พูดแต่สิ่งดีงาม หรือไม่ก็เงียบเสีย !
  จำนวนคนเข้าชม  8814


พูดแต่สิ่งดีงาม หรือไม่ก็เงียบเสีย !

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจในบทบัญญัตินั้น และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺด้วย

 

           ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย มีคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอยู่สี่ประการ ที่อุละมาอ์บอกว่า ใครก็ตามที่เขาสามารถปฏิบัติตามคำสอนของท่านนบีได้ครบทั้งสี่ประการนี้ จะทำให้เขาได้รับความประเสริฐในชีวิตอย่างมากมาย และได้รับความสงบสุขในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง

 

           คำสอนของท่านนบีประการที่หนึ่งก็คือ ให้เราละทิ้งสิ่งที่ไร้สาระ หรือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์สำหรับตัวเรา ความหมายโดยสรุปก็คือ ให้เราละทิ้งสิ่งที่มันไม่ได้นำเราไปสู่การเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะลา และละทิ้งสิ่งที่มันจะนำเราไปสู่การลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะลา ...ซึ่งคำสอนในเรื่องนี้ ได้พูดไปแล้วในคุฏบะฮฺครั้งก่อน

 

          สำหรับวันนี้จะพูดถึงคำสอนประการที่สอง เป็นคำสอนที่อยู่ในอัลหะดีษ บันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม เป็นรายงานมาจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้สอนว่า

 

مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ فَلْيَقُلْ خَيْرًا أَوْ لِيَصْمُتْ ،

 

ผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ ..เขาจงพูดแต่สิ่งที่ดีงาม หรือไม่เช่นนั้น ก็จงนิ่งเงียบเสีย

 

          ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมรักเรามาก ท่านได้สอนเรื่องราวที่จะทำให้เราได้รับความดี ได้รับความประเสริฐไว้อย่างมากมาย สำหรับคำสอนนี้ ท่านนบีได้บอกเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ ...ซึ่งตรงนี้ขอให้เราได้ทราบว่า.. การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น ไม่ใช่การพูดออกมาแต่เพียงลมปากว่า ฉันศรัทธาต่ออัลลอฮฺเท่านั้น แต่ความหมายของการศรัทธาต่ออัลลอฮฺนั้นยังต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไข 2 ส่วนคือ

 

     ส่วนที่ 1. เชื่อมั่นศรัทธาในความมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อเราพูดว่า เราศรัทธาต่ออัลลอฮฺ นั่นก็หมายความว่า ใจของเราก็ต้องเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแน่วแน่และมั่นใจในความมีอยู่จริงของพระองค์ด้วย ...เมื่อเชื่อมั่นศรัทธาในความมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว ก็ต้องเชื่อมั่นศรัทธา

 

     ในส่วนที่ 2. ด้วย ก็คือ เชื่อมั่นศรัทธาต่อเตาฮีดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..เชื่อมั่นศรัทธาต่อการเป็นพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้งในด้าน..อัรรุบูบียะฮ คือเชื่อมั่นศรัทธาว่าพระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงสร้างมนุษย์ สร้างโลก สร้างจักรวาล สร้างทุก ๆสรรพสิ่งที่มนุษย์ไม่มีความสามารถที่จะทำได้ 

     เมื่อพระองค์ทรงสร้างแล้ว พระองค์ก็ทรงครอบครอง ทรงเป็นเจ้าของ ทรงมีกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริงในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง รวมไปถึงเป็นผู้ทรงบริหารจัดการทุก ๆสรรพสิ่งทั้งหมดด้วย

     เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเป็นเจ้าของ เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในทุกๆสิ่ง นั่นก็หมายความว่า เราจะต้องให้การสรรเสริญ ให้การขอบคุณ ให้การเคารพภักดี ให้การทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเรานั้นมอบแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น เราจะไม่มอบให้กับผู้อื่นใดหรือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น นี่ก็คือเตาฮีดในด้านอัลอุลูฮียะฮฺ ซึ่งการที่เรามีเตาฮีดในด้านอัลอุลูฮียะฮฺนั้น จะทำให้เราไม่ทำชิริกต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างเด็ดขาด

     เมื่อเรามอบเตาฮีดในด้านอัรรุบูบียะฮฺและด้านอัลอุลูฮียะฮฺแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว เรายังต้องมอบเตาฮีดอัลอัสมาอ์ วัศศิฟาต แด่พระองค์อีกด้วย อันเป็นการเชื่อมั่นศรัทธาต่อบรรดาพระนามอันงดงาม และบรรดาคุณลักษณะอันสูงส่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตามที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานและอัลหะดีษเท่านั้น

