หน้าที่ของมะอ์มูม
คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย พึงทราบไว้เถิดว่า ท่านอุมัร อิบนิลค๊อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคาะลีฟะฮฺอัรรอชิดีนท่านที่สองแห่งอัลอิสลาม ได้กล่าวเตือนสำทับเราด้วยความห่วงใยไว้ว่า
حَاسِبُوا أَنْفُسَكُمْ قَبْلَ أَنْ تُحَاسَبُوا ، وَتَزَيّنُوا لِلْعَرْضِ الأَكْبَرِ ، :
“ท่านทั้งหลายจงตรวจสอบ จงสอบสวน จงคิดบัญชีส่วนตัวของท่านทั้งหลาย ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะถูกสอบสวน จะถูกคิดบัญชี (จากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) และท่านทั้งหลายพึงเตรียมตัวไว้ให้ดีสำหรับวันสอบสวนอันยิ่งใหญ่....”
นั่นก็หมายความว่า ในการดำเนินชีวิตของเราในทุก ๆวันนั้น ให้เราได้เจียดเวลา ได้หาเวลาเพื่อพินิจพิจารณาใคร่ครวญถึงหัวใจ ถึงความคิดจิตใจของเราว่า มุ่งมั่นศรัทธา รำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างดี อย่างถูกต้องอยู่หรือไม่ ...ตรวจสอบดูการกระทำของตัวเองว่า มันอยู่ในขอบเขตบทบัญญัติศาสนาหรือไม่ อิคลาศเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวไหม ทำอิบาดะฮฺตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมหรือไม่ ...
เมื่อพิจารณาใคร่ครวญแล้ว ตรวจสอบแล้ว ผลเป็นอย่างไร เราจะได้มาจัดการกับตัวเราได้ถูก ...หากเรายึดมั่นศรัทธาอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างดีงามอย่างถูกต้อง การกระทำของเรา พฤติกรรมของเราอยู่แต่เรื่องของบทบัญญัติศาสนา อย่างนี้ ก็ให้เราได้ดำรงรักษาความถูกต้องดีงามนี้ต่อไป พยายามทำให้มันตลอดรอดฝั่ง แล้วพัฒนาต่อยอดให้มันเพิ่มพูนขึ้น เพราะความโปรดปรานอย่างหนึ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานให้แก่บ่าวของพระองค์ก็คือ การได้ทำความดีอีกอย่างหนึ่ง หลังจากที่ทำความดีอย่างหนึ่งไปแล้ว...
แต่สำหรับใครที่เขาได้พิจารณาใคร่ครวญตัวเองแล้วว่า ยังมีความบกพร่องในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนาในเรื่องหนึ่งเรื่องใด เขาก็ต้องรีบขออภัยโทษ ขออิสติฆฟารต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำการเตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ความตายจะมาถึง โดยที่เราไม่มีโอกาสทราบเลยว่า ความตายจะมาถึงเราเมื่อใด
ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมตัวของเราให้พร้อมสำหรับการที่จะถูกสอบสวนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺ ซึ่งเป็นวันสอบสวนอันยิ่งใหญ่ โดยสำรวจตรวจตรา ตรวจสอบตัวของเราเสียก่อนในวันนี้ ในดุนยานี้ว่ามันบกพร่องอะไรบ้าง เพื่อจะได้แก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก่อนที่ความตายจะมาถึงเรา เพราะความตายจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะถูกสอบสวน จะถูกคิดบัญชีในโลกอาคิเราะฮฺ ซึ่งเป็นโลกหลังความตายของเรา โดยที่เราไม่มีโอกาสได้แก้ไข หรือแก้ตัวใด ๆได้อีกแล้ว
