อธรรมต่อตนเอง
  จำนวนคนเข้าชม  5186


การอธรรมต่อตนเอง

โดย .... อาจารย์อับดุรเราะห์มาน กรีมี

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพ จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และห่างไกลจากข้อห้ามของอัลลอฮฺอย่างครบถ้วน  ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาบรรพชนยุคต้น ของอิสลาม ให้ได้มากที่สุด นั่นแหละจะเป็นแนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิตของเราในโลกดุนยานี้ และจะได้รับความปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในโลกหน้า

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ ยูนุส อายะฮฺที่ 44 ว่า

 

แท้จริง อัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์แต่อย่างใด แต่ทว่ามนุษย์ต่างหากที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง

(ยูนุส 10 : 44)

 

          หมายถึง พระองค์จะไม่ทรงลงโทษผู้ใดโดยปราศจากความผิด - บาป และจะไม่ทรงกระทำการใด ต่อบ่าวของพระองค์ นอกจากตามสภาพที่เขาจะได้รับอย่างเหมาะสม

          มนุษย์อธรรมต่อตัวของพวกเขาเองด้วยการปฏิเสธศรัทธา ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งข้อใช้ ข้อห้ามของพระองค์

 

     อิมาม อัลบะงอวี่ กล่าวว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ทรงครอบครองความสมบูรณ์ ดังนั้น พระองค์จะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์ ถ้าหากว่าเขาถูกบังคับให้กระทำความชั่ว แต่ทว่า มนุษย์นั้น จิตใจของพวกเขามีความสับสนและผันแปรที่อยากจะทำความผิดนั่นเอง

 

     อิมาม อัสสะมัรกอนดี้ กล่าวว่าแท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะไม่ทรงลดหย่อนผลตอบแทนของมนุษย์อย่างเด็ดขาด และจะไม่ให้พวกเขารับภาระแบกบาปของผู้อื่นแต่ทว่า มนุษย์นั้น เป็นผู้ที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเองหมายถึงทำร้ายตัวพวกเขาเองโดยการละทิ้งสัจธรรม

 

     อิมาม อัลกุรฏุบีย์ กล่าวถึงบรรดาผู้ที่ได้รับความยากลำบาก ระทมทุกข์ว่า แท้จริง อัลลอฮฺ มิได้อธรรมต่อพวกเขาแต่ทว่า พวกเขาได้อธรรมต่อตัวของพวกเขาเองด้วยการกุฟุร การฝ่าฝืน และผินหลังให้คำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ

 

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ในฮะดิษ อัลกุดซีย์ รายงานโดยท่าน อบีซัรริน ในบันทึกของอิมาม มุสลิม ที่ว่า

 

     “โอ้ บ่าวของข้า แท้จริง ข้าได้ห้ามการอธรรมต่อตัวของข้า และยังได้กำหนดให้การอธรรมนั้น เป็นที่ต้องห้ามในระหว่างพวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าได้อธรรมซึ่งกันและกัน

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า พวกเจ้าทุกคนเป็นผู้ที่หลงทาง นอกจากผู้ที่ข้าได้ให้ทางนำแก่เขา ดังนั้น พวกเจ้าจงขอทางนำจากข้าเถิด ข้าก็จะให้ทางนำแก่พวกเจ้า

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า พวกเจ้าทุกคนนั้นเป็นผู้ที่หิวโหย นอกจากผู้ที่ข้าได้ให้อาหารแก่เขา ดังนั้น พวกเจ้าจงขออาหารจากข้าเถิด ข้าก็จะให้อาหารแก่พวกเจ้า

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า พวกเจ้าทุกคนนั้นเป็นผู้ที่เปลือยกาย นอกจากผู้ที่ข้าได้ให้เครื่องนุ่งห่มแก่เขา ดังนั้น พวกเจ้าจงขอเครื่องนุ่งห่มจากข้าเถิด ข้าก็จะให้เครื่องนุ่งห่มแก่พวกเจ้า

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า แท้จริง พวกเจ้านั้นทำความผิดทั้งในเวลากลางคืนและเวลากลางวัน ข้านั้นให้อภัยในความผิดทั้งหมด ดังนั้น พวกเจ้าจงขออภัยโทษต่อข้าเถิด ข้าก็จะให้อภัยแก่พวกเจ้า

