ความประเสริฐของการบริจาค
  จำนวนคนเข้าชม  48205


ความประเสริฐของการบริจาค

โดย ศิษย์เก่าฟุรกอน รุ่น 06

 

         ทรัพย์สินเงินทอง เป็นเนี๊ยะอ์มัตหนึ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานแก่เรา และเป็นฟิตนะฮฺหนึ่งที่อาจนำเราไปสู่หายนะ ใครที่แสวงหาเงินจากสิ่งที่หะล้าลและใช้จ่ายไปในหนทางของอัลลอฮฺก็จะได้รับผลตอบแทนมากมาย และจะได้รับความสุขทั้งในดุนยา และอาคิเราะฮฺ จากการใช้จ่ายที่ดีของเขา ส่วนใครที่แสวงหาเงินจากสิ่งที่หะรอม และใช้จ่ายไปในเรื่องผิดและสุรุ่ยสุร่าย ก็จะถูกลงโทษและได้รับความทุกข์ยาก ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ เช่นกัน

 

          การบริจาค คือรูปแบบหนึ่งในการใช้จ่ายเงินไปในหนทางของอัลลอฮฺ และถือเป็นคำสั่งใช้ ผู้ที่บริจาคนั้นท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยกตำแหน่งเขาให้เป็นมือบนซึ่งสูงส่งและมีเกียรติมากกว่ามือล่าง ซึ่งเป็นผู้ขอหรือผู้รับ มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลลอฮุอันฮุ ว่า

 

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่ามือบน (ผู้ให้) นั้นดียิ่งกว่ามือล่าง (ผู้รับ)”

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

เป็นมือบนยิ่งให้ ยิ่งได้รับ

 

การบริจาคมีความประเสริฐอยู่มากมายซึ่งผู้บริจาคจะได้รับผลตอบแทน ดังนี้

 

1. การบริจาคช่วยให้รอดพ้นฟิตนะฮฺที่เกิดจากทรัพย์สิน

 

          ถือเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญหน้าและเอาชนะอารมณ์ของตนเอง ธรรมชาติของมนุษย์จะหมกมุ่นอยู่กับทรัพย์สิน เนื่องจากความโลภ และความเสียหาย เพราะทรัพย์สินคือสิ่งที่มนุษย์รักยิ่งกว่าอื่นใดทั้งหมด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลฟัจร์ อายะฮฺที่ 20 ว่า

 

และพวกเจ้ารักทรัพย์สมบัติกันอย่างมากมาย

 

          ใครที่สามารถครอบครองทรัพย์สินโดยไม่ให้หัวใจไปยึดติดได้ก็รอดพ้นจากฟิตนะฮฺของทรัพย์สินนั้น มีรายงานจากกะอฺบ อิบนิ อิยาฎ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

แท้จริง ทุกประชาชาตินั้นจะประสบกับฟิตนะฮฺ และฟิตนะฮฺประชาชาติของฉันจะได้ประสบคือ เรื่องของทรัพย์สิน

(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)

 

          เมื่อเราตกเป็นทาสของเงิน ก็จะมุ่งแต่แสวงหาโดยไม่มองว่าได้มาอย่างไร ? หะล้าลหรือไม่ ? และใช้จ่ายไปในทางใด ? จนกระทั่งทิ้งในสิ่งที่ศาสนาใช้ และเอาเวลาทั้งหมดมาแสวงหา เก็บ รวบรวมเงิน โดยไม่ยอมบริจาค และใช้เงินทองไปในหนทางที่อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้ว นี่คือฟิตนะฮฺจากทรัพย์สินซึ่งถือเป็นฟิตนะฮฺที่ใหญ่หลวงยิ่ง

 

2. การบริจาคคือตัวชี้วัดค่าของอีมาน

 