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อิบาดะฮฺสำคัญประการหนึ่งที่เราต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็คือ เรื่องของการละหมาด การละหมาดเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเรื่องแรกที่เราต้องถูกสอบสวน ถูกคิดบัญชีจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺ.... เราจึงต้องมาคอยสำรวจตรวจสอบการละหมาดของเราอยู่เสมอ ๆว่า มันถูกต้องครบถ้วนดีงามหรือเปล่า มันจะเป็นโมฆะไหม มันจะได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไหม และโดยเฉพาะ การละหมาดญะมาอะฮฺ หรือการละหมาดรวมกันนั้น เป็นการละหมาดที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ระบุถึงความประเสริฐและผลบุญตอบแทนไว้อย่าง มากมาย ซึ่งเราก็ทราบกันอย่างดีแล้ว ... ดังนั้น หากเราละหมาดแล้ว มันขาดตกบกพร่อง ไม่ครบถ้วน ไม่ดีงาม เราก็จะพลาดความประเสริฐหรือผลบุญมากมายไปอย่างน่าเสียดาย หรือถ้ามันกลายเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ ในวันกิยามะฮฺเราก็จะขาดทุนป่นปี้
การละหมาดญะมาอะฮฺเป็นอิบาดะฮฺที่จะต้องมีผู้นำและผู้ตาม ก็คือต้องมีอิมามและต้องมีมะอ์มูม ...การเป็นอิมามนำละหมาดถือเป็นความประเสริฐยิ่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้นเช่นกัน .. อิมามคือผู้ที่ต้องรับประกันคุณภาพของการละหมาด ซึ่งหากเขานำละหมาดได้ดี เขาจะได้รับผลบุญอย่างมากมาย และยังจะได้รับผลบุญเพิ่มเติมเช่นเดียวกันกับผลบุญของมะอ์มูมที่ละหมาดพร้อม ๆกับเขาด้วย ...ในส่วนของคนที่เป็นมะอ์มูม เขาก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในฐานะของมะอ์มูมด้วยเช่นกัน ...เพื่อให้การละหมาดของเขานั้นใช้ได้ ครบถ้วนสมบูรณ์ดีงาม ดังนั้น ก็ขอให้เราได้พิจารณาการละหมาดของเราในสถานะมะอ์มูมด้วยว่า เราได้ปฏิบัติหน้าที่ของมะอ์มูมในการละหมาดญะมาอะฮฺของเราอย่างไร ?
ขอให้เรามาดูอัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ ซึ่งสำนวนที่ยกมานี้เป็นของอิมามมุสลิม รายงานมาจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
، إِنَّمَا جُعِلَ الْإِمَامُ لِيُؤْتَمَّ بِهِ ، فَإِذَا كَبَّرَ فَكَبِّرُوا ، وَإِذَا قَرَأَ فَأَنْصِتُوا ، وَإِذَا قَالَ { : غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ }، فَقُولُوا : آمِينَ ، وَإِذَا رَكَعَ فَارْكَعُوا ، وَإِذَا قَالَ : سَمِعَ اللَّهُ لِمَنْ حَمِدَهُ ، فَقُولُوا : اللَّهُمَّ رَبَّنَا وَلَكَ الْحَمْدُ ، وَإِذَا سَجَدَ فَاسْجُدُوا ، وَإِذَا صَلَّى جَالِسًا ، فَصَلُّوا جُلُوسًا أَجْمَعِينَ
“แท้จริง อิมามนั้นได้ถูกกำหนดขึ้น(ให้เป็นผู้นำละหมาดนั้น )เพื่อให้เขาถูกตาม ...ดังนั้น เมื่ออิมามตักบีร พวกท่านก็จงตักบีร ...เมื่ออิมามอ่าน (อัลกุรอาน ) ก็ต้อง(ตั้งใจ)ฟังอย่างนิ่งสงบ ...เมื่ออิมามกล่าวว่า ฆ็อยริลมัฆฎูบิอะลัยฮิม วะลัฎฎอลลีน พวกท่านก็จงกล่าวว่า อามีน ..เมื่ออิมามรุกั๊วะอฺ พวกท่านก็จงรุกั๊วะอฺ ...เมื่ออิมามกล่าว ซะมิอัลลอฮุลิมันหะมีดะฮฺ พวกท่านก็จงกล่าว อัลลอฮุมมะร็อบบะนา วะละกัลฮัมดุ ..เมื่ออิมามสุญูด พวกท่านก็จงสุญูด ..และเมื่ออิมามละหมาดในท่านั่ง พวกท่านทั้งหมดก็จงละหมาดในท่านั่ง”
