มารยาทของผู้ตอบปัญหาศาสนา
เขียนโดย ศ.ดร.มุฮัมมัด อิบนิ ฮุซัยน์ อัลญีซานีย์
แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญะม้าล ไกรชิต
ในยุคเราสมัยเรา มีผู้คนมากมายตั้งตนเป็นผู้ตอบปัญหาศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นความรับผิดชอบเฉพาะต่อผู้มีความรู้ และมีความเหมาะสม ดังนั้น สำหรับผู้ที่จะตอบปัญหาศาสนาควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ทั้งก่อน หลัง และขณะตอบปัญหาศาสนา
1. ต้องเป็นผู้มีความเหมาะสมที่จะตอบปัญหาศาสนา
ท่านอิมามมาลิก กล่าวว่า“ผู้มีความรู้ไม่ควรที่จะตอบปัญหาศาสนาจนกว่าตัวเขาเองและผู้อื่นจะเห็นว่าเขานั้นเหมาะสม”
และท่านยังกล่าวว่า“ฉันยังไม่ตอบปัญหาศาสนาจนกระทั่งมีคน 70 คน ยืนยันว่าฉันเหมาะสมที่จะตอบ”
และ “บุคคลหนึ่งไม่ควรที่จะเห็นว่าตัวเขาเหมาะสมสำหรับเรื่องใด จนกว่าเขาจะได้สอบถามจาก ผู้ที่มีความรู้มากกว่าเขาเสียก่อน และฉันเองก็ไม่ได้ตอบปัญหาศาสนา จนกว่าฉันจะได้สอบถามจากท่าน รอบีอะฮ์และท่านยะห์ยา อิบนุ สะอี๊ด”
บรรดานักวิชาการต่างถือเป็นเรื่องใหญ่ หากผู้ที่ไม่เหมาะสมจะทำหน้าที่ตอบปัญหาศาสนา เพราะถือเป็นภัยร้ายแรงที่จะนำไปสู่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยมีหลักฐานจากคำพูดของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
“แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงเรียกคืนวิชาความรู้ทั้งหมดไปจากผู้คน แต่พระองค์จะทรงเรียกคืนวิชาความรู้ด้วยการนำบรรดาผู้รู้คืนกลับไป จนกระทั่งไม่มีผู้รู้คนใดเหลืออยู่เลย
และผู้คนต่างก็เอาผู้ไม่มีความรู้มาเป็นผู้นำ พวกเขาถูกถามแล้วก็ตอบปัญหาศาสนาไปโดยปราศจากความรู้ พวกเขาได้หลงผิดแล้วก็ทำให้ผู้อื่นหลงผิดด้วย”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)
มีชายคนหนึ่งได้เห็นท่านรอบีอะฮ์ อิบนุ อับดุรเราะห์มาน กำลังร้องไห้
เขาจึงถามท่านว่า “อะไรกันที่ทำให้ท่านร้องไห้?”
ท่านก็ตอบว่า “เพราะมีผู้ที่ไม่มีวิชาความรู้ได้ตอบปัญหาศาสนา และเรื่องร้ายแรงได้เกิดขึ้นแล้วในอิสลาม”
อิบนุ ฮัมดาน อัลฮัมบาลีย์ ได้กล่าวอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “แล้วอย่างไรกัน ที่ในยุคเรา สมัยเรา ต่างมีผู้ไม่มีวิชาความรู้แต่อาจหาญที่จะตอบปัญหาศาสนา ทั้ง ๆ ที่เขาขาดประสบการณ์ ขาดจรรยามารยาทและมีจิตใจที่ชั่วช้า
เขาไม่ได้หวังอะไรเลยนอกจากอยากมีชื่อเสียงโด่งดัง เพื่อโอ้อวดและเลียนแบบผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีเกียรติ เป็นที่รู้จัก มีใจบริสุทธิ์และมีวิชาความรู้ที่ถูกต้องแน่นอนและรอบด้าน คนจำพวกนี้ สิ่งถูกห้ามพวกเขากลับไม่เลิกและสิ่งที่ถูกเตือนพวกเขากลับไม่หยุด”
2. ผู้ตอบปัญหาศาสนาต้องพิถีพิถัน ระมัดระวังในการตอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดังนั้น จะไม่ตอบปัญหาศาสนาในประเด็นที่มีผู้ตอบในประเด็นเดียวกันไว้แล้วอย่างครบถ้วนและถูกต้อง และบรรดาสะลัฟ ชนรุ่นก่อนต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะตอบปัญหาศาสนา และต่างก็หวังว่าจะมีผู้รู้ท่านอื่นตอบปัญหานั้น ๆ แทนตน
