ข้อชี้ขาดให้งดเว้นจากการร่วมละหมาดวันศุกร์และละหมาดญมาอะฮฺที่มัสยิด
แปลเรียบเรียง อ.อาบีดีน พัสดุ
คำถาม
อะไรคือข้อชี้ขาดของการผ่อนผัน ให้งดเว้นจากการร่วมละหมาดวันศุกร์และละหมาดญมาอะฮฺที่มัสยิด ในขณะที่มีการระบาดของโรคระบาด หรือกลัวผลกระทบจากการระบาดของมัน
คำตอบ : الحمد لله
สภาอุลามาอฺอาวุโส ในราชอาณาจักรซาอุดิอาราเบีย ได้ออกประกาศแถลงการณ์ เลขที่ (246) ในวันที่ 16 / 7 / 1441ه ตามประกาศดังต่อไปนี้
الحمد لله رب العالمين، والصلاة والسلام على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين، أما بعد:
สภาอุลามาอฺอาวุโสได้พิจรณา ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองริยาด ในวันพุทธ ตรงกับวันที่ 16 / 7 / 1441ه ในเรื่องราวที่ได้มีการนำเสนอเพื่อพิจารณา เกี่ยวกับข้อผ่อนผัน (ตามบทบัญญัติศาสนา) ในการงดร่วมละหมาดวันศุกร์และการละหมาดห้าเวลาเป็นญมาอะฮฺที่มัสยิด ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคระบาด หรือกลัวการแพร่ระบาดของโรค
จากการพิจรณาตัวบทหลักฐานในบทบัญญัติของอัลอิสลาม เจตนารมณ์และหลักการแห่งบทบัญญัติศาสนา รวมถึงแนวทางของบรรดาปวงปราชญ์ในเรื่องนี้ สภาอุลามาอฺจึงขอชี้แจงดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง : เป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ที่ติดโรคในการไปร่วมละหมาดวันศุกร์และการไปร่วมละหมาดเป็นญมาอะฮฺที่มัสยิด ด้วยคำกล่าวของท่านร่อซู้ล ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
( لا يورد ممرض على مصح ) متفق عليه
" อย่านำผู้ป่วยมารวมกับผู้ที่มีสุขภาพดี "
และคำกล่าวของท่านร่อซู้ล ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
( إذا سمعتم الطاعون بأرض فلا تدخلوها وإذا وقع بأرض وأنتم فيها فلا تخرجوا منها ) متفق عليه
"เมื่อพวกท่านได้ยินถึงโรคระบาดในแผ่นดินใดก็ตาม พวกท่านอย่าได้ไปยังแผ่นดินนั้น เเละเมื่อมันเกิดขึ้นที่แผ่นดินใดในขณะที่พวกท่านอยู่ ณ ที่นั่น พวกท่านก็อย่าได้เดินทางออกจากที่แห่งนั้นเพื่อหนีจากมัน"
ประการที่สอง : ผู้ใดก็ตามที่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ระบุว่าเขาจะต้องถูกกักตัว ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และงดเว้นจากการไปร่วมละหมาดวันศุกร์และละหมาดเป็นญมาอะฮฺที่มัสยิด ให้เขาทำการละหมาดในบ้านหรือในสถานที่กักกันโรค
(كان في وفد ثقيف رجل مجذوم فأرسل إليه النبي صلى الله عليه وسلم إنا قد بايعناك فارجع) أخرجه مسلم
“ปรากฏว่า ในกลุ่มตัวแทนจากเผ่าซะกีฟ มีชายคนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม จึงได้ส่งตัวแทนไปแจ้งแก่เขาว่า แท้จริงเราได้รับการทำสัตยาบันของท่านแล้ว ดังนั้นท่านจงกลับไปเถิด”
ประการที่สาม : ผู้ใดที่เกรงว่าจะประสบอันตรายหรือทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ก็ผ่อนผันให้เขางดเว้นจากการไปร่วมละหมาดวันศุกร์และละหมาดญมาอะฮฺที่มัสยิด
ด้วยคำกล่าวของท่านร่อซู้ล ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
( لا ضرر ولا ضرار) رواه ابن ماجه
“อย่าก่อความเดือดร้อนให้กับตนเอง และอย่าก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น”
และในกรณีที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อมีการงดเว้นจากการไปละหมาดวันศุกร์ ก็ให้ทำการละหมาดซุฮฺรี่ จำนวน สี่ร็อกอะฮฺ แทนการละหมาดวันศุกร์
สภาอุลามาอฺอาวุโส ขอเน้นย้ำแก่ทุกท่าน ให้ปฏิบัติตามข้อมูล คำแนะนำ และกฏระเบียบที่ได้มีการประกาศจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
เช่นเดียวกัน ขอเน้นย้ำแก่ทุกท่านให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา และหันสู่พระองค์ ด้วยการดุอาอฺ แสดงออกต่อพระองค์ซึ่งความมุ่งมารถปารถนาที่จะให้พระองค์ทรงขจัดบททดสอบนี้ให้หมดไป อัลลอฮฺตรัสว่า
( وإن يمسسك الله بضر فلا كاشف له إلا هو وإن يردك بخير فلا راد لفضله يصيب به من يشاء من عباده وهو الغفور الرحيم )
“และหากอัลลอฮฺจะทรงให้ทุกข์ภัย ประสบแก่เจ้าแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดปลดเปลื้องมันได้ นอกจากพระองค์
และหากพระองค์ทรงปราถนาความดีแก่เจ้าแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดกีดกันความโปรดปรานของพระองค์ได้
พระองค์จะทรงให้ประสบแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ จากปวงบ่าวของพระองค์
และพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
( ซูเราะฮฺ ยูนุส โองการที่ ๑๐๗)
และตรัสว่า
( وقال ربكم ادعوني استجب لكم )
“และพระเจ้าของพวกเจ้าตรัสว่า จงวิงวอนขอต่อข้า ข้าจะตอบรับแก่พวกเจ้า”
(ซูเราะฮฺ ฆอฟิร โองการที่ ๖๐)