นั่นก็หมายความว่า ในการละหมาดญะมาอะฮฺของเรานั้น มันเป็นวาญิบ หรือเป็นสิ่งจำเป็นที่มะอ์มูม หรือผู้ที่ละหมาดตามอิมามนั้นต้องปฏิบัติตามอิมามในการละหมาดในทุก ๆขั้นตอน
การปฏิบัติตามอิมามนั้น หมายถึง เมื่ออิมามปฏิบัติแล้ว เราจึงค่อยปฏิบัติตาม ดังนั้น มะอ์มูมจะไม่ปฏิบัติก่อนอิมาม หรือปฎิบัติพร้อมกับที่อิมามปฏิบัติเป็นอันขาด
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
: أَيُّهَا النَّاسُ ، إِنِّي إِمَامُكُمْ ، فَلَا تَسْبِقُونِي بِالرُّكُوعِ ، وَلَا بِالسُّجُودِ ، وَلَا بِالْقِيَامِ ، وَلَا بِالِانْصِرَافِ ، فَإِنِّي أَرَاكُمْ أَمَامِي وَمِنْ خَلْفِي
“มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริง ฉันเป็นอิมามของพวกท่าน ดังนั้น จงอย่ารุกั๊วะอ จงอย่าสุญูด จงอย่าลุกยืน จงอย่านั่ง ก่อนฉัน( หรือทำพร้อมกับฉันในขณะละหมาด และอย่าเปลี่ยนอิริยาบถ คือเปลี่ยนหรือย้ายที่นั่งก่อนฉัน หลังจากที่ละหมาดเสร็จแล้ว )”
นี่ก็คือ สิ่งที่เป็นคำสั่งสอนมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า ในขณะที่ละหมาดนั้น มะอ์มูมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามอิริยาบถของอิมามในทุก ๆ ขั้นตอน จะทำก่อนที่อิมามจะทำก็ไม่ได้ เช่น จะตักบีรก่อนอิมามก็ไม่ได้ จะรุกั๊วะอ์ก่อนอิมามก็ไม่ได้ และจะทำพร้อม ๆ กับที่อิมามทำก็ไม่ได้ แต่จะต้องทำหลังจากที่อิมามทำแล้ว เมื่ออิมามตักบีรแล้ว เราก็ตักบีรตาม เมื่ออิมามรุกั๊วะอ์แล้ว เราก็รุกั๊วะอ์ตาม เมื่ออิมามสุญูดแล้ว เราก็สุญุดตาม ถ้าหากอิมามมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ต้องนั่งละหมาด มะอ์มูมก็ต้องนั่งละหมาดตามไปด้วย ถึงแม้ว่า มะอ์มูมจะมีความสามารถที่จะยืนได้ก็ตาม ต้องทำตามอิมามไป ไม่ทำก่อนอิมามและไม่ทำพร้อมกับอิมาม ...และเมื่อละหมาดจบ หลังจากอิมามกล่าวให้สลามแล้ว มะอ์มูมจะต้องไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือเคลื่อนย้ายที่นั่ง หรือลุกออกจากที่นั่งโดยทันที จนกว่าอิมามจะเปลี่ยนอิริยาบถหรือย้ายที่นั่ง โดยอิมามจะขยับตัวหันมาทางมะอ์มูม จะหันตัวไปทางขวาหรือทางซ้ายก็ได้ ยกเว้นมะอ์มูมที่เป็นหญิง ที่เธอจะต้องรีบลุกออกจากที่นั่งโดยไม่ชักช้า โดยไม่ต้องรอให้อิมามขยับตัว ก็คือ มุอ์มินที่เป็นหญิงต้องรีบออกจากมัสญิดไปก่อน ก่อนที่มะอ์มูมชายจะลุกออกจากมัสญิด ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดการปะปนกันระหว่างชายหญิง
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในการละหมาดญะมาอะฮฺของเรานั้น เราจะพบเห็นการปฏิบัติของมะอ์มูมในสี่สภาพด้วยกัน ตามที่อุละมาอ์ได้แจกแจงไว้
สภาพที่หนึ่งเรียกว่า มุซาบะเกาะฮฺ مسابقة ก็คือ สภาพที่เรียกกันว่า การนำหน้าอิมามในการละหมาด
