คนตายอยากกลับมาบริจาค
  จำนวนคนเข้าชม  4767


คนตายอยากกลับมาบริจาค

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา 

 

          ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในช่วงระยะเวลาที่เราใกล้จะถึงอะญัลของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในช่วงที่เรากำลังจะหมดลมหายใจสุดท้าย เป็นช่วงที่จะเกิด غَرغَرة ฆ็อรฺเฆาะเราะฮฺ ก็คือเสียงอ้อแอ้หรือเสียงที่ลูกกระเดือกก่อนจะหมดลมหายใจนั้น มีคำอธิบายว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เราได้ทราบแล้วในตอนนั้นว่า เมื่อเราหมดลมหายใจแล้ว เราจะได้ไปทางไหน จะไปสวรรค์หรือจะไปนรก ...

 

          สำหรับคนที่รู้ตัวเองว่าจะต้องไปนรก รู้ตัวว่าได้ทำมะอ์ศิยะฮฺ ได้ทำความผิด ได้ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาได้ประจักษ์แล้วในขณะนั้นว่า การฝ่าฝืนของเขานั้น จะนำเขาไปสู่การถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาก็จะขอผ่อนผัน ขอประวิงเวลาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อที่จะได้กลับมาทำอะมัลศอลิหฺ กลับมาทำความดีต่าง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้แล้ว มันสายไปแล้ว ...

 

          การเตาบะฮฺ การกลับเนื้อกลับตัวไม่ถูกตอบรับแล้วในช่วงเวลานี้ ...การเตาบะฮฺจะถูกตอบรับในช่วงก่อนที่วิญญาณจะถึงลูกกระเดือกเท่านั้น ...ซึ่งความดีประการหนึ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า คนตายเลือกอยากที่จะกลับมาทำ และหวังว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงประวิงเวลาให้เขาได้กลับไปแก้ตัว อย่าเพิ่งให้เขาตาย เพื่อที่เขาจะกลับไปทำความดีนี้ ...ความดีนี้คืออะไร ?

 

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมุนาฟิกูน อายะฮฺที่ 10 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَأَنفِقُواْ مِن مَّا رَزَقۡنَٰكُم مِّن قَبۡلِ أَن يَأۡتِيَ أَحَدَكُمُ ٱلۡمَوۡتُ فَيَقُولَ رَبِّ لَوۡلَآ أَخَّرۡتَنِيٓ إِلَىٰٓ أَجَلٖ قَرِيبٖ فَأَصَّدَّقَ وَأَكُن مِّنَ ٱلصَّٰلِحِينَ

 

     “และจงบริจาคจากสิ่งที่เราได้ให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ก่อนที่ความตายจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใดในหมู่พวกเจ้า 

     แล้วเขาก็จะกล่าวว่า โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ หากแม้ว่าพระองค์จะทรงประวิงเวลา(การตาย) อีกเพียงเล็กน้อยให้แก่ข้าพระองค์ เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้บริจาค และข้าพระองค์ก็จะได้อยู่ในหมู่คนดีทั้งหลาย

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวถึง พวกมุนาฟิก ที่พวกเขามีความกลับกลอกในหัวใจ พวกเขาแสดงตัวว่าเป็นมุสลิมต่อหน้าผู้คนทั้งหลาย แต่ในใจของพวกเขานั้นตรงกันข้า พวกเขาต่อต้าน และบอกต่อพวกเขากันเองว่า อย่าบริจาคให้แก่มุสลิมที่อยู่กับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...

          พวกเขาซึ่งเป็นมุนาฟิกจึงไม่เคยบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเลย ดังนั้น เมื่อเวลาที่อะญัลของพวกเขามาถึง พวกเขาจึงได้ขอยืดเวลาของพวกเขาออกไปอีกหน่อย เพื่อที่พวกเขาจะได้ فَأَصَّدَّقَ พวกเขาจะได้กลับไปทำเศาะดะเกาะฮฺ กลับไปบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

 

     คำว่า เศาะดะเกาะฮฺ ตรงนี้ มีคำอธิบายว่า หมายถึง ทั้งซะกาตและการบริจาคโดยความสมัครใจ ...

