รอมฏอน เดือนแห่งชัยชนะ
แปลเรียบเรียง อ.อาบีดีน พัสดุ
บรรดาผู้ถือศีลอดทั้งหลาย ท่านทั้งหลายรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับชัยชนะของพวกเราในเดือนรอมฏอน ? เป็นชัยชนะด้านใด ? และเราได้รับข้อคิดอะไรบ้างจากชัยชนะเหล่านั้น ? แล้วอะไรคือชัยชนะที่ยังคงเกิดขึ้นในเดือนรอมฏอน ?
พี่น้องในอิสลามทั้งหลาย ในเมื่อรอมฏอนคือเดือนแห่งความยำเกรงและการถือศีลอด เดือนแห่งความอดทนและอ่านอัลกุรอ่าน เดือนแห่งการให้และหยิบยื่นสิ่งดี และอื่นๆจากนี้ ซึ่งถือเป็นลักษณะที่เด่นชัดและความประเสริฐของเดือนแห่งการถือศีลอดนี้ และเช่นเดียวกัน รอมฏอนคือเดือนแห่งชัยชนะ
ชัยชนะของพวกเราในเดือนรอมฏอนมีหลายด้านด้วยกัน , มิได้จำกัดอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือเจาะจงเฉพาะยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่ง และมิได้เป็นชัยชนะในด้านการทหารเท่านั้น ทว่าเป็นชัยชนะในมิติอื่นๆ ด้วย
♦- ในเดือนรอมฏอน ผู้ที่ถือศีลอดมีชัยเหนืออารมณ์ใคร่ของเขา (ถึงแม้ว่าจะเป็นที่อนุมัติก็ตาม) เมื่อกระเพาะงดเว้นจากการกินและการดื่ม แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่อนุมัติ อวัยวะเพศงดเว้นจากอารมณ์ใคร่ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ข้อตำหนิใดๆ เมื่อมีต่อบรรดาคู่ครองหรือสิ่งที่มือขวาครอบครอง ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
♦- ผู้ถือศีลอดนั้นมีชัยเหนือความต้องการที่ต้องห้าม อาทิเช่นการสูบบุหรี่ หรือสิ่งที่อยู่ในชนิดเดียวกับบุหรี่ -หรือยิ่งไปกว่านั้น- เช่นยาเสพติดและสิ่งมึนเมาประเภทต่างๆ เป็นต้น มุสลิมจำนวนหนึ่งได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับโรคร้ายที่บ่อนทำลายนี้ แต่ในเดือนแห่งการถือศีลอด พวกเขาสามารถหลีกห่างจากสิ่งเหล่านั้นได้ -ถึงแม้ว่าอย่างน้อยแค่ช่วงกลางวันของรอมฏอนก็ตาม- และพวกเขาพร้อมที่จะหลีกห่างจากมันอย่างถาวร ขออัลลอฮฺทรงทำให้เดือนรอมฏอนเป็นโอกาสสำหรับพวกเขาในการที่จะกลับเนื้อกลับตัวอย่างจริงจังและให้พวกเขาได้มีชัยเหนืออารมณ์ความต้องการฝ่ายต่ำที่ทำให้ต่ำต้อยและไร้ซึ่งเกียรติศักดิศรี
♦- บรรดาผู้ถือศีลอดทั้งหลาย ผู้ที่ถือศีลอดที่ได้รับการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺและผู้ที่ระวังรักษาศีลอดของเขา เขาจะมีชัยเหนือการทอดสายตาที่ต้องห้าม จากการฟังสิ่งที่เป็นบาป นี่คือเรื่องของการฟังและการมอง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับลิ้นนั้น ผู้ถือศีลอดที่รักษาศีลอดของเขาจะได้รับชัยชนะเหนือพิษภัยของลิ้น นั่นคือการให้ร้ายและการนินทา คำพูดที่ไร้สาระและการมดเท็จ คำพูดที่เป็นบาป หยาบโลนและคำพูดที่ต่ำทราม