คือ การปฏิบัติอิริยาบถต่าง ๆในละหมาดก่อนที่อิมามจะทำ ..สภาพอย่างนี้ มะอ์มูมจะนำหน้าอิมามในการตักบีร นำหน้าในการรุกั๊วอ์ นำหน้าในการสุญูด หรืออื่น ๆ ปฏิบัติก่อนที่อิมามจะปฏิบัติ กรณีอย่างนี้ไม่เป็นที่อนุญาตให้ทำ หากใครตั้งใจทำโดยรู้และเจตนา การละหมาดของเขาใช้ไม่ได้
สภาพที่สองเรียกว่า มุวาฟะเกาะฮฺ موافقة ก็คือสภาพของการพร้อมเพรียงกัน
หมายความว่า ปฏิบัติอิริยาบถต่าง ๆพร้อม ๆกับที่อิมามปฏิบัติ เช่น ลงรุกั๊วะอ์พร้อม ๆ อิมาม ลงสุญูดพร้อม ๆ อิมาม การปฏิบัติอย่างนี้ถือเป็นมักรูฮฺ ( อัลมักรูฮฺ اَلْمَكْرُوْهُ แปลว่าสิ่งที่น่ารังเกียจ ความหมายในทางศาสนบัญญัติ หมายถึง สิ่งที่ไม่พึงนำมาปฏิบัติ แต่หากปฏิบัติ ก็ไม่มีบาป แต่ถ้าหากละทิ้งจะได้รับผลบุญ ในขณะที่ซุนนะฮฺ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ หากปฏิบัติจะได้รับผลบุญ แต่หากละทิ้งก็ไม่มีบาป ) ยกเว้นการตักบีเราะตุลอิหฺรอม คือการตักบีรเข้าละหมาด หากมะอ์มูมทำพร้อมกับอิมาม การละหมาดของมะอ์มูมจะใช้ไม่ได้
สภาพที่สามเรียกว่า มุคอละฟะฮฺ مخالفة คือ สภาพของการทิ้งห่าง
หมายความว่า มะอ์มูมปฏิบัติตามอิริยาบถของอิมามช้าเกินไป จนอิมามทิ้งห่างไปปฏิบัติอิริยาบถอื่น ๆไปแล้ว การปฏิบัติในลักษณะนี้ ไม่ถือเป็นการปฏิบัติตามอิมาม เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำ ...ยกเว้นในกรณีที่ปฏิบัติตามอิมามไม่ทันอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย เช่น เผลอ หรือไม่ได้ยินเสียงอิมาม จนกระทั่งอิมามปฏิบัติทิ้งห่างไป อย่างนี้ เขาต้องรีบปฏิบัติตามในอิริยาบถที่ไม่ทันอิมามในทันที จนกระทั่งตามทัน และตามต่อไปจนจบ โดยไม่เป็นความผิดใด ๆ สำหรับเขา
สภาพที่สี่คือสภาพที่เรียกว่า มุตาบะอะฮฺ متابعة สภาพของการตามติด
คือ การที่มะอ์มูมได้ปฏิบัติอิริยาบถของอิมามที่ได้ปฏิบัติไปแล้วโดยทันที เช่น เมื่ออิมามก้มลงรุกั๊วะอ์แล้ว มะอ์มูมก็ก้มรุกั๊วะอ์ตามหลังโดยทันที .. เมื่ออิมามเงยขึ้นจากรุกั๊วะอ์แล้ว มะอ์มูมจึงเงยขึ้นจากรุกั๊วะอ์ตามหลังโดยทันที ...สภาพอย่างนี้แหละถือเป็นสภาพของการตามอิมามที่ถูกต้องตามหลักของบทบัญญัติศาสนา
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทั้งหมดนั่นก็คือ เรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่มะอ์มูมต้องปฏิบัติในการเป็นมะอ์มูมในการละหมาดญะมาอะฮฺของเขา ดังนั้น ในสถานะที่เราเป็นมะอ์มูม ในการละหมาดญะมาอะฮฺของเรานั้น ก็ขอให้เรามีความเคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ของมะอ์มูม ศึกษาหาความรู้ว่า มะอ์มูมมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งที่พูดมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อศึกษาแล้ว หรือทราบแล้ว ก็ขอให้เราได้หมั่นตรวจสอบการละหมาดของเราว่า ได้ละหมาดตามอิมามไหม บกพร่องไหม เมื่อพบว่าบกพร่องจะได้ปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะบางกรณี เราจะเห็นว่า การไม่ปฏิบัติตามให้ถูกต้อง มีผลทำให้ละหมาดของเราเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่เสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อตัวเรา เพราะสิ่งที่เราลงทุนลงแรงทำไป เสียเวลา เสียแรงกายนั้น มันไม่ได้มามีส่วนช่วยเหลือเราให้พ้นจากความพินาศในวันกิยามะฮฺได้เลย