          การบริจาคคือเครื่องวัดว่าเรามีความสัตย์จริงกับอัลลอฮฺเพียงใด มีคนจำนวนมากบอกว่าตนเองมีอีมานเพียงเพราะอิบาดะฮฺอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่เคยบริจาคเพราะความเสียดาย 

          อัลลอฮฺทรงสั่งใช้เราให้ ญิฮาดด้วยทรัพย์สิน เช่นเดียวกับญิฮาดด้วยชีวิต หมายถึง การบริจาค คือการญิฮาดต่อสู้กับจิตใจของตนเอง เป็นการขัดเกลาจิตใจเพื่อเตรียมพร้อมต่อสิ่งที่ยากกว่า (คือการญิฮาดในสมรภูมิรบ) อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺศ็อฟ อายะฮฺที่ 10 – 11 ว่า

 

     “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ข้าจะชี้แนะแนวทางแก่พวกเจ้าไหมเล่า ถึงการค้าที่จะช่วยพวกเจ้าให้พ้นจากการลงโทษอันเจ็บปวด นั้นคือพวกเจ้าต้องศรัทธาต่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ และต่อสู้ดิ้นรนในทางของอัลลอฮฺ ด้วยทรัพย์สินของพวกเจ้า และชีวิตของพวกเจ้า นั่นเป็นการดียิ่งสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้

 

3. การบริจาคมีแต่จะเพิ่มพูน ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินลดน้อยลง

 

          อัลลอฮฺจะทรงให้ทรัพย์สินที่เราบริจาคนั้นงอกเงย เพิ่มพูน และมีความจำเริญ และทรงให้เรารอคอยผลตอบแทนจากพระองค์ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 261 ว่า

 

     “อุปมาบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺ อุปมัยดั่งเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวง ในแต่ละรวงนั้นมีร้อยเมล็ด

     และอัลลอฮฺนั้นจะทรงเพิ่มพูนแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์อีก และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเปรียบเทียบการบริจาค เหมือนการหว่านเมล็ดข้าวลงปลูก เมื่อข้าวแตกรวงจะได้กลับมาถึงเจ็ดร้อยเมล็ด ยิ่งเราบริจาคไปมากเท่าใด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็จะทรงตอบแทนกลับมาให้เท่าทวีคูณ และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺสะบะอฺ อายะฮฺที่ 39 ว่า

 

     “และอันใดที่พวกเจ้าบริจาคจากสิ่งใดก็ดี พระองค์จะทรงทดแทนมัน และพระองค์นั้นคือผู้ประทานปัจจัยยังชีพที่ดีที่สุด

 

    การบริจาคไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินลดน้อยลง แต่ทำให้เพิ่มพูนขึ้น

          เชคมุฮัมหมัด อัลฮุซัยมีน ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : หากเรามีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ไม่ยอมบริจาค ทรัพย์สินก็จะลดลงโดยจะเกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

     1. ความเสียหายที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ เกิดขึ้นกับทรัพย์สินทางตรง เช่น อาจเกิดไฟไหม้ หรือถูกขโมยทรัพย์สินนั้นไป

     2. ความเสียหายที่เป็นนามธรรม (ทางอ้อม) คือ อัลลอฮฺจะถอดถอนความจำเริญในการดำรงชีวิต โดยให้เขาใช้ชีวิตและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งจะต้องนำเงินนั้นมารักษาตัว

 

4. สิ่งที่เราบริจาคไปจะคงอยู่ ที่อัลลอฮฺ

 

          ใครที่ไม่ยอมบริจาคเท่ากับเขาตัดความดีของตนเอง เพราะทุกสิ่งที่บริจาคไปเพื่ออัลลอฮฺนั้น เขาจะได้เห็นมันอยู่เบื้องหน้าพระองค์ในวันกิยามะฮฺ

          วันหนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เชือดแกะไว้ตัวหนึ่ง ท่านหญิงอาอิซะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ได้นำแกะตัวนั้นไปบริจาคทั้งหมดโดยเหลือไว้แค่ไหล่ของแกะเท่านั้น เพราะท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ชอบรับประทานไหล่และข้อศอกของแกะ 

