ความดีง่ายๆ ในวันที่ผู้หญิงถือศีลอดไม่ได้
โดย อุมมุ อั๊ฟว์
“รอมฎอน” เวลาทองที่หลายคนตั้งตารอ และตระเตรียมกายใจให้พร้อมที่จะตักตวงผลบุญความดีงามอันมากมายในเดือนอันประเสริฐนี้ ช่วงเวลาที่การทำฟัรฎูจะได้รับผลบุญเป็นเท่าทวีคูณ และการทำซุนนะฮฺจะได้รับผลบุญเทียบเท่ากับการทำฟัรฎู เวลาแห่งการลงทุนที่ไร้ความเสี่ยงและคุ้มค่าที่สุดในรอบปี การได้มีชีวิตอยู่ทันทำอมั้ลอิบาดะฮฺในเดือนนี้ จึงนับเป็นความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ อย่างหาที่เปรียบไม่ได้
สำหรับผู้หญิงแล้ว ในแต่ละปีของรอมฎอน หลายคนอาจเคยผ่านช่วงเวลาน่าลุ้นว่า ปีนี้จะมีรอบเดือนช่วงไหนของรอมฎอน จะตรงสิบคืนสุดท้ายไหม จะอ่านกุรอานได้ครบถ้วนทันตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ จะต้องบวชใช้กี่วัน ฯลฯ
การถือศีลอด ละหมาด อ่านอัลกุรอาน เป็นอิบาดะฮฺที่เราทุกคนหวังจะตักตวงเพื่อเพิ่มน้ำหนักในตาชั่งของเราให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเดือนนี้ แต่เมื่อถึงเวลาของรอบเดือน อิบาดะฮฺเหล่านี้จำต้องหยุดชะงักเพื่อจำนนต้องหลักการ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า อิบาดะฮฺอื่นๆ ต้องถูกเว้นวรรคตามไปด้วย หลายคนปล่อยให้ช่วงวันคืนในรอมฎอนหมดไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะคิดว่า ถือศีลอดไม่ได้ ละหมาดไม่ได้ อ่านกุรอานไม่ได้ โดยกลับมองข้ามความดีง่ายๆ ที่สามารถทำได้เพื่อกักตุนผลบุญเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเดือนนี้เช่นกัน
ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างงานไม่ยากสำหรับผู้หญิงในช่วงมีรอบเดือน (เฮฎ) หรือ มีน้ำคาวปลา (นิฟ้าส) ที่อยากย้ำเตือนเราท่านให้เร่งรีบเก็บเกี่ยวความดีนี้ไปพร้อมๆ กัน
1. เตรียมอาหารสุโฮรให้คนในครอบครัว
การตื่นมาเตรียมข้าวมื้อดึก อาจเป็นงานที่ไม่ง่ายนักเมื่อเริ่มต้น แต่ในงานไม่ง่ายนี้แฝงไว้ด้วยผลบุญอันมากมายอย่างที่เราอาจไม่เคยนึกถึงมันเลย หากเราเป็นลูก การตั้งโต๊ะเตรียมข้าวปลาอาหารไว้คอยพ่อแม่ ก็เท่ากับเป็นการทำดีต่อบุพการีแล้ว การไม่ปล่อยให้ท่านต้องลุกมาหุงหาอุ่นอาหารเอง คือความดีง่ายๆ ที่ทำได้ตลอดเดือน
การมารอบเดือนไม่ใช่โอกาสของการพักผ่อนหรือเว้นวรรค แต่เป็นโอกาสที่ควรฝึกฝนตนเองให้เคยชินกับการทำดีโดยสมัครใจ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน หาเองทานเอง ทำนองเดียวกัน หากเราเป็นภรรยา การเตรียมมื้อดึกให้สามีก็คือการทำดีและให้เกียรติต่อสามี และยิ่งถ้าเป็นแม่ หน้าที่นี้คืองานหลักที่ไม่อาจผัดผ่อน ช่วงเวลาสามนาฬิกา หรือ สี่นาฬิกา ที่เราจัดการกับภารกิจในห้องครัวเพื่อเตรียมถือศีลอดนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่อัลลอฮฺ จะเสด็จลงมาสู่ฟากฟ้าดุนยาในทุกค่ำคืน พระองค์จะทรงถามว่า
“มีใครบ้างไหมที่จะวิงวอนขอ พระองค์จะประทานให้
มีใครบ้างไหมที่จะขออภัยโทษ พระองค์จะทรงยกโทษอภัยให้ “
จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่ถือศีลอดและไม่ได้ถือศีลอดได้ขอดุอาอฺในช่วงเวลานี้ให้มากๆ แม้จะไม่สามารถละหมาด ไม่สามารถถือศีลอด แต่ความประเสริฐของช่วงเวลาในการตอบรับดุอาอฺไม่ได้ถูกเว้นวรรคให้หยุดชะงักตามไปด้วย จึงอย่าเบาความปล่อยให้ช่วงเวลานี้หมดไปกับการนอนหลับใหลแต่เพียงอย่างเดียวเลย
2. พยายามขวนขวายศีกษาหาความรู้เพิ่ม
คงดีไม่น้อยหากเราสามารถศึกษาศาสนาในเชิงลึกให้เพิ่มขึ้นในเดือนอันประเสริฐนี้ ช่วงเวลาที่ยังหยิบจับอัลกุรอานไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะอ่านตัฟซี้รอัลกุรอานไม่ได้ เราสามารถเปลี่ยนการขะมักเขม้นกับการอ่านอัลกุรอาน เป็นการอ่านและทำความเข้าใจในตัฟซีรของซูเราะห์หรืออายะฮฺที่เราสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งปัจจุบันสามารถสืบค้นข้อมูลได้ในหลายช่องทาง
ใช้เวลาช่วงนี้เพื่อเพิ่มความเข้าใจในดำรัสขของอัลลอฮฺให้มากยิ่งขึ้น หยิบจับหนังสืออธิบายฮะดีษ ตลอดจนฟังการบรรยายศาสนา ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเข้าถึงบทความวิชาการ และเรื่องราวศาสนาที่สมควรต้องรู้ โดยตรวจสอบคัดกรองแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งน่าฝึกฝนทดลอง ดีกว่าปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปโดยที่ไม่มีเรื่องราวของศาสนาเกี่ยวพันใดๆ กับวิถีชีวิตเลย
