เด็กๆ กับการถือศีลอดและเดือนรอมฏอน
  จำนวนคนเข้าชม  6524


เด็กๆ กับการถือศีลอดและเดือนรอมฏอน

 

แปลเรียบเรียง .อาบีดีน พัสดุ

 

คำถาม

 

          เด็กอายุเท่าใดที่จำเป็นจะต้องถือศีลอด ? แล้วเราจะส่งเสริมอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เด็กๆ ถือศีลอดและละหมาดในมัสยิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการละหมาดตะรอเวียฮฺ ? มีข้อเสนอแนะง่ายๆ ในศาสนาหรือไม่ เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างของพวกเขาในรอมาฏอนให้เป็นประโยชน์ ?

 

คำตอบ

 

ประการที่ :

 

          สำหรับเด็กเล็กนั้น การถือศีลอดถือว่าไม่เป็นวายิบ (จำเป็น) สำหรับเขา จนกว่าจะบรรลุศาสนภาวะ ด้วยคำกล่าวของท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม

 

( رُفِعَ الْقَلَمُ عَنْ ثَلاثَةٍ : عَنْ الْمَجْنُونِ الْمَغْلُوبِ عَلَى عَقْلِهِ حَتَّى يفِيقَ ، وَعَنْ النَّائِمِ حَتَّى يَسْتَيْقِظَ ، وَعَنْ الصَّبِيِّ حَتَّى يَحْتَلِمَ ) رواه أبو داود (4399) . وصححه الألباني في صحيح أبي داود

 

     “ปากกาจะถูกยกจากสามจำพวก (ไม่ถูกบันทึกความผิด) : จากผู้วิกลจริตที่ไม่สามารถใช้สติปัญญาของเขา จนกว่าจะหาย จากผู้ที่นอนหลับ จนกว่าจะตื่น และจากเด็ก จนกว่าจะบรรลุศาสนภาวะ

 

(บันทึกโดย อบูดาวู๊ด (๔๓๙๙) และอัลอัลบานี่ถือว่าเป็นฮาดีษที่ซอฮีหฺ ในซอฮีหฺของอบีดาวู๊ด)

 

          แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สมควรที่จะสั่งใช้ให้เด็กถือศีลอดเพื่อให้มีความเชยชิน และเพราะว่าการงานที่ดีต่างๆ ที่เขาได้กระทำ จะถูกบันทึกให้แก่เขา

          ส่วนอายุที่บิดามารดาจะเริ่มฝึกสอนลูกๆ ให้ถือศีลอด คือช่วงอายุที่ลูกมีความสามารถในการถือศีลอด ซึ่ง (เด็กแต่ละคน) ก็จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย และอุลามาอฺบางท่านได้กำหนดเอาไว้ที่ ๑๐ ขวบปี

 

     ท่าน อัลคิรอกี่ กล่าวว่าและเมื่อเด็กมีอายุสิบขวบ และมีความสามารถที่จะถือศีลอด ก็ให้บังคับถือศีลอด

 

     ท่านอิบนุ กุดดามะฮฺ กล่าวว่า :“หมายความว่า : การถือศีลอดจะถูกให้จำเป็นสำหรับเขา จะถูกสั่งใช้ และถูกลงโทษหากละทิ้ง เพื่อให้มีความเคยชินต่อการถือศีลอด เหมือนกับการละหมาดที่ถูกทำให้จำเป็น และถูกสั่งใช้ให้กระทำ 

          และจากบรรดา (ผู้รู้) ที่ให้ทัศนะว่าการถือศีลอดจะถูกสั่งใช้ให้กระทำเมื่อเด็กมีความสามารถคือ ท่านอะฏออฺ ท่านอัลฮะซัน อิบนุซีรีน ท่านซุฮฺรี่ ท่านเกาะตาดะฮฺ และอิหม่ามชาฟีอี

 

     ท่านอัลเอาซาอียฺ กล่าวว่า : เมื่อมีความสามารถที่จะถือศีลอดติดต่อกันสามวันได้แล้วโดยไม่ทำให้อ่อนแอลง ก็ให้ถือศีลอดในเดือนรอมฏอน 

 

     ท่านอิสฮาก กล่าวว่า เมื่ออายุครบ สิบสองปี ถือเป็นการดีที่จะบังคับให้ถือศีลอดเพื่อให้เกิดความคุ้นชิน และการเอาอายุสิบขวบเป็นเกณฑ์ถือว่าสมควรกว่า เพราะท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม สั่งใช้ให้ลงโทษด้วยการตีสำหรับการละหมาดในช่วงอายุสิบขวบ การเอาการละหมาดเป็นเกณฑ์ของการถือศีลอดถือเป็นการดีกว่า เพราะทั้งสอง (การละหมาดและการถือศีลอด) มีความใกล้ชิดกัน และทั้งสองเป็นอิบาดะฮฺที่เกี่ยวข้องกับร่างกายจากรุ่ก่นต่างๆ ของอิสลาม เพียงแต่ว่าการถือศีลอดมีความยากกว่า จึงต้องพิจรณาถึงความสามารถด้วย เพราะในบางครั้งเด็กสามารถละหมาดได้ แต่ยังไม่สามารถถือศีลอดได้