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : อาอิชะฮฺเธอทำอย่างไรกับแกะตัวนั้น 

     นางตอบว่า : มันหมดไปแล้วยกเว้นไหล่ 

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : อย่าพูดอย่างนั้น เธอต้องพูดว่า มันอยู่ครบทั้งหมด ยกเว้นไหล่ (หมายถึงอยู่ ที่อัลลอฮฺแล้ว ในสิ่งที่บริจาคไป)

 

5. การบริจาคจะช่วยป้องกันภัยบะลาอฺที่มาประสบ

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮาะนะฮูวะตะอาลา จะทรงปัดป้องภัยพิบัติ และสิ่งเลวร้ายต่าง ให้ออกไปจากบ่าวของพระองค์ด้วยการบริจาค ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 

     “การกระทำคุณงามความดีต่อสังคม รับใช้เพื่อนมนุษย์ จะปกป้องผู้ทำเช่นนั้นให้พ้นจากความชั่วร้าย ความหายนะ และโรคภัยทั้งหลาย ผู้ทำคุณความดีในโลกนี้นั้น จะได้เป็นผู้มีคุณงามความดี (เป็นชาวสวรรค์) ในโลกอาคิเราะฮฺ

(ท่านอัลบานีย์กล่าวว่าเป็นฮะดิษซอเฮียะฮฺ)

 

          อุละมาอฺบางท่านถึงกับเคยสั่งเสียให้พี่น้องมุสลิมช่วยกันบริจาคทรัพย์สินให้มากเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน แผ่นดินไหว หรือประสบภัยพิบัติ จนกว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะทรงเมตตา ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องทำการบริจาคมากแค่ไหน เพื่อให้พระองค์เมตตาและทรงผลักดันภัยบะลาอฺให้พ้นไปได้

 

สิ่งที่ควรคำนึงในการบริจาค

 

1. อย่าลำเลิกบุญคุณหรือก่อความเดือดร้อนใด แก่ผู้รับ

 

          การบริจาคที่ดีนั้นจะต้องไม่ทวงบุญคุณภายหลัง หรือไปก่อความเดือดร้อนแก่ผู้รับ เช่น ถือโอกาสใช้ ผู้ที่รับบริจาคให้ทำธุระให้แก่ตนฟรี เพื่อเป็นการชดเชยสิ่งที่ได้บริจาคให้เขาไป อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 264 ว่า

 

     “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงอย่าให้บรรดาทานของพวกเจ้าไร้ผล ด้วยการลำเลิก และการก่อความเดือดร้อน เช่นผู้ที่บริจาคทรัพย์ของเขา เพื่ออวดอ้างผู้คน และทั้งเขาก็ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ

 

2. บริจาคอย่างลับ

 

          การบริจาคนั้นไม่ควรเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ เพื่อไม่ให้เกิดความโอ้อวด เว้นแต่การบริจาคแบบเปิดเผยจะนำไปสู่ความดีมากกว่าการปกปิด เช่น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้อื่นบริจาค อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 271 ว่า

 

     “หากพวกเจ้าเปิดเผยสิ่งที่ให้เป็นทาน มันก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่ และถ้าหากพวกเจ้า ปกปิดมัน และให้มันแก่บรรดาผู้ยากจนแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ดีแก่พวกเจ้ายิ่งกว่า

 

3. มีความบริสุทธิ์ใจในการบริจาค

 

          ผู้บริจาคจะต้องมีเจตนาที่ดี บริสุทธิ์ใจ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าการบริจาคนั้นทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง หรือคำชมเชย เพราะถ้าหากทำไปโดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮฺ การบริจาคนั้นก็จะไม่ถูกตอบรับ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 272 ว่า

 

