หยุดการ ตั้คบี๊บ เสียเถิด
  จำนวนคนเข้าชม  2837


หยุดการตั้คบี๊บเสียเถิด

 

โดย บินติ กะม๊าล

 

          ครอบครัวเป็นพื้นฐานหลักของการสร้างสังคมที่ดี การที่สมาชิกในครอบครัวรู้จักหน้าที่และสิทธิของตน ย่อมส่งผลให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีความรัก ความเอื้ออาทร ดูแลกันและกันภายใต้กฎระเบียบ คำสอนของอิสลาม จากครอบครัวเล็ก หลาย ครอบครัวที่มีพื้นฐานดี จะส่งผลให้สังคมอยู่อย่างสงบ ปลอดภัย ไม่มีการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน

 

          การตั้คบี๊บเป็นหนึ่งในคำเตือนของอิสลามที่มุ่งเน้นไปที่คู่สามีภรรยา ที่จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีการติดต่อสื่อสาร พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้แบบวินาทีต่อวินาทีอย่างฉับพลันทันด่วน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันก็สามารถพูดคุยกันได้แล้ว การจะทำความรู้จักกันก็เป็นเรื่องที่สะดวกรวดเร็ว สามารถเห็นหน้าเห็นตากันจะ ก็ย่อมทำได้อีกเช่นกัน

 

          ภรรยาที่ดี จะต้องไม่เปิดโอกาสให้ใครที่ไหนเข้ามาทำความรู้จักมักคุ้น สนิทสนม ตีสนิทชิดเชื้อ พูดคุยกับเธอได้ในทุก เรื่อง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเพศเดียวกับสามีของเธอ เพราะนั่น อาจเป็นการเปิดโอกาสให้เขาทำการตั้คบี๊บเธอก็เป็นได้

 

          การตั้คบี๊บคืออะไร คือ การที่มีบุคลที่สามเข้ามาแทรกกลางระหว่างสามีภรรยา โดยการยุแหย่ ยุยงให้ภรรยาเห็นข้อเสีย ข้อบกพร่องต่าง นานา ของสามีของเธอ จนไม่ต้องการจะอยู่ร่วมเป็นคู่ครองกันอีกต่อไป ถึงกับจะขอหย่าขาดจากสามีของเธอและเมื่อนั้น เขา (บุคคลที่สาม) ก็จะได้เข้ามาสู่ขอแต่งงานกับเธอในภายหลัง 

          หรือการมีบุคคลที่สามเข้ามาแทรกกลางระหว่างสามีภรรยา ยุยงปลุกปั่นให้สามีเห็นข้อบกพร่อง ข้อเสียต่าง นานา ของภรรยา ทำให้ครอบครัวเกิดความหวาดระแวง วิตกกังวล ไม่ไว้ใจกัน ไม่เชื่อใจกัน ก่อให้เกิดความตึงเครียด แยกตัวอยู่กันคนละทิศคนละทาง ไม่มีความสงบสุข ไม่ร่มเย็น ทั้ง ที่อยู่ภายใต้หลังคาบ้านหลังเดียวกัน จนทำให้ครอบครัวแตกแยก สามีคิดจะมีภรรยาใหม่ แยกทางกัน และหย่าร้างกันไปในที่สุด

 

          การตั้คบี๊บในที่นี้ ยังมีความหมายรวมไปถึง พ่อ แม่ ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่าย (สามี ภรรยา) ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวปัญหาภายในครอบครัว ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดาในการใช้ชีวิตคู่ (สามี ภรรยา) บางทีเขาทั้งสองอาจจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธเคืองกัน ไม่เข้าใจกันได้ หากปล่อยให้เขาทั้งสองปรับความเข้าใจกันเองก่อน ปัญหาก็อาจจะไม่บานปลายไปจนถึงขั้นต้องหย่าร้างขาดกันไป

 

          การตั้คบี๊บนั้น มีหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความพยายามทุกวิถีทางในการทำให้คู่สามีภรรยา แยกทางกัน หย่าร้างกัน เป็นศัตรูคู่แค้นกันในที่สุด เหตุเนื่องมาจากการอิจฉาริษยา ไม่ต้องการให้เกิดความสงบสุข ความสบายใจในครอบครัว ความพยายามเช่นนี้ ถือเป็นที่ต้องห้าม เป็นบาปใหญ่ที่สุด