ท่านอัลบะรออ์ อิบนุ อาชิบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า “แท้จริง ฉันได้เห็นบรรดาผู้เข้าร่วมสมรภูมิบัดร์ 300 คน ไม่มีใครในหมู่พวกเขา นอกจากแต่ละคนต้องการให้มีใครในหมู่พวกเขาทำหน้าที่ตอบปัญหาศาสนานั้น ๆ แทนตน”
ท่านอิบนุ อบี ลัยลา กล่าวว่า “ฉันได้อยู่ในยุคที่มีชาวอันซอร 120 คนที่เป็นซอฮาบะฮ์ของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อมีใครคนหนึ่งถามปัญหาศาสนา เขาก็จะส่งต่อให้ถามอีกท่าน ท่านนั้นก็จะส่งต่อไปอีกท่านหนึ่ง จากท่านนั้นสู่ท่านนี้ จนคำถามนั้นถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกลับมาถึงคนแรกที่ถูกถาม”
ท่านอบู ฮะนีฟะฮ์ ได้กล่าวว่า “หากไม่เพราะความเกรงกลัวอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในการที่วิชาความรู้จะสูญหายไป ฉันก็คงไม่ตอบปัญหาศาสนา เพราะพวกเขาได้สบายใจ (ในการได้คำตอบ) แต่ฉันต้องรับผิดชอบ (ในการตอบนั้น ๆ)”
ท่านซุฟยาน อัซเซาวีย์ กล่าวว่า “พวกเราเคยทันบรรดานักวิชาการฟิกฮ์ พวกเขาไม่ชอบที่จะตอบคำถามหรือปัญหาศาสนาต่าง ๆ นอกจากมีความจำเป็น และหากพวกเขาละเว้นได้ ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาชอบมากกว่า”
อิมามอะหมัด ได้กล่าวว่า“ใครที่เสนอตัวของเขาเพื่อตอบปัญหาศาสนา แน่นอน เขาได้เสนอตัวของเขาในเรื่องที่ร้ายแรงมาก”
มีผู้ถามว่า “การตอบหรือนิ่งเงียบ อะไรดีกว่ากัน?”
ท่านตอบว่า “ฉันชอบการไม่พูดมากกว่า”
มีผู้ถามว่า “แล้วหากมีความจำเป็นเล่า?”
ท่านตอบว่า “ความจำเป็น ความจำเป็น แม้กระนั้นการไม่พูดนั้นปลอดภัยกว่า”
จะเห็นได้ว่า การเสนอตัวเพื่อตอบปัญหาศาสนานั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องอันตราย ที่จะพูดในเรื่องศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอา โดยไม่มีความรู้ และเป็นการเสี่ยงที่ตกอยู่ในความ ผิดพลาดได้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“และพวกเจ้าอย่ากล่าวตามที่ลิ้นของพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่า นี่เป็นที่อนุมัติและนี้เป็นที่ต้องห้าม เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ”
(อันนะห์ลฺ 16 : 116)
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
“ผู้ที่กล้าที่สุดในหมู่พวกท่านที่จะตอบปัญหาศาสนา คือผู้ที่กล้าที่สุดที่จะเสี่ยงต่อไฟนรก”
(บันทึกโดย อัดดาริมีย์)
หน้าที่ในการตอบปัญหาศาสนานั้นเป็นเรื่องอันตราย จึงจำเป็นต้องมีความแม่นยำ ไม่รีบร้อน รอบคอบและระมัดระวัง
ท่านอิมามมาลิก กล่าวว่า “ความรีบร้อนในการตอบปัญหาศาสนา เป็นลักษณะหนึ่งของความเขลาและบกพร่อง”
อัลค่อลี้ล อิบนุ อะหมัด กล่าวว่า “แท้จริง ชายผู้หนึ่งเขาได้ถูกถามปัญหาศาสนาแล้วเขาก็รีบเร่งในการตอบ หากเขาตอบถูกต้องฉันก็จะตำหนิเขา และหากเขาถูกถามปัญหาแล้วเขาไม่เร่งรีบและรอบคอบในการตอบ แต่เขาตอบผิด ฉันก็จะชมเชยเขา”
ท่านซุห์นูน ได้กล่าวว่า “แท้จริง ฉันจะถูกถามปัญหาศาสนาหนึ่งแล้วฉันทราบดีว่าคำตอบคืออะไร อยู่ในตำราเล่มใด แผ่นกระดาษไหน หน้าอะไร และมีเนื้อหากี่บรรทัด ดังนั้น (แม้จะทราบคำตอบดี) แต่ฉันก็ไม่อยากตอบปัญหานั้น เพราะเกรงว่าหากตายไปแล้ว จะ(ส่งเสริม)ให้มีผู้อื่นกล้าตอบปัญหาตามฉัน”
