สิบภารกิจของผู้ศรัทธา ในสิบคืนสุดท้ายเดือนเราะมะฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  5786


สิบภารกิจของผู้ศรัทธา ในสิบคืนสุดท้ายเดือนเราะมะฎอน

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่มีเกียรติ เดือนแห่งความดีอย่างมากมายสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา เช่น การถือศีลอด การละหมาด การอ่านกรุอ่าน การบริจาคทาน การเลี้ยงอาหารผู้ที่ถือศีลอด ฯลฯ เป็นต้น เพื่อหวังความ โปรดปรานและการอภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา แต่ที่สำคัญที่สุด ในเดือนราะมะฎอนมีประเสริฐยิ่ง ในค่ำคืนหนึ่ง ที่มีความประเสริฐมากกว่าหนึ่งพันเดือน ก็คือค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ"

     มีรายงานจากอนัส อิบนิ มาลิก เล่าว่า : เมื่อถึงเดือนร่อมะฎอน ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า :

 

إِنَّ هَذَا الشَّهْرَ قَدْ حَضَرَكُمْ وَفِيهِ لَيْلَةٌ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ مَنْ حُرِمَهَا فَقَدْ حُرِمَ الْخَيْرَ كُلَّهُ وَلَا يُحْرَمُ خَيْرَهَا إِلَّا مَحْرُومٌ

 

     “ความจริงแล้วเดือนนี้ ได้มายังพวกท่าน และเดือนนี้นั้นมีคืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน บุคคลใดที่พลาด จากมัน แน่นอนเขาได้ถูกห้ามจากความดีทั้งหมด และไม่มีใครที่พลาดจากความดีของมัน นอกจากผู้ที่ ถูกห้ามเท่านั้น

(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ)

          แท้จริง แบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนนี้นั้นท่านได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการทำอิบาดะฮฺอย่างที่ไม่เคยปรากฏในเดือนอื่นๆ

 

ภารกิจที่หนึ่ง การทำตัวให้กระฉับกระเฉง ขะมักเขม้น ในการทำอิบาดะฮฺต่างๆ

 

     ท่านหญิงอาอิชะฮ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า

 

«كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَجْتَهِدُ فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ، مَا لَا يَجْتَهِدُ فِي غَيْرِهِ»

 

      “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่(ในการทำอิบาดะฮฺ)ตลอดสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน อย่างที่ไม่เคยปรากฏในเดือนอื่นๆ” 

(บันทึกโดยมุสลิม)

     รายงานท่านหญิงอาอิซะห์ กล่าวว่า

 

كان النبي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بخلط العشرين بصلاة ونوم ، فإذا كان العشر – يعني الأخير – شمَّر وشد المئزر .

 

     “ ปรากฏว่าในช่วง 20 คืนแรกของเดือนรอมฏอน ท่านนบี จะละหมาดด้วย และพักผ่อนนอนหลับด้วย แต่เมื่อถึง 10 คืนหลัง คือช่วงสุดท้าย ท่านจะมีความกระฉับกระเฉง กระชับเสื้อผ้า เพื่อให้คล่องตัวในการทำอิบาดะฮมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

( บันทึกโดยอิหม่ามอะห์หมัด)

 

ภารกิจที่สอง การทำให้ค่ำคืนมีชีวิตชีวา สร้างบรรยากาศด้วย การทำอิบาดะฮฺต่างๆ

 

     มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า

 

كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ شَدَّ مِئْزَرَهُ، وَأَحْيَا لَيْلَهُ، وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ.

 

     “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้น เมื่อถึงช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอน ท่านจะรัดผ้านุ่งไว้ให้แน่น(หมายถึงไม่ร่วมหลับนอนกับภรรยา) ท่านจะให้ชีวิตแก่ค่ำคืน(หมายถึงประกอบอิบาดะฮฺในยามค่ำคืน) และท่านจะปลุกบรรดาภรรยาของท่าน(ให้ลุกขึ้นมาประกอบอิบาดะฮฺ)” 

(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

     รายงานโดยท่านหญิงอาอิซะฮ กล่าวว่า

 

ما أعلمه النبي قام ليلة حتى الصباح .