 

          อิสลามห้ามการสู่ขอตัดหน้ากัน ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

     “ชายคนหนึ่งนั้น อย่าได้สู่ขอผู้หญิงที่มีผู้สู่ขออยู่ก่อนแล้ ยกเว้นกรณีที่ผู้สู่ขออยู่ก่อนยกเลิกการสู่ขอนั้น หรือผู้สู่ขออยู่ก่อนอนุญาตให้เข้าไปสู่ขอได้ (หากต้องการเข้าไปขอก็ไปขอ ไม่ว่ากัน)”

 

          อีกรายงานหนึ่ง จากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

     “ชายคนหนึ่งนั้น อย่าสู่ขอตัดหน้าพี่น้องของเขาที่สู่ขออยู่ก่อนจนกว่าผู้ที่สู่ขอคนแรกจะแต่งงาน หรือยกเลิกการสู่ขอเสียก่อน

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

          เคล็ดลับ (ฮิกมะฮฺ) ในคำห้ามของท่านนบีนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้เกิดความไม่พึงพอใจกัน บาดหมางกัน โกรธเกลียดกันนั่นเอง ซึ่งการขอตัดหน้านี้จะทำให้ฝ่ายหญิงเกิดความสับสนว่าจะเลือกใครดี ระหว่างผู้ชายสองคนที่มาสู่ขอเธอ แน่นอน หากมีการสู่ขอในระยะเวลาใกล้ กัน จะเป็นการเปรียบเทียบวัดกันว่า คนนี้ดีกว่าหรือคนนี้ด้อยกว่าคนนั้น

 

          ตามบทบัญญัติศาสนาแล้ว ถือว่าการตั้คบี๊บนั้น เป็นที่ต้องห้ามฮะรอมยิ่งกว่าการสู่ขอตัดหน้าเสียอีก เพราะเป็นการแยกสามีภรรยาออกจากกัน อัลลอฮฺจะทรงขับไล่ให้พ้นจากความเมตตาของพระองค์

     รายงานจากท่าน อบี ฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

     “ไม่ใช่พวกของเรา ผู้ที่หลอกลวงสตรีให้ดื้อดึง คิดร้ายต่อสามีของนาง หรือหลอกลวงทาสให้ดื้อดึงต่อเจ้านายตัวเอง

(บันทึกโดย อบูดาวู๊ด)

 

     อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่าอัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ที่หลอกลวงสตรีให้ดื้อดึง คิดร้ายต่อสามีของนาง

 

          จากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ อีกเช่นกัน แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

     “แท้จริง ผู้ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ มีจิตใจดี มีศักดิ์ศรี มารยาทดี

     ส่วนผู้ที่ชั่วช้าเลวทราม คือ ผู้ที่ก่อความเสียหาย หลอกลวง

(ซอเฮี๊ยะฮฺ อบูดาวู๊ด)

 

          ผู้ศรัทธานั้น เดิมทีเป็นคนดี มีเกียรติ พื้นฐานเดิมของมุอฺมินนั้น มีจิตใจที่ดี คิดดี ทำดี คุณลักษณะของเขาคือไม่เสาะแสวงหา ไม่ขุดคุ้ยความเลวร้าย ความไม่ดีของผู้อื่นพูดง่าย ก็คือ ไม่สนใจข้อเสีย ข้อตำหนิ ข้อบกพร่องของบุคคลอื่น จุดนี้ มิใช่หมายความว่า เขาเป็นคนโง่เขลา หรือไม่ทันคน เพียงแต่ว่า เขาไม่เก็บเรื่องของคนอื่นมาใส่ใจต่างหาก

 

          การตั้คบี๊บนอกจากเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอันมหันต์แล้ว ยังถือว่าเป็นการทำไสยศาสตร์ ทำเสน่ห์ยาแฝด ทำให้รักกัน หรือทำให้เกลียดกัน ทำให้สามีภรรยาแยกออกห่างกัน หรือการทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหลงใหลอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเกลียดชังอีกฝ่าย ฯลฯ ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า