ท่านอัชรอม กล่าวว่า “ฉันมักได้ยินท่านอิมามอะหมัด อิบนุ ฮัมบั้ล กล่าวว่าฉันไม่รู้อยู่บ่อย ๆ (ในประเด็นที่มีทัศนะหลากหลาย)”
หากผู้ที่ตอบปัญหาศาสนาเห็นว่าไม่มีใครอีกแล้วนอกจากเขา เมื่อนั้นก็จำเป็นที่จะต้องตอบปัญหานั้น ๆ โดยต้องพยายามทุ่มเท เพื่อให้ทราบถึงคำตัดสินในประเด็นนั้น ๆ สุดความสามารถของเขา อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะทรงช่วยเหลือเขา และคำตอบของเขาก็จะใกล้เคียงความถูกต้องมากที่สุด
3. ไม่มักง่ายในการตอบปัญหาศาสนา
เช่น การเร่งรัดรีบตอบก่อนจะพิจารณา ใคร่ครวญข้อมูลให้ถี่ถ้วน และรอบด้าน ใครที่เป็นเช่นนั้น ไม่สมควรอย่างยิ่งที่เขาจะทำหน้าที่ตอบปัญหา
ท่านอิบนุศศ่อลาห์ กล่าวว่า“บางทีเขาอาจคิดว่า การรวดเร็วคือความเก่งกาจ การล่าช้าคือความบกพร่อง ขาดความสามารถ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะหากเราล่าช้าและไม่ผิดพลาด ย่อมดีกว่าการรีบแต่หลงผิดและทำให้ผู้อื่นหลงผิดด้วย”
จำเป็นสำหรับผู้ตอบปัญหาศาสนาเมื่อจำเป็นที่จะต้องตอบ จะต้องไม่รีบเร่งในการตอบ แต่ควรพิจารณาและศึกษาข้อมูลอย่างดี ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่สุดความสามารถจนเป็นที่พอใจ
ท่านอิบนุ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า“ผู้ที่ตอบปัญหาศาสนาในทุก ๆ คำถามที่มีผู้คนมาถาม เขาคือคนเสียสติ”
ท่านอิมามมาลิกถูกถามปัญหาศาสนา 48 คำถาม มีถึง 32 คำถามที่ท่านตอบไปว่า “ฉันไม่ทราบ”
และท่านยังเคยกล่าว่า “ใครก็ตามที่จะตอบปัญหาศาสนา ก่อนที่เขาจะตอบออกไปให้คำนึงเสมอว่า เขากำลังเสนอตัวของเขาสู่สวรรค์หรือไฟนรก”
นักวิชาการบางท่านได้กล่าวแก่ผู้ตอบปัญหาศาสนาบางคนว่า “หากท่านถูกถามปัญหาศาสนา อย่าให้ความตั้งใจของท่านมุ่งอยู่กับการช่วยเหลือผู้ที่มาถาม แต่ให้มุ่งอยู่กับการช่วยเหลือตัวท่านเองก่อน”
และหากผู้ตอบปัญหาศาสนาพบว่าในประเด็นที่ถูกถามมี 2 ทัศนะหรือมากกว่านั้น โดยที่ไม่ทราบว่าทัศนะไหนถูกต้องหรือมีน้ำหนักมากกว่ากัน ดีที่สุดให้หยุดและไม่ตอบปัญหาในเรื่องนี้
ท่านอิบนุ อับดิลบัร กล่าวว่า “หากว่าเขาไม่มั่นใจในเรื่องใด จำเป็นที่เขาจะต้องยุติ ไม่อนุญาตให้เขาพูดพาดพิงคำพูดใดถึง อัลลอฮฺและในศาสนาของพระองค์โดยปราศจากตัวบทหลักฐานมาอ้างอิง”
4. จำเป็นสำหรับผู้ตอบปัญหาศาสนาต้องแก้ไขคำตอบของตน เมื่อปรากฏภายหลังว่าสิ่งที่เขาได้ตอบไปนั้นผิดพลาด
เพราะในประเด็นเดียวกัน บรรดาอิมามอาจมี 2 ทัศนะหรือมากกว่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่อง น่าเสียหาย หรือบั่นทอน ทั้งต่อวิชาความรู้และศาสนาของพวกท่าน แต่เป็นเครื่องยืนยันถึงความยำเกรงและความรู้มากมายของพวกท่าน หากผู้ที่ตอบปัญหาศาสนาพบว่า สิ่งที่ได้ตอบไปเกิดผิดพลาดอย่างชัดเจน เพราะค้านกับตัวบทหลักฐานที่ไม่มีข้อโต้แย้ง หรือคัดค้านกับมติเอกฉันท์ของประชาชาติ ในกรณีนี้จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ผู้ที่เคยมาถามได้ทราบด้วย