     โดยเราจะต้องมีหลักยึดว่า จะต้องไม่มีการปฏิเสธใดๆต่อพระนามและคุณลักษณะของพระองค์ตามที่ถูกระบุไว้ และจะต้องไม่มีการเบี่ยงเบนในความหมาย ไม่มีการตีความ และต้องไม่นำไปเปรียบเทียบกับลักษณะของมัคลูก็อต หรือสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหมดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วย ถือเป็นพระนามและคุณลักษณะอันสมบูรณ์ทุกประการ โดยไม่มีข้อบกพร่องใดๆทั้งสิ้น

 

          สำหรับในส่วนของการศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺนั้น ก็ต้องเป็นการศรัทธาที่ประกอบไปด้วย การเชื่อมั่นศรัทธาว่าวันอาคิเราะฮฺนั้นจะเกิดขึ้นจริง การฟื้นคืนชีพในวันอาคิเราะฮฺนั้นจะเกิดขึ้นจริง เมื่อมนุษย์ทุกคนฟื้นคืนชีพแล้วก็จะถูกสอบสวนในทุกๆสิ่งที่เราได้ประพฤติปฏิบัติไว้ในโลกดุนยา เมื่อสอบสวนแล้ว ก็จะถูกพิพากษาให้ได้รับการตอบแทน จะเป็นรางวัลด้วยกับสวรรค์ หรือจะเป็นการลงโทษด้วยกับนรกนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลของการสอบสวนนั้น ...

          เรื่องของสวรรค์เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่สวรรค์ในอก ...เรื่องของนรกก็เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่นรกในใจ และนรกไม่ใช่โรงพยาบาล นรกไม่ใช่สถานที่รักษา แล้วก็ออกมา แต่นรกเป็นสถานที่สำหรับการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

          ดังนั้น การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺจึงเป็นการเชื่อมั่นศรัทธาต่อชีวิตหลังความตาย ศรัทธาต่อทุกๆเรื่องที่จะเกิดขึ้นหลังการตายของเรา ตามที่อัลกุรอานและอัลหะดีษที่มีหลักฐานที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ได้ระบุไว้

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย คำสอนจากอัลหะดีษที่ยกมาข้างต้น เมื่อผู้ใดก็ตามที่เขาได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺตามเงื่อนไขที่ได้บอกไว้ข้างต้นอย่างครบถ้วน สิ่งที่ตามมาก็คือ เขาจงพูดแต่สิ่งที่ดีงาม หรือไม่เช่นนั้น ก็จงนิ่งเงียบเสีย

 

          ท่านชัยค์มุฮัมมัด บินศอลิหฺ อัลอุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ อุละมาอ์ในยุคของเรา ได้อธิบายถึงการพูดแต่สิ่งที่ดีงามไว้สองลักษณะคือ ดีงามต่อตัวคนพูดเอง และดีงามต่อผู้อื่น

           คำพูดที่ดีงามต่อตัวคนพูด ก็เช่น กล่าวซิกรุลลอฮฺกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ กล่าวตัสบีหฺซุบฮานัลลอฮฺ กล่าวตะหฺมีดอัลฮัมดุลิลลาฮฺ กล่าวตักบีร -อัลลอฮุอักบัร กล่าวอิสติฆฟารอัสตัฆฟิรุลลอฮฺ การอ่านอัลกุรอาน การขอดุอาอ์ การสั่งสอนผู้คน การถ่ายทอดความรู้ การตักเตือน - กำชับให้ผู้คนทำความดี ทำตามบทบัญญัติศาสนา ห้ามปรามผู้คนให้ละทิ้งสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนา ซึ่งคำพูดที่ดีงามทั้งหลายเป็นคำพูดที่ถูกสั่งใช้ให้พูด เพราะมันจะส่งผลดีต่อตัวคนพูดเอง

          ส่วนคำพูดที่ดีงามต่อผู้อื่นนั้น มันเป็นคำพูดที่เมื่อเราพูดแล้ว เราไม่ได้พูดหวังผลเพื่อตัวเราเอง แต่พูดเพื่อทำให้ผู้อื่นสบายใจ มีความสุข เกิดความอุ่นใจ หรือรู้สึกคลายเครียด คลายกังวล คำพูดต่างๆทำนองนี้เป็นคำพูดดีงามที่ส่งผลดีต่อผู้อื่น

          แต่ถ้าหากพูดดีงามไม่ได้ ก็ أَوْ لِيَصْمُتْ ให้นิ่งเงียบเสีย พูดคำพูดที่ดีงามไม่ได้ ก็ให้นิ่งเงียบเสียจะดีกว่า เพราะคำพูดที่ไม่ดีนั้น เช่น พูดจาโกหกพกลม พูดคำหยาบ พูดยกตนข่มท่าน พูดจาโอหัง พูดคำด่าคำ พูดติฉินนินทา คำพูดในทำนองนี้ถือเป็นคำพูดที่ถูกสั่งห้าม แต่ให้นิ่งเงียบเสียจะปลอดภัยกว่าที่จะพูดคำเหล่านี้ออกไป