 

ฉันไม่เคยรู้ว่ามีคืนใดที่ท่านนบีขึ้นมาละหมาดทั้งคืน จนถึงเวลาละหมาดซุบฮิเลยสักคืนเดียว

( บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม)

 

ภารกิจที่สาม การปลุกให้ครอบครัวหรือคนในบ้านขึ้นมาละหมาด และทำอิบาดะฮฺต่างๆ

 

     รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เช่นเดียวกันว่า

 

كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ شَدَّ مِئْزَرَهُ، وَأَحْيَا لَيْلَهُ، وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ.

 

     “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้น เมื่อถึงช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอน ท่านจะรัดผ้านุ่งไว้ให้แน่น(หมายถึงไม่ร่วมหลับนอนกับภรรยา) ท่านจะให้ชีวิตแก่ค่ำคืน(หมายถึงประกอบอิบาดะฮฺในยามค่ำคืน) และท่านจะปลุกบรรดาภรรยาของท่าน(ให้ลุกขึ้นมาประกอบอิบาดะฮฺ)”

 (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

          นักวิชาอีกท่านหนึ่งคือท่านอัตต็อบรอนี ได้นำเสนอเกี่ยวกับ เรื่องการปลุกคนในบ้านให้ขึ้นละหมาด โดยนำคำบอกเล่าของท่านอิหม่ามอาลีมานำเสนอดังนี้

 

أن النبي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كان يوقظ أهله في العشر الأواخر من رمضان ، وكل صغير و كبير يطيق الصلاة

 

     ♦ อิหม่ามอาลี เล่าถึงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าท่านนบี จะลุกขึ้นมาปลุกครอบครัวให้ขึ้นมาละหมาดเมื่อถึง 10 คืนสุดท้ายของรอมฏอน ปลุกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่สามารถละหมาดได้

     นอกจากนั้นยังมีรายงานที่ศอเฮี๊ยฮฺบอกว่า มีอยู่คืนหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เคาะประตูเรียกท่านหญิงฟาตีมะห์และท่านอาลี และบอกว่านี่เธอทั้งสองคนจะไม่ลุกขึ้นมาละหมาดดอกหรือ” 

(บันทึกโดยบุคอรี และมุสลิม)

          ยังมีรายงานที่บอกว่า เมื่อท่านบนีละหมาดตะฮัจญุด ขณะจะขึ้นละหมาดวิตร ท่านก็หันไปปลุกให้ท่านหญิงอาอิซะห์ผู้เป็นภรรยาให้ขึ้นมาละหมาด

     ♦ ท่านซุฟยาน เสารีย์ ฉันชอบมาก เมื่อเข้าสู่สิบวันสุดท้ายเดือนเราะมะฎอนละหมาดตะฮัจญุด และปลุกครอบครัว ลูกๆลุกขึ้นมาละหมาดตามความสามารถของพวกเขา

     ♦ ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร ท่านจะละหมาดกลางคืนถึงครึ่งคืนเห็นจะได้ แล้วจึงค่อยปลุกครอบครัวให้ขึ้นละหมาด แล้วยังสอนด้วยว่า ต้องละหมาดซิเพราะพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ว่า

 

وَأْمُرْ أَهْلَكَ بِالصَّلاةِ وَاصْطَبِرْ عَلَيْهَا

 

และเจ้าจงใช้ให้ครอบครัวของเจ้าให้ทำละหมาด และจงอดทนที่จะปฏิบัติให้สม่ำเสมอ” 

(ตอฮา / 132)

          ส่งเสริมสร้างบรรยากาศ ด้วยกับการละหมาด การซิกิรฺ(รำลึกถึงอัลลอฮฺ) การขอดุอาอ์ และได้ปลุกบรรดาภรรยาของท่านจากการนอน เหล่านี้คือแบบอย่างหรือสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่มุสลิมบางคนไม่ค่อยให้ความใส่ใจมากนัก ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا

 

โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก” 

(สูเราะฮฺ อัต-ตะหฺรีม : 6)