5. ไม่อนุญาตให้ผู้ตอบปัญหาศาสนากล่าวยืนยันว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือ ร่อซูลของพระองค์ได้อนุมัติหรือห้ามสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยกเว้นในสิ่งที่มีตัวบทชัดเจน
6. ต้องมุ่งมั่นบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ให้พระองค์ทรงดลใจสู่ความถูกต้อง และชี้แนะถึงคำดัดสินที่พระองค์ได้บัญญัติเอาไว้ในประเด็นนั้น ๆ และเมื่อทุ่มเทความสามารถ หากว่าประสบความสำเร็จก็ต้องขอบคุณต่อพระองค์ และหากว่ามันยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ก็ควรรีบกลับเนื้อกลับตัว ขออภัยโทษและรำลึกถึงพระองค์ให้มาก ๆ
เพราะวิชาความรู้ คือ รัศมีของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่พระองค์ประทานแก่บ่าวของพระองค์ ส่วนอารมณ์ปรารถนาและการฝ่าฝืน คือพายุที่จะมาดับรัศมีนั้น และดุอาอฺที่เราควรกล่าว ปรากฏอยู่ในฮะดิษซอเฮี๊ยะฮฺคือ
“ข้าแด่อัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าของญิบรออีล มีกาอีล และอิสรอฟีล ผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ผู้ซึ่งรู้ในสิ่งเร้นลับและเปิดเผย
ขอพระองค์ทรงตัดสินระหว่างปวงบ่าวของพระองค์ในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกันด้วยเถิด ด้วยการอนุมัติของพระองค์
โปรดทรงชี้แนะข้อเท็จจริงให้แก่ข้าพระองค์ในสิ่งที่ขัดแย้งกันด้วยเถิด แท้จริง พระองค์จะทรงชี้แนะแนวทางที่เที่ยงธรรมแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
ชาวสะลัฟบางท่านขณะที่จะตอบปัญหาศาสนาก็จะอ่านซูเราะฮฺอัล-ฟาติฮะฮฺ
และบางท่านก็จะกล่าวว่า
“มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ท่าน ไม่มีวิชาความรู้ใดสำหรับพวกเรา นอกจากสิ่งที่พระองค์ได้สอนพวกเราไว้ แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้และปรีชาญาณ”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 32)
บางท่านจะกล่าวว่า
“ไม่มีการผันแปร และไม่มีพลังอำนาจใด ๆ นอกจากด้วยพลังอำนาจของอัลลอฮฺเท่านั้น”
และบางท่านจะกล่าวว่า
“โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงเปิดใจของข้าพระองค์ โปรดให้ความสะดวกแก่กิจการของข้าพระองค์ และโปรดคลายปมที่ลิ้นของข้าพระองค์ ให้พวกเขาเข้าใจคำพูดของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
(ฏอฮา 20 : 25-28)
7. ควรขอคำปรึกษาจากผู้มีความน่าเชื่อถือในศาสนาและวิชาความรู้ของเขา
อย่าริตอบคนเดียวโดยไม่ปรึกษาใคร เพราะคิดว่าตนเองเก่ง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสแก่ร่อซูลของพระองค์ว่า
“และเจ้าจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย”
(อาละอิมรอน 3 : 159)
ทั้งนี้ การปรึกษาหารือกับผู้รู้หรือผู้อื่นจะต้องไม่นำพาไปสู่การเปิดเผยความลับของผู้ถาม และ ไม่นำพาให้ภัยหรือความเสื่อมเสียมาถึงตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง และพระองค์ยังได้ทรงชมเชยบรรดาผู้ศรัทธาที่ปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน
8. ควรจะแนะนำผู้รู้คนอื่น ๆ ให้แก่ผู้ที่มาถามด้วย
