ถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล
อับดุลวาเฮด สุคนธา แปลเรียบเรียง
แม้ว่าเดือนเราะมะฎอนจะจากเราไป แต่การปฏิบัติอิบาดะฮฺที่ยังคงทำต่อไปจนว่าชีวิตของเรานั้นสิ้นลมหายใจ ยังมีซุนนะอฺในการ ถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล หากใครถือศีลอด 6 วันเพิ่มจากในเราะมะฎอน เขาจะได้ผลรวมเท่ากับการถือศีลอดตลอด 1 ปี
จากท่านอบู อัยยูบ อัล-อันศอรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า ได้ฟังท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ
“ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน หลังจากนั้นได้ถือศีลอดอีกหกวันในเดือนเชาวาล เขาจะได้รับผลบุญประหนึ่งถือศีลอดหนึ่งปี”
(บันทึกโดย มุสลิม)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
صِيَامُ شَهْرِ رَمَضَانَ بِعَشَرَةِ أَشْهُرٍ، وَصِيَامُ سِتَّةِ أَيَّامٍ مِنْ شَوَّالٍ بِشَهْرَيْنِ، فَذَلِكَ صِيَامُ سَنَةٍ
“ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ตอบแทน เท่ากับ10 เดือน และการถือศีลอดเดือนเชาวาล 6 วัน ก็เท่ากับ 2 เดือน ฉะนั้นดังกล่าวนี้เท่ากับว่าได้ถือศีลอดเป็นเวลา 1 ปี “
(นะซะอีย์ เศาะเฮี้ยะ อัลบานีย์)
เหตุผลการถือศีลอดในเดือนเชาวาล
- การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนและตามด้วยการถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล อัลลอฮฺจะทรงให้ผลบุญเสมือนถือศีลอดเป็นเวลาหนึ่งปี
- การถือศีลอดในเดือนเชาวาลยังเป็นการช่วยซ่อมแซมความบกพร่องที่เกิดขึ้นระหว่างการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน
- การถือศีลอดในเดือนเชาวาลเป็นหนึ่งในเครื่องหมายการตอบรับคุณงามความดีในเดือนเราะมะฎอน
- การกระทำในอิบาดะที่เป็นสุนนะนั้น เป็นเครื่องหมายของการศรัทธาของบ่าวที่มีต่อพระองค์
- การถือศีลอดในเดือนเชาวาล เป็นการขอบคุณต่อพระองค์จากความโปรดปรานจากเดือนเราะมะฎอน
สิ่งที่ได้จากหะดีษ
- การถือศีลอดในเดือนเชาวาลเป็นสุนัต
- บอกถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนเชาวาล
- หลักทั่วไปเกี่ยวกับการให้ผลตอบแทนต่อการกระทำที่ดี คือ หนึ่งความดี ตอบแทนด้วย10 เท่า การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน 30 วัน พร้อมกับการถือศีลอดเดือนเชาวาล 6 วัน รวมกันเป็น 36 วัน จากนั้นคูณด้วย 10 เท่ากับ 360 วัน ก็เท่ากับว่าถือศีลอดเป็นเวลา 1 ปี
- ถือศีลอดสุนัตในเดือนเชาวาล ส่งเสริมเริ่มจากวันที่ 2 ของเดือนเชาวาลหลังจากวันอีด และถือศีลอดติดต่อกัน แต่หากไม่ได้เริ่มถือศีลอดติดต่อกัน เช่น วันเว้นวัน ถือว่าทำได้
การปฏิบัติถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล
- ถือศีลอดเริ่มหลังวันอีดทันที หกวันติดต่อกันที่เดียวจบ
- ถือศีลอดทันทีหลังวันอีด โดยถือศีลอดไม่ติดต่อกันหกวัน
- ถือศีลอดไม่ได้เริ่มทันทีหลังวันอีด แต่ถือติดต่อกัน เช่น เริ่มกลางเดือนเชาวาล
– ถือศีลอดในวันที่สะดวกสามารถทำได้
ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ได้กล่าวว่า “เหล่าสหายของเราเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดคือให้ถือศีลอดติดต่อกันหกวันโดยเริ่มทันทีหลังวันอีด แต่หากแยกวันหรือไม่ถือศีลอดทันทีในช่วงต้นเดือนก็ยังได้ผลบุญเช่นเดียวกัน เพราะได้บรรลุตามความหมายในหะดีษที่ว่าให้ถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล(หลังจากเราะมะฎอน)"
อนุญาตให้เขาการเนียต (ตั้งเจตนา)ชดใช้ถือศีลอดของเดือนเราะมะฎอนพร้อมกับการถือศีลอดของเดือนเชาวาลได้หรือไม่ ?
เชค บินบาซ กล่าวตอบว่า ควรเริ่มชดใช้ถือศีลอดของรอมาฏอนเสียก่อนต่อมาให้เขาถือศีลอดเดือนเชาวาล หากเขามีความประสงค์ที่จะบวช ส่วนการบวชหกวันของเชาวาลพร้อมกับการเนียต (ตั้งเจตนา)ชดใช้ถือศีลอดของเดือนเราะมะฎอนด้วยนั้น ไม่ปรากฏว่าเขาจะได้รับภาคผลดังกล่าว ฉะนั้นการบวชหกวันของเชาวาลนั้นต้อง เนียต (ตั้งเจตนา) เฉพาะในวันถูกเจาะจงเท่านั้น (แยกเนียต)