 

     “แล้วพวกยะฮูดี ยังได้หันไปทำตามเวทมนต์คาถาที่บรรดาชัยฎอนได้เสกเป่ากันในยุคสมัยท่านนบี สุลัยมาน ท่านนบีสุลัยมานมิได้เนรคุณพระเจ้าด้วยการริเล่าเรียนเวทมนต์แต่อย่างใด

     แต่บรรดาชัยฏอน ผู้เนรคุณพระเจ้านั่นเอง ได้พร่ำสอนวิชาเวทมนต์แก่ประชาชน ในสมัยนั้นอีกทั้งยังพวกยะฮูดีก็ได้ทำตาม เวทมนต์คาถาที่ลงมายังมลาอิกะฮฺ ฮารู๊ตกับมารู๊ตในเมืองบาบิโลนด้วย

     โดยมลาอิกะฮฺทั้งสองจะไม่รับสอนให้กับใคร นอกจากจะต้องบอก ไว้ล่วงหน้าว่า เราทั้งสองเป็นสิ่งทดสอบจากอัลลอฮฺ ดังนั้น อย่าเนรคุณอัลลอฮฺเลย (เวทมนต์นี้ ถ้าเรียนเอาไว้ทำร้ายผู้อื่นย่อมเป็นบาป และใครเชื่อว่ามันให้คุณให้โทษโดยตัวของมันเอง ย่อมตกเป็นกาฟิรฺ)

     แล้วผู้คนก็ได้เรียนเวทมนต์จากมลาอิกะฮฺทั้งสอง เป็นแบบที่ทำให้ผัวเมียแตกแยกกัน พวกเขาไม่อาจเอาเวทมนต์ไปทำร้ายใครได้เลย นอกจากด้วยพระอนุมัติจากอัลลอฮฺเท่านั้น

     พวกเขาได้ร่ำเรียนสิ่งที่เป็นโทษ ไม่ได้เป็นคุณต่อพวกเขาทั้ง ที่พวกเขารู้ดีว่า หากใครหันไปยึดเอาเวทมนต์เป็นใหญ่ แทนที่จะยึดมั่นทำตามคัมภีร์นั้น ในโลกหน้าเขาจะไม่มีสิทธิ์ในเมตตาของอัลลอฮฺเลยแม้แต่น้อย การขายตัวอย่างนี้ต่ำช้าที่สุด ถ้าพวกเขารู้

(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 102)

 

          การตั๊คบี๊บยังถือเป็นการงานที่ใกล้ชิดกับอิบลีส (พ่อแห่งความเลวร้ายทั้งปวง) เป็นงานที่ชื่นชอบที่สุดสำหรับมัน รายงานจากท่านญาบิร บุตร อับดุลเลาะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

     “แท้จริง อิบลีสได้ตั้งบัลลังก์ของมันอยู่เหนือน้ำ (ทะเล) แล้วมันได้ส่งสมุนของมันออกไปตระเวนสร้างความเสื่อมเสีย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สุดยอดที่สุดของมัน แล้วสมุนของมันก็จะกลับมารายงานผลของมันที่ได้ก่อกวนมนุษย์

     โดยเล่าว่า ฉันทำเช่นนั้น เช่นนี้ (ฉันยุให้เขาหลงผิด ยุให้เขาสร้างความเดือดร้อนต่าง ) อิบลีสบอกกับสมุนของมันว่าเจ้าไม่ได้ทำอะไรเลย” (การกระทำของเจ้ายังน้อยเกินไปที่จะทำให้พวกเขาวุ่นวายเสียหาย)

     จนกระทั่งมีสมุนของมันอีกตนหนึ่งเข้ามารายงานว่าฉันจะไม่แยกตัวออกห่างจากคู่สามีภรรยาคู่ใดเลย จนกว่าฉันจะได้สร้างความแตกแยกขึ้นในครอบครัวนั้นก่อน"