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า แท้จริง พวกเจ้าไม่สามารถจะทำอันตรายใด ต่อข้าได้เลย พวกเจ้าจงทำอันตรายต่อข้าซิ และพวกเจ้าก็ไม่สามารถจะให้คุณประโยชน์ใด ต่อข้าได้ พวกเจ้าจงยังประโยชน์ให้แก่ ข้าซิ

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า หากว่าคนแรกในพวกเจ้าและคนสุดท้ายในพวกเจ้า ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์และญินทั้งหมดรวมตัวกันในหัวใจที่ยำเกรงของชายคนหนึ่งในหมู่พวกเจ้า ดังกล่าวนั้น ก็ไม่ทำให้อำนาจของข้าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า หากว่าคนแรกในพวกเจ้าและคนสุดท้ายในพวกเจ้า ตลอดจนมนุษย์และญินทั้งหมดรวมตัวกันในจิตใจที่ชั่วช้าที่สุดของชายคนหนึ่งในหมู่พวกเจ้า ดังกล่าวนั้น ก็ไม่ทำให้อำนาจของข้าลดลงแต่ประการใด

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า หากว่าคนแรกในหมู่พวกเจ้าและคนสุดท้ายในหมู่พวกเจ้า ตลอดจนมนุษย์และญินทั้งหมดได้ยืนอยู่บนที่สูงที่เดียวกันแล้วพวกเขาก็ขอต่อข้า ข้าก็จะให้แก่มนุษย์ทุกคนตามที่เขาขอ โดยไม่ทำให้สิ่งที่ข้ามีอยู่ต้องลดหย่อนพร่องลงไปแต่อย่างใด ประดุจดั่งเข็มที่จุ่มลงไปในทะเลโดยไม่ทำให้ น้ำทะเลพร่องลงเมื่อยกเข็มขึ้นมา

     “โอ้ บรรดาบ่าวของข้า แท้จริง กิจการงานของพวกเจ้านั้น ข้าได้รวบรวมมันไว้สำหรับพวกเจ้า หลังจากนั้น ข้าก็จะตอบแทนแก่พวกเจ้าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

     “ดังนั้น ผู้ใดพบกับความดีของเขา เขาก็จงกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺและผู้ใดที่พบไปอื่นจากนั้น เขาก็อย่าได้ตำหนิใครเลย นอกจากตัวของเขาเองเท่านั้น

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย...

          คำสอนจากฮะดิษดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ที่ทรงเพียงพอ พระองค์ไม่ทรงอธรรมต่อคนหนึ่งคนใด และพระองค์จะทรงตอบแทนทุก การงานที่มนุษย์ได้กระทำไว้อย่างครบถ้วน ดังนั้น จำเป็นที่เราและท่านทั้งหลายจะต้องพิจารณาตรวจสอบตัวของเราเอง หากสิ่งที่เราได้กระทำนั้นเป็นความผิด ก็อย่าไปโทษใคร นอกจากตัวของเราเองที่เป็นผู้กระทำ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะเป็นผู้ทรงอภัยโทษในความผิดของเราและท่านทั้งหลาย ตามความประสงค์ของพระองค์ อินชาอัลลอฮฺ

 

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

แท้จริง อัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์แต่อย่างใด แต่ทว่ามนุษย์ต่างหากที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง

(ยูนุส 10 : 44)

 

     หากเราพิจารณาอายะฮฺอัลกุรอานข้างต้น มนุษย์อธรรมต่อตัวเองใน 3 ด้านใหญ่ ก็คือ

1. ในด้านหลักการเชื่อมั่น หรืออะกีดะฮฺ หรือการศรัทธา

2. ในด้านการอิบาดะฮฺ

3. ในด้านมุอามะล๊าต

 

ในด้านอะกีดะฮฺ

          หรือหลักการเชื่อมั่น ก็คือ การให้มีภาคีหรือหุ้นส่วนขึ้นกับอัลลอฮฺ ดังหลักฐาน ในซูเราะฮฺ อันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 48 ที่ว่า

 