          ส่วนคำพูดที่ไร้สาระนั้น อุละมาอ์บอกว่า มันไม่ใช่คำพูดที่ดี แต่มันก็ไม่ใช่คำพูดที่ไม่ดี ไม่มีข้อห้ามในการพูดที่ไร้สาระ แต่การนิ่งเงียบ หรือไม่พูดนั้นประเสริฐกว่า

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ก่อนจบคุฏบะฮฺในวันนี้ ขอนำเสนอข้อคิดเตือนใจในเรื่องของการพูด จากท่านอัลหะซัน อัลบัศรีย์ الحسن البصري เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ซึ่งเป็นอุละมาอ์ เป็นอิมามที่มีชื่อเสียงมากในยุคของตาบิอีน ที่มีผู้กล่าวกันว่า คำพูดของท่านอัลหะซัน อัลบัศรีย์นั้น มีความคล้ายคลึงกับคำพูดของบรรดานบี ...

 

     ซึ่งมีรายงานหนึ่งกล่าวว่า ท่านอัลหะซันได้ถูกถามคำถามหนึ่งว่า เพราะเหตุใด ท่านจึงพูดเพียงวันละเจ็ดคำ หรือแปดคำเท่านั้น ?

     ท่านอัลหะซันได้ตอบคำถามนี้ว่า ...มีคนบอกฉันว่า เมื่อเวลาที่จะพูดอะไรออกไป ให้ถามตัวเองด้วยว่า คำพูดที่พูดไปนั้น มันจะถูกนำไปชั่งในตาชั่งของความดี หรือมันจะถูกนำไปชั่งในตาชั่งของความชั่ว...( เมื่อเป็นอย่างนี้ )หากฉันเห็นว่า มันจะอยู่ในตาชั่งของความดี ฉันก็จะพูดมันออกไป แต่ถ้าหากฉันเห็นว่า มันจะอยู่ในตาชั่งของความชั่ว ฉันก็ไม่อยากจะพูด ...ซึ่งฉันคิดเห็นแล้วว่า คำพูดส่วนใหญ่ของฉันนั้น มันน่าจะอยู่ในตาชั่งของความชั่วมากกว่า ดังนั้น ฉันจึงขอเลือกที่จะนิ่งเงียบเสีย เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า

 

: مَا يَلْفِظُ مِنْ قَوْلٍ إِلَّا لَدَيْهِ رَقِيبٌ عَتِيدٌ

 

     "ไม่มีคำพูดคำใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่ใกล้ ๆเขานั้นมี (มะละอิกะฮฺ) ผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อม (ที่จะจดบันทึกคำพูดของเขา)"

 ( อายะฮฺนี้อยู่ในซูเราะฮฺกอฟ อายะฮฺที่ 8 )

 

          นั่นก็หมายความว่า ให้เราเชื่อมั่นได้เลยว่า ทุกๆคำพูดที่เราพูดออกไปนั้น มันต้องถูกบันทึกอย่างแน่นอน แต่มันจะถูกบันทึกในตาชั่งไหนระหว่างตาชั่งของความดี หรือตาชั่งของความชั่ว ก็อยู่ที่เราว่าจะเลือกพูดแบบไหน ..

 

          ถ้าหากเราพูดคำพูดที่ดีงาม มันก็จะอยู่ในตาชั่งของความดี และเราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนจากคำพูดนั้น ..แต่ถ้าเราพูดคำพูดที่ไม่ดีออกไป มันก็จะไปอยู่ในตาชั่งของความชั่ว และเราก็จะได้รับการลงโทษจากคำพูดที่ไม่ดีนั้น ..แต่หากเป็นคำพูดที่ไร้สาระ คำพูดเล่นชวนหัวเราะ อย่างนี้ มันคือคำพูดที่ไร้ประโยชน์ เพราะไม่ได้ช่วยให้เข้าสวรรค์ แต่บางทีอาจนำเราไปสู่การถูกลงโทษก็ได้ สมควรที่ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺจะละทิ้งคำพูดที่ไร้สาระ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาและวันอาคิเราะฮฺอย่างถูกต้อง และให้เราได้ฝึกฝนตัวของเราเองให้พูดแต่คำพูดที่ดีงาม และรู้จักที่จะนิ่งเงียบหากพูดคำพูดที่ดีงามไม่ได้ และได้ละทิ้งคำพูดที่ไม่ดี ละทิ้งคำพูดที่ไร้สาระต่างๆ และให้เราได้รับความประเสริฐในชีวิตอย่างมากมาย และได้รับความสงบสุขในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง

 

 

คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน บางอ้อ