อัลมุฆนี (/๔๑๒)

 

          และนี่คือแนวทางของบรรดาอัครสาวกของท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่มีต่อบรรดาลูกๆของพวกเขา โดยจะสั่งใช้คนที่มีความสามารถในบรรดาเด็กๆ ให้ถือศีลอด และเมื่อมีคนใดร้องไห้เนื่องจากความหิว ก็จะได้ของเล่นเพื่อเพลิดเพลินไปกับการเล่น และไม่อนุญาตให้ยังคงบังคับเด็กๆ ให้ถือศีลอด เมื่อ(การถือศีลอด)ส่งผลกระทบทำให้ร่างกายอ่อนแอ หรือการเจ็บป่วย

 

     ท่านเชค อิบนุ อุซัยมีน กล่าวว่า : และเด็กเล็กนั้น ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด จนกว่าจะบรรลุศาสนภาวะ แต่จะต้องถูกสั่งใช้ให้ถือศีลอด เมื่อมีความสามารถ เพื่อให้เกิดความเคยชิน และความง่ายดายในการถือศีลอดหลังจากที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว และบรรดาซอฮาบะฮฺ ร่อฏิฯ -ซึ่งพวกเขาเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด- ได้ให้ลูกๆ ของพวกเขาถือศีลอดตั้งแต่เล็ก

 

มัจมูอฺ ฟะตาวา อัชเชค อิบนุ อุซัยมีน (๑๙/๒๘๒๙)

 

     เชค (ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) ได้ถูกถามว่า : ลูกของฉันยังเล็ก แต่เขาดึงดันที่จะถือศีลอดเดือนรอมฏอน ทั้งๆที่การถือศีลอดเป็นอันตรายแก่เขา เนื่องจากอายุที่น้อย และทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพ  ฉันจะใช้การบังคับขู่เข็ญเพื่อให้เขาละศีลอดได้หรือไม่ ?

 

     เชคตอบว่า : เมื่อเป็นเด็กเล็ก ยังไม่บรรลุศาสนะภาวะ การถือศีลอดก็ยังไม่จำเป็นสำหรับเขา แต่หากว่ามีความสามารถที่จะถือศีลอดโดยไม่เกิดความยากลำบาก เขาก็จะถูกใช้ให้ถือศีลอด  และบรรดาซอฮาบะฮฺ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุม ได้ให้ลูกๆ ของพวกเขาถือศีลอด กระทั่งเมื่อเด็กบางคนร้องไห้ ก็จะได้ของเล่นเพื่อเพลินเพลินไปกับมัน แต่หากเป็นที่ชัดเจนว่าการถือศีลอดเป็นอันตรายต่อเขา ก็ให้ห้ามปราม ในเมื่ออัลลอฮฺทรงห้ามมิให้เรามอบทรัพย์สินที่เป็นของพวกเขาแก่พวกเขา เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ดังนั้นการกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายย่อมสมควรกว่า ที่เราจะห้ามปรามพวกเขา  แต่การห้ามปรามไม่ควรใช้วิธีที่แข็งกร้าว เพราะวิธีดังกล่าวไม่สมควรที่จะนำมาใช้ในการอบรมสั่งสอนเด็กๆ 

 

มัจมูอฺ ฟะตาวา อัชเชค อิบนุ อุซัยมีน (๑๙/๘๓)

 

ประการที่ :

 

          พ่อแม่สามารถที่จะส่งเสริมและกระตุ้นลูกๆ ของพวกเขาให้ถือศีลอด ด้วยการให้ของขวัญแก่พวกเขาในทุกๆ วัน หรือทำให้เกิดจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันกันระหว่างพวกเขาและเด็กอื่นๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกันหรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า และอาจส่งเสริมและกระตุ้นให้พวกเขาทำการละหมาด ด้วยการพาไปมัสยิดเพื่อละหมาดที่มัสยิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการออกไปกับพ่อ และให้มีการสับเปลี่ยนมัสยิดที่พวกเขาละหมาดในแต่ละวัน

 

          และเช่นเดียวกัน อาจส่งเสริมด้วยการให้สิ่งต่างๆ แก่ลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นคำชมเชย หรือพาออกไปข้างนอกในบางครั้ง หรือซื้อของที่เด็กๆ ชอบ หรือให้สิ่งอื่นๆ จากที่กล่าวมา 

 

          และเป็นที่น่าเสียใจ ที่พ่อแม่บางท่านปล่อยปะละเลยอย่างมากในการส่งเสริมและผลักดันบรรดาลูกๆ ของพวกเขา และยิ่งไปกว่านั้น ในบางครั้งยังปิดกั้น (ลูกๆ ) จากการปฏิบัติอิบาดะฮฺเหล่านี้ โดยที่พ่อแม่เหล่านั้นคิดไปว่า ความเมตตาและความห่วงใยคือการไม่ให้ลูกๆ ถือศีลอด หรือไม่สั่งใช้ให้ลูกๆ ทำการละหมาด และนี่ถือเป็นความผิดพลาดในทางบทบัญญัติ และในการอบรมเลี้ยงดู 