     “แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีขึ้นแก่พระองค์ และพระองค์จะทรงอภัยให้แก่สิ่งอื่นนอกเหนือจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮฺแล้วแน่นอน เขาก็ได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวงขึ้น

(อันนิซาอฺ 4 : 48)

 

          ในซูเราะฮฺ ลุกมาน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

      “และจงรำลึกถึง เมื่อลุกมานได้กล่าวตักเตือนสั่งสอนแก่บุตรของเขาว่า

     “โอ้ ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใด ต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริง การตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอันมหันต์อย่างแน่นอน

(ลุกมาน 31 : 13)

 

           เราจะเห็นว่า บรรดาผู้อธรรม ผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นคือผู้อธรรมต่อตัวของเขาเอง ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น คือ ผู้ที่ก่ออธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง

(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 254)

          ฉะนั้น ผู้ที่อธรรมต่อตนเองอย่างมากที่สุดก็คือ ผู้ที่ตั้งภาคีให้มีหุ้นส่วนกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องครับ หากเราศึกษาแนวทางของบรรพชนรุ่นแรก ของอัลอิสลามจะพบว่า พวกเขามีหลักศรัทธาที่เข้มแข็ง ปฏิบัติตามอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยอมรับต่อหลักเกณฑ์ที่ได้มาจากอัลลอฮฺ ปฏิบัติตามแนวทางของอัลลอฮฺ จะไม่นำคุณลักษณะของ อัลลอฮฺมาตีความ มุ่งมั่นเผยแพร่อะกีดะฮฺที่ถูกต้องเที่ยงตรง อดทนและยืนหยัด ด้วยคำพูด ความเชื่อมั่น และศรัทธา

 

ในด้านการอิบาดะฮฺ

          มนุษย์ถูกสั่งใช้ให้กระทำสิ่งที่เป็นฟัรฎู เช่น การละหมาดในวันหนึ่ง 5 เวลา นำแบบฉบับ (ซุนนะฮฺ) ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มาปฏิบัติแต่มีบางคนไม่ได้เก็บรักษาไว้ให้มั่นคง ไม่รักษาสิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นฟัรฎู ฉะนั้น จึงกลายเป็นผู้ที่อธรรมต่อตนเอง

          บางทีมีในการกระทำบางอย่างที่มิใช่อิสลามมาปะปนในเรื่องของอิสลาม เช่น อุตริกรรมต่าง ที่ปฏิบัติกันโดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ดำเนินตามบรรพบุรุษที่ได้กระทำกันมา ไม่ใส่ใจว่าจะมีแบบอย่างมาจากท่านนบีหรือไม่? เช่นนี้แหละคือ การอธรรมต่อตัวของเขาเอง

 

ในด้านมุอามะละฮฺ

          จิตใจของมนุษย์มีความโลภ และหลงเป็นนิสัยอยู่แล้ว มีเท่าไรก็ไม่พอ ตะเกียกตะกาย ไม่มีที่สิ้นสุด หวังลม แล้ง ไปวัน ไม่มีความพอเพียง จนกว่าดินจะกลบหน้าพวกเขา หลงระเริงในความเพริศแพร้วของโลกดุนยา ไม่ได้เหลียวมองโลกหน้าว่าทรัพย์สมบัติจะได้มาทางใด ฮะลาล หรือฮะรอม หรือชุบุฮ๊าต ไม่ใส่ใจ คิดแต่จะเอามาครอบครองเอาไว้ก่อน การอยู่ร่วมกันในสังคม ก็ไม่เคยใสใจใครว่าจะเป็นอย่างไร? ขอเพียงให้ตัวเองอยู่รอด มีหน้ามีตาในสังคมก็พอ ดังกล่าวคือ การอธรรมที่ตัวของมนุษย์เองเป็นผู้ก่อขึ้น เพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเขาเอง

ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

 

และการมีชีวิตความเป็นอยู่ในโลกนี้ หาใช่อื่นใดไม่ นอกจากเป็นสิ่งประดับประดา และการหลอกลวงเท่านั้น

(อัลฮะดี๊ด 57 : 20)

 