ผู้ตอบปัญหาศาสนาต้องยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ควรแนะนำผู้มีความรู้ที่อยู่ในหนทางของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ให้แก่ผู้ที่มาถามด้วย
9. ต้องรักษาความลับและปกปิดข้อเสียของผู้อื่น
เพราะการเปิดเผยความลับอาจสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดอันตรายทั้งแก่ตัวผู้ถามและผู้อื่น
10. ควรตอบปัญหาศาสนาด้วยเนื้อหาที่เป็นตัวบทหลักฐานเท่าที่สามารถจะทำได้
เพราะตัวบทจะประกอบไปด้วยข้อชี้ขาดและหลักฐาน พร้อมการอธิบายอย่างครบถ้วน เป็น ข้อชี้ขาดที่รับประกันความถูกต้องและมีหลักฐานที่อธิบายไว้อย่างดี บรรดาซอฮาบะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เมื่อถูกถามปัญหา พวกท่านจะตอบว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสไว้เช่นนั้น ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวหรือปฏิบัติไว้เช่นนี้ และห้ามมิให้ผู้ตอบปัญหาศาสนาตอบตรงกันข้ามกับตัวบทหลักฐานที่มี ถึงแม้นว่าจะไม่ตรงกับแนวทางของตนเองก็ตาม
11. ควรยกหลักฐานในการตอบปัญหาศาสนาและให้เหตุผลประกอบด้วย
เพราะหลักสำคัญของการตอบปัญหาศาสนาหรือหลักฐาน เพราะคำพูดของผู้ตอบปัญหาศาสนาที่มีหลักฐานชัดเจนประกอบนับว่ามีน้ำหนัก ห้ามมิให้ผู้ถามโต้แย้งและฝ่าฝืน และผู้ตอบปัญหาเองก็หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่าตอบปัญหาศาสนาโดยปราศจากความรู้
12. ไม่ผ่อนปรนหรือเข้มงวดจนเกินไป
มนุษย์มี 2 จำพวก พวกหนึ่ง ค่อนข้างชอบความสะดวกและผ่อนปรนโดยไม่คำนึงหลักเกณฑ์ศาสนา เพราะเห็นว่าเหมาะสมที่สุดกับสภาพของผู้คนในยุคสมัยนี้ เพราะพวกเขาต่างละเลยความเคร่งครัดต่อหลักปฏิบัติต่าง ๆ ของศาสนา เราจึงควรทำให้จิตใจอ่อนแอของคนเหล่านี้กลับมาเข้าใกล้ศาสนา เยียวยาหัวใจที่ป่วยของพวกเขาให้ตื่นตัว น้อมรับและให้ความสำคัญต่อลักปฏิบัติของศาสนา ส่วนในเรื่องใด ประเด็นใดที่มีข้อผ่อนผัน จำเป้นจะต้องมีตัวบทหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจากตัวบทหลักฐานที่กล่าวไว้ตรง ๆ ด้วยการเปรียบเทียบกับประเด็นอื่น ๆ หรือจากคำพูดของผู้นำที่น่าเชื่อถือ
ส่วนมนุษย์อีกจำพวกค่อนข้างเคร่งครัดและเข้มงวด โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ของศาสนาเช่นกัน โดยถือเอาว่าการทำเช่นนี้ปลอดภัยที่สุด และเหมาะสมกว่ากับสภาพจิตใจของผู้คนในยุคสมัยนี้ ที่มักจะละเลยและเบาความต่อหลักเกณฑ์ของศาสนา จนอาจทำให้พวกเขาละทิ้งหลักปฏิบัติต่าง ๆ ของศาสนาทั้งหมดในอนาคต
ดังนั้น ผู้ตอบปัญหาศาสนาจึงควรอยู่กึ่งกลางระหว่างการผ่อนปรนและเข้มงวด
13. ต้องพิจารณาสถานการณ์ด้วยว่า ควรจะตอบโดยสรุปหรือให้รายละเอียดด้วย
คือต้องอธิบายคำตอบแก่ผู้ถามให้ชัดเจนจนหมดข้อสงสัย ครอบคลุมและตรงประเด็น โดยผู้ถามไม่ต้องไปถามเรื่องนี้จากใครอีก ผู้ตอบไม่ควรบอกว่า ประเด็นนี้มีการขัดแย้งกัน มี 2 ทัศนะ มีหลายแนวทางการปฏิบัติหรืออื่น ๆ เพราะนี่ไม่ใช่คำตอบ ควรจะต้องเจาะจงสิ่งที่มีน้ำหนักและถูกต้องมากที่สุดให้แก่ผู้ถาม แต่หากไม่ทราบแน่ชัดก็ควรหยุด ไม่ตอบจนกว่าจะมีความชัดเจน หรือไม่ก็ไม่ตอบปัญหานี้ไปเลย
ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์ กันยายน – ตุลาคม 2559