 

          เมื่อคนใกล้จะตาย เขาขอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขอให้เขาได้กลับมาบริจาคก่อน ก่อนที่เขาจะตาย ...ด้วยเหตุนี้ เราที่เป็นคนเป็น ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ก็เลยมาหาดูว่า ทำไมคนตายจึงอยากจะกลับมาบริจาค ... การบริจาคมีสิ่งดี อย่างไรหรือ ?

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในอัลกุรอานและอัลหะดีษได้บอกถึงสิ่งดี ที่เป็นความประเสริฐ เป็นผลบุญ หรือเป็นผลตอบแทนของการบริจาคไว้อย่างมากมาย ซึ่งผลของการบริจาคนี้ นอกจากมันจะออกดอกออกผลในดุนยานี้แล้ว มันยังจะไปออกดอกออกผลในโลกอาคิเราะฮฺอีกด้วย เรามาดูว่า ความประเสริฐของการบริจาคมีอะไรบ้าง ?

 

     ♦ ประการแรก อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบีมาลิก อัลฮาริษ บินอาศิม อัลอัชอะรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวตอนหนึ่งว่า

 

وَالصَّدَقَةُ بُرْهَانٌ،     “การบริจาคเป็นหลักฐาน

 

          อันเนื่องมาจากว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้จัดให้การบริจาคนั้นเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งแยกระหว่างการเป็นมุอ์มินกับมุนาฟิก ...มุสลิมคนใดที่บริจาค เขาก็เป็นมุอ์มิน ใครที่เขาตั้งใจไม่บริจาค เขาก็เป็นมุนาฟิก ดังนั้น การบริจาคของคน หนึ่งนั้น จึงเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า คน ๆนั้นเป็นมุอ์มิน ไม่ใช่มุนาฟิก 

 

         ซึ่งผลตอบแทนของการเป็นมุนาฟิกในโลกอาคิเราะฮฺ ก็คือ จะต้องพำนักอยู่ในนรกชั้นต่ำสุด ชั้นต่ำกว่าของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเสียอีก และเป็นการพำนักอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล ไม่ใช่เข้าไปประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็ออกมา แล้วก็ไม่ใช่เหมือนกับการเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลแล้วก็ออกมา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการพำนักอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล อยู่แล้วอยู่เลย ไม่ได้ออกมาอีกแล้ว ดังนั้น การบริจาคจึงเป็นหนทาง เป็นใบเบิกทางที่นำไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

     ♦ ประการที่สอง ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 261 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

مَّثَلُ الَّذِينَ يُنفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ كَمَثَلِ حَبَّةٍ أَنبَتَتْ سَبْعَ سَنَابِلَ فِي كُلِّ سُنبُلَةٍ مِّائَةُ حَبَّةٍ ۗ وَاللَّهُ يُضَاعِفُ لِمَن يَشَاءُ ۗ وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ

 

     “อุปไมย บรรดาผู้บริจาคทรัพย์สมบัติของพวกเขาในทางของอัลลอฮฺนั้น อุปมาดั่งเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวง

     ซึ่งในแต่ละรวงนั้นมีร้อยเมล็ด และอัลลอฮฺก็จะทรงเพิ่มพูนให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์อีก และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยกอุทาหรณ์ถึงเมล็ดพืช เช่น เมล็ดข้าวโพด หรือเมล็ดข้าวชนิดต่าง ที่เมื่อเรานำมาเพาะปลูก... เมล็ด ๆหนึ่ง เมื่อมันเจริญเติบโต มันจะออกดอกออกผลเป็นรวง 7 รวง และในแต่ละ 1 รวงนั้น มันจะมีเมล็ดอยู่ในรวงนั้น 100 เมล็ด ก็หมายความว่า เมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งจะขยายผลได้ถึง 700 เมล็ด ซึ่งการบริจาคก็เช่นเมล็ดพืชนั่นแหละ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า การบริจาคของเราในแต่ละครั้งนั้น เราจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 700 เท่า จากที่เราบริจาคไป หรืออาจจะเพิ่มมากกว่า 700 เท่าก็ได้ หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์