♦- บรรดาผู้ถือศีลอดที่ได้รับการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺจะมีชัยชนะเหนืออารมณ์ความต้องการฝ่ายต่ำที่ซ่อนเร้น ความชอบที่จะโอ้อวดและให้ผู้คนได้ยินได้ฟัง การถือศีลอดจะช่วยฝึกในเรื่องความบริสุทธิใจ (อัลอิคลาศ) และด้วยการถือศีลอดจะช่วยทำให้ความรู้สึกถึงการติดตามเฝ้าดูของอัลลอฮฺนั้นเข้มแข็งขึ้น เพราะไม่มีผู้ใดที่เฝ้าดูผู้ถือศีลอดในการถือศีลอดและการระวังรักษาหน้าที่ของเขานอกจากอัลลอฮฺ และจากตรงนี้เอง ท่านร่อซู้ล ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
“ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยเปี่ยมศรัทธาและหวังในผลบุญ เขาจะได้รับการอภัยจากความผิดบาปที่ผ่านมาของเขา”
♦- พี่น้องผู้มีอีหม่านทั้งหลาย ในเดือนรอมฏอน บรรดากลุ่มชนมุสลิมได้มีชัยเหนือเล่ห์กลของชัยฏอนการทำให้อ่อนแอและหลอกลวงให้เกียจคร้านที่จะละหมาดเป็นกลุ่มพร้อมๆ กับบรรดามุสลิม การไปร่วมละหมาดซุบฮี่ ไม่ว่าจะหลอกลวงให้ละทิ้งหรือทำให้ล่าช้าจากเวลาของการละหมาด
และในเดือนรอมฏอนมัสยิดจะเต็มไปด้วยผู้ที่มาละหมาด ขออัลลอฮฺทรงทำให้รอมฏอนเป็นโอกาสที่บรรดาผู้ที่ละเลยต่อหน้าที่และบทบัญญัติจะได้ทบทวนตนเอง และกลับเนื้อกลับตัวต่อผู้ทรงบังเกิดพวกเขา และขอบคุณต่อความโปรดปรานในสุขภาพความสงบสุข และออกห่างจากแนวทางของกลุ่มชนที่ อัลลอฮฺได้ทรงตรัสถึงพวกเขาว่า
(فَخَلَفَ مِنْ بَعْدِهِمْ خَلْفٌ أَضَاعُوا الصَّلاةَ وَاتَّبَعُوا الشَّهَوَاتِ فَسَوْفَ يَلْقَوْنَ غَيّاً * إِلا مَنْ تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ صَالِحاً فَأُولَئِكَ يَدْخُلُونَ الْجَنَّةَ وَلا يُظْلَمُونَ شَيْئاً)
[مريم: 59، 60].
“ภายหลังจากพวกเขา ชนรุ่นชั่วก็ได้สืบต่อมา พวกเขาได้ทิ้งละหมาด และปฏิบัติตามความใคร่ ต่อมาพวกเขาก็จะประสบความหายนะ เว้นแต่ผู้ขอลุแก่โทษและศรัทธา และกระทำความดี ชนเหล่านั้นจะได้เข้าสวนสวรรค์ และพวกเขาจะไม่ได้รับความอธรรมแต่อย่างใด”
ประตูแห่งการกลับเนื้อกลับตัวได้ถูกเปิดกว้าง -พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย - และแน่นอนมันจะไม่ถูกทำให้คับแคบแก่พวกท่าน
♦- และบรรดาผู้ถือศีลอดมีชัยเหนือความตระหนี่ และการเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นในเดือนรอมฏอนจึงเต็มไปด้วยการบริจาคทานและการปฏิบัติดีต่อคนยากคนจนและผู้ขัดสน และมุสลิมจะมีความรู้สึกถึงความต้องการของพี่น้องมุสลิมในที่ต่างๆ มากกว่าเดือนอื่นๆ พวกเขาจึงทำดีต่อผู้คนเหล่านั้น จึงหวังว่าการทำความดีและการให้ความช่วยเหลือเหล่านี้จะยังคงต่อเนื่องไปแม้ว่ารอมฏอนจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม
บรรดามุสลิมทั้งหลาย เมื่อเรานับชัยชนะด้านนามธรรมของเราในเดือนรอมฏอน อันที่จริงแล้ว การภักดีทั้งหมดที่นำพาสู่ความใกล้ชิดอัลลอฮฺในเดือนรอมฏอน ก็คือการให้สัจธรรมและบรรดาผู้อยู่บนสัจธรรมมีชัยชนะ ทุกๆ คนที่กลับเนื้อกลับตัวสู่หนทางที่ถูกต้องในเดือนรอมฏอน ยึดมั่นบนหนทางที่เที่ยงตรง นั่นคือการให้สัจธรรมมีชัยชนะ และนับรวมอยู่ในชัยชนะของพวกเราในเดือนรอมฏอน
การกระทำทุกอย่างที่ทำให้อิสลามสูงเด่น และการเชิญชวนที่ยังผลในการนำพาผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าสู่อิสลาม ทำให้รอมฏอนมีชีวิตชีวา นั่นคือการทำให้สัจธรรมมีชัย และรวมอยู่ในชัยชนะของพวกเราในเดือนรอมฏอน และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การที่พวกเรามีความสามารถที่จะทำให้ชัยชนะของเรามีมากขึ้นในเดือนรอมฏอน เมื่อเราเพียรพยายาม เราบริสุทธิใจ โดยไม่นิ่งเฉยและเบื่อหน่าย
บรรดามุสลิมทั้งหลาย เมื่อเรื่องราวอันมากมายเหล่านี้คือชัยชนะในยามสงบของพวกเราในเดือนรอมฏอน พวกเราก็ได้รับการช่วยเหลือด้านการทหารในเดือนรอมฏอนเช่นกัน
แท้จริงวัน อัลฟุรกอนนั้นอยู่ในรอมฏอน สงครามบะดัรที่ยิ่งใหญ่ สัจธรรมมีชัยเหนือความเท็จ ทั้งๆ ที่มีความแตกต่างทางด้านจำนวนคนและอาวุธ อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เกิดสงครามโดยที่บรรดามุสลิมมิได้ตั้งใจ ทั้งๆ ที่บรรดามุสลิมมิได้ต้องการสงคราม และพวกเขาชอบที่จะให้กลุ่มที่ไม่มีกำลังอาวุธนั้นเป็นของพวกเขา แต่อัลลอฮฺทรงพระประสงค์ให้เกิดการต่อสู้
(وَيُرِيدُ اللَّهُ أَنْ يُحِقَّ الْحَقَّ بِكَلِمَاتِهِ وَيَقْطَعَ دَابِرَ الْكَافِرِينَ * لِيُحِقَّ الْحَقَّ وَيُبْطِلَ الْبَاطِلَ وَلَوْ كَرِهَ الْمُجْرِمُونَ)
[الأنفال: 7، 8].
“แต่อัลลอฮฺทรงต้องการให้ความจริง ประจักษ์เป็นจริงขึ้นด้วยพจนารถของพระองค์ และจะทรงตัดขาดซึ่งคนสุดท้ายของผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย
เพื่อพระองค์จะทรงให้สิ่งที่เป็นจริง ได้ประจักษ์เป็นความจริง และให้สิ่งเท็จได้ประจักษ์เป็นสิ่งเท็จ และแม้ว่าบรรดาผู้กระทำความผิดไม่พอใจก็ตาม”
บรรดามุสลิมได้เรียนรู้จากสงครามบะดัร ว่าไม่ใช่แค่กำลังคนและอาวุธเท่านั้นที่จะตัดสินผลของสงคราม (ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ) จะมิใช่ตามที่กล่าวมาได้อย่างไร ในเมื่อบรรดาผู้ศรัทธาได้อ่านคัมภีร์ขององค์อภิบาลของพวกเขา ว่าเมื่อใดที่พวกเขาจริงใจ บริสุทธิใจ และตระเตรียมความพร้อมจากกำลังพลตามที่พวกเขามีความสามารถแล้วละก็ อัลลอฮฺก็จะทรงช่วยให้พวกเขามีชัยเหนือศัตรู และจะทรงลงทัณฑ์บรรดาผู้ปฏิเสธด้วยน้ำมือของพวกเขา ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาความละเอียดอ่อนในคำดำรัสของอัลลอฮฺ
(قَاتِلُوهُمْ يُعَذِّبْهُمُ اللَّهُ بِأَيْدِيكُمْ وَيُخْزِهِمْ وَيَنْصُرْكُمْ عَلَيْهِمْ وَيَشْفِ صُدُورَ قَوْمٍ مُؤْمِنِينَ) [التوبة: 14].
