต่เดิมแล้วไม่มีเปลี่ยนแปลง หรือการที่พระองค์ทรงพอใจ ทรงโกรธและทรงปิตินั้น คือจริงๆแล้วพระองค์ทรงมีพระลักษณะเหล่านั้นไว้มาตั้งแต่เติมแล้วไม่มีเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
และที่สำคัญคือ คำพูดของอัลลอฮฺ จริงๆแล้วมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ที่พระองค์มาแต่เดิมแล้วโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคำพูดที่มีอยู่ที่พระองค์อัลลอฮฺมาแต่เดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ย่อมต้องไม่ใช่ “คำ” และย่อมต้องไม่ใช่ ”การพูด” กล่าวคือ ต้องไม่ใช่ “คำ” ที่ประกอบมาจากอักษรหลายอักษรมารวมกัน และต้องไม่ใช้ “การพูด” ที่ผ่านการเอ่ยและเปล่งเสียงออกมา เพราะเหล่านี้ทั้งหมดล้วนมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด
หลักเกณฑ์นี้ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องหันมาอธิบายคำว่า “คำพูด” ตรงนี้ว่า คือ ความคิด และเรียกมันว่า “คำพูดของจิต”แทน และจากทฤษฎีเรื่องคำพูดของจิตนี้เองที่ถูกต่อยอดไปสู่ความเชื่อที่ว่า อั้ลกุ้รอ่าน ที่เราอ่านกันอยู่ทุกวันนี้ จริงๆแล้วไม่ใช่ถ้อยคำที่อัลลอฮฺทรงตรัสหรือทรงพูดออกมาแต่อย่างใด
และยิ่งไปกว่านั้น หลักคิดดังกล่าวของพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺนี้ ยังเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่อง การมีอยู่ของสรรพสิ่งด้วยว่า ตกลงสรรพสิ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีมาแต่เดิมหรือไม่? ซึ่งแน่นอนว่า บุคคลที่ยึดตามหลักคิดนี้ย่อมไม่อาจให้คำตอบแก่คำถามนี้ได้อย่างชัดเจนและเต็มปาก
แนวคิดของกลุ่มอะชาอิเราะฮฺกุ้ลาบียะฮฺ
โดยรวมแล้วสามารถประมวนแนวความคิดของพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺออกมาเป็นประเด็นๆได้ดังนี้
๑. ใช้วิธีวิทยาในการค้นหาข้อเท็จจริงทางศาสนาตามแนวทางของอะฮฺลุ่ลกะลาม
๒. ปฏิเสธพระลักษณะของอัลลอฮฺที่อยู่ในหมวด อั้ลฟิ้อฺลียะฮฺ ซึ่งที่เด่นชัดที่สุดก็ได้แก่ เรื่องของ การพูด และคำพูดของพระองค์อัลลอฮฺ
๓. ใช้แนวทางในการอ้างหลักฐานจากอั้ลกุรอ่านและอั้ซซุนนะฮฺโดยอาศัยการตีความหรือแปลงความหมาย และการอ้างถึงการสื่อความหมายของคำในรูปแบบของมะญ้าซ –การใช้ให้คำๆหนึ่งสื่อสารถึงความหมายๆหนึ่งที่ไม่ใช่ความหมายตามนัยปกติของคำๆนั้น-
๔. มีความเชื่อและความเข้าใจโดยรวมเกี่ยวกับคำว่า “อีหม่าม” ตามแนวทางของพวกมุ้รญิอะฮฺ
๕. มีความเชื่อและความเข้าใจโดยรวมในเรื่องก่อดั้ร ตามแนวทางของพวกญั้บรียะฮฺ
๖. ให้การยอมรับและให้การยืนยันโดยภาพรวมในพระลักษณะของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่อยู่ในหมวดของ อั้ซซาตียะฮฺ –หรือเรียกอีกอย่างว่า อั้ลค่อบะรียะฮฺ- โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะของพระองค์เรื่อง การที่พระองค์ทรงสูงส่ง และการที่พระองค์ทรงประทับเหนือบัลลังก์ จะยกเว้นก็แต่อิบนุฟูร้อก ที่มีท่าทีที่สับสนเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้
ช่วงเวลาที่แนวความคิด อะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺก่อตัวและแพร่กระจายตัว
หากไม่นับรวมอิบนุกุ้ลล้าบซึ่งเป็นเจ้าของอิทธิพลทางความคิดต่ออั้ลอั้ชอะรีย์แล้ว ช่วงเวลาที่แนวคิดนี้ถือกำเนิดคงหนีไม่พ้นช่วงเวลาที่อบูฮะซันอั้ลอั้ชอะรีย์หันหางเสือและเบนเข็มออกมาจากแนวทางของพวกมุ้อฺตะซิละฮฺเป็นต้นมา และเริ่มแพร่กระจ่ายตัวอย่างเป็นรูปธรรมในราวศตวรรษที่๔ โดยน้ำมือของอั้ลบาก้อลลานีย์ (เสีย ฮ.ศ. ๔๐๓) และสิ้นสุดลงโดยการกลายความคิดไปสู่ฐานคิดแบบพวกมุอฺตะซิละฮฺภายหลังจากการเสียชีวิตของ อิบนุฟูร้อก (ฮ.ศ. ๔๐๖) ซึ่งตัวของอิบนุฟูร้อกเอง ถือได้ว่าเป็นต้นเชื้อสำคัญที่ทำให้เกิดการกลายสภาพทางแนวความคิดของพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ
บุคคลสำคัญๆของกลุ่มอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ
๑/ อบู้ลฮะซัน อั้ลอั้ชอารีย์ (เสีย ฮ.ศ. ๓๒๔)
ซึ่งหนึ่งในตำราเล่มสำคัญของเขาก็คือ “อั้ลอิบานะฮฺ อัน อุศูลิ้ดดิยานะฮฺ” ซึ่งเจ้าตัวได้มีการอ้างไว้ในตำราเล่มนี้ว่า ได้กลับมาสู่แนวทางของบรรดาซะลัฟซึ่งถูกรู้จักกันในนามของบุคคลที่ออกมาทำการปกป้องแนวทางๆนี้อย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญซึ่งก็คือ ท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ นั่นเอง
อย่างไรก็ดีแม้ว่าใน “อั้ลอิบานะฮฺฯ” ท่านอบูฮะซันจะได้ให้ข้อมูลที่บ่งบอกให้ทราบว่าท่านให้การยอมรับและยืนยันในบรรดาพระลักษณะของอัลลอฮฺที่อยู่ในหมวด อั้ซซาตียะฮฺ เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับการที่พระองค์ทรงอยู่เบื้องบนและทรงประทับอยู่เหนือบัลลังก์ แต่ในตำราเล่มดังกล่าวนี้ก็ยังมีหลากหลายประเด็นที่บ่งบอกว่าท่านยังคงอยู่ในแนวทางของอิบนุกุ้ลล้าบอยู่เช่นเดิม ยกตัวอย่างเช่นในบรรดาประเด็นต่อไปนี้
๑- ประเด็นเกี่ยวกับอั้ลกุ้รอ่าน แม้ว่าท่านจะทำการตอบโต้แนวความคิดของพวกญะฮฺมียะฮฺ พวกมุ้อฺตะซิละฮฺ และพวกกั้รรอมียะฮฺ (ดู อั้ลอิบานะฮฺฯ หน้า ๗๖,๗๙และ๘๓) ตลอดจนพวกวั้กฟ์ (ดู แหล่งเดิม หน้า๙๒ –๙๔) เกี่ยวกับประเด็นเรื่องอั้ลกุ้รอ่าน แต่ท่านกลับไม่ได้ทำการตอบโต้ต่อแนวความคิดของอุบนุกุ้ลล้าบในประเด็นเดียวกันนี้ ทั้งๆที่บรรดาซะลัฟในยุคของท่านและยุคถัดจากท่านต่างพากันต่อต้านแนวความคิดของอิบนุกุ้ลลาบในประเด็นนี้กันอย่างเปิดเผยจนเป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน (ดู เมากิ้ฟ ชัยคุ้ลอิสลาม มินั้ลอะชาอิเราะอิ เล่ม๑ หน้า๔๐๕) ยิ่งไปกว่านั้นท่านกลับยังมายึดถืออีกว่า คำพูดของอัลลอฮฺนั้น เป็นเรื่องที่มีอยู่แต่เดิม เหมือนที่ความรู้ของอัลลอฮฺนั้นมีอยู่แต่เดิม และอ้างว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่อัลลอฮฺจะทรงมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับการพูด เช่น เงียบ หรือมีเรื่องใดๆก็ตามที่ทำให้ไม่มีการพูดอยู่ที่พระองค์ (ดู อั้ลอิบานะฮฺฯ หน้า ๗๔ และ เมากิ้ฟ ชัยคุ้ลอิสลาม มินั้ลอะชาอิเราะอิ เล่ม๑ หน้า๔๐๑)
๒- ท่านได้จัดให้เรื่องของพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นเรื่องที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจุดประสงค์ของท่านในการออกมากล่าวเช่นนี้ก็เพื่อต้องการจะสนับสนุนความเชื่อที่ว่า อัลลอฮฺจะต้องไม่ทรงพูดเป็นคำๆออกมา กล่าวคือ จะต้องไม่ทรงพูดเป็นคำพูดที่ตามมาด้วยคำพูดอีกคำตามที่พระองค์ทรงประสงค์และทรงต้องการ และพระองค์จะต้องไม่ทรงต้องการเมื่อพระองค์ประสงค์จะทรงต้องการหรือเวลาใดๆก็ตามแต่ที่พระองค์ทรงประสงค์จะทรงต้องการอีกด้วย โดยท่านได้ให้เหตุผลว่า การเชื่อตรงข้ามกับที่กล่าวไว้นั้น มันเท่ากับเป็นการอ้างว่าพระองค์ทรงมีลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องอยู่ที่พระองค์นั่นเอง (ดูเมากิ้ฟ ชัยคุ้ลอิสลาม มินั้ลอะชาอิเราะฮฺ เล่ม๑ หน้า๔๐๒)
๓- ท่านมองว่า การโกรธและการพอใจของอัลลอฮฺนั้น เป็นเรื่องที่มีมาแต่เติมและไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นมุมมองเป็นการว่าตามฐานคิดของแนวทางกุ้ลลาบี้ยะฮฺนั่นเอง (ดูอั้ลอิบานะฮฺฯ หน้า๘๒)
ข้อมูลเหล่านี้ที่ปรากฏอยู่ใน หนังสือ อั้ลอิบานะฮฺฯ ของท่านอบู้ลฮะซัน อั้ลอั้ชอารีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ นั้น ล้วนบ่งบอกว่าท่านยังคงดำเนินตามแนวทางของอิบนุ้ลกุ้ลล้าบอยู่ แม้ว่าในหนังสือเล่มนี้ท่านอาจจะไม่ได้กล่าวอะไรออกมาชัดเจนเหมือนกับที่ท่านได้กล่าวไว้ในตำราอื่นๆของท่านก็ตาม
ส่วนตำราเล่มสำคัญของท่านอีกเล่มหนึ่งก็คือ “มะกอล้าตุ้ล อิสลามียีน” ในตำราเล่มนี้ก็ยังคงมีข้อมูลบางข้อมูลที่บ่งบอกว่า ท่านยังคงอยู่ในแนวทางของอิบนุ้ลกุ้ลล้าบอยู่เช่นเคยอยู่เช่นเดียวกัน เช่น ตอนที่ท่านเขียนถึงกลุ่มต่างๆในศาสนาอิสลาม ท่านกล่าวว่า กลุ่มแม่ของกลุ่มเหล่านี้มีอยู่ด้วยกันสิบกลุ่ม จากนั้นท่านก็พูดถึงกลุ่มเหล่านั้นแต่ละกลุ่มจนกระทั่งมาถึงกลุ่มสุดท้าย ท่านได้กล่าวถึง อะฮฺลุ่ลฮะดี้ษแล้วก็กล่าวถึงกลุ่มกุ้ลลาบียะฮฺ โดยพยายามให้ข้อมูลให้เข้าใจไปได้ว่าทั้งคู่ (อะฮฺลุ่ลฮะดี้ษและกุ้ลลาบียะฮฺ) นั้นเป็นแนวทางๆเดียวกัน โดยการกล่าวถึงแนวความเชื่อของกุ้ลลาบียะฮฺไว้ถัดจากแนวความเชื่อของอะฮฺลุ่ลฮะดี้ษโดยทันทีเลยนั่นเอง (ดู อั้ลมะกอล้าตฯ เล่ม๑ หน้า ๖๕)
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิบนุอับดุ้ลฮาดี จึงมีความเห็นว่า อั้ลอั้ชอารีย์นั้น จริงๆแล้วเขาเพียงเตาบะฮฺกลับออกมาจากแนวความคิดของมุ้อตะซิละฮฺเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้เตาบะฮฺกลับตัวและถอนตัวออกมาจากแนวทางของพวกอะฮฺลุ้ลกะลามแต่อย่างใด (ดู ญั้มอุ้ลญุญูชิวั้ดดะซากิ้รฯ หน้า๘๒, ๑๐๘ และ๑๓๙)
ในขณะที่ อั้ซซิ้จซี่ย์ และอบูอุมัร อั้ลบัซตอมีย์ อั้ชชาฟิอีย์ มองว่า อั้ลอั้ชอารีย์นั้น เพียงกลับออกมาจากการประกาศตรงๆว่าตนเป็นพวกมุอฺตะซิละฮฺ มาสู่การบอกว่าตนเป็นพวกมุอฺตะซิละฮฺแบบเป็นนัยเฉยๆเท่านั้น (ดู ริซาละดุ้ซซิ้จซี่ย์ อิลา อะฮฺซะบี้ด หน้า ๑๗๗และ๑๘๑ และดู ซัมมุ้ลกะลาม ของ อั้ลฮะรอวีย์ เล่ม ๔ หน้า ๔๐๗-๔๐๘ เลขที่ ๑๓๐๔)
๒/ กอดี อบูบั้กร์ อิบนุ้ลบาก้อลลานีย์ (เสีย ฮ.ศ.๔๐๓)
บุคคลผู้นี้แทบจะเรียกได้ว่า เป็นผู้ก่อตั้งแนวทางอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺอีกคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเขาเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่และส่งต่อแนวความคิดอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺสู่สังคม ยิ่งไปกว่านั้นเขายังได้เข้ามาทำการปรับแต่งเรื่องราวหลายๆเรื่องในแนวทางอะชาอิเราะอฺกุ้ลลาบียะฮฺอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
๑- เข้ามาวางกฎเกณฑ์ที่วางอยู่บทฐานคิดของพวกอะฮฺลุ่ลกะลาม ไว้ในแนวทางอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ในภายหลังได้กลายมาเป็นแนวทางหลักของพวกอะชาอิเราะฮฺในการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับหลักความเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้า ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างของกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็ได้แก่ กฏเกณฑ์ในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งที่มีอยู่และชนิดต่างๆของมัน ตลอดจนทฤษฎีเรื่อง เยาฮัร และ อะร้อด นั่นเอง (เป็นทฤษฎีที่พูดถึงลักษณะสำคัญๆของสิ่งถูกสร้าง โดยอ้างว่า สิ่งถูกสร้างทั้งหมดล้วนประกอบไว้ด้วย เยาฮัร หรือ ตัวตน/สิ่งที่เป็นรูปธรรม และ อะร้อด หรือ ลักษณะ/สิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่ถูกใช้เป็นฐานคิดในการปฏิเสธบรรดาพระลักษณะของอัลลอฮฺ ตะอาลานั่นเอง)
๒- เข้ามาทำการกระชับแนวทางอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺให้เขามามีความใกล้เคียงกับแนวทางมุ้อฺตะซิละฮฺมากขึ้น ภายหลักจากที่ก่อนหน้านี้ อั้ลอั้ชอารีย์ได้เคยประกาศยุติความเกี่ยวข้องของตนกับแนวทางมุ้อฺตะซิละฮฺไว้ก่อนหน้าที่จะหันเข็มมาสู่แนวทางของอิบนุกุ้ลลาบ โดยทั้งนี้และทั้งนั้น อิบนุ้ลบาก้อลลานีย์เองก็ยังคงมีการตอบโต้ต่อพวกมุ้อฺตะซิละฮฺและพวกนักปรัชญาอย่างเข้มแข็งอยู่ควบคู่กันไปด้วยในเวลาเดียวกัน
๓/ อิบนุฟูร้อก (เสีย ฮ.ศ.๔๐๖)
บุคคลผู้นี้เป็นบุคคลที่อยู่ร่วมยุคกับอิบนุ้ลบาก้อลลานีย์ และเป็นศิษย์ร่วมครูคนเดียวกันกับเขา นั่นก็คือ อบู้ลฮะซันอั้ลบาฮิลีย์ ผู้เป็นศิษย์ของอั้ลอั้ชอะรีย์อีกทอดหนึ่ง
แม้อิบนุฟูร้อกจะมีความโดดเด่นในแง่ของความเอาใจใส่ต่อแขนงวิชาด้านฮะดี้ษมากกว่า อิบนุ้ลบาก้อลลานีย์ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงดำเนินศาสนาตามวิถีของพวกอะฮฺลุ่ลกะลามและการตีความของพวกอะฮฺลุ่ลกะลามอยู่
ส่วนทางด้านของอิบนุฟูร้อกนั้น เขาได้เข้ามาปรับแต่งแนวทางของพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮ์ในหลายประเด็นดังนี้
๑- เข้ามาปรับจุดยืนต่อฮะดี้ษอาฮ้าด (ฮะดี้ษที่ไม่ใช่มุตะวาติร) และลดระดับความน่าเชื่อถือของฮะดี้ษในหมวดนี้ลง โดยอ้างว่า ข้อมูลที่ถูกรายงานไว้ในรูปของฮะดี้ษอาฮ้าดนั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่สามารถปักใจเชื่อได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นว่า เป็นคำของท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม แต่ให้เชื่อแบบเผื่อๆไว้ที่ราวๆ๘๐ – ๙๐เปอร์เซ็นเท่านั้น
๒- มีจุดยืนในเรื่อง ศิฟ้าต ที่ค่อนข้างให้น้ำหนักแก่การตีความความหมายของพระลักษณะที่อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงแจ้งไว้เสียมาก จนแทบจัดให้การตีความเป็นท่าทีหลักต่อข้อมูลในเรื่องๆนี้ ส่วนการยืนยันในเนื้อหาของข้อมูลอย่างตรงไปตรงมานั้นให้เป็นท่าทีรองไปเสียแทน
๓- ตีความความหมายของ การประทับบนบัลลังก์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา และ การอยู่เบื้องบนของพระองค์ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ผิดแผกไปจากพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺที่มาก่อนหน้าเขา (ดูเมากิ้ฟ ชัยคุ้ลอิสลาม มินั้ลอะชาอิเราะอิ เล่ม๑ หน้า๕๖๓-๕๖๗)
นอกเหนือจากบุคคลเหล่านี้ที่ได้กล่าวถึงไว้แล้วนั้น สำหรับกลุ่มอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺเองยังมีบุคคลสำคัญของกลุ่มคนอื่นๆอีก ที่มีบทบาทสำคัญในการรับใช้แนวทางของอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เป็นนักวิชาการด้านฮะดี้ษที่แทนที่จะใช้ความรู้เรื่องฮะดี้ษของตนไปกับการรับใช้ชาวฮะดี้ษและชาวซุนนะฮฺ แต่เขากลับใช้ความรู้อันมีเกียรตินี้ไปในการรับใช้พวกที่ตีความและผันความหมายของตัวบทแทน เช่น อั้ลค้อตตอบีย์ (เสีย ฮ.ศ. ๓๘๘) อั้ลบัยฮะกีย์ (เสีย ฮ.ศ. ๔๕๘) และ อิบนุ อะซากิ้ร (เสีย ฮ.ศ. ๕๗๑) อะฟั้ลลอฮุอันฮุม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีบรรดานักวิชาการด้านฮะดี้ษที่ยึดถือแถวทางของอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺเหล่านี้นั้น จะมีการยึดติดอยู่กับหลักการของแนวทางอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺน้อยกว่านักวิชาการอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ สายอิ้ลมุ้ลกะลาม (ดู อั้ล อิ้ซติกอมะฮฺ เล่ม๑ หน้า๑๐๕)
หมายเหตุ
กลุ่มอะชาอิเราะฮฺกลุ่มนี้เอง ที่นักอธิบายฮะดี้ษบางท่านที่ไปได้รับอิทธิพลทางความเชื่อมาจากแนวทางกุ้ลลาบียะฮฺ ถูกอ้างว่าสังกัดเข้ากับแนวทางของกลุ่ม เช่น อันนะวะวีย์ (เสีย ฮ.ศ. ๖๗๖)และอิบนุฮะญัร(เสีย ฮ.ศ. ๘๕๒) ตลอดจนท่านอื่นๆ ร่อฮิมะฮุมุ้ลลอฮฺ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกท่านเหล่านี้ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อมาจากพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺจริงในบางประเด็น แต่อย่างไรก็ดีท่าทีส่วนใหญ่ของพวกท่านล้วนเป็นท่าทีที่ตรงกับอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺ จึงไม่ถูกต้องนักหากจะกล่าวขานว่าพวกท่านเป็นบุคคลหนึ่งของพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ เนื่องจากพวกท่านไม่ได้ยึดถือตามหลักการสำคัญๆของแนวทางดังกล่าว อย่างเช่น หลักเกณฑ์เรื่อง การเป็นที่อยู่ให้แก่สิ่งที่เคยผ่านการไม่มีมาก่อน แต่อย่างใด
และในเมื่อเราบอกว่า มันไม่ถูกต้องที่จะนับรวมพวกท่านเข้าไปเป็นพวกเดียวกันกับอะชาอิเราะฮิกุ้ลลาบียะฮฺที่เป็นกลุ่มที่ดำเนินตามแนวทางของอะฮฺลุ่ลกะลามที่มีประเด็นความคลาดเคลื่อนน้อยกว่ากลุ่มที่ดำเนินตามแนวทางของอะฮฺลุ่ลกะลามกลุ่มอื่นๆและถือว่ามีความใกล้เคียงกับอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺมากกว่ากลุ่มที่ดำเนินตามแนวทางของอะฮฺลุ่ลกะลามกลุ่มอื่นๆที่เหลืออยู่แล้ว ก็คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การจะอ้างและนับว่าพวกท่านเหล่านี้เป็นพวกเดียวกันกับพวกอะชาอิเราะฮฺฟะลาซิฟะฮฺนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความถูกต้องอย่างที่สุดแน่นอน (ดู มันฮัจฮาฟิซ อิบนุฮะยัร อั้ลอัซก่อลานีย์ ฟี้ล อะกีดะฮฺ เล่ม๑ หน้า /๔๐ และ อั้รรุดู้ดวั้ตตะอฺกีบ้าต อะลา มาวะก่ออะ ลิ้ลอิหม่ามิ้ลนะวะวีย์ ฯ หน้า ๒๕-๒๖ และ เมากิฟ อิบนุฮั้ซม์ มินั้ลมั้ซฮะบิ้ลอั้ชอะรีย์ หน้า ๑๕-๑๖)
สรุปข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับกลุ่มอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ
๑) ประเด็นเรื่องแหล่งที่มาของเรื่องศาสนา แนวทางอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ โดยภาพรวมแล้วยังคงมีจุดยืนที่สอดคล้องกับแนวทางของอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺ อยู่ นั่นคือ การยึดถือว่าแหล่งที่มาของเรื่องศาสนานั้น ก็คือ อั้ลกุ้รอ่าน และอั้ซซุนนะฮฺ -ทั้งที่เป็นมุตะวาติรและอาฮ้าด- และอั้ลอิจม้าอฺ แม้ว่าในช่วงท้ายๆของกลุ่มๆนี้จะมีบุคคลของกลุ่มบางคนเริ่มที่จะมีจุดยืนที่ผิดแพรกออกไป เช่น อั้ลบาก้อลลานีย์ ที่เริ่มเข้ามาวางกฏเกณฑ์ที่ให้น้ำหนักกับการใช้ความคิดเป็นฐานที่มาของศาสนา และอิบนุฟูร้อก ที่เริ่มเข้ามาวิพากษ์เรื่องของฮะดี้ษอาฮ้าด เป็นต้น (ดู อั้ลฟิร้อกอั้ลกะลามียะฮฺ หน้า ๗๒-๗๓ และเมากิ้ฟ ชัยคุ้ลอิสลาม มินั้ลอะชาอิเราะอิ เล่ม๑ หน้า๔๐๒)
๒) แนวทางในการอ้างหลักฐานของกลุ่มอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ ที่บรรดาซะลัฟทำการคัดค้านเอาไว้นั้นได้แก่ การผลันความหมาย(ตะอฺวี้ล), การอ้างเรื่อง มะย้าซ, การไม่ยอมรับในการเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักของฮะดี้ษอาฮ้าด –ตามทฤษฎีของอิบนุฟูริ้ก- และการกำหนดค่าเริ่มต้นด้วยปัญญาเพื่อใช้กรองข้อมูลที่ควรจะเชื่อหรือไม่ควรเชื่อในเรื่องศาสนา (มุก้อดดิม้าตอั้กลียะฮฺ) –ตามทฤษฎีของ อั้ลบาก้อลลานีย์- (ดู อั้ลฟิร้อกอั้ลกะลามียะฮฺ หน้า๖๖)
๓) ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า เตาฮีด ในมุมมองโดยภาพรวมของพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺนั้น จะถูกจำกัดไว้ที่เตาฮีด ในแง่การเป็นพระเจ้าและเป็นผู้สร้าง,ผู้บริหาร ของอัลลอฮฺ ตะอาลาเท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มที่ดำเนินตามแนวทางของอะฮฺลุ่ลกะลามกลุ่มอื่นๆ (ดู อั้ลอินซ้อฟ หน้า ๓๔และ๓๙)
๔) โดยภาพรวมแล้ว พวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ จะให้การยอมรับและยืนยันในพระลักษณะที่อยู่ในหมวด อั้ซซาตียะฮฺ สอดคล้องกับแนวทางของบรรดาซะลัฟ ซึ่งรวมถึงเรื่องการที่อัลลอฮฺทรงประทับอยู่เหนือบัลลังก์และทรงอยู่เบื้องบนด้วย
๕) ในประเด็นเรื่อง ศิฟ้าต ที่อยู่ในหมวด อั้ลฟิ้อฺลียะฮฺ พวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ จะใช้ฐานคิดของพวกมุอฺตะซิละฮฺ เรื่อง การเป็นที่อยู่ให้แก่สิ่งที่เคยผ่านการไม่มีมาก่อน มาใช้พิจารณา จนส่งผลให้พวกเขาปฏิเสธการมีอยู่ของศิฟ้าตในหมวดนี้ และจัดให้ศิฟ้าตทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิฟะฮฺ อั้ลกะลาม –การพูดและคำพูดของอัลลอฮฺ- เป็นเรื่องที่มีมาแต่เดิมทั้งสิ้น ทั้งๆที่มันขัดกับข้อมูลจากอั้ลกุ้รอ่านและอั้ลฮะดี้ษ (ดูเมากิ้ฟ ชัยคุ้ลอิสลาม มินั้ลอะชาอิเราะอิ เล่ม๑ หน้า๔๑๑-๔๑๒)
๖) ประเด็นเรื่องการจะได้เห็นอัลลอฮฺ ตะอาลา ในวันกิยามะฮฺ นั้น นักวิชาการของพวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺส่วนใหญ่ต่างให้การยอมรับและยืนยันในประเด็นนี้กันตามแนวทางของบรรดาซะลัฟ ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนของพวกเขาให้การยืนยันเรื่องการเห็นแต่กลับปฏิเสธเรื่องของทิศทาง (ทั้งๆที่จริงๆแล้วคำว่า ทิศทางนี้ เป็นคำที่กำกวมที่ในตัวบทไม่ได้มีการเลือกใช้คำๆนี้มากล่าวไว้ และเป็นคำที่สามารถเข้าใจไปในความหมายที่ผิด –อัลลอฮฺไม่ได้ทรงอยู่เบื้องบน- และความหมายที่ถูก –อัลลอฮฺทรงอยู่เบื้องบน- ได้)
๗) ประเด็นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าอีหม่าน โดยภาพรวมแล้วพวกอะชาอิเราะฮฺ มีจุดยืนเดียวกันกับพวกมุ้รยิอะฮฺ ที่อธิบายว่าอิหม่านคือเรื่องที่หยุดอยู่ที่หัวใจเท่านั้น ส่วนการกระทำและคำพูดไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำว่าอีหม่าน
๘) ประเด็นเรื่อง ก้อดั้ร พวกอะชาอิเราะฮฺ โดยภาพรวม มีจุดยืนเดียวกันกับพวกญั้บรียะฮฺ ที่อ้างว่า สิ่งถูกสร้างไม่มีความสามารถในการทำอะไรทั้งสิ้น ทั้งหมดอัลลอฮฺทำ เพียงแต่พวกอะชาอิเราะฮฺจะอ้างเรื่อง กั้ซบ์ –การผันความต้องการเพื่อมุ่งสู่การกระทำ- ขึ้นมาให้ตัวเองดูดีขึ้นนิดหน่อยแต่ที่จริงแล้วคำอ้างนี้ก็ไม่ช่วยให้พวกเขาหลุดออกมาจากแนวทางของพวกญั้บรียะฮฺได้แม้แต่น้อย (ดู อั้ศศ่อฟะดียะฮฺ-ของ อิบนุตัยมียะฮฺ- เล่ม๑ หน้า/๑๕๑)
๙) ประเด็นเรื่อง อิมามะฮฺ, ศ่อฮาบะฮฺและเรื่องวันกิยามะฮฺ พวกอะชาอิเราะฮฺโดยภาพรวมมีจุดยืนที่สอดคล้องกับอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺ
๑๐) จัดได้ว่า พวกอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ เป็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกับแนวทางของบรรดาซะลัฟมากกว่ากลุ่มที่ดำเนินตามแนวทางอะฮฺลุ้ลกะลามกลุ่มอื่นๆ
๑๑) นักวิชาการศาสนาที่ดำเนินอยู่ในแนวทางของอะชาอิเราะฮฺกุ้ลลาบียะฮฺ หรือไม่ได้ดำเนินอยู่ในแนวทางนี้แต่ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อในบางประเด็นมาจากกลุ่มๆนี้ หลายท่านเป็นนักวิชาการที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับและเป็นประโยชน์ ซึ่งต่างจากกลุ่มอะชาอิเราะฮฺมุตะฟั้ลซิฟะฮฺ ที่ไม่มีบุคคลชั้นนำทางวิชาการด้านศาสนาไม่ว่าจะในแขนงวิชาใดๆก็ตามเลยแม้แต่คนเดียวที่มาจากกลุ่มของพวกตน
ข้อมูลทั้งหมด สรุปมาจาก งานวิจัยเรื่อง อั้ลอั้ตวารุ้ลอะก่อดียะฮฺ ฟี้ล มั้ซฮะบิ้ลอะชาอิเราะฮฺ