ปัจจัยแห่งความสุขที่แท้จริง
  จำนวนคนเข้าชม  2706


ปัจจัยแห่งความสุขที่แท้จริง

 

โดย... อาลาอ์

          ความสุขที่แท้จริงเป็นความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่และเป็นเป้าหมายที่สูงส่ง เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานแก่บ่าวของพระองค์คนใด พระองค์ก็จะทรงทำให้เขามีจิตใจที่เบิกบาน และอำนวยความสะดวกให้แก่เขา ทำให้บ่าวบรรลุผลในกิจการนั้น ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ 

          และเมื่อบ่าวมีความรู้สึกคับแคบในจิตใจ จิตใจของเขาก็จะรู้สึกเฉื่อยชา ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำความดี และจะทำให้เขาเกิดความกลัดกลุ้มอยู่เรื่อยไป 

           ส่วนผู้ใดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้เขามีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส ก็จะช่วยให้บ่าวบรรลุถึงเป้าหมายต่าง ดังนั้นความสำรวมในการปฏิบัติอิบาดะฮฺต่าง และ ความง่ายดายในการเชื่อฟังพระองค์ จะไม่สามารถมีได้นอกจากมีจิตใจที่เบิกบาน 

           และบุคลลหนึ่งจะไม่สามารถอบรมหรือเลี้ยงดูบุตรหลานหรือเลี้ยงดูผู้ใดได้ และจะไม่สามารถทำสิ่งที่ยังประโยชน์ในด้านศาสนาและดุนยาได้นอกจากเขาผู้นั้นต้องมีจิตใจสงบเบิกบาน

 

          ความสุขทางจิตใจถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเป็นตัวช่วยให้บ่าวมีความสามารถในการทำงานต่าง ในเรื่องราวของศาสนา โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนั้นมีความสำคัญ เขาจะต้องมีความสุขทางใจมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงบัญชาให้ท่านนบีมูซาขอดุอาอฺต่อพระองค์ให้มีหัวใจที่สงบเมื่อท่านต้องไปเผชิญหน้ากับฟิรเอาน์ ดังอายะฮฺที่ว่า

 

     “เขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงเปิดอกของข้าพระองค์ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด และทรงโปรดทำให้การงานของข้าพระองค์ง่ายดายแก่ข้าพระองค์ด้วย

(ฏอฮา 20 : 25 – 26)

     และพระองค์ได้ตรัสถึงท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไว้ว่า

 

เรามิได้เปิดหัวอกแก่เจ้าดอกหรือ

(อัลอินชิรอหฺ 94 : 1)

 

          เพราะฉะนั้นความสุขทางจิตใจจึงเป็นของขวัญอันล้ำค่าและเป็นความโปรดปรานที่มาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และดังกล่าวนี้เป็นความเป็นความสำเร็จที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และจำเป็นที่บ่างจะต้องทุ่มเทความพยายามและความเสียสละเพื่อให้ได้รับคุณลักษณะอันมีเกียรติ 

 

สาเหตุที่ทำให้บ่าวได้ความเบิกบานทางด้านจิตใจ คือ

 

     1. การเตาฮีด (ให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของพระองค์ ห่างไกลจากการตั้งภาคี (ชิริก) ในทุกประเภท เพราะการเตาฮีดนั้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการที่จะทำให้จิตใจเบิกบาน ส่วนการชิริกนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตใจนั้นคับแคบและมัวหมอง

 

     2. ปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยึดมั่นในแนวทางอันเที่ยงตรง

 

     3. ศึกษาสิ่งที่ถูกต้องตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ เมื่อใดก็ตามที่บ่าวได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เขาใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มากขึ้นและปรับปรุงสภาพของเขาให้ดีขึ้นในทางตรงกันข้าม เมื่อใดที่บ่าวเขลาในเรื่องราวของศาสนา ก็จะทำให้จิตใจของเขา มีความมืดบอด และมีสภาพที่ตกต่ำน่าอดสู

 

     4. การกลับเนื้อกลับตัวยังพระองค์ และมุ่งสู่พระองค์ด้วยสภาพที่ดีงาม มีความอิ่มเอมในการปฏิบัติอิบาดะฮฺและเชื่อฟังต่อพระองค์ เพราะการเชื่อฟังและการปฏิบัติอิบาดะฮฺจะทำให้หัวใจมีความรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขทางจิตใจ 

ดังฮะดิษของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม ที่ว่า

โอ้บิลาล จงอิกอมะฮฺเพื่อการละหมาด จงให้เรารู้สึกผ่อนคลายด้วยการละหมาด

(บันทึกโดย อบูดาวูด)

และในอีกฮะดิษที่ว่า

การละหมาด คือ แก้วตาดวงใจของฉัน

(บันทึกโดย อันนะซาอีย์)

 

     5. รำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้นจะทำให้จิตใจสงบ ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “บรรดาผู้ศรัทธาและจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ พึงทราบเถิดด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้น ทำให้จิตใจสงบ

(อัรเราะอฺดุ 13 : 28)

 

     6. การปฏิบัติดีต่อผู้อื่น ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

และจงทำดีเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงชอบผู้กระทำความดีทั้งหลาย

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 195)

          การทำดีต่อผู้อื่นนั้นไม่ว่าจะด้วยเกียรติยศ หรือทรัพย์สิน หรือร่างกายของเขา และเมื่อบ่าวปฏิบัติดีต่อผู้อื่น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็จะทรงตอบแทนเขา ด้วยการทำให้เขามีความสุข ทำให้กิจการของเขามีความง่ายดาย และมีบั้นปลายชีวิตที่ดีงาม ส่วนผู้ที่มีความตระหนี่ พระองค์ก็จะทรงทำให้เขามีความรู้สึกคับแคบในจิตใจ และจะเพิ่มความกังวลและความกลัดกลุ้มให้แก่เขา

 

     7. การออกห่างจากสิ่งที่ทำให้หัวใจมีโรค เช่น ความอิจฉา ความโกรธแค้น เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้คืบคลานเข้ามาในจิตใจของผู้ใด มันก็จะทำให้จิตใจของเขามัวหมอง และเกิดความรู้สึกคับแคบในจิตใจ ทำให้เขามีสภาพที่ไม่ดี อันจะส่งผลให้เขามีบั้นปลายในชีวิตที่ไม่ดี

 

     8. การยับยั้งและระวังลิ้นจากการพูดในสิ่งที่ต้องห้าม ป้องกันหูจากการฟังในสิ่งที่ต้องห้ามและป้องกันสายตาจากการมองในสิ่งที่ต้องห้าม เพราะการฟัง การมอง การพูดที่ไร้สาระและมากเกินไปจะก่อให้เกิดโทษอย่างใหญ่หลวงและจะนำมาซึ่งความกลัดกลุ้มในจิตใจ

 

          ดังนั้นเราจึงควรที่จะปฏิบัติตามสิ่งต่าง ที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อที่จะทำให้เราได้รับชัยชนะ คือ ความผาสุกทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ เพราะความเบิกบานในจิตใจนั้นเป็นของขวัญและเป็นความโปรดปรานที่พระองค์ประทานให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

     “และแท้จริงความโปรดปรานนั้นอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์จะประทานความโปรดปรานนั้นแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงโปรดปรานอันใหญ่หลวง

(อัลฮะดีด 57 : 29)

และในอีกอายะฮฺที่ว่า

 

     “ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงต้องการจะแนะนำเขา ก็จะทรงให้หัวอกของเขาเบิกบานเพื่ออิสลาม และผู้ใดที่พระองค์ทรงต้องการจะปล่อยให้พวกเขาหลงทาง ก็จะทรงให้ทรวงอกของพวกเขาคับแคบ อึดอัด ประหนึ่งว่าเขากำลังขึ้นไปยังฟากฟ้า

(อัลอันอาม 6 : 125)

และในอีกอายะฮฺที่ว่า

 

ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงเปิดทรวงอกของเขาเพื่ออิสลาม และเขาอยู่บนแสงสว่างจากพระเจ้าของเขา

(อัซซุมัร 39 : 22)

 

          พี่น้องทั้งหลาย บุคคลหนึ่งจะไม่ได้รับความสุขทางใจที่แท้จริง เว้นเสียแต่ว่าเขาจะต้องมุ่งสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างจริงจัง มีความบริสุทธิ์ใจและกลับเนื้อกลับตัวยังพระองค์อย่างจริงจัง และต่อสู้กับจิตใจของตนเอง เพื่อที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระองค์

 

 

ที่มา : วารสารอัล-อิศลาหฺ อันดับที่ 478-480 ปีที่ 88 (ตุลาคม-ธันวาคม 2562)