3. ทำศ่อดะเกาะฮฺให้มาก
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้เอื้อเฟื้อใจบุญสุนทาน และท่านจะใจบุญเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฎอน การทำศ่อดะเกาะฮฺไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การแจกจ่ายเงินทองให้คนยากไร้แต่เพียงอย่างเดียว ทุกการทำดีล้วนเป็นศ่อดะเกาะฮฺ การคิดดีพูดดี มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ต่างๆเหล่านี้คือการทำศ่อดะเกาะฮฺทั้งสิ้น และในเดือนแห่งการถือศีลอดนี้ศ่อดะเกาะฮฺอีกประเภทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอด
ดังที่ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
" مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لا يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًا "
“ผู้ใดที่เลี้ยงอาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด สำหรับเขาจะได้รับผลบุญตอบแทนเสมือนกับผู้ที่ถือศีลอดได้รับ
โดยที่ผลบุญนั้นจะไม่ได้ลดน้อยพร่องไปจากผลบุญของผู้ที่ถือศีลอดแต่ประการใด”
(บันทึกโดย อิมาม อัตติรมีซีย์ )
การเตรียมสำรับละศีลอดเพื่อคนในบ้าน แม้จะเป็นเพียงแค่การจัดโต๊ะ วางจาน หรือรินน้ำ เตรียมอินทผาลัมไว้ให้ ก็คือศ่อดะเกาะฮฺที่หวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่เลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอดแล้ว และยิ่งถ้าได้แจกจ่ายแบ่งปันอาหารน้ำท่ากับคนบ้านใกล้เรือนเคียง ก็ยิ่งเป็นศ่อดะเกาะฮฺที่พ่วงผลบุญของการทำดีต่อเพื่อนบ้าน หรือการรักษาสัมพันธ์กับเครือญาติเข้าไปอีก นี่คือความดีเล็กๆ ที่ไม่ต้องออกแรงมากมายแต่ถูกคูณผลบุญเข้าไปอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งหากปล่อยให้รอมฎอนจากไปโดยพลาดจากผลบุญง่ายๆ เช่นนี้ ก็นับว่าน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย
4. หมั่นกล่าวซิกรุ้ลลอฮฺ (ถ้อยคำรำลึกถึงอัลลอฮฺ) อยู่เสมอ
นับเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ ที่อัลลอฮฺ ได้ทรงกำหนดให้การรำลึกถึงพระองค์ เป็นอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นอิบาดะฮฺเดียวที่จะยังคงมีอยู่ตลอดไปทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ แต่น้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
การกล่าว
“ซุบฮานั้ลลอฮฺ” (มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์อัลลอฮฺ)
“อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ” (การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ)
“อัลลอฮุอักบัร” (อัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกรยิ่ง)
“ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮฺ” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่คู่ควรต่อการเคารพภักดีนอกจากพระองค์)
หรือ การกล่าวขออภัยโทษ กล่าวศอละวาตนบี ฯลฯ คือถ้อยคำรำลึกที่เราสามารถกล่าวได้ในทุก ๆอิริยาบท แม้ในสภาวะที่ร่างกายจะไม่สะอาดก็ตาม ดังนั้น จังหวะที่ต้องง่วนอยู่กับงานบ้าน งานครัว หรืองานใดๆก็ตามแต่ อย่าปล่อยให้ลิ้นของเราอยู่ว่าง เพราะหลายครั้งที่เราสนใจอยู่กับงานตรงหน้ามากจนลืมซิกรุ้ลลอฮฺไปเสียสนิท
ช่วงเวลาประเสริฐที่ส่งเสริมให้ซิกรุ้ลลอฮฺมากๆ ไม่ได้อยู่แค่หลังละหมาดเท่านั้น บทรำลึกเช้า – เย็น และก่อนนอน ยังอยู่กับเราในทุกๆ วัน บทขอพรในวาระต่างๆ ยังคงต้องอยู่กับเราในทุกขณะ และช่วงเวลาพิเศษที่อัลลอฮฺจะทรงตอบรับดุอาอฺก็ยังเปิดโอกาสสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม
เหล่านี้คือตัวอย่างคุณงามความดีง่ายๆ ที่ไม่ควรละเลยเพิกเฉย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนอันประเสริฐนี้ ขออัลลอฮฺ ทรงโปรดช่วยเหลือเราให้ได้รับความสะดวกง่ายดายในการทำความดีที่พระองค์ทรงพอพระทัย และ ทรงตอบรับด้วยเถิด และให้เราได้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงสัญญาว่า
( أني لا أضيع عمل عامل منكم من ذكر أو أنثى )
“ แท้จริง ข้าจะไม่ทำให้การงานของผู้กระทำคนใดจากหมู่พวกเจ้า
ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ต้องสูญหายไปเป็นอันขาด”
(อาละอิมรอน 195)