หลักการเคารพความเห็นต่าง
  จำนวนคนเข้าชม  7986


หลักวะสะฏียะฮ์ : หลักการเคารพความเห็นต่าง

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข

บทนำ

           อัลลออฮ ทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ โดยให้มนุษย์มีสติปัญญาที่ล้ำเลิศ เหนือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นสัตว์สังคมที่มีธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ และลักษณะภายนอก และด้านความคิด สติปัญญา และอารมณ์ ด้วยธรรมชาติและความเป็นจริงของมนุษย์

          อัลลอฮได้บัญญัติอิสลามให้เป็นระบอบของการดำเนินชีวิตที่มีดุลยภาพ (วะสะฏียะห์) เพื่อให้มนุษย์ได้ดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีทางสายกลาง ที่มีความพอเหมาะพอดี ไม่สุดโต่งและไม่หย่อนยาน หนึ่งในวิถีดังกล่าวคือการให้เกียรติ และการเคารพความเห็นต่าง ซึ่งเป็นหลัก และปัจจัยที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมสมานฉันท์ บทความนี้จึงขอมีส่วนในการให้ความกระจ่าง เกี่ยวกับหลักวะสะฏียะห์ หลักการเคารพความเห็นต่าง ดังนี้ :

 

ความเห็นต่างในอิสลาม

นิยามความเห็นต่าง

          ความเห็นต่าง หมายถึง ความคิดเห็นที่ต่างจากผู้อื่น หรือกลุ่มอื่นโดยมีเหตุผล หรือหลักฐานสนับสนุน (อัลญุรญานีย์1996.135) ความเห็นต่างทางศาสนา หมายถึง ความเห็นต่างในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบัญญัติศาสนา ในด้านหลักความเชื่อ หลักจริยธรรม หลักการปฏิบัติศาสนกิจ หลักการปฏิบัติทางสังคม ธุรกรรมต่างๆ และอื่นๆ

 

ความเห็นต่างเป็นธรรมชาติ และกฏเกณฑ์ของอัลลอฮฺ

          นับเป็นพระประสงค์แห่งอัลลอฮ์ที่พระองค์สร้างจักรวาล โลก มนุษย์ และสรรพสิ่งทั้งหลายให้มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ความแตกต่างและความหลากหลายของสรรพสิ่ง เป็นความงดงาม และเป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ และเดชานุภาพของผู้สร้าง คืออัลลอฮ์ ในส่วนของมนุษย์นั้น อัลลอฮ์ทรงสร้างให้มนุษย์มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ (ดูอัลกุรอาน 49/13) ด้านสีผิว และภาษา (ดูอัลกุรอาน 30/22) และด้านอุดมการณ์ ความคิด (ดูอัลกุรอาน 5/48 และ 11/118) อัลลอฮได้ตรัสว่า :

{ وَلَوْ شَاءَ رَبُّكَ لَجَعَلَ النَّاسَ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلَا يَزَالُونَ مُخْتَلِفِينَ إِلَّا مَن رَّحِمَ رَبُّكَ . الآية }( سورة هود آية 118-119)

     “ถ้าแม้นว่า พระผู้อภิบาลของเจ้าประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทรงทำให้มนุษย์ทั้งหมด เป็นประชาชาติเดียวกัน (อยู่ในแนวทางเดียวกัน) แต่พวกเขาก็ยังขัดแย้งกันอยู่ ยกเว้นผู้ที่ พระผู้อภิบาลของเจ้าทรงมีเมตตา

 

ประเภทของความเห็นต่าง

ความเห็นต่าง อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.ความเห็นต่างที่ไม่ชอบ (اختلاف مذموم)

2.ความเห็นต่างที่ชอบ (اختلاف محمود)

          ความเห็นต่างที่ไม่ชอบ คือความเห็นต่างที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ความแตกแยกอันมีสาเหตุมาจาก ปัญหาด้านจริยธรรมของมนุษย์ เช่นการหลงตัวเอง การมีอคติ การเห็นแก่ตัว การตามอารมณ์ การลุ่มหลงในดุนยา การรีบด่วนตัดสิน การกล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน การขาดการตรวจสอบให้มั่นใจในข้อมูลข่าวสาร

          การคลั่งไคล้ในตัวบุคคล คลั่งไคล้ในมัซฮับ คลั่งไคล้ในกลุ่มหรือองค์กร คลั่งไคล้ในพรรคการเมือง คลั่งไคล้ในท้องถิ่น และคลั่งไคล้ในตัวผู้นำเป็นต้น ความเห็นต่างที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าว เป็นความเห็นต่างที่ก่อให้เกิดการขัดแย้ง และการแตกแยก เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประณาม และทรงห้ามไว้ในอัลกุรอานในหลายโองการ เช่นอัลลอฮ์ได้ตรัสว่า :

{وَاعْتَصِمُوا بِحَبْلِ اللَّهِ جَمِيعًا وَلَا تَفَرَّقُوا }(سورة آل عمران آية 103)

เจ้าทั้งหลายจงยึดสายเชือกของอัลลอฮ โดยพร้อมเพรียงกัน อย่าได้แตกแยกกัน

{وَلَا تَكُونُوا كَالَّذِينَ تَفَرَّقُوا وَاخْتَلَفُوا مِن بَعْدِ مَا جَاءَهُمُ الْبَيِّنَاتُ . الآية}(سورة آل عمران آية 105)

และพวกเจ้าอย่าเป็น เช่นบรรดาพวกที่แตกแยกกัน และขัดแย้งกัน

หลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้มายังพวกเขาแล้ว

          ส่วนความเห็นต่างที่ชอบนั้น ได้แก่ความเห็นต่างในรูปของทัศนะ และมุมมอง ที่ต่างกัน อันมีสาเหตุมาจากแนวคิดวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ในประเด็นปัญหาทางวิชาการ ตัวอย่างเช่น ความเห็นต่างในประเด็นปลีกย่อยของบทบัญญัติศาสนา (ชะรีอะห์) ความเห็นต่างในบางประเด็นของหลักความเชื่อที่ไม่กระทบต่อหลักมูลฐานที่เด็ดขาด ความเห็นต่างเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง และแนวทางในการปฏิรูปสังคม

           ความเห็นต่างในการประเมินศาสตร์บางสาขา เช่น อิลมุลกะลาม (เทวะวิทยา) มันเต๊ก (ตรรกวิทยา) ฟัลสะฟะฮ์ (ปรัชญา) และตะเซาวุฟ (วิชาที่ว่าด้วยการขัดเกลาทางจิตวิญญาณ ) ความเห็นต่างในการประเมินเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และนักปราชญ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นต้น ความเห็นต่างในประเด็นเหล่านี้ เป็นความเห็นต่างที่ศาสนาอนุญาตให้เกิดขึ้นได้ โดยที่ทุกฝ่าย ต้องระมัดระวังในการรักษามารยาทของการเห็นต่าง ทั้งด้านวิชาการ และจริยธรรม

 

ความเห็นต่างเป็นความจำเป็นทางศาสนา

          มีเหตุผลทางธรรมชาติหลายประการทีทำให้ความเห็นต่างในประเด็นปลีกย่อยทางศาสนาเป็นสิ่งจำเป็น อาทิเช่น :

1.ธรรมชาติทางด้านศาสนา (เทววิทยา)

          อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประสงค์ที่จะให้ข้อบัญญัติทางศาสนา (อะห์กาม) ของพระองค์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่มีตัวบทรองรับ และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีตัวบทรองรับ ในส่วนของตัวบทที่รองรับนั้น

     ♦ บางประเภทเป็นตัวบทที่ชัดเจน เรียกว่า มุฮ์กะมาต

     ♦ บางประเภทเป็นตัวบทไม่ชัดเจน (มีนัยยะมากกว่า 1 นัยยะ) เรียกว่ามุตะชาบีฮาต

     ♦ บางประเภทของตัวบทให้ความรู้ เป็นเด็ดขาดเรียกว่า ก๊อตอีย๊าต และ

     ♦ บางประเภทให้ความรู้ในเชิงคาดคะเน เรียกว่าซอนนียาต

     ♦ บางประเภทไม่รองรับการตีความ เรียกว่า เศาะเรียะฮ์ และ

     ♦ บางประเภทรองรับการตีความเรียกว่ามุอัลวัล

          ดังกล่าวมานี้ย่อมแสดงว่าอัลลอฮ์ประสงค์ที่จะให้ข้อบัญญัติส่วนหนึ่งมาจากการใช้สติปัญญาของมนุษย์ผ่านกระบวนการวินิจฉัย(อิจญ์ติฮาด)ทางศาสนาซึ่งมีความต่างและความหลากหลาย หาไม่แล้วอัลลอฮ์ ก็คงจะให้ตัวบททั้งหมดเป็นตัวบทที่มีความชัดเจน มีความหมายไปในทิศทางเดียว และไม่รองรับการตีความเป็นอย่างอื่น

 

2.ธรรมชาติทางด้านภาษาศาสตร์

          ตัวบทคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะห์ (แบบฉบับของท่านนบี) เป็นตัวบทที่สำคัญยิ่งในอิสลาม ตัวบทเหล่านี้เป็นภาษาอาหรับที่มีรูปแบบและโครงสร้างทางภาษาเหมือนกับภาษาอื่นๆโดยทั่วไป มีคำทีมี ความหมายร่วม ความหมายเดี่ยว คำที่อาจสื่อได้ทั้งในความหมายเดิม และความหมายในเชิงอุปมาอุปไมย คำที่เข้าใจโดยตรง คำที่เข้าใจในมุมกลับหรือในมุมย้อนแย้ง คำที่มีความหมายทั่วไป คำที่มีความหมายเฉพาะ คำที่แสดงความจริง ตามสภาพที่เป็นอยู่โดยไม่มีการจำกัด คำที่แสดงถึงหน่วยโดยมีการจำกัด ฯลฯ รูปคำเหล่านี้มีปรากฏอยู่ทั่วไปในอัลกุรอาน และอัซซุนนะห์ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้มุมมองของนักปราชญ์ในการวินิจฉัยข้อกำหนดทางศาสนา แตกต่างกันไป

 

3.ธรรมชาติทางมนุษยวิทยา

           อัลลอฮ์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความหลากลายเป็นธรรมชาติ นอกจากความหลากหลายทางด้านรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ และเส้นลายนิ้วมือแล้ว มนุษย์ยังมีความหลากหลายด้านอุปนิสัย บุคลิกภาพ แนวคิด มุมมอง และรสนิยมในด้านต่างๆ อีกด้วย มนุษย์บางคนจริงจัง บางคนง่ายๆ บางคนยึดมั่นตัวบทเป็นสำคัญ แต่บางคนใส่ใจในความหมายที่ซ่อนเร้นและจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในตัวบทด้วย มนุษย์บางคนชอบไต่ถามเฉพาะสิ่งดีๆ แต่บางคนชอบไต่ถามสิ่งไม่ดีเพื่อจะได้ระวังตัว บางคนมีนิสัยชอบเก็บตัว แต่บางคนมีนิสัยชอบเปิดเผยเป็นต้น

          ความหลากหลายเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความแตกต่างทางทัศนะและจุดยืนในด้านฟิกฮ์ ด้านการเมือง และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังตัวอย่าง ความแตกต่างของเศาะฮาบะห์ 2 ท่าน คือท่านอับดุลเลาะห์ อิบนิ อุมัรฺ กับท่านอัลดุลเลาะห์ อินนุ อับบาส กล่าวคือ

     คนแรก ไม่ชอบคลุกคลีกับเด็ก เพราะกลัวสิ่งเป็นนะยีสที่ติดมากับเด็ก ในขณะที่คนที่สองไม่เป็นอย่างนั้น

     คนแรกเห็นว่าต้องล้างตาทั้ง 2 ข้างขณะอาบน้ำละหมาด และการกระทบผู้หญิงทำให้เสียน้ำละหมาด แต่คนที่ 2 ไม่เห็นอย่างนั้น

     คนแรกเห็นว่าควรเบียดเสียดผู้คนเพื่อจูบหินดำในการตอวาฟ ในขณะที่คนที่สองไม่เห็นอย่างนั้น

(ดูอิบนุฮะญัร 3/475 ,476)

          และตัวอย่างความแตกต่างระหว่างท่านอะบูบะกัร อัส ซิดดีกที่เป็นคนสุขุม และนุ่มนวล กับท่านอุมัร อิบนุคอตฏ๊อบ ที่เป็นคนดุดันและเกรี้ยวกราด ในกรณีเชลยศึกสงครามบะดัร กล่าวคือ ในขณะที่อะบูบะกัร เห็นว่าควรให้อภัยและให้ถ่ายตัวได้ แต่อุมัรกลับเห็นว่าควรประหารชีวิตทั้งหมด 

(ดูอิบนุกะษีร 1988: 2/340,341)

 

ความเห็นต่างเป็นความเมตตา

ท่านอิหม่ามอัสสุยูฏีย์ ได้บันทึกฮะดีษบทหนึ่งในหนังสือ อัลญาเมียะอ์ อัสเศาะฆีร จากท่านนบี ว่า :

(( اختلاف أمتي رحمة ))

ความเห็นต่างของประชาชาติของฉัน เป็นความเมตตา

ในบางสำนวนรายงาน ว่า :

(( اختلاف أصحابي رحمة ))

ความเห็นต่างของเศาะฮาบะห์ของฉัน เป็นความเมตตา” 

          ฮะดีษดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นฮะดีษที่อ่อนในแง่ของสายรายงาน แต่ความหมายของฮะดีษเป็นความหมายที่ถูกต้อง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากฮะดีษอื่นๆ ที่เชื่อถือได้ เช่น ฮะดีษที่ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ บันทึกไว้ในหนังสือ 40 ฮะดีษ ท่านนบีกล่าวว่า :

(( إنّ الله تعالى حدّ حدودا فلا تعتدوها، وفرض فرائض فلا تضيّعوها، وحرّم أشياء فلا تنتهكوها، وسكت عن أشياء رحمةً بكم غير نسيان فلا تبحثوا عنها ))

     “แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนด บทบัญญัติต่างๆ (ที่เป็นฟัรฎู) ดังนั้น พวกท่านอย่าได้ละเลยบทบัญญัติ เหล่านั้น และพระองค์ได้ทรงวางขอบเขตต่างๆ ดังนั้นพวกท่านอย่าล่วงล้ำขอบเขตเหล่านั้น และพระองค์ได้ห้ามหลายสิ่งหลายอย่าง ดังนั้น พวกท่านอย่าได้ละเมิดมัน และพระองค์ได้ทรงเงียบเฉยต่อหลายสิ่งหลายอย่าง (ไม่ได้ระบุว่าเป็นสิ่งต้องห้าม หรือเป็นสิ่งอนุมัติ ) ทั้งนี้ เพื่อเป็นความเมตตาแก่พวกท่าน มิใช่เพาะความหลงลืม ดังนั้นพวกท่านจงอย่าได้พยายามสืบเสาะค้นหาสิ่งเหล่านั้น

          ส่วนสำคัญของฮะดีษนี้ คือส่วนที่ท่านนบีกล่าวว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่อัลลอฮ์ ไม่ได้ระบุว่าเป็นที่อนุมัติหรือไม่อนุมัติ ส่วนนี้คือพื้นที่ว่างเปล่าจากข้อบัญญัติ เป็นส่วนที่นักปราชญ์จะเติมเต็มด้วยการใช้การวินิจฉัย ตามแนวทางและหลักการของตน เพื่อหาข้อกำหนดทางศาสนา นักปราชญ์บางคนอาจมุ่งไปใช้วิธีกิยาส ( การอนุมาน) บางคนมุ่งใช้วิธีอิสเตี๊ยะฮ์ซาน (การกำหนดบทบัญญัติในลักษณะที่ขัดกับหลักกิยาส หรือหลักทั่วไป เนื่องเพราะมีเหตุผลหนักแน่นกว่า) บางคนมุ่งใช้หลักอุรุฟ (ขนบธรรมเนียมประเพณี) และบางคนอาจมุ่งใช้หลักบะรออะฮ์ อัศลียะห์ (ความบริสุทธิ์ดั่งเดิม) หรือหลักการอนุมัติโดยพื้นฐาน (อิบาฮะฮ์ อัศลียะห์)

( ดูยูซุฟอัลก๊อรฎอวีย์ 1990 : หน้า 71)

          ความเห็นต่างที่เกิดขึ้น จากการใช้เครื่องมือ ในการวินิจฉัย ที่แตกต่างกัน จึงเป็นความเมตตาของอัลลอฮ์ ที่ต้องการให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่ต้องการให้เกิดความแคบแค้น และความยากลำบากในการปฏิบัติศาสนกิจ ต่อพระองค์

 

ความเห็นต่างเป็นทรัพยากรและมรดกทางวรรณกรรมอันล้ำค่า

          ความเห็นต่างของเหล่านักปราชญ์ในประเด็นปลีกย่อยทางศาสนา ได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ยุคแรกของอิสลาม และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคต่อๆมา พัฒนาการของความเห็นต่างดูได้จากสำนักฟิกฮฺ หรือมัซฮับต่างๆที่เกิดขึ้น และขยายตัวอย่างกว้างขวาง จากสำนักที่ยึดตัวบท เป็นหลัก(مدرسة أهل الحديث والآثار) ต่อมาเกิดสำนักที่ยึดความคิดเห็นเป็นหลัก (مدرسة أهل الرأي والنظر)และสำนักที่ยึดความหมายตรงตัวเป็นหลัก (مدرسة أهل الظواهر)เป็นลำดับ

          จนกระทั่งต่อมา ได้เกิดสำนักที่พยายามหลอมรวมสิ่งดีๆของทุกสำนักโดยไม่ลำเอียงและเรียกสำนักตัวเองว่าสำนักสายกลาง (مدرسة الاعتدال أو الوسط) ทั้งหมดเหล่านี้ ได้สั่งสมเป็นวรรณกรรมความเห็นต่างที่ยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นคลังทางความรู้ และวิชาการทางอิสลามศึกษาอันประเมินค่ามิได้

 

หลักวะสะฏียะห์ในการเคารพความเห็นต่าง

          หลักวะสะฏียะห์ คือหลักทางสายกลางที่อัลลอฮ์กำหนดให้เป็นวิถีของมุสลิม (ดูอัลกุรอาน 2/143) เป็นจุดตรงกลางของความพอเหมาะพอดี และความสวยงาม ไม่เลยเถิด และไม่หย่อนยาน วะสะฏียะห์ คือหลักความยุติธรรม และความสมดุลทีอัลลอฮ์ได้บรรจุไว้ในศาสนบัญญัติของพระองค์ มีลักษณะเป็นทั้งหลักการ วิธีการ และอุดมการณ์ในขณะเดียวกัน การพิจารณาความเป็นวะสะฏียะห์ จะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบต่อไปนี้ :

1.ความดีเลิศ (الأفضلية)

2.ความเที่ยงตรง (الاستقامة)

3.ความมีวิทยะปัญญา (الحكمة)

4.ความมีดุลยภาพ (التوازنية)

5.ความเรียบง่าย (اليسر وعدم الحرج)

          ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาความเห็นต่างในข้อบัญญัติทางศาสนานั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องใช้หลัก วะสะฏียะห์ มากำกับ และบริหารจัดการ ทั้งนี้เพื่อมิให้ความเห็นต่างถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ และเป็นเหตุของความชัดแย้ง ความแตกแยก ความเป็นศัตรู และความรุนแรง และเพื่อให้ความเห็นต่างนั้นมีบทบาทและ ดำรงอยู่ต่อไปอย่างสร้างสรรค์ สมกับที่เป็นความเมตตาและโปรดปรานจากอัลลอฮ และต่อไปนี้จะขอนำหลักวะสะฏียะห์ในการเคารพและให้เกียรติความเห็นต่างดังนี้

 

หลักการให้เกียรติ และเคารพความเห็นต่าง

          ความเห็นต่างของเหล่านักปราชญ์ในประเด็นต่างๆที่รองรับการวินิจฉัยจะ ต้องได้รับการเคารพ และการให้เกียรติ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักทฤษฏีทางวิชาการที่กล่าวว่า

          ”ทุกเรื่องที่ไม่มีข้อบัญญัติเป็นเด็ดขาด ล้วนเป็นเรื่องรองรับการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) ทั้งสิ้น และทุกเรื่องที่รองรับการวินิจฉัย ย่อมรองรับการเห็นต่าง และทุกเรื่องที่รองรับการเห็นต่าง ย่อมเป็นที่อนุญาต ที่จะเลือกเอาความเห็นใดก็ได้มายึดถือ และปฏิบัติ ไม่ว่าจะยึดตามทรรศนะที่บอกว่า ความเห็นที่ถูกต้องนั้นมีเพียงหนึ่ง หรือทรรศนะที่บอกว่า ทุกความเห็นถูกต้องทั้งหมดก็ตาม เนื่องจากผู้เห็นต่างทุกคนต่างได้รับอานิสงค์ กุศลผลบุญ จากอัลลอฮ ไม่ว่าความเห็นของเขาจะถูกต้อง หรือจะคลาดเคลื่อนจากความถูกต้องก็ตาม ดังปรากฏในฮะดีษของท่านนบีว่า :

(( إذا حكم الحاكم فاجتهد ثم أصاب فله أجران، وإذا حكم فاجتهد ثم أخطأ فله أجر واحد ))

     “เมื่อนักปราชญ์วินิจฉัยถูกต้องเขาจะได้ 2 ผลบุญ (ผลบุญในการวินิจฉัย และผลบุญในความถูกต้องของการวินิจฉัย) และเมื่อเขาวินิจฉัยผิด เขาจะได้ผลบุญเดียว (ผลบุญในการวินิจฉัยเท่านั้น)"

(อัลบุคอรีย์ หมายเลข 6805 และมุสลิม หมายเลข3240)

          ดังนั้นทุกความเห็นต่างจึงมีคุณค่าในตัวของมัน การถูกประเมินว่า อ่อน หรือไม่มีน้ำหนัก มิได้ทำให้คุณค่าของมันด้อยลงแต่ประการใด ” 

(ดูอัลกอรฎอวีย์1990: หน้า160-162)

 

อย่างไรก็ตามหลักการให้เกียรติและเคารพความเห็นต่าง จำต้องอาศัยเงื่อนไข อื่นๆประกอบดังนี้ :

 

ไม่อคติต่อความเห็นต่าง

 

          คือการมีทรรศนะคติที่ดีต่อความเห็นต่าง มองความเห็นต่างไปในด้านบวก และสร้างสรรค์ ไม่มองในด้านของความขัดแย้ง และความเป็นศัตรู เช่นการมองว่าความเห็นต่างอาจเป็นความเห็นที่ถูกต้องซึ่งเป็นข้อสันนิฐานจากทั้งสองด้านคือ ด้านความเห็นของปราชญ์ว่าอาจผิด และด้านผู้เห็นต่างว่าอาจถูกต้อง เป็นกรอปการมองของท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาปลีกย่อยโดยท่านกล่าวว่า :

 

(( رأيي صواب يحتمل الخطأ ورأي غيري خطأ يحتمل الصواب ))

ความเห็นของฉันถูกต้องแต่อาจผิด และความเห็นของผู้อื่นผิดแต่อาจถูก

 (อ้างแล้ว หน้า 161)

          การไม่อคติต่อความเห็นต่างเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของจริยธรรมความเห็นต่างในอิสลาม ที่สอนให้ทุกคนไม่หลงตัวเองว่าฉันถูกคนเดียวคนอื่นผิดหมด ไม่หยิ่งลำพอง ไม่มีทิฐิมานะ และไม่ทะนงตน และสอนให้ทุกคนคาดคะเนต่อผู้อื่นในทางที่ดี เพราะการคาดคะเนในทางที่ไม่ดีนั้นเป็นบาป ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า :

{ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اجْتَنِبُوا كَثِيرًا مِّنَ الظَّنِّ إِنَّ بَعْضَ الظَّنِّ إِثْمٌ الآية } (الحجرات آية 12)

     “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงออกห่างไกลจากส่วนใหญ่ของการคาดคะเน แท้จริงการคาดคะเนบางอย่าง (การอคติ) นั้นเป็นบาป

และท่านนบีได้เตือนให้ระมัดระวังเรื่องนี้ไว้ว่า :

(( إياكم والظنَّ فإن الظنَّ أكذب الحديث ))

พวกเจ้าจงระมัดระวังการคาดคะเน (อคติ) เพราะมันเป็นคำพูดที่เท็จที่สุด” 

(อัลบุคอรีย์ หมายเลข 6066)

 

ไม่ประณามหยามเหยียดความเห็นต่าง

 

          คือการไม่แสดงพฤติกรรม หรือคำพูดที่บ่งบอกถึงการดูหมิ่นดูแคลน การดูถูกเหยียดหยามผู้ที่เห็นต่าง เนื่องจากผู้ที่เห็นต่างอาจเป็นฝ่ายถูกก็ได้ แต่ถึงแม้ว่าเขาเป็นฝ่ายผิด ก็ไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น เพราะความผิดของเขาได้รับการผ่อนผัน และได้รับผลบุญจากอัลลอฮ์ ดังหลักฐานจากอัลฮะดีษที่ได้กล่าวมา ในทางกลับกัน สิ่งที่ควรจะเป็นในกรณีดังกล่าวนี้ ก็คือการชื่นชมต่อกัน การสรรเสริญเยินยอกัน และการหาเหตุผล หรือข้อแก้ต่างให้กัน

           ดังปรากฏแบบอย่างมากมายจากชาวสลัฟ (กัลญาณชนมุสลิมในอดีต) ในยุคเศาะฮาบะห์ ตาบีอีน และตาบิอิด ตาบีอีน โดยที่พวกเขาเห็นต่างกันในข้อวินิจฉัยทางศาสนา แต่พวกเขาไม่ประณามหยามเหยียดกัน ตรงกันข้ามพวกเขากลับชื่นชมกัน และขอดุอาอ์ให้แก่กัน 

          พฤติกรรมการประณามหยามเหยียดความเห็นต่าง เป็นพฤติกรรมสุดโต่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และความร้าวฉานในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันถูกยกระดับ และเลยเถิดไปสู่ 2 พฤติกรรมต่อไปนี้ :

 

     พฤติกรรมที่ 1 การตัดสินผู้เห็นต่าง ว่าเป็นกุฟรฺ (ออกนอกศาสนา) หรือเป็นบิดอะห์ (ทำอุตริกรรม) หรือเป็นชิริก (ตั้งภาคี) หรือเป็นนิฟาก (สับปลับ) หรือเป็นฟาสิก (ละเมิดศาสนา) ทำบาปใหญ่ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังคงนิยมใช้กันอยู่ในหมู่นักทำงานเพื่ออิสลาม ที่ขาดความสุขุม ความรอบคอบ และขาดสิ่งที่เรียกว่า ฮิกมะห์ (วิทยปัญญา)

     พฤติกรรมที่ 2 การปฏิเสธนักปราชญ์ ( อุละมาอ์ ที่ได้รับการยอมรับ ) เพียงเพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในข้อวินิจฉัยหรือการตีความในบางประเด็น เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่สุดโต่ง และไม่เป็นธรรม เนื่องจากนักปราชญ์ทุกคนเป็นมนุษย์ปุถุชน ความผิดพลาดจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติก็คือความผิดพลาดของบุคคลเหล่านั้นไม่เป็นสิ่งถูกตำหนิ ตามที่ได้กล่าวมา ดังนั้น ความผิดพลาดบางอย่างที่เกิดขึ้นกับนักปราชญ์จึงไม่ควรนำไปทำลายศักยภาพทั้งหมดจนไม่เหลืออะไร

 

          โดยข้อเท็จจริงแล้วกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นกฎเกณฑ์ของอัลลอฮ์ในการประเมินความผิดพลาดของมนุษย์โดยที่พระองค์ได้สอนให้มนุษย์วิงวอนต่อพระองค์ว่า :

{ رَبَّنَا لَا تُؤَاخِذْنَا إِن نَّسِينَا أَوْ أَخْطَأْنَا الآية }(سورة البقرة آية 286)

โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ขอพระองค์อย่าได้เอาผิดต่อเรา หากเราลืม หรือผิดพลาด

          และปรากฏในฮะดีษทีเศาะเหี๊ยะฮ์ว่าอัลลอฮ์ทรงผ่อนปรน (ไม่เอาผิด) แก่ประชาชาติของมุฮัมมัด ใน 3 ประการ คือ ความผิดพลาด การหลงลืม และการถูกบังคับ 

 

ไม่ปฏิเสธความเห็นต่าง

 

          ความเห็นต่างในประเด็นหนึ่งที่รองรับการวินิจฉัย อาจมีมากกว่า 2 ความเห็น และความเห็นต่างทั้งหมด จะต้องไม่ถูกปฏิเสธ และไม่ถูกต่อต้าน ทั้งนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของบรรดาเหล่านักปราชญ์ที่วางไว้ว่า

           “ไม่มีการปฏิเสธ และคัดค้าน (إنكار) ผู้เห็นต่างในประเด็นปัญหาที่รองรับการวินิจฉัย ผู้เห็นต่างที่เป็นมุจญ์ตะฮิด (ปราชญ์ระดับผู้วินิจฉัย) จะต้องไม่ปฏิเสธผู้เห็นต่างที่เป็นมุจตะฮิดเช่นเดียวกัน และผู้เห็นต่างที่เป็นมุก็อลลิด (ผู้ตาม) ก็จะไม่ปฏิเสธผู้เห็นต่างที่เป็นมุก็อลลิดเช่นเดียวกัน” 

(อัลกอรฏอวี 1990:109)

          มีผู้ถามท่านอิบนุตัยมียะฮ์ เกี่ยวกับผู้ที่เลือกปฏิบัติตามนักปราชญ์บางคน หรือเลือกปฏิบัติตามทัศนะหนึ่งจาก 2 ทรรศนะ ในประเด็นปัญหาที่รองรับการวินิจฉัยว่า จะปฏิเสธได้หรือไม่อย่างไร ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ได้ตอบว่า

          ผู้ที่ปฏิบัติตามทรรศนะของปราชญ์บางคนในประเด็นต่างๆที่รองรับการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) นั้น จะไม่ถูกปฏิเสธ และผู้ที่ปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งใน 2 ทรรศนะ ก็จะไม่ถูกปฏิเสธเช่นเดียวกัน ในกรณีที่มี 2 ทรรศนะนั้น หากเป็นที่ประจักษ์ว่าหนึ่งในสองทรรศนะมีน้ำหนักมากกว่า ก็ให้ปฏิบัติตามทรรศนะนั้นๆ แต่หากไม่เป็นที่ประจักษ์ก็ให้ปฏิบัติตามนักปราชญ์ที่ได้รับการยอมรับในการให้ความกระจ่างต่อทรรศนะที่มีน้ำหนัก 

(ดูอิบนุตัยมียะฮ์ : 20/207)

          ดังนั้นทุกทรรศนะที่เห็นต่าง จึงถูกจัดอยู่ในสถานภาพ และมาตรฐานเดียวกันในการยอมรับ ไม่สมควรที่จะมีการบังคับขู่เข็ญให้ปฏิบัติตามความเห็นหนึ่งความเห็นใดเป็นการเฉพาะ โดยปิดกั้นความเห็นต่างอื่นๆ แต่ควรให้เป็นไปตามความสะดวก และเป็นไปตามแนวทางการเรียนการสอน ที่เป็นกระแสหลักของชุมชนและพื้นที่นั้นๆ

        ตัวอย่างของท่านอิหม่ามมาลิก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ที่ท่านปฏิเสธความประสงค์ของเจ้าเมืองฮารูน อัรรอชีดที่มีดำหริจะให้ประชาชนยึดถือหนังสืออัลมุวัฏเฏาะ ของท่านเป็นหลักในการปฏิบัติศาสนกิจ โดยท่านให้เหตุผลว่า เศาะฮาบะห์ของท่านนบียังมีความเห็นต่างในประเด็นปลีกย่อย พวกเขากระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ และทุกกลุ่มชนจะปฏิบัติตามความรู้ที่แพร่หลายยังพวกเขาเท่านั้น 

(ดูมุฮัมมัด อบูซะวู 1984 : หน้า 253)

 

          การห้ามปฏิเสธ หรือคัดค้านประเด็น ปัญหาที่มีความเห็นต่าง เป็นสิ่งที่แพร่หลายและทราบกันดีในหมู่นักปราชญ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปราชญ์ที่เขียนตำราเกี่ยวกับเรื่องการใช้สิ่งที่ชอบ และห้ามปรามสิ่งมิชอบ ( الأمر بالمعروف والنهي عن المنكر ) กล่าวคือ นักปราชญ์เหล่านั้นจะระบุตรงกันว่า ประเด็นปัญหาที่รองรับการวินิจฉัยนั้น จะปฏิเสธคัดค้านหรือห้ามปรามมิได้

          และไม่อนุญาต ให้นักปราชญ์คนใดบังคับให้ประชาชน ปฏิบัติตาม หน้าที่ของนักปราชญ์คือการแจกแจงหลักฐานให้คนทั่วไปทราบ ผู้ใดได้ประจักษ์ว่าความเห็นใดถูกต้องก็ให้ปฏิบัติตาม ส่วนผู้ใดจะปฏิบัติตามความเห็นอื่นที่ต่างออกไป ก็อย่าได้คัดค้าน และปฏิเสธ 

(ดูอิบนุตัยมียะฮ์ : 30/79 , 81)

 

.ให้ความเป็นธรรมต่อความผิดพลาดของนักปราชญ์

 

          ความผิดพลาดของนักปราชญ์ เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากพวกเขามิได้เป็นมะอ์ซูมีน หมายถึงเป็นผู้ไร้มลทิน ไร้บาป และความผิดพลาดเฉกเช่นเหล่านบีและเราะซูล กระนั้นก็ตามความผิดพลาดของพวกเขาถือเป็นสิ่งน้อยนิด เมื่อเทียบกับคุณงามความดีและความประเสริฐอันมากมาย ท่านสะอี๊ด อิบนุ มุซัยยิบ กล่าวว่า : ไม่มีปราชญ์คนใดที่ไม่มีข้อตำหนิ แต่ทว่าข้อตำหนิของเขาควรหายไป เนื่องจากความประเสริฐของเขามีมากกว่าความบกพร่อง (อิบนุ อับดิล บัร : 2/48) อย่างไรก็ตาม เมื่อพบความผิดพลาดของนักปราชญ์ ควรให้ความเป็นธรรม ด้วยหลัก และวิธีการดังนี้ :

1.การให้เกียรติ

ท่านบีกล่าวว่า : (( ليس منا من لم يرحم صغيرنا، ولم يوقّر كبيرنا، ومن لم يعرف لعالمنا حقّه ))

ผู้ใดที่ไม่เมตตาเด็กของเรา ไม่ให้เกียรติผู้อาวุโสของเรา

และไม่รู้สิทธิ นักปราชญ์ของเรา เขาผู้นั้นไม่ใช่หมู่ชนของเรา” 

(อัตติรมีซีย์ หมายเลข1919 เป็นฮะดีษฮะซัน)

          สิทธิของนักปราชญ์คือการได้รับเกียรติ ความเคารพ ความไว้วางใจจากประชาชน เนื่องจากพวกเขาคือทายาทของท่านนบี (ดูฮะดีษในอัตติรมิซีย์ หมายเลข 452 ) การลบหลู่ดูหมิ่นพวกเขาจึงเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขา และเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติศาสนา

 

2.การตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน

          การจะกล่าวถึงความผิดพลาดของนักปราชญ์คนหนึ่ง จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตามหลักวิชาการและตามหลักความเป็นจริง ท่านอัซซะฮะบีย์ ได้กล่าวว่า

     “ ไม่มีผู้นำด้านความดีท่านใดปลอดภัยจาการถูกตำหนิ และการวิพากษ์วิจารณ์ และไม่มีผู้นำด้านความชั่วท่านใด ที่ไม่มีผู้ปกป้อง และสนับสนุน” 

(อัซซะฮะบีย์ : อัสสิยัร 14/344)

          ดังนั้นการประเมินความเห็นต่างของนักปราชญ์ท่านใดว่าผิดพลาด จึงไม่ควรทำด้วยความรีบร้อน และผลีผลาม แต่ควรทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และควรมีมารยาท

 

3.การหาข้อแก้ต่าง

          การหาข้อแก้ต่างให้แก่ความผิดพลาดของนักปราชญ์ เป็นมรรยาทที่งดงามที่ทุกคนควรมี ในทำนองเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์นักปราชญ์ โดยไม่ได้แสดงการปกป้อง และหาข้อแก้ต่างให้ ถือเป็นความไร้มารยาทที่ทุกคนไม่ควรมี ดังนั้น ความผิดพลาดของนักปราชญ์จึงไม่ควรถูกเน้นไป ในด้านการตอบโต้และการหักล้างแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นในการอธิบายถึงบริบทแวดล้อมของนักปราชญ์ และเหตุผลหรือข้อแก้ต่างในความผิดพลาดนั้นๆด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ความผิดพลาดของนักปราชญ์มีข้อแก้ต่างและมีเหตุผลรองรับ แม้ว่าจะเป็นเหตุผลที่ขาดน้ำหนักในมุมมอง ของผู้ประเมิน ที่เห็นต่างก็ตาม

 

          การหาข้อแก้ต่างให้นักปราชญ์นี้เป็นหลักการ และเป็นธรรมเนียมที่ทราบกันดี ในหมู่ชาวสลัฟ เป็นมารยาทที่บ่งบอกถึงความนอบน้อมถ่อมตนของนักวิชาการได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่าน มุฮัมมัด อิบนุ ซีรีน (ตายปี 110 ..) ที่กล่าวว่า

     “เมื่อมีความเห็นต่างใดๆจากพี่น้องของท่านมาถึงท่าน ท่านจงหาข้อแก้ต่างให้ หากท่านไม่พบก็ให้ใช้คำพูดว่า หวังว่าเขาจะมีข้ออ้างอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีเหตุผลอย่างนั้น อย่างนี้

(อัลอัศบีฮานีย์ : หน้า 97)

          สอดคล้องกับท่านเคาะลีฟะห์ อุมัร อิบนุ คอตฏ็อบ ที่กล่าวว่าท่านอย่าได้คาดคะเนคำพูดหรือ ความเห็นต่างของพี่น้องของท่านไปในทางที่ไม่ดี หรือทางที่ผิด ในขณะที่ท่านมีข้อสันนิฐานอื่นๆที่ดี และถูกต้องอยู่ ” 

(ดูอิบนุกะษีร :อัลบิดายะฮ์ 4/213)

 

เปิดการพูดคุยเจรจา

 

          การพูดคุยเจรจา หรือการถกเถียงประเด็นปัญหาที่รองรับการวินิจฉัยและความเห็นต่าง เป็นเรื่องที่ควรส่งเสิรม และสนับสนุน และควรจัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้การพูดคุยเจรจาต้องอยู่ในกรอบ และกฎเกณฑ์ของจริยธรรม ความเห็นต่าง ( أدب الاختلاف ) ที่นักวิชาการได้วางไว้ อาทิเช่น :

1. มีความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) เพื่ออัลลอฮ ปราศจากการใช้อารมณ์

2. ไม่คลั่งไคล้ และยึดติด ในบุคคล ในกลุ่ม หรือในมัซฮับ (สำนักการตีความ)

3. มีความยุติธรรม และความเป็นกลาง

4. มีทรรศนะคติที่ดี และเป็นบวกต่อผู้อื่น

5. หลีกเลี่ยงการโต้เถียง การก่อวิวาทเพื่อเอาชนะ

6. ใช้วิธีการพูดคุยที่ดีที่สุด ตามที่อัลกุรอานได้ระบุไว้ในโองการที่ว่า :

{ ادْعُ إِلَىٰ سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ }(سورة النحل آية 125)

     “เจ้าจงเชิญชวนสู่หนทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้า ด้วยวิทยปัญญา และคำตักเตือนที่ดี และจงถกเถียงกับพวกเขาด้วยวิธีที่ดีที่สุด

     วิธีทีดีที่สุดในการพูดคุยเจรจา และการถกเถียง ตามที่อัลกุรอานได้ระบุไว้มีหลายวิธีเช่น :

1. การเลือกใช้คำ และสำนวนที่สุภาพ และอ่อนโยน (ดูอัลกุรอาน 4/17 ,15/15 ,3/64,20/44,17/28)

2. ไม่ขึ้นเสียง และใช้เสียงที่ดัง (ดูอัลกุรอาน 4/148)

3. การเน้นจุดร่วมที่เห็นพ้องกันของแต่ละฝ่าย มากกว่าจุดที่เห็นต่างกัน (ดูอัลกุรอาน 9/46 , 2/139)

          ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเสมือนจรรยาบรรณที่ผู้เห็นต่างทุกคนจะต้องนำมาใช้ ในการพูดคุยสนทนาและการถกเถียง เพื่อป้องกันมิให้ความเห็นต่างขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้ง ความแตกแยก และความเป็นศัตรูต่อกัน

           อย่างไรก็ตามในกรณีความเห็นต่างที่ไม่สามารถหาข้อสรุป หรือไม่สามารถให้น้ำหนักไปทางด้านหนึ่งด้านใดได้ และเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อสังคม และต่อเอกภาพของพี่น้องมุสลิมโดยรวม ก็สมควรที่จะให้ผู้นำที่เป็นฮากิมผู้มีอำนาจตัดสิน และเมื่อผู้นำที่มีอำนาจตัดสิน หรือมีวินิจฉัยไปด้านหนึ่งด้านใด ก็จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักทฤษฏีของนักวิชาการฟิกฮฺที่กำหนดไว้ว่า :

(( حكم الحاكم يرفع الخلاف ))

การตัดสินชี้ขาดของฮากิม (ผู้นำ) เป็นการยุติการขัดแย้ง

           ดังนั้นในทุกสังคม จึงควรมีผู้นำ (ฮากิม) ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยและตัดสินปัญหาทางศาสนา ที่เป็นปัญหาคิลาฟียะห์ (รองรับการวินิจฉัย และการเห็นต่าง) เพื่อเป็นที่ยุติ (มัรญะอียะฮ์) ของปัญหานั้นๆ เพราะความเห็นต่าง หรือความขัดแย้งที่ไม่มีที่ยุติ (มัรญะอียะฮ์) มักจะนำพาไปสู่การเห็นต่างและการขัดแย้งที่กว้างขวางขึ้นและใหญ่โตขึ้น (อัลก๊อรฏอวี : 1990 หน้า 164) ทำให้สังคมมุสลิมจมปลักและติดหล่มอยู่กับปัญหาเหล่านี้จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางพัฒนาการ และการขับเคลื่อนการทำงานเพื่ออิสลาม และขัดขวางความสมานฉันท์ และเอกภาพของพี่น้องมุสลิมโดยรวม

 

บทส่งท้าย

           มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่ออยู่ร่วมกันย่อมเห็นอะไรที่แตกต่างกัน ความเห็นต่างจึงเป็นธรรมชาติ และเป็นเรื่องปกติ อิสลามเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ จึงสอนให้มนุษย์เคารพในความเห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเห็นต่างในประเด็นปลีกย่อยทางศาสนาที่รองรับการวินิจฉัย ( مسائل اجتهادية ) ความเห็นต่างในประเด็นเหล่านี้ เป็นธรรมชาติ เป็นความจำเป็น เป็นความเมตตา และเป็นทรัพยากรทางวรรณกรรมอันล้ำค่าของอิสลาม

          และเนื่องจากความเห็นต่าง มักนำพาไปสู่ความขัดแย้ง และการแตกแยก อิสลามจึงได้วางหลักปฏิบัติในการให้เกียรติ และเคารพความเห็นต่าง เช่น ไม่อคติ ไม่ประณามหยามเหยียด ไม่ปฏิเสธคัดค้าน ให้ความเป็นธรรมต่อความผิดพลาดของนักปราชญ์ (อุละมาอ์) ด้วยการให้เกียรติ การตรวจสอบให้มั่นใจ และการหาข้อแก้ต่างให้ และท้ายสุดคือการเปิดการพูดคุย อารยะสนทนา เพื่อหาข้อยุติ โดยให้คุณค่าแก่ฮากิม (ผู้ปกครอง/ผู้นำ) ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยตัดสินในประเด็นที่มีผลกระทบต่ออิสลาม และต่อเอกภาพของมุสลิมโดยรวม

          หลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักดุลยภาพ หรือหลักทางสายกลางของอิสลาม (วะสะฏียะห์) ที่สามารถนำมาบริหารจัดการ ความเห็นต่างเพื่อให้อยู่ในกรอบของความพอเหมาะพอดี ไม่สุดโต่ง และเลยเถิด และไม่เลินเล่อหย่อนยาน

 

ขออัลลอฮ์ ทรงชี้นำ (ฮิดายะฮ์) แด่ผู้อ่านทุกท่าน สู่หนทางที่เที่ยงตรง อามีน