 

          ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ให้ความมั่นใจแก่เราว่า การบริจาคของเรานั้น จะไม่ทำให้ทรัพย์สมบัติของเรา เงินทองของเราที่เราได้บริจาคไปในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น มันจะลดน้อยลง แล้วมันก็ไม่มีวันหมด เพราะมันไม่ได้สูญหายไปไหน ยิ่งเราบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามากเท่าไร พระองค์ก็จะทรงยิ่งเพิ่มพูนให้แก่เรามากยิ่ง ๆขึ้นไป

 

     อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«مَا نَقَصَتْ صَدَقَةٌ مِنْ مَالٍ،     “การบริจาคนั้นไม่ได้ทำให้ทรัพย์สมบัติลดน้อยลง...”

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย บางคนอาจจะคิดว่า เรามีฐานะไม่สู้ดี อยากจะบริจาคจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ก็อาจจะคิดว่า ผลตอบแทนที่เราจะได้รับ จะสู้คนที่เขาบริจาคเป็นจำนวนมาก ไม่ได้ แต่ท่านอย่าลืมว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า

 

 وَاللَّهُ يُضَاعِفُ لِمَن يَشَاءُ ۗ พระองค์ทรงตอบแทนให้ได้มากเท่าที่พระองค์ทรงประสงค์

 

          ก็หมายความว่า การบริจาคของเรา 1 บาทในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ทำด้วยหัวใจที่ปรารถนาความโปรดปรานจากพระองค์ บริจาคเพื่อหวังให้ตัวเองรอดพ้นจากการลงโทษของพระองค์ บริจาคเพราะยึดมั่นว่าเป็นบทบัญญัติของพระองค์ อย่างนี้มันนำไปสู่การที่เราจะได้รับความเมตตาจากพระองค์ ดังนั้น ผลตอบแทนที่เราทำจากการบริจาคเงิน 1 บาท อาจจะได้รับเทียบเท่ากับผลตอบแทนที่คนที่เขาบริจาค 10 ล้าน หรือ 100 ล้านบาทได้รับก็เป็นได้ ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ( วัลลอฮฺ อะลัม )

 

      ♦ ประการที่สาม ในวันกิยามะฮฺ เมื่อมนุษย์ทุกคนฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพื่อรอกระบวนการสอบสวนและตัดสินจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

 

          สภาพการณ์ในวันนั้นก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงให้มีดวงอาทิตย์ ซึ่งจะอยู่เหนือศีรษะเราระยะห่างประมาณ 1 ไมล์ หมายความว่า เป็นระยะที่ใกล้กับเรามาก ทำให้เราต้องยืนรออยู่ท่ามกลางความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ ผลก็คือ เราจะมีเหงื่อออก ปริมาณของเหงื่อของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอะมัลศอลิหฺ หรือการกระทำของเขาที่เขาทำไว้ในโลกดุนยา 

 

          บางคนมีเหงื่อท่วมแค่ข้อเท้า บางคนท่วมถึงหัวเข่า บางคนท่วมถึงเอว บางคนต้องจมมิดในเหงื่อของตัวเอง ซึ่งสภาพอย่างนี้แหละ เราไม่ต้องไปสงสัย หรือไปคิดมาก ว่า เหงื่อจะท่วมคนแต่ละคนไม่เท่ากันได้อย่างไร เพราะนี่คือเรื่องอิลมุลเฆ็บ เรื่องของสิ่งเร้นลับที่เราต้องอีมาน ต้องศรัทธาเชื่อไปตามที่หลักฐานบอกมาอย่างนั้น ไม่ต้องไปสงสัยอะไร เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสอย่างไร และท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกไว้อย่างไร ก็ให้เชื่อมั่นไปตามนั้น เพราะนี่คือเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          เมื่อเราต้องได้รับความร้อนแรงจากดวงอาทิตย์เช่นนี้ เราก็ย่อมต้องการร่มเงาที่จะหลบความร้อนแรงนั้น แต่ในวันกิยามะฮฺ มันไม่มีร่มเงาใด อีกแล้ว ร่มก็ไม่มี ต้นไม้ก็ไม่มี เต็นท์ก็ไม่มี ไม่มีที่กำบังใด ๆทั้งสิ้น จะมีก็แต่เพียงร่มเงาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่พระองค์จะทรงมอบให้แก่บุคคลเพียงเจ็ดกลุ่มเท่านั้น