          ฮะดิษใช้คำว่า ชัดดุ้ลมิซัร บางคนก็ให้ความหมายของคำๆ นี้ว่า เตรียมความพร้อม หรือทำให้ร่างกายมีความฟิต กระฉับกระเฉง บ้างก็ว่าหมายถึง การกระชับเสื้อผ้าให้ดูกระฉับกระเฉง บอกให้รู้ว่าเตรียมพร้อม แต่ความหมายที่แท้จริง ที่ถูกต้องตามที่อุละมาส่วนใหญ่ให้ไว้ท่านซุฟยาน เสารีย์ กล่าวว่า คือการไม่หลับนอนกับภรรยาจนกระทั้งหมด เดือนเราะมะฎอน โดยอ้างหลักฐานประกอบจากฮะดิษซึ่งรายงานโดยท่านหญิงอาอิซะฮที่นางได้กล่าวว่า

 

كان النبي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ غلباً ما يعتكف العشر الأواخر ، والمعتكف ممنوع من قربان النساء .

 

          ส่วนใหญ่ท่านนบี ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เอี๊ยะติกาฟ ในช่วง 10 คืนสุดท้าย และการ เอี๊ยะติกาฟ ในช่วง 10 คืนนั้น ก็จะนอนกับภรรยาไม่ได้

     อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า

 

فَالْآنَ بَاشِرُوهُنَّ وَابْتَغُوا مَا كَتَبَ اللَّهُ لَكُمْ [البقرة: 187]

 

บัดนี้พวกเจ้าสมสู่กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด

 

ภารกิจที่สี่ การอิอฺติกาฟ

 

          ถือเป็นหนึ่งในอิบาดะฮฺที่คุณค่าอย่างมากในแง่ของการช่วยขัดเกลาหัวใจให้ดีงาม สะสมเสบียงความดีต่างๆ เรียกว่า โอกาสทองเหล่าผู้ศรัทธา

     จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า

 

«أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، كَانَ يَعْتَكِفُ العَشْرَ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللَّهُ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ»

 

     “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งอัลลอฮฺได้เอาชีวิตท่านไป หลังจากนั้นบรรดาภรรยาของท่านก็ได้อิอฺติกาฟหลังจากท่านต่อ” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

ภารกิจที่ห้า แสวงหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ

 

          รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«تَحَرَّوْا لَيْلَةَ القَدْرِ فِي الوِتْرِ، مِنَ العَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ»

 

พวกเจ้าจงแสวงหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺในค่ำคืนที่เป็นคี่จากค่ำคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนเถิด” 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

          ความประเสริฐและความยิ่งใหญ่ของลัยละตุ้ลก๊อดรฺนั้นก็เนื่องมาจากสามประการ ดังนี้

- เป็นคืนที่อัลกุรอานเริ่มถูกประทานลงมา ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ

แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก๊อดรฺ

 (ซูเราะฮฺอัลก๊อดรฺ 1)

เป็นค่ำคืนที่ดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้มีดำรัสว่า

﴿ لَيۡلَةُ ٱلۡقَدۡرِ خَيۡرٞ مِّنۡ أَلۡفِ شَهۡرٖ﴾

ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน

(สูเราะฮฺ อัล-ก็อดรฺ : 3)

เป็นคืนที่อัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะของมนุษยชาติประจำปี ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ أَمْرًا مِنْ عِنْدِنَا إِنَّا كُنَّا مُرْسِلِينَ

     “แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน ในคืนนั้นทุกๆกิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว” 

(ซูเราะฮฺอัดดุคอน 3-4) 

     หมายถึง ถูกกำหนด การทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนนั้นดียิ่งกว่าการทำอิบาดะฮฺตลอดระยะเวลา 83 ปี 3 เดือน

 

          ส่วนใหญ่ให้ทรรศนะว่า คืนลัยละตุลก็อดรฺอยู่ในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ดังที่มีรายงานจากอบี ซะอีด อัลคุดรียฺ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

فَابْتَغُوْهَا فِي الْعَشْرِ اْلأَوَاخِرِ

ดังนั้นพวกท่านจงแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺในช่วงสิบคืนสุดท้าย