     “สิ่งดีใด ที่พวกเจ้าบริจาคไปก็ย่อมได้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง และพวกเจ้าจะไม่บริจาคสิ่งใด นอกจากเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺเท่านั้น และสิ่งดีใด ที่พวกเจ้าบริจาคไป มันก็จะถูกตอบแทนโดย ครบถ้วนแก่พวกเจ้า และพวกเจ้าจะไม่ถูกอยุติธรรม

 

4. บริจาคในสิ่งที่ดี และหะล้าล

 

          การบริจาคนั้นจะต้องให้ในสิ่งที่ดีมีประโยชน์กับสุขภาพร่างกาย เป็นสิ่งที่หะล้าล และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ของเหลือจากการกินทิ้งกินขว้าง เสื้อผ้าที่ใส่จนเก่าชำรุด สุรา หรือเงินที่ได้รับมาจากดอกเบี้ยนั้นต้องไม่นำไปบริจาค อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 92 ว่า

 

     “พวกเจ้าจะไม่ได้ความดีเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริง อัลลอฮฺทรงรู้ในสิ่งนั้นดี

 

5. การบริจาคในช่วงเวลาที่มีความสามารถ

 

     มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

     มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และถามว่าการบริจาคอย่างไรจึงจะได้รับผลบุญที่ดีที่สุด

     ท่านนบีตอบว่า : การที่ท่านบริจาคในขณะที่ท่านยังมีร่างกายแข็งแรง ยังมีความตระหนี่ กลัวความจน และหวังในความร่ำรวย และท่านอย่ารอจนกระทั่งวิญญาณของท่านมาอยู่ที่ลูกกระเดือกแล้ว

     ท่านถึงจะกล่าวว่าฉันให้สิ่งนี้แก่คนนี้ ฉันให้สิ่งนี้แก่คนนั้นทั้งที่มันเป็นสิทธิของอีกคน

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

6. บริจาคให้เครือญาติที่ยากจนขัดสนก่อน

 

          การบริจาคนั้นให้เริ่มจากตัวเรา หากบริจาคไปแล้วเกิดความขัดสนแก่ตัวเองและครอบครัวก็ไม่จำเป็นต้องบริจาค แต่หากมีเหลือพอก็ควรบริจาคให้เครือญาติก่อน การบริจาคให้เครือญาตินั้นเป็น การเชื่อมสัมพันธ์อันดีงาม ทำให้เกิดความรักใคร่ และทำให้ความบาดหมางที่มีอยู่ในใจนั้นหมดไปได้ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

     “การบริจาคให้คนยากจนนั้นจะได้ผลบุญหนึ่งเท่า และการบริจาคให้เครือญาตินั้นจะได้ผลบุญสองประการ คือผลจากการบริจาค และจากการเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ

 

     การบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺนั้นมีมากมาย เราสามารถเลือกกระทำได้ตามความสามารถ เช่น

1. บริจาคให้คนยากจน ช่วยชดใช้หนี้ให้แก่ผู้ที่มีหนี้สิน

2. สร้างมัสยิด บริจาคเงินให้กับมัสยิดและผู้ที่ดูแลมัสยิด

3. บริจาคน้ำ หรือขุดบ่อน้ำให้สถานที่ที่น้ำเข้าไม่ถึง

4. เลี้ยงอาหาร แจกเสื้อผ้าผู้ที่มีความต้องการ

5. บริจาคให้ผู้แสวงหาความรู้ นักเรียนศาสนา

6. บริจาคเพื่อการเผยแพร่ศาสนา

7. บริจาคเพื่อการญิฮาด

8. สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือแหล่งความรู้

 

           ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานริสกีที่ดีงามแก่เรา และขอให้เราได้ใช้จ่ายริสกีนั้นไปในหนทางของพระองค์ และขอให้เรารอดพ้นจากฟิตนะฮฺของทรัพย์สินด้วยเถิด อามีน

 

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์ กันยายนตุลาคม 2559