     ทันใด อิบลีสก็รีบกระเถิบเข้ามาใกล้แล้วโอบกอดสมุนตนนั้น พลางกล่าวว่าเจ้าทำได้ยอดเยี่ยมดีจริจริงๆ

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

          อิสลามมีข้ออนุญาตระดับใด ที่ให้ครอบครัวทั้งสองฝ่ายเข้ามาแทรกแซงขั้นกลางระหว่างสามีภรรยาได้ ในกรณีที่เขาทั้งสองไม่สามารถจะอยู่ร่วมหอกันได้อีกต่อไปแล้ว หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นบานปลายไปจนถึงขั้นต้องหย่าร้างกันจริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

 

     “ถ้าผู้ปกครองรับเรื่องสามีภรยาที่เกิดแตกร้าวระหว่างกัน ก็จงตั้งตัวแทนที่สามารถตัดสินใจได้จากฝ่ายสามีคนหนึ่ง และจากฝ่ายภรรยาอีกคนหนึ่ง ซึ่งถ้าตัวแทนทั้งสองต้องการความปรองดองแล้ว อัลลอฮฺจะทรงบันดาลให้เกิดความสำเร็จได้ เพราะอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในทุก สิ่ง

(อันนิซาอฺ 4 : 35)

 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสอีกว่า

     “ถ้าภรรยาเกรงว่าสามีของนางจะกระด้างกระเดื่องหรือทอดทิ้งนางก็ย่อมไม่มีผิดอันใดที่ทั้งสองจะทำข้อตกลงประนีประนอมกัน การประนีประนอมกันนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

     อันนิสัยของคนเรานั้นมักจะเห็นแก่ตัวมาก ถ้าหากพวกเจ้าทำดี และมีความเกรงกลัวอัลลอฮฺย่อมเป็นคุณความดี เพราะอัลลอฮฺทรงรอบรู้โดยละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน

(อันนิซาอฺ 4 : 128)

 

          บุคคลที่สาม ที่จะเข้าร่วมการประนีประนอมระหว่างสามีภรรยานอกจากจะต้องระวังเรื่องคำพูดแล้ว การกระทำก็สำคัญมาก ต้องทำตัวเป็นกลางระหว่างทั้งสอง อย่าเข้าไปยุ่งวุ่นวายให้เกิดประเด็น ให้เว้นระยะห่างให้ดี อย่าสนิทสนมจนเกินเหตุเกินความจำเป็น จะต้องระวังตัวไม่ให้เกิดความไม่เหมาะสมที่สำคัญ เรากำลังช่วยให้หลุดพ้นจากการทำร้ายครอบครัวคนอื่นเข้าใจว่าบางคนเป็นประเภทมนุษย์สัมพันธ์ดี เอาใจใส่กับทุกคน แต่อย่าลืมว่า เขาคือ สามีภรรยากัน

คนเราทำผิดกันได้ แต่เมื่อรู้ตัวว่าผิด ก็ควรทำให้ถูก จริงไหม?

 

          อิสลาม คือ ศาสนาแห่งการดำเนินชีวิต บทบัญญัติของอัลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้นสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีสิ่งใดที่อิสลามปล่อยผ่านเลยไปให้มนุษย์ตัดสินใจกันเอาเอง คิดเอง ทำเอง ด้วยสติปัญญาอันจำกัดของมนุษย์ อาจจะเข้าไม่ถึงเรื่องที่เปราะบางที่สุด ที่ส่งผลต่อจิตใจคนเรา ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตคู่การแต่งงาน ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อแสวงหาความสงบสุขและรักใคร่ซึ่งกันและกัน เพื่อให้กำเนิดผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หากสามีภรรยามีความร่มเย็น มีจิตใจสงบสุข มั่นคงในการใช้ชีวิตคู่แล้ว ก็สามารถสร้างอนาคต สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้ต่อ ไป

 

     “ข้าแต่อัลลอฮฺ ได้โปรดทำให้กิจการงานทั้งหลายในบั้นปลายเป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับเรา และได้โปรดให้เรารอดพ้นจากความต่ำต้อยของดุนยา และรอดพ้นจากการลงโทษในอาคิเราะฮฺด้วยเถิด

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร (25 มกราคม 2563)