(บันทึกโดยบุคอรียฺ ติรมีซียฺ)

          และได้เน้นย้ำในเจ็ดคืนสุดท้าย(ของเดือนเราะมะฎอน ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร ได้กล่าวว่าทัศนะที่ถูกต้องนั้นคือ ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะมีในวันคี่ของสิบสุดท้าย(ของเดือนเราะมะฎอน)

 

ภารกิจที่หก ละหมาดกิยามุลลัยล์

 

          ในจำนวน(ความประเสริฐของค่ำคืนนั้น) คือ อัลลอฮฺจะทรงให้อภัยโทษสำหรับผู้ที่ดำรงอิบาดะฮฺในค่ำคืนนั้นด้วยเปี่ยมศรัทธา ต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ ดังที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«وَمَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا، غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»

 

    "และผู้ใดที่ลุกขึ้น(อิบาดะฮฺ)ในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺด้วยเปี่ยมศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

     มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :

 

وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

 

     “ผู้ใดดำรงการละหมาดกิยามุลลัยลฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความศรัทธามั่นและด้วยความหวัง ในการ ตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยจากบาปที่ผ่านมา

(บันทึกโดยบุคอรีย์)

 

ภารกิจที่ เจ็ด ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ให้มาก

 

     มีรายงานจากอะบูฮุรอยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่าท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :

رَغِمَ أَنْفُ رَجُلٍ دَخَلَ عَلَيْهِ رَمَضَانُ ثُمَّ انْسَلَخَ قَبْلَ أَنْ يُغْفَرَ لَهُ

     “ความพินาศจงประสบแก่คน หนึ่ง เมื่อเดือนเราะมะฎอนได้มาหาเขา แล้วมันได้ผ่านพ้นไปก่อนที่เขา จะได้รับการอภัยโทษ (คืออยู่ในสภาพที่ขาดทุน

(บันทึกโดยติรมีซีย์)

 

ภารกิจที่ แปด การศึกษาและทบทวนอัลกุรอ่าน

 

           ในทุกๆเดือนเราะมะฎอนนั้นท่านญิบรีล อะลัยฮิสสะลาม ก็จะมาพบท่านนบีเพื่อมาศึกษาทบทวนอัลกุรอ่านกับท่าน ดังรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

 

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدَ النَّاسِ، وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِي رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ، وَكَانَ يَلْقَاهُ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ القُرْآنَ

 

         ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่สุด และท่านจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่สุดในเดือนเราะมะฎอน เมื่อยามที่ท่านพบกับญิบรีล และญิบรีลจะมาพบกับท่านรอซูลในทุกค่ำคืนของเราะมะฎอน แล้วญิบรีลก็จะศึกษาทบทวนอัลกุรอานกับท่าน

(รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

      และรายงานหะดีษที่ว่า

 

أن جبريل كان يعْرضُ عَلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْقُرْآنَ كُلَّ عَامٍ مَرَّةً ، فَعرضَ عَلَيْهِ مَرَّتَيْنِ فِي الْعَامِ الَّذِي قُبِضَ فيه

 

     “แท้จริงท่านญิบรีลนั้น จะนำเสนอ(ทบทวน)อัลกุรอานต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หนึ่งครั้งในทุกเราะมะฎอน นอกจากปีที่ท่านเสียชีวิต โดยในปีนั้นอัลกุรอานถูกนำเสนอ(ทบทวน)ให้แก่ท่านสองครั้ง” 

(รายงานโดยอัลบุคอรีย์)

    ♦ ท่าน เชคซอแหละฮฺ อัลเฟาซาน กล่าวว่า การทบทวนและใคร่คร่วญอัลกรุอ่านในยามค่ำคืนนั้นย่อมประเสริฐกว่าในตอนกลางวันเพราะญิบรีล อะลัยฮิสลามลงมาทบทวนกรุอ่านให้ท่านนบีในยามค่ำคืน

 

ภารกิจที่ เก้า ขอดุอาอฺและรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆ

 

         เดือนเราะมะฎอนนั้นเป็นเดือนแห่งการอภัยโทษซึ่งในเดือนนี้อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้อภัยโทษแก่ปวงบ่าวของพระองค์อย่างมากมาย ดังหะดีษที่ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