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ในวันกิยามะฮฺ จะมีบุคคล 7 กลุ่มเท่านั้น ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลาจะทรงให้ร่มเงาของพระองค์แก่พวกเขาในวันซึ่งไม่มีร่มเงาใด ๆอีกแล้วนอกจากร่มเงาของพระองค์ และหนึ่งในเจ็ดกลุ่มนั้นก็คือ

 

وَرَجُلٌ تَصَدَّقَ بِصَدَقَةٍ فَأَخْفَاهَا حَتَّى لَا تَعْلَمَ شِمَالُهُ مَا تُنْفِقُ يَمِينُهُ

 

คนที่เขา تَصَدَّقَ บริจาคโดยที่เขาปกปิดมันเอาไว้ จนกระทั่งมือซ้ายไม่รู้ว่ามือขวาของเขาได้บริจาคสิ่งใดไปบ้าง

 

          คำว่า تَصَدَّقَ ตรงนี้ มีคำอธิบายว่า หมายถึง การบริจาคที่เป็นความสมัครใจ ไม่ใช่เรื่องของซะกาต ซึ่งใครก็ตามที่เขาบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยที่เขาปกปิดมันไว้ จนกระทั่งมือซ้ายยังไม่รู้เลยว่า มือขวาได้บริจาคอะไรไปบ้าง ก็หมายความว่า เขาบริจาคด้วยกับ ความอิคลาสต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา บริจาคเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น ไม่ต้องการโอ้อวดให้ใครรู้ ...การบริจาคอย่างนี้แหละที่จะทำให้เขาได้รับร่มเงาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺ

 

     ♦ ประการที่สี่ อัลหะดีษ ( ระดับหะซัน ) ในบันทึกของท่านอัลบัซซาร รายงานจากท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวถึงการงานศอลิหฺ ที่เป็นความดี 7 ประการที่เมื่อทำแล้วจะส่งผลบุญให้เขาทั้งในโลกดุนยา และสืบเนื่องต่อไปไม่ขาดสาย แม้เขาเขาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังได้รับผลบุญ ยังจะได้รับผลตอบแทนเรื่อยไป ...ส่วนหนึ่งของการงานเหล่านี้เรียกว่า เศาะดะเกาะฮฺ ญารียะฮฺ ได้แก่อะไรบ้าง

 

: مَنْ عَلَّمَ عِلْماً ، أَوْ أَجْرَى نَهْراً ، أَوْ حَفَرَ بِئْراً ، أَوْ غَرَسَ نَخْلاً أَوْ بَنَى مَسْجِداً ، أَوْ وَرَّثَ مُصْحَفاً ، أَوْ تَرَكَ وَلَداً يَسْتَغْفِرُ لَهُ بَعْدَ مَوْتِهِ»

 

     “ - การที่คน ๆหนึ่งได้สั่งสอนเผยแผ่ความรู้ อันเป็นความรู้ที่ก่อประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ที่ทำให้ผู้คนรู้จักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..รู้จักบทบัญญัติของพระองค์ ..รู้จักเราะซูลของพระองค์ ..อุละมาอ์บอกว่า สิ่งนี้รวมไปถึงผู้คนที่บริจาค หรือมีส่วนทำให้ความรู้ของคน ๆนั้นได้ถูกเผยแผ่ไปด้วย เช่น ทำซีดี ทำคลิปเสียง ทำหนังสือ ทำให้ผู้คนในกลุ่มต่าง ๆได้รับประโยชน์จากความรู้นั้น

 