 

     อัชเชค มุฮัมมัด บิน ซอและหฺ อัลอุซัยมีน ร่อฮิม่าฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า : อัลลอฮฺทรงให้การถือศีลอดเป็นวายิบ (จำเป็น) บนมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะ มีความสามารถ และมิใช่ผู้เดินทาง ส่วนเด็กเล็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ การถือศีลอดยังมิได้จำเป็นเหนือเขา ด้วยคำกล่าวของท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม

 

( رفع القلم عن ثلاثة : وذكر : الصبي حتى يبلغ )

 

ปากการจะถูกยก (ไม่ถูกบันทึก) จากบุคคลสามประเภท 

(และได้มีการระบุถึง) เด็กจนกว่าเขาจะบรรลุศาสนภาวะ

 

          แต่ว่าผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องสั่งใช้ให้เขาถือศีลอดเมื่อบรรลุสู่ช่วงวัยที่มีความสามารถจะถือศีลอดได้ เพราะว่าเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งจากการอบรมบ่มนิสัยและฝึกฝนให้เขาปฏิบัติหลักการต่างๆ (รุก่น) ของอิสลาม

 

          เราได้เห็นบางคนปล่อยปะละเลยลูกๆ ของเขา โดยไม่สั่งใช้ให้พวกเขาละหมาดและถือศีลอด และนี่ถือเป็นความผิดพลาด และเขาจะต้องรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวต่อหน้าพระพักต์ของอัลลอฮฺ โดยที่พวกเขากล่าวอ้างว่า สาเหตุที่ไม่ให้ลูกๆ ถือศีลอด เนื่องจากความห่วงใยและความเมตตาที่มีต่อลูกๆ แต่ที่จริงแล้ว ผู้ที่ห่วงใยและผู้ที่เมตตาต่อลูกๆ คือผู้ที่ฝึกฝนและสอนสั่งลูกๆ ให้มีคุณลักษณะที่ดีและกระทำคุณงามความดี มิใช่ผู้ที่ละเลยการอบรมบ่มนิสัยและการเลี้ยงดูที่จะเป็นประโยชน์แก่ลูกๆ 

 

มุจมูอฺ อัลฟะตาวา อัชเชค อิบนุ อุซัยมีน (๑๙/๑๙๒๐)”

 

ประการที่ ๓ :

 

          พ่อแม่อาจให้ลูกๆ ได้ใช้เวลาไปกับการอ่านอัลกุรอ่าน การท่องจำ (ยุซ) ส่วนง่ายๆ (ของอัลกุรอ่าน)ในทุกวันของเดือนรอมฏอน  เช่นเดียวกัน การอ่านหนังสือที่เหมาะกับวัยของเด็กๆ  การให้พวกเขาฟังคลิปภาพและเสียงต่างๆ ที่รวมไว้ซึ่งประโยชน์และความสนุกสนาม เช่น อะนาชีด และเตรียมวีดีโอที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขา 

 

          แน่นอน เราขอบคุณผู้ถามคำถาม ที่ให้ความสำคัญต่อการอบรมเลี้ยงดูลูกๆ  และนี่ย่อมบ่งถึงคุณงามความดีในครอบครัวมุสลิม  หากแต่ส่วนมากก็ยังคงไม่ดีนักในการให้ลูกๆ แสดงออกซึ่งความสามารถของพวกเขา ในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เด็กๆ จึงเคยชินกับความสบาย ความเกียจคร้านและชินกับการพึ่งพาคนอื่น

 

         เช่นเดียวกัน กับการที่ไม่เอาใจใส่ในการกระตุ้นพวกเขาให้ปฏิบัติอิบาดะฮฺ เช่นการละหมาดและการถือศีลอด จึงทำให้เด็กจำนวนมากได้รับการเลียงดูในสภาพการณ์เช่นนี้  แล้วก็ทำให้หัวใจของพวกเขาหลีกหนีจากการทำอิบาดะฮฺ หลังจากเติบใหญ่ จนเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ที่จะให้คำชี้แนะและตักเตือน และหากว่าพวกเขาให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อเรื่องราวเหล่านี้แต่แรก ก็คงไม่ต้องเสียใจในตอนท้าย 

 

          เราวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ขอพระองค์ทรงช่วยเหลือพวกเราในการอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ของพวกเรา  และการทำให้พวกเขารักในอิบาดะฮฺ และขอพระองค์ทรงเตาฟีกแก่พวกเราเพื่อกระทำสิ่งที่จำเป็นเหนือพวกเราที่มีต่อพวกเขา

 

والله أعلم .

 

คุตบะห์วันศุกร์