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ก่อนจะจบคุฏบะฮฺในวันนี้ ก็ขอพูดสักนิดหนึ่งถึง สถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่ระบาดไปทั่วในขณะนี้ว่า โรคระบาดนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อมั่นศรัทธาว่า มันมาจากการกำหนดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ถือเป็นฟิตนะฮฺ และเป็นบะลาอ์หรือบททดสอบหนึ่ง อันเนื่องมาจากการที่มนุษยชาติได้ทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ เป็นบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนต่อพระองค์ และเป็นความเมตตาแก่ผู้ศรัทธา ซึ่งพระองค์จะทรงคุ้มครองเรา ซึ่งเราจะต้องมอบหมายต่อพระองค์ พร้อมทั้งปฏิบัติตัว ระมัดระวัง ดูแลรักษาตัวเองให้ดี เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาทั้งตัวเองและผู้อื่นให้รอดพ้นจากโรคระบาด
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ให้คำแนะนำในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดไว้ว่า เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นที่เมืองใด ก็จงอย่าเข้าไปในเมืองนั้น และหากเกิดโรคระบาดที่เมืองของเรา เราก็อย่าออกจากเมืองนั้น นั่นก็คือ ให้เราพยายามอยู่กับที่ อยู่กับบ้านของเรา อย่าเดินทางไปโน้นไปนี่โดยไม่จำเป็น เมื่อจะไปไหนก็ต้องดูแลป้องกันตัวเองด้วย และนี่ก็คือคำแนะนำที่ทันสมัยมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นมาตรการของการกักกันโรคเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาดออกไปมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ขอให้เราใช้ชีวิตด้วยความอดทน สำนึกตัว กลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ พยายามปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ให้เต็มความสามารถของเรา รักษาความสะอาดตามที่ศาสนบัญญัติได้บัญญัติไว้ ทั้งความสะอาดทั่ว ๆไป ความสะอาดของร่างกายและความสะอาดของจิตใจ ให้พ้นจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดประทานฮิดายะฮเตาฟีกให้แก่เรา ..โปรดให้เราได้เป็นผู้ที่หมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ และทราบในข้อบกพร่อง และได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเอง ..โปรดทรงอภัยโทษในความผิดต่าง ๆของเรา ..โปรดให้เราพ้นจากฟิตนะฮฺ ความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย .. และโปรดให้เราได้ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ
คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสยิด ดารุ้ลอิห์ซาน