“พวกเจ้าจงต่อสู้พวกเขาเถิด อัลลอฮฺจะได้ทรงลงโทษพวกเขาด้วยมือของพวกเจ้า และจะได้ทรงหยามพวกเขา และจะได้ทรงช่วยเหลือพวกเจ้าให้ได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา และจะได้ทรงบำบัด หัวอกของกลุ่มชนที่ศรัทธาทั้งหลาย”
สงครามบะดัร ในเดือนรอมฏอน ฟุรกอนัน (เป็นการแบ่งแยก จำแนก) ดังที่อัลลอฮฺทรงขนานนามเอาไว้ เป็นการจำแนกระหว่างสัจธรรมและความเท็จ ระหว่างการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺและการให้มีภาคีต่อพระองค์ ระหว่างสัญญาอันอ่อนแอ คำสั่งให้อดทน เฝ้ารอ และระงับยับยั้งจากการกระทำ และระหว่างคำสัญญาอันหนักแน่นและการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ซึ่งทำให้การพิชิตยังคงมีอย่างต่อเนื่องด้วยน้ำมือของบรรดามุสลิม แม้ว่าท่านร่อซู้ล ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม จะกลับคืนสู่อัลลอฮฺแล้วก็ตาม
และบะดัรได้จำแนกมาตรฐานแห่งปัจจัย (ที่จะนำพาสู่) ชัยชนะและความพ่ายแพ้ บรรดาชาวกุเรชได้ออกสู่สมรภูมิด้วยความโอหัง หยิ่งผยอง โอ้อวดผู้คน และความมุ่งมาตรที่จะปิดกั้นหนทางของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงล้อม (รอบรู้) สิ่งที่พวกเขากระทำกันอยู่ และมันมิใช่อื่นใดเลยนอกจากช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่ง กระทั่งความโอหังได้เบาบางลง และกลุ่มชาวกุเรชได้ถูกทำให้ต่ำต้อยด้วยการถูกสังหารและการถูกจับเป็นเชลย
และเมื่อเราพิจารณาถึงสิ่งที่อบีญะฮัลและบรรดาผู้ที่มีชะตากรรมเดียวกับเขาได้รับ จากพวกที่กล้าหาญและมีเกียรติในหมู่กุเรช และเราหันกลับไปยังเชลย -ที่มีทั้งบรรดาหัวหน้าและกลุ่มชนจากพวกกุเรช- เราก็จะได้รับส่วนหนึ่งจากบทเรียนของสงครามบะดัร นั่นคือชัยชนะของสัจธรรมความจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งหลังจากนั้นก็ตาม
บรรดามุสลิมทั้งหลาย การกล่าวถึงสมรภูมิบะดัรนั้น คงมิได้กล่าวถึงอย่างละเอียด เพราะจะทำให้ยืดยาว และในสงครามมีบทเรียนและข้อคิดที่ควรจะต้องนำมาพินิจพิจารณา แต่ผมจะนำเอาจุดยืนอีกประการหนึ่งในหมู่มุสลิม หลังจากที่ได้นำเสนอจุดยืนของบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความจริงใจของบรรดามุสลิมในการญิฮาด (สู้รบ) และการที่พวกเขาต่างแข่งขันกันสละชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ
ท่าน ซะอัด บิน ค็อยซามะฮฺ บิน อัลฮาริษ และพ่อของเขา อบูค็อยซามะฮฺ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ทั้งสองขัดแย้งกันว่าใครจะเป็นผู้ที่ได้ออกไปกับท่านร่อซู้ล ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เพื่อการทำสงคราม และใครจะอยู่ดูแลบรรดาสตรี เพราะจำเป็นที่คนหนึ่งจะต้องอยู่
พ่อได้กล่าว - เขาเป็นผู้ที่มีอายุมาก - กับลูกของเขาโดยใช้สิทธิความเป็นพ่อว่า : เจ้าจงเสียสละให้พ่อออกไปเถิด แล้วเจ้าก็จงอยู่ดูแลบรรดาผู้หญิง
ท่านสะอัดซึ่งเป็นลูกปฏิเสธ โดยมิได้เป็นการปฏิเสธที่ฝ่าฝืนคำสั่งพ่อหรือเป็นการอกตัญญู แต่เป็นเพราะความปารถนาในสิ่งที่อยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ
และเขาได้กล่าวว่า : หากว่าเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องอื่นจากสวนสวรรค์ ฉันก็จะเสียสละให้แก่ท่าน และแน่แท้ฉันมุ่งหวังที่จะสละชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺในครั้งนี้ การถกเถียงระหว่างทั้งสองรุนแรงขึ้น เพราะต่างก็ต้องการออกไปสู่สมรภูมิ บะดัร และไม่มีหนทางที่จะแก้ไขนอกจากทั้งสองจะต้องทำการจับฉลากกัน ผลการจับฉลากเป็นของท่านสะอัดผู้เป็นลูก เขาจึงได้ออกไปสู้รบและเขาได้ตายชะฮีดในวันบะดัร
ขอให้ท่านทั้งหลายพิจรณาเหตุการณ์นี้ แล้วเปรียบเทียบระหว่างทั้งสองกับผู้นำกุเรชคนหนึ่ง - นั่นคืออบูละฮับ - ซึ่งเขาหวาดกลัวการที่จะต้องออกไปสู่สมรภูมิบะดัร ทั้งๆ ที่เขาได้ตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับท่านร่อซู้ล ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และบรรดามุสลิม แต่เขากลับไม่ยอมเข้าร่วมสงครามแต่ให้ชายคนหนึ่งออกไปสงครามแทนด้วยค่าจ้าง ๓,๐๐๐ ดีนาร ทว่าอัลลอฮฺทรงฆ่าเขาด้วยผลของสงคราม ในขณะที่เขาได้ยินข่าวผลของการต่อสู้และความพ่ายแพ้ของบรรดามุชริกีน ซึ่งเป็นข่าวที่เลวร้ายสำหรับเขาเป็นอย่างมาก จนทำให้เขาป่วยไข้
และมีผู้กล่าวว่า : เขาได้สิ้นชีวิตในสภาพที่เศร้าเสียใจและเจ็บแค้น
โดยภาพรวม ในสงครามบะดัรมีข้อคิดหลายประการด้วยกัน และส่วนหนึ่งจากข้อคิดที่สำคัญคือ ความอธรรมจะต้องมีวันจบสิ้นลง เล่ห์เหลี่ยมที่ชั่วช้าจะกลับคืนสู่ผู้เป็นเจ้าของของมัน ชัยชนะนั้นอยู่พร้อมกับความอดทน ขณะที่บรรดามุสลิมมีความจริงใจ อัลลอฮฺทรงช่วยเหลือพวกเขาด้วยไพร่พล ณ พระองค์
เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่พิจารณาถึงปัจจัยแห่งการช่วยเหลือของอัลลอฮฺในสงครามบะดัร ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่เขาในเรื่องดังกล่าว การงีบหลับ ความปลอดภัย บรรดามาลาอีกะฮฺ และการให้ยืนหยัดมั่นคง ฝนที่ตกลงมาเพื่อให้เท้ามั่นคงและเพื่อขจัดความโสมมของชัยฏอน ทำให้จำนวนของบรรดามุชริกีนในสายตาของบรรดามุสลิมมีจำนวนน้อย และให้บรรดามุสลิมมีจำนวนมากในสายตาของพวกมุชริกีน
(لِيَقْضِيَ اللَّهُ أَمْراً كَانَ مَفْعُولاً) [الأنفال: 42].
“เพื่อที่อัลลอฮฺจะได้ทรงให้งานหนึ่งเสร็จสิ้นไป ซึ่งงานนั้นได้ถูกกระทำไว้แล้ว”
ความแตกต่างของช่วงเวลา ระหว่างความยิ่งใหญ่ความเย่อหยิ่งทะนงตน และการล่มสลายนั้น เป็นช่วงเวลาอันแสนสั้น และระหว่างสงครามบะดัรกับการพิชิตมักกะฮฺเพียงแค่ระยะเวลา ๖ ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาอันน้อยนิด อีกทั้งความแตกต่างของความยิ่งใหญ่ และแน่นอน นั่นคืออิสลามที่แท้จริง และญาฮิลียะฮฺที่เหลวไหล หลงผิด
คุตบะห์วันศุกร์