ฮัจญ์
บทเรียนเพื่อฝึกฝน และข้อคิดเพื่อจริยธรรม
นำเสนอโดย .. อาจารย์ญะม้าล ไกรชิต
หากมีการกล่าวถึงบัยตุ้ลลอฮ์ ณ ดินแดนอันศักสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ตะอาลา หัวใจย่อมหวั่นไหว เพราะทุกคนปราถนาที่จะเดินทางไป ณ สถานที่แห่งนั้น แม้เพียงสักครั้งในชีวิต ด้วยการยกย่องและเชิดชูเอกองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ผู้เป็