ยอมจำนนต่ออัลลอฮ์
อับดุลสลาม เพชรทองคำ
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขอให้เราได้ชุกูร ได้ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยการกล่าวตักบีร แสดงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในเนี๊ยะอฺมะฮฺ ความเมตตา ความโปรดปรานที่พระองค์ได้ทรงให้แก่เรา และทรงให้เราได้มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้ เพื่อร่วมกันละหมาดอีดเนื่องในวันอีดอัลอัฎฮาในวันนี้ อันเป็นการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และนั่นแสดงว่า ในขณะนี้ ผู้ที่ประกอบพิธีหัจญ์อยู่ที่นครมักกะฮฺ ซาอุดิอารเบีย พวกเขาได้ผ่านพ้นช่วงของการวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ อันเป็นขั้นตอนที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการประกอบพิธีหัจญ์แล้ว ...
ส่วนสำหรับเราที่อยู่ ณ ที่นี้ ยังไม่มีโอกาสไปทำหัจญ์ในปีนี้ แต่เราก็ได้ปฏิบัติอิบาดะฮฺต่างๆในช่วงของเก้าวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การทำอิบาดะฮฺต่างๆจะมีความประเสริฐ มีผลบุญตอบแทนมากกว่าการปฏิบัติในเดือนอื่นๆตลอดทั้งปี
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อิบาดะฮฺสำคัญประการหนึ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมส่งเสริมให้เราทำในช่วงระยะเวลานี้ คือในวันอีดและอีกสามวันหลังจากวันนี้ หากเรามีความสามารถที่จะทำได้ เป็นอิบาดะฮฺที่ถือเป็น سُنَّةٌ مُؤَكَّدَةٌ ที่ท่านนบีส่งเสริมให้เราทำและท่านนบีได้ทำเป็นแบบอย่างเอาไว้ก็คือ การทำอุฏฮียะฮฺ หรือการเชือดกุรบาน
ซึ่งการเชือดกุรบานเป็นอิบาดะฮฺที่ทำให้เราได้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นอิบาดะฮฺที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกไว้ว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงตอบรับการเชือดกุรบานของเราก่อนที่หยดเลือดของสัตว์กุรบานที่เราเชือดจะตกถึงพื้นเสียอีก นั่นก็หมายถึงว่า เราจะได้รับผลบุญตอบแทนอย่างรวดเร็ว ทันทีที่เชือด เราก็ได้รับผลบุญตอบแทนแล้ว
การเชือดกุรบานนั้นมีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัศศ็อฟฟาต อายะฮฺที่ 100 – 110 ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเล่าเรื่องราวของท่านนบีอิบรอฮีมกับท่านนบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสสลาม เป็นเรื่องราวของการเสียสละอันยิ่งใหญ่มาก ความเสียสละที่มีพื้นฐานมาจากความศรัทธาและการยอมมอบตนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยสิ้นเชิง อันเป็นที่มาของการเชือดกุรบานในวันนี้
ดังมีเรื่องราวโดยสรุปก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งให้ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลามเชือดท่านนบีอิสมาอีล อะลัยฮิสสลาม บุตรชายของท่าน ซึ่งในขณะนั้น ตัฟซีรอธิบายว่า ท่านนบีอิสมาอีลยังเป็นเด็กอายุประมาณ 13 ปี ...
เมื่อท่านนบีอิบรอฮีมได้รับคำสั่งมาเช่นนี้ ก็ได้บอกกับท่านนบีอิสมาอีลถึงคำสั่งดังกล่าว ...ทันทีที่ท่านนบีอิสมาอีลได้ยินได้ฟังคำสั่งดังกล่าว ท่านนบีอิสมาอีลก็ตอบรับคำสั่งดังกล่าวโดยทันที
ยินยอมให้ท่านนบีอิบรอฮีมซึ่งเป็นบิดาของท่าน ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยไม่อิดเอื้อนใด ๆทั้งสิ้น แม้จะต้องถูกเชือด ได้รับความเจ็บปวดอย่างรุนแรง และสูญสิ้นชีวิต แต่ท่านนบีอิสมาอีลก็ยินยอมด้วยความศรัทธาและความอดทนของท่าน ..