     - การขุดแม่น้ำลำคลอง ขุดบ่อน้ำ โดยมีเจตนาเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์จากมัน ใช้ในการดื่มกิน ใช้ในการการดำรงชีวิต ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือแหล่งน้ำอื่นใดก็ได้ที่ช่วยให้ความสะดวกสบายแก่ผู้คนในการเข้าถึงแหล่งน้ำ อย่างเช่น การติดตั้งตู้บริการน้ำ ซึ่งการลงมือลงแรง หรือบริจาคเพื่อจัดทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ถือเป็นการทำเศาะดะเกาะฮฺ ญารียะฮฺ มีผลบุญตอบแทนต่อเนื่องไม่ขาดสาย แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว

 

     - การปลูกต้นอินทผลัม หรืออุละมาอ์บอกว่า ต้นไม้อื่นใดก็ได้ ที่เราได้มอบผลผลิตของมันให้แก่ผู้คน ถือเป็นวะกัฟ กุศลทานอันถาวร อย่างนี้ เขาจะได้ผลบุญสืบเนื่องทุกครั้งที่มีผู้กินผลของมัน

 

     - การสร้างมัสญิด หรือการมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อสร้างมัสญิด เขาจะได้รับผลบุญได้บ้านในสวรรค์ ...ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆที่มีผู้ทำในมัสญิดที่เรามีส่วนร่วมในการบริจาคหรือก่อสร้าง เช่น ละหมาด อ่านอัลกุรอาน เขาก็จะได้รับผลบุญจากการที่มีผู้คนทำกิจกรรมต่าง ๆเหล่านั้นโดยครบถ้วน

 

     - การแจกมุศฮัฟ (อัลกุรอาน ) ด้วยการจัดพิมพ์ หรือบริจาคเพื่อการจัดพิมพ์ หรือซื้อหามุศฮัฟ แล้วนำไปวะกัฟ แก่มัสญิด หรือโรงเรียนสอนศาสนาต่าง อย่างนี้ เขาจะได้รับผลบุญตอบแทน และได้รับต่อไปในทุกครั้งที่มีผู้นำมุศฮัฟเหล่านั้นไปอ่าน หรือนำไปปฏิบัติ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือ ความประเสริฐหรือผลบุญของการบริจาคเพียงสี่ประการเท่านั้นที่มีโอกาสนำมาเสนอในช่วงเวลาที่จำกัดนี้ ซึ่งความจริงยังมีความประเสริฐ ยังมีผลบุญอีกมากมายตามหลักฐานที่ปรากฏในอัลกุรอาน และอัลหะดีษ ซึ่งถ้าเราได้ไปค้นคว้าต่อและได้นำมันมาปฏิบัติ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราอย่างมาก 

 

        แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับความประเสริฐที่นำมาเสนอเพียงสี่ประการนี้ หากเราทำได้ ผลบุญของมันจะทบเท่าไม่รู้ว่ากี่ทวีคูณ ซึ่งมันก็จะยังประโยชน์ให้แก่ตัวเราทั้งในโลกดุนยา และในโลกอาคิเราะฮฺ มาช่วยสร้างความสะดวกสบายให้แก่เรา ในการที่เราต้องถูกสอบสวนตามกระบวนการต่าง ๆที่จะเกิดขึ้นในโลกอาคิเราะฮฺ ซึ่งคนที่เขาใกล้จะสิ้นลมหายใจนั้น เขาได้ประจักษ์แล้ว แต่เขาไม่สามารถกลับมาแก้ตัวได้แล้ว ดังนั้น เราที่เป็นคนเป็น ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ก็หวังว่าจะได้ตระหนัก และดำรงรักษาเรื่องการบริจาคไว้ให้มั่นคง

 

        สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดประทานอัตเตาฟีก อนุมัติความสำเร็จให้แก่เราในการเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการบริจาค และให้การบริจาคของเราทำเพื่อแสวงหาความความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำโดยอิคลาศเท่านั้น ทำเพื่อให้ตนเองได้ดำรงอีมานหรือความศรัทธาเอาไว้ และให้ได้เป็นแบบอย่างให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม

 

 

( คุฏบะฮฺวันศุกร์มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )