การบริจาคทรัพย์ในขณะมีชีวิตที่ดีกว่า การบริจาคทรัพย์เมื่อตายไปแล้ว
  จำนวนคนเข้าชม  3243


การบริจาคทรัพย์ในขณะมีชีวิตที่ดีกว่า การบริจาคทรัพย์เมื่อตายไปแล้ว

 

 

          รายงานจากท่านอบูสะอี๊ด อัลคุดรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ (ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงพอพระทัยท่าน) กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

การบริจาค (ทรัพย์สิน) ด้วยหนึ่งดิรฮัมของคนหนึ่งในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ 

เป็นการดีแก่เขายิ่งกว่าการบริจาค (ทรัพย์สิน) หนึ่งร้อยดิรฮัมของเขาขณะที่เขาตาย

(บันทึกโดย อบูดาวูด)

 

คำอธิบาย

 

          อิสลามเป็นศาสนาที่สมบูรณ์และเป็นศาสนาสุดท้าย ซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่น เพราะศาสนาที่มาก่อนอิสลามนั้น เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น และแต่ละนบีนั้นทำหน้าที่ให้แก่หมู่คณะของท่านโดยเฉพาะ นับตั้งแต่ท่านนบีนูฮฺจนถึงนบีอีซา และท่านเหล่านั้นทำหน้าที่เกี่ยวกับหมู่คณะของพวกท่านโดยเฉพาะ และบางทีในยุคเดียวกันมีนบีหลายท่าน อาทิเช่น ท่านนบีอิบรอฮีมกับท่านนบีลูฏอยู่สมัยเดียวกัน ท่านนีมูซากับท่านนบีชุอัยบฺอยู่ในสมัยเดียวกัน ท่านนบีมูซากับท่านนบีฮารูน อยู่ในสมัยเดียวกัน

 

          สำหรับศาสนาที่ถูกส่งมาสำหรับมวลมนุษยชาติไม่ว่าจะอยู่ที่ใด นั่นก็คือศาสนาอิสลาม และไม่มีศาสนาอื่นหลังจากศาสนาอิสลามที่จะมายกเลิกศาสนาอิสลามอีกต่อไป เมื่ออิสลามมาในสภาพเช่นนี้ โดยอิสลามไม่ได้ถูกกำหนดเฉพาะเวลาหนึ่งเวลาใดหรือยุคหนึ่งยุคใด และไม่ได้ถูกกำหนดเฉพาะหมู่ชนหนึ่ง หมู่ชนใด และอิสลามจะอยู่จนกระทั่งวันกิยามะฮฺ เป็นศาสนาที่สมบูรณ์ 

 

          แต่การที่ศาสนาอิสลามสมบูรณ์นั้น นั่นหาใช่ศาสนาสมบูรณ์หลังจากที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สิ้นชีวิตไม่ แต่ศาสนาสมบูรณ์ก่อนที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สิ้นชีวิต เพราะเหตุนี้ใครจะประดิษฐ์อะไรเราถือเป็นบิดอะฮฺ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ได้เรียกท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กลับไปจนกระทั่งศาสนาอิสลามสมบูรณ์ และในฮัจญ์อำลา (ฮัจญ์ครั้งสุดท้าย) อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประทานอายะฮฺที่สามในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺว่า

 

วันนี้ข้า (อัลลอฮฺ) ได้ให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว และเลือกอิสลามเป็นศาสนาของพวกเจ้า

(อัลมาอิดะฮฺ 5 : 3)

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานลงมาเพื่อให้มนุษยชาติรู้ว่าศาสนาอิสลามสมบูรณ์แล้ว เมื่อศาสนาอิสลามสมบูรณ์แล้ว เราจึงเห็นว่าบัญญัติศาสนาครอบคลุมไว้ทุกด้านในการดำเนินชีวิตของมุสลิม มิได้ให้ความสนใจเฉพาะแต่เพียงการปฏิบัติศาสนกิจ หลักอิสลามมีความสมบูรณ์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านอิบาดะฮฺ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การคบค้าสมาคม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหนึ่งกับสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุสลิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ฯลฯ ในทุกด้านนั้นอิสลามมีคำสอน 

 

          เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วอิสลามจึงสนใจในสิ่งที่จะให้ชีวิตมนุษย์อยู่อย่างผาสุก อยู่อย่างอบอุ่นใจ อยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ให้สรรพสิ่งในโลกในจักรวาลทั้งมวลนั้นเป็นที่บริการแก่มนุษย์ และฮะดิษนี้เป็นคำสอนในด้านระหว่างบุคคลกับสังคม คือพูดถึงการบริจาคทรัพย์สิน

 

          ทุกคนย่อมรู้ดีว่าทรัพย์สมบัตินั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์ทรงให้เราทำมาหากินโดยทางที่ชอบธรม และถือว่าสิ่งที่หามาได้โดยทางที่ชอบธรรมเป็นรายได้ที่ฮะลาล (อนุมัติ) เราต้องใช้อำนวยวามสะดวกแก่เรา แก่ครอบครัวของเรา แต่มีบางคนนั้นนอกจากจะใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับส่วนตัวเขาและครอบครัวของเขาแล้วยังมีเหลืออยู่ 

          อย่างนี้อิสลามมีคำสอนว่าสิทธิของทรัพย์สินนั้นมีสองประการคือ สิทธิโดยบังคับ (ฟัรฎู) และสิทธิโดยสมัครใจ อย่างเช่น การละหมาด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดให้ในรอบยี่สิบสี่ชั่วโมง มีละหมาดห้าเวลา อันนี้อิสลามบังคับให้เป็นฟัรฎู นอกจากนั้นเป็นเรื่องสมัครใจ 

          การทำในเรื่องสมัครใจนั้น แน่นอนย่อมเป็นการดีแก่เรา เป็นการสร้างฐานะในการเป็นผู้ศรัทธา เป็นผู้ที่เชื่อฟังปฏิบัติตามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าเรารักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยกตัวอย่างเช่น 

 

          สมมติท่านเป็นนายจ้าง ท่านมีลูกจ้างคนหนึ่ง ท่านบอกว่าให้ทำความสะอาดสนามนี้ วันหนึ่งจะให้สามสิบบาท เมื่อตกลงแล้ว ลูกจ้างนั้นนอกจากทำตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว แต่ด้วยความสมัครใจอยากให้งานของเขามีผลสมบูรณ์ และเขาเห็นว่าสนามนี้ยังมีสิ่งสกปรกอีกน่าจะทำให้สะอาด ซึ่งอันนี้อยู่นอกข้อตกลง แต่ด้วยความสมัครใจ อยากให้งานของเขามีผลสมบูรณ์ เขาจึงทำ เมื่อเป็นดังนี้แน่นอนผู้เป็นนายจ้างย่อมต้องพึงพอใจ เพราะนอกจากทำหน้าที่แล้วเขายังสามารถอุตส่าห์ทำสิ่งนอกเหนือจากข้อบังคับ

           เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นฟัรฎู เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำยังไม่ถือว่าเรารักอัลลอฮฺที่แท้จริง เพราะเท่ากับว่าเราจะทำเพราะว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงบังคับให้เราทำ แต่สำหรับสิ่งที่เป็นการสมัครใจนี้แสดงว่าเราเป็นผู้ที่รักพระองค์อย่างแท้จริง

 

          สิ่งที่สร้างฐานะให้แก่มุสลิมทุกวันนี้คือการปฏิบัติสิ่งที่เป็นความสมัครใจ นอกเหนือจากที่เป็นฟัรฎู เช่น การละหมาดตะฮัจญุด การละหมาดซุนนะฮฺต่าง ไม่ว่าซุนนะฮฺในยามกลางวันหรือซุนนะฮฺในยามกลางคืน เป็นการชี้ให้เห็นว่าเราเป็นผู้ที่รักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริง การไปทำฮัจญ์ในช่วงอายุหนึ่งครั้งเท่ากับว่าเราทำฮัจญ์แล้วครั้งเดียวพอแล้ว แต่ถ้าเรามีฐานะที่จะไปทำฮัจญ์ได้มากกว่านี้ และเราไปทำอันนี้เป็นการชี้ว่าเรารักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เหมือนกัน 

 

          การที่เราถือบวชในเดือนรอมฎอน อันนี้เป็นฟัรฎู นอกจากนี้เราอยากถือบวชหกวันในเอนเชาว้าล ในวันอะรอฟะฮฺ วันจันทร์ วันพฤหัสบดีในทุกสัปดาห์ หรือในวันที่ 13-14-15 ของทุกเดือนอาหรับ ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงว่าเรารักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

 

          เช่นเดียวกันเรื่องทรัพย์สมบัติที่บอกว่า ทรัพย์สมบัติมีสิทธิ 2 ประการ สิทธิโดยบังคับ เรียกว่า ซะกาต เมื่อเรามีรายได้ที่เหลืออยู่จากการใช้จ่ายสำหรับเราและครอบครัวของเราแล้วในรอบ 1 ปี อย่างนี้ต้องออกปีละ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราไม่ออก ในวันกิยามะฮฺจะมีงูตัวใหญ่รัดคอเขา และทรัพย์สมบัตินั้นจะกลายเป็นที่ทรมานสำหรับเขา นี่สำหรับสิทธิโดยบังคับ

          นอกจากนี้แล้วมีสิทธิโดยสมัครใจ เราออกซะกาตทุกปี แต่ยังมีคนยากจน คนขัดสน ที่เรามุ่งจะอุดหนุนช่วยเหลือ อย่างนี้แสดงว่าเราเป็นผู้ที่รักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          สำหรับเรื่องนี้มีฮะดิษจากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งเป็นฮะดิษกุดซีย์ ซึ่ง อิมามอัลบุคอรีย์บันทึกไว้ว่า 

 

     “อัลลอฮฺตรัสว่า บ่าวของฉันที่เป็นมุสลิมนั้นไม่ได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พึงพอใจ แก่ฉัน นอกจากการทำฟัรฎูและเขายังทำสิ่งที่เป็นการสมัครใจเป็นเนืองนิตย์ เขาจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดฉัน” 

 

          หมายถึง สิ่งที่จะสร้างความใกล้ชิดสำหรับมุสลิมกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้น คือ การทำสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ เขาละหมาดซุนนะฮฺมาก เขาบริจาคทานมาก (บริจาคทานนี้หมายถึงที่เป็นการสมัครใจ ส่วนที่บังคับนั้นเรียกว่าชำระซะกาต) อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้ผู้ที่ทำอิบาดะฮฺโดยสมัครใจ ไม่ว่าการละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทรัพย์นั้น มีพลังพิเศษ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

 

     “พระองค์จะเป็นหูที่เขา เป็นตาที่เขา เป็นมือที่เขาหมายถึง อวัยวะของเรามีพลังเป็นพิเศษ พลังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ให้แก่เรานั้น เนื่องจากว่าเราทำสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ และการที่เราทำสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺนั้นจะทำให้เราได้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          ในเรื่องการบริจาคนี้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็ลลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ชี้แจงว่า การบริจาคนั้นมีสองวาระ บางคนตลอดชีวิตไม่เคยบริจาคทานที่เป็นการสมัครใจ จริงอยู่เขาชำระซะกาต แต่การบริจาคไม่ค่อยได้ทำ (ในด้านที่นอกจากฟัรฎูแล้วเขาไม่ทำ) และสะสมทรัพย์สมบัติ เมื่อถึงเวลาจะตายเขาทำพินัยกรรมเลยบอกว่า หนึ่งในสามเอาไปทำในด้านการกุศล ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่เขาไม่ทำ

          ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กำชับว่าทรัพย์สมบัตินั้นจะเป็นประโยชน์แก่ท่าน ถ้าหากว่าท่านบริจาคขณะที่มีชีวิตอยู่ ที่จริงเรารู้กันอยู่ว่า ทำหนึ่งจะได้สิบเท่า แต่ฮะดิษนี้ให้บริจาคหนึ่งดิรฮัมขณะที่มีชีวิตอยู่นั้นดีกว่าทำหนึ่งร้อยดิรฮัมในขณะที่ตาย

 

          โดยปกติมนุษย์มักจะมองในสิ่งที่เป็นกำไรแก่เขา อย่างเช่นถ้าเขาต้องการจะซื้อของจากที่สองแห่งที่มีราคาต่างกันไม่กี่บาทแต่ระยะไกลกว่า เขาก็ยินดีจะซื้อในราคาที่ถูกกว่า หรือการขายสินค้า แม้เรามีผู้ที่จะให้ราคาของสินค้าสูงกว่าอีกเจ้าหนึ่งเพียงหนึ่งบาท เขาก็ยินดีที่จะขายให้ เมื่อรามองสิ่งเล็ก น้อย ในดุนยาแล้วทำไมท่านจะไม่ขวนขวายที่จะกอบโกยผลบุญ ดังที่ฮะดิษนี้ได้กล่าวไว้ บริจาคทานในขณะที่มีชีวิตอยู่ และยังเป็นการช่วยเหลือสังคมด้วย

 

          บางครั้งอาจจะพบปัญหาที่ผู้เป็นพ่อมีจิตใจกุศล แต่ผู้ที่เป็นลูกเป็นคนตระหนี่ กล่าวคือ ผู้เป็นพ่อบริจาคทรัพย์ให้แก่ผู้อื่น แต่ผู้ที่รับบริจาคไม่ทำให้เรียบร้อย และพอผู้ที่เป็นพ่อตาย ผู้ที่เป็นลูกซึ่งเป็นคนตระหนี่ ก็ถือโอกาสทวงทรัพย์ดังกล่าวคืน โดยถือว่าตัวเองมีกรรมสิทธิ์อยู่จนกระทั่งทำให้ต้องมีเรื่องฟ้องร้องกันในที่สุด

 

          ในการที่ท่านบริจาคทรัพย์ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านก็จะได้รู้ว่าท่านจ่ายในหนทางใดบ้าง เพราะบางทีการทำพินัยกรรม ผู้ที่รับอาจะใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ชอบธรรมก็ได้ หรือบางทีก็อาจจะผลาญทำลายทรัพย์ก็ได้ และอีกประการหนึ่งก็คือเป็นการแก้ปัญหาสังคม โดยให้ขณะมีชีวิตอยู่ถือว่าเขามีความรับผิดชอบ 

 

           มีกี่มากน้อยที่มีผู้ที่ทำงานเพื่อพัฒนาสังคม เพื่อพัฒนาบุคคล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สังคม แต่ทว่าเขาขาดทรัพย์ เขาจึงไม่สามารถทำงานได้บรรลุผล หากเราดำเนินชีวิตในขอบเขตอิสลามแล้ว สังคมของเราจะมีผู้ที่เชี่ยวชาญ สังคมและจะมีความก้าวหน้านี้

 

          สรุปความจากฮะดิษนี้ การบริจาคทานขณะที่เขามีชีวิตอยู่นั้นมีผลประโยชน์มหาศาลแก่ผู้ที่บริจาคยิ่งกว่าการมอบทรัพย์ในขณะที่เขาตาย และอีกประการหนึ่งคือการบริจาคในขณะที่มีชีวิตอยู่นั้นเป็นการทำให้เขามีบทบาทในสังคม และเป็นตัวอย่างแก่สังคม

 

ประวัติผู้รายงานฮะดิษ

 

          แท้จริงคำว่า อบูสะอี๊ด นี้ไม่ใช่เป็นชื่อแต่เป็นฉายา ชื่อเดิมของท่านคือ ซะอฺด บุตรของซินาน และชื่อของท่านที่คนทั้งหลายนิยมเรียกกันก็คือ อบูสะอี๊ด อัลคุดรีย์ เพราะว่าท่านมาจากตระกูลคุดเราะฮฺ ซึ่งตระกูลคุดเราะฮฺ เป็นสาขาหนึ่งของตระกูลค็อดรอจ และผู้มาจากตระกูลนี้ เราเรียกว่า คุดรีย์ เช่นเดียวกับผู้ที่มาจากตระกูลมักซูม เรียกว่า มักซูมีย์ แท้จริงตระกูลค็อดรอจ ตระกูลเอ้าส์ นี่เรียกรวมกันว่าเป็นชาวอันศอร ซึ่งชาวอันศอรนี้เป็นผู้ช่วยเหลือ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ขณะที่ท่านอพยพไปยังนครมะดีนะฮฺ

 

          สำหรับชาวอาหรับในอดีตนั้นมีความสนใจในเรื่องเชื้อสายมาก อย่างเช่น ถ้าเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะรู้ว่าตระกูลกุรอยชฺนั้นได้ว่าเป็นตระกูลที่ใหญ่และแตกเป็นตระกูลเล็ก มากมาย เช่น

 

1. ตระกูลบนีฮาชิม ซึ่งเป็นตระกูลของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

2. ตระกูลบนีอะฎิ ซึ่งเป็นตระกูลของท่านอุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ

3. ตระกูลบนีไตยฺ ซึ่งเป็นตระกูลของท่านอบูบักร

4. ตระกูลบนีอุมัยยะ ซึ่งเป็นตระกูลของท่านอุสมาน อิบนิ อัฟฟาน

5. ตระกูบนีซะอฺ ซึ่งเป็นตระกูลของท่านอัมรฺ อิบนุ อัลอ๊าซ

6. ตระกูลบนีซุเราะฮฺ ซึ่งเป็นตระกูลของท่านสะอฺด อิบนิ อบีวักก็อศ

7. ตระกูลอะซีด ซึ่งเป็นตระกูลของท่านอัสสุเบร บิน เอาว์วาม

8. ตระกูลบนีมักซูม ซึ่งเป็นตระกูลของท่านคอลิด อิบนุ อัลวะลีด

 

          ส่วนผู้ที่ชำนาญในการจำเชื้อสายเป็นอย่างมาก ก็คือท่านอบูบักรและท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งในเรื่องเชื้อสายนี้ท่านอุมัร ได้กล่าวไว้ว่า ท่านทั้งหลายจงรู้จักเชื้อสายของพวกท่าน เพื่อพวกท่านจะได้รักษาวงศาคณาญาติ และติดต่อวงศ์ญาติของท่าน 

 

          แต่ในทางตรงกันข้าม อิสลามห้ามละเมิดเกี่ยวกับเชื้อสาย เช่น รู้เชื้อสายเพื่ออวดดีแก่ผู้อื่น หรือเล่นพรรคเล่นพวก เพราะอิสลามรู้ดีว่าทุกคนมาจากอาดัมและอาดัมมาจากดิน ไม่มีใครดีกว่าใคร คนอาหรับไม่ใช่ดีกว่าคนผิวดำ และคนที่ไม่ใช่อาหรับไม่ใช่ดีกว่าคนอาหรับและคนผิวขาวไม่ใช่ดีกว่าคนผิวดำ 

 

          อย่างปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าในแอฟริกาใต้ ในสังคมมุสลิมจะไม่มีปัญหาเรื่องผิวเกิดขึ้น จะมีความรักใคร่กัน และถึงแม้ว่าคนผิวดำจะมาเป็นผู้ปกครองเขาก็ เชื่อฟัง ปฏิบัติตาม แต่ในอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งประชาธิปไตย ร้านอาหารบางร้านเขียนไว้ว่า ห้ามคนผิวดำและสุนัข ดังนั้น ท่านทั้งหลายน่าจะภูมิใจที่ได้เป็นมุสลิม

 

          ท่านอบูสะอี๊ด อัลคุดรีย์ ท่านมีชีวิตที่น่าสนใจมากคือ ในขณะท่านอายุสิบสามปี ได้เกิดสงครามอุฮุดขึ้น ซึ่งเป็นปีฮิจเราะฮฺศักราชที่สาม สงครามนี้เกิดขึ้นระหว่างกุฟฟารในมักกะฮฺ ได้บุกชาวมะดีนะฮฺและได้บุกถึงภูเขาอุฮุดและปิดล้อมภูเขาอุฮุดไว้ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้ยกกองทัพไปต่อสู้ที่ภูเขาอุฮุด ในการเตรียมทัพครั้งนี้ท่านได้ประกาศเรียกผู้คนเข้าทำสงคราม ผู้หนึ่งที่ตอบสนองท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือ ท่านซินาน บิดาของท่านอบูสะอี๊ด 

 

          และในช่วงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้น เราทุกคนย่อมรู้ดีว่า พ่อนั้นยินดีที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาชีวิตลูกให้มีชีวิตอยู่ แต่มุสลิมในสมัยแรกนั้นด้วยความรักลูกอยากที่จะให้ลูกได้เป็นชาวสวรรค์ และหนทางหนึ่งที่จะเข้าสวรรค์ก็คือการตายชะฮีด

     ดังนั้นท่านซินานจึงได้นำบุตรชายองท่านคือ ท่านอบูสะอี๊ด ซึ่งขณะนั้นมีอายุสิบสามปี ไปหาท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม 

     และกล่าวว่าโอ้ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ลูกของฉันกระดูกแข็งแรงแล้ว (เวลาคนอาหรับบอกว่ากระดูกแข็งนั้นแปลว่าเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวหมายถึงสมบูรณ์แล้ว)” 

     ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พิจารณาดูแล้วเห็นว่ายังไม่เข้าวัยที่จะเข้าสนามรบ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงบอกกับซินานว่าลูกของท่านอบูสะอี๊ดยังไม่ได้เข้าร่วมสงคราม แต่ท่านซินานได้เข้าร่วมสงครามและตายชะฮีดในสงครามนั้น 

     ต่อมาในปีฮิจเราะฮฺที่ห้า ท่านอบูสะอี๊ดได้เข้าร่วมสงครามอะหฺซาบซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุสิบห้าปี และหลังจากนั้นท่านก็ได้เข้าร่วมทำสงครามเรื่อยมา และท่านได้ร่วมทำญิฮาดกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถึงสิบสองครั้ง ก่อนที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะวะฟาต (เสียชีวิต

 

         นอกจากท่านจะเป็นนักรบที่สำคัญแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดในหมู่ผู้ที่มีความรู้ทั้งหลาย และท่านยังเป็นหนึ่งในบรรดาเจ็ดคนที่รายงานฮะดิษของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มากที่สุด ท่านได้รายงานฮะดิษถึง 1,270 ฮะดิษ ประวัติของท่านยังมีอีกมาก แต่ในวันนี้เราขออธิบายแต่พอสังเขป และท่านสะอี๊ด เสียชีวิตในวันศุกร์ในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 74 รวมอายุของท่านได้ 90 ปี

 

 

ที่มา : วารสารอัล-อิศลาหฺ อันดับที่ 478-480 ปีที่ 88 (ตุลาคม-ธันวาคม 2562)