และแล้ว ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อท่านนบีอิบรอฮีมและท่านนบีอิสมาอีลแสดงให้เห็นถึงความศรัทธา ความตักวา ยำเกรงที่มีต่อพระองค์ ยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อย่างยินดี ไม่อิดเอื้อนเลย
ดังนั้น ในขณะที่ท่านนบีอิบรอฮีมกำลังจะลงมือเชือดนั่นเอง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงทรงตอบแทนความดีให้แก่ท่านทั้งสอง โดยการให้ท่านนบีอิบรอฮีมได้ไถ่ตัวท่านนบีอิสมาอีลด้วยการให้เชือดแกะใหญ่ตัวหนึ่งแทนการเชือดท่านนบีอิสมาอีล
พร้อมกันนั้น พระองค์ได้ทรงให้ท่านทั้งสองได้รับเกียรติยศ เป็นที่เลื่องลื่อ เป็นที่กล่าวขานถึงแก่กลุ่มชนยุคต่อ ๆมา ดังที่เราก็ได้ประจักษ์แล้ว
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือเรื่องราวโดยสรุปของความเสียสละอันยิ่งใหญ่ อันเนื่องมาจากความศรัทธาและความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง จึงนำมาซึ่งการยอมจำนนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยสิ้นเชิง ถึงแม้คำสั่งนั้นจะนำมาซึ่งการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับตนเองก็ตาม แต่กลับให้ความสำคัญต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเหนือความต้องการของตัวเอง
♥ ท่านนบีอิบรอฮีมยอมสูญเสียบุตรชายคนเดียวในขณะนั้น ทั้ง ๆที่ กว่าจะได้บุตรสักคนหนึ่ง ก็เมื่อมีอายุเข้าสู่วัยชราแล้ว
♥ ท่านนบีอิสมาอีลยอมเสียสละชีวิตของตนเอง แม้ว่าจะต้องได้รับความเจ็บปวดจากการถูกเชือด และต้องสูญเสียชีวิตของท่าน แต่ท่านก็ยอม
♥ ท่านหญิงฮาญัร มารดาของท่านนบีอิสมาอีล ยอมสูญเสีย ยอมเสียสละชีวิตของบุตรชายคนเดียวของท่าน เพราะเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา... ความรู้สึกของคนเป็นแม่จะต้องเศร้าโศกเสียใจมากขนาดไหน ต้องสูญเสียน้ำตาไปมากขนาดไหน แต่ท่านก็ยอม
ทั้งสามท่านยินยอมที่จะเสียสละ เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยไม่มีข้อแม้ เป็นการเสียสละที่ต้องอาศัยความอดทน ..ความอดทนที่อุละมาอ์บอกว่ามีอยู่ 3 ลักษณะ
1. อดทนที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้สำเร็จลุล่วง อดทนที่จะให้คำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เหนืออารมณ์ความต้องการของตัวเอง
2. อดทนที่จะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ยอมคล้อยตามไปกับชะฮฺวะฮฺ อารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำของตนเอง ไม่โต้แย้งคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแม้สักคำเดียว
3. อดทนและยอมรับต่อเกาะฎอ เกาะดัรของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ตัดพ้อต่อว่า ไม่บิดพลิ้วใด ๆเลย
ทั้งหมดนั้น ก็คือหัวใจของคนที่ยอมจำนนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างสิ้นเชิง อันเป็นคุณลักษณะของมุอ์มินอย่างแท้จริง
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 36 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَمَا كَانَ لِمُؤْمِنٍ وَلَا مُؤْمِنَةٍ إِذَا قَضَى اللَّهُ وَرَسُولُهُ أَمْرًا أَن يَكُونَ لَهُمُ الْخِيَرَةُ مِنْ أَمْرِهِمْ ۗ وَمَن يَعْصِ اللَّهَ وَرَسُولَهُ فَقَدْ ضَلَّ ضَلَالًا مُّبِينًا
“ไม่บังควรแก่มุอ์มินชายและมุอ์มินหญิง (ที่จะไม่ปฏิบัติตาม) ในเมื่ออัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ได้ทรงกำหนดกิจการงานใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นๆอีกในเรื่องของพวกเขา ...
และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ ...แน่นอน เขาได้อยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง”
ดังนั้น เรื่องราวข้างต้นจึงทำให้เราต้องหันกลับมาพิจารณาตัวเราว่า เราเป็นมุอ์มิน เป็นผู้ที่ยอมจำนนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริงแล้วหรือไม่ ?
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย บทบัญญัติของอัลอิสลามได้กำหนดสิทธิให้แก่บุคคลทุกสถานะที่พวกเขาพึงได้รับ สิทธิต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สิทธิต่อเพื่อนมนุษย์ สิทธิต่อเครือญาติ ต่อตัวเอง ต่อสามี ต่อภรรยา ต่อลูก รวมถึงสิทธิต่อเพื่อนบ้าน ที่อัลอิสลามให้ความสำคัญต่อเพื่อนบ้านอย่างมาก
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์กับอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร และท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
مَا زَالَ جِبْرِيلُ يُوصِينِي بِالْجَارِ، حَتَّى ظَنَنْتُ أَنَّهُ سَيُوَرِّثُهُ »]
“(มะลาอิกะฮ)ญิบรีลเฝ้าแต่สั่งให้ฉันปฏิบัติอย่างดีต่อเพื่อนบ้าน จนกระทั่งฉันคิดว่า ท่าน(ญิบรีล)จะให้เพื่อนบ้านนั้นรับมรดกของเราได้”
ท่านญิบรีลได้เน้นย้ำกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมถึงความสำคัญของเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังสั่งให้ปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านด้วยดี เน้นย้ำถึงความสำคัญของเพื่อนบ้าน จนท่านนบีคิดว่า ท่านญิบรีลจะยกระดับเพื่อนบ้านให้มีสิทธิรับมรดกของเราได้ แต่ความจริง เพื่อนบ้านไม่มีสิทธิในการรับมรดกของเรา
ดังนั้น เมื่อบทบัญญัติศาสนาให้ความสำคัญต่อเพื่อนบ้านมากเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถทำไม่รู้ไม่ชี้กับเพื่อนบ้านได้ แต่เรากลับต้องเรียนรู้ว่า เรามีหน้าที่ที่ต้องมอบสิทธิให้แก่เพื่อนบ้านของเราอย่างไรบ้าง ?
อุละมาอ์ได้แจกแจงเพื่อนบ้าน ไว้ 3 ประเภท
♦ ประเภทที่หนึ่ง เพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม และยังเป็นเครือญาติใกล้ชิดของเราด้วย เพื่อนบ้านประเภทนี้จะต้องได้รับสิทธิ 3 ประการจากเราคือ สิทธิของการเป็นเพื่อนบ้าน สิทธิของความเป็นมุสลิม และสิทธิของความเป็นเครือญาติ
♦ เพื่อนบ้านประเภทที่สอง ได้แก่ เพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม แต่ไม่ได้เป็นเครือญาติกับเรา เพื่อนบ้านประเภทนี้ต้องได้รับสิทธิ 2 ประการคือ สิทธิของความเป็นเพื่อนบ้าน และสิทธิของความเป็นมุสลิม
♦ เพื่อนบ้านประเภทที่สาม ได้แก่ เพื่อนบ้านที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งเขาต้องได้รับสิทธิหนึ่งประการจากเรา คือสิทธิของความเป็นเพื่อนบ้าน
ดังนั้น รอบ ๆตัวเรามีเพื่อนบ้านอยู่ในประเภทใดบ้าง ก็ให้เราได้หาความรู้ในเรื่องของสิทธิที่เราต้องมอบให้แก่เพื่อนบ้านของเรา และมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติดีต่อเพื่อนบ้าน และมอบสิทธิให้กับเพื่อนบ้านอย่างครบถ้วน อันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พึงระลึกไว้ว่า ในขณะที่เรามีเพื่อนบ้านที่เราต้องมอบสิทธิให้แก่เพื่อนบ้านของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ตัวของเราเองก็เป็นเพื่อนบ้านของคนอื่นเช่นกัน ดังนั้นจงปฏิบัติดีซึ่งกันและกัน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้านทั้งคำพูดและการกระทำ คอยสำรวจการกระทำของเรา หรือกิจกรรมของเราต้องพยายามไม่ให้ไปกระทบกับความสงบสุขของเพื่อนบ้านด้วย
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย วันนี้เป็นวันอีด เป็นวันที่เรามาพบกัน ได้มาละหมาดร่วมกัน ได้ขอมะอัฟต่อกัน ขอดุอาอ์ให้แก่กัน ได้บริจาคในรูปแบบต่าง ๆ ได้เยี่ยมเยียนกัน ได้รักษาสัมพันธ์เครือญาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราได้เป็นผู้ที่ดำรงรักษาคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างเคร่งครัด
تَقَبَّلَ اللهُ مِناَّ وَمِنْ كُمْ