           เมื่อมนุษย์อธรรมต่อตัวเอง บางทีเขาก็รู้สึกตัว บางทีเขาก็ไม่รู้สึกตัว ฉะนั้น มนุษย์ที่ดีก็คือ ผู้ที่น้อมรับความผิดในการก่ออธรรมของเขาเอง และขอต่ออัลลอฮฺให้ทรงอภัยโทษให้แก่เขา และให้สำนึกอยู่เสมอว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเฝ้าสอดส่องการกระทำของพวกเขาอยู่ ฉะนั้น จงดำรงชีวิตอยู่อย่างนอบน้อม และเกรงกลัวการลงโทษของพระองค์ เสมือนกับว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงอยู่ต่อหน้าเขา แล้วเขาก็กล่าวว่า

 

     “โอ้ พระเจ้าของพวกเหล่าข้าพระองค์ เหล่าข้าพระองค์ได้ก่ออธรรมต่อตัวของเหล่าข้าพระองค์เอง หากพระองค์ไม่ทรงอภัยโทษแก่เหล่าข้าพระองค์ และไม่ทรงเอ็นดูเมตตาแก่เหล่าข้าพระองค์แล้ว เหล่าข้าพระองค์ ก็ต้องกลายเป็นพวกที่ขาดทุนอย่างแน่นอน

(อัลอะอฺร็อฟ 7 : 23)

 

          อิบาดะฮฺต่าง ที่เราได้ปฏิบัติไปนั้น เราจะได้รับความพอพระทัยจากอัลลอฮฺหรือไม่? ก็ไม่มีใครรู้ ฉะนั้น งานที่ได้กระทำไป อาจจะต้องประสบกับความขาดทุน เราก็ไม่รู้ และหลงคิดไปว่า งานนั้นเป็นงานที่ดี เราจึงได้กระทำไป อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟิ อายะฮฺที่ 103 – 104 ว่า

 

     “(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า จะให้เรา (อัลลอฮฺ) แจ้งแก่เหล่าพวกท่านไหม ถึงบรรดาผู้ที่มีการงานที่ขาดทุนยิ่ง?”

     “คือ บรรดาผู้ที่การขวนขวายของพวกเขาทำให้สูญเปล่าไปในการมีชีวิตในโลกดุนยานี้

     ขณะที่ พวกเขาคิดว่า แท้จริง พวกเขานั้นกระทำความดีแล้ว

 

           ความหมายของอายะฮฺก็คือ ผู้ที่ขาดทุนที่แท้จริง คือ ผู้ที่กระทำงานหรือทำอิบาดะฮฺต่าง อย่างเต็มที่ และเขาคิดว่า การกระทำการงานของเขานั้น ดีงามถูกต้องตามแบบอย่างที่สุดแล้ว แต่ทว่าการกระทำของพวกเขาตกอยู่ในการหลงผิด ห่างไกลจากสัจธรรมและแบบอย่างที่ถูกต้อง จมอยู่ในความหลงผิดโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ถูกต้องตรงตามบัญญัติศาสนาทั้งกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สุดท้าย การกระทำของพวกเขาก็ถูกสอบสวน ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

           ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

 

     “ดังนั้น ผู้ที่ความชั่วแห่งการงานของเขาได้ถูกกำหนดให้เพริศแพร้วแก่เขาแล้วเขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งดีกระนั้นหรือ

     เพราะแท้จริง อัลลอฮฺจะทรงทำให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์หลงผิด และจะทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ 

     ดังนั้น เจ้าอย่าทำให้จิตใจของเจ้ากลับกลายเป็นระทมทุกข์ เนื่องเพราะพวกเขาเลย แท้จริง อัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเขากระทำ

(ฟาฏิร 35 : 8)

 

          การกระทำต่าง ของเรานั้น ล้วนเกิดจากตัวของเราเองทั้งสิ้น ฉะนั้น ผู้ที่อธรรมได้ก่อกรรมทำเข็ญแก่ตัวเอง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวิงวอนขอดุอาฮฺต่ออัลลอฮฺ ให้มีจิตใจที่มีอีมานอย่างแท้จริง อย่าได้อธรรมต่อตัวเองเลย ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

 

แท้จริง อัลลอฮฺนั้น จะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์แต่อย่างใด

แต่ทว่ามนุษย์ต่างหากที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง

(ยูนุส 10 : 44)

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร (25 มกราคม 2563)