إنَّ للَّهِ عُتِقاءَ في كلِّ يومٍ وليلةٍ مُستجابةٌ دعوةٌ منهُم لِكُلِّ عبدٍ

 

     “แท้จริงสำหรับอัลลอฮฺนั้น ในทุกวันและทุกคืน(ของเดือนเราะมะฎอน) อัลลอฮฺจะทรงปลดปล่อยจากไฟนรก และสำหรับมุสลิมทุกคน เมื่อเขาวิงวอนขอพร เขาจะได้รับการตอบรับ” 

(รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด)

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการตอบรับดุอาอฺ ซึ่งดุอาอฺของบรรดาผู้ถือศีลอดนั้นจะไม่ถูกปฏิเสธ ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

ثَلاثَةٌ لا تُرَدُّ دَعْوَتُهُمْ الإِمَامُ الْعَادِلُ وَالصَّائِمُ حِينَ يُفْطِرُ وَدَعْوَةُ الْمَظْلُومِ

 

     “บุคคล 3 คน ที่การขอดุอาอฺของพวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธ ได้แก่ ผู้ถือศีลอดจนกระทั่งละศีลอด , ผู้นำที่ยุติธรรม , และดุอาอฺของผู้ถูกอธรรม

(รายงานโดยอัตติรติรมิซีย์)

     ท่านอิมาม อิบนุก็อยยิม กล่าวว่า สิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับผู้ที่ถือศิลอด คือ การซิกิรฺ(รำลึกถึงอัลลอฮ์) เช่นกล่าวว่า

 

لَا إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيْكَ لَهُ، لَهُ الْمُلْكُ، وَلَهُ الْـحَمْدُ، وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيءٍ قَدِيرٌ

 

ล่าอี้ลาฮ่า อิลลัลลอฮู้ วะฮฺด้าฮู ลาช้ารีก้าละฮฺ ล่าฮุลมุลกู้ ว่าล่าฮุลฮัมดู้ ว่าฮู้ว่าอ่าลากุลลี้ชัยอินก่อดีรฺ

 

     “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ พระองค์เท่านั้น ไม่มีภาคีใดกับพระองค์ อำนาจปกครองเป็นของพระองค์ และการสรรเสริญเป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงมีพลานุภาพเหนือทุกสิ่ง

 

     ความประเสริฐ: บทนี้เป็นดุอาอ์ที่ดีที่สุด ผู้ใดอ่าน 10 จบ เขาจะได้ผลบุญเทียบเท่าการปล่อยทาสที่มาจากลูกหลานนบีอิสมาอีล 4 คน

(บันทึกโดย: บุคอรียฺ และมุสลิมฮฺ)

          มีรายงานจากอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแก่ฉันว่าท่านจงกล่าวคำว่า

 

لَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلاَّ بِاللهِ

 

     “ลาเฮาละวะลากูวะตะอิลลาบิลลาฮฺให้มากๆ เพราะคำนี้เป็นขุมคลังหนึ่งในบรรดาขุมคลังของสวรรค์

(บันทึกโดย อิมาม อัตติรมิซีย์)

 

ภารกิจที่ สิบ ดุอาอฺในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ

 

          แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ให้ข้อแนะนำแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ในครั้งที่ท่านหญิงได้ถามท่านว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ หากฉันทราบว่าค่ำคืนใดเป็นค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ฉันควรอ่านดุอาอ์อะไรบ้าง

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงตอบว่า เธอก็จงอ่าน(ดุอาอ์)

 

«اللهم إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي»

 

     “โอ้องค์อภิบาลของฉัน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ที่ทรงให้อภัย

     พระองค์ชอบที่จะให้อภัย (บาปต่างๆ ของบ่าวของพระองค์

     ดังนั้น ขอพระองค์โปรดประทานอภัยใน (บาปต่างๆ) ของข้าด้วยเถิด” 

 

(บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ ชัยคฺอัล-อัลบานีย์ มีทัศนะว่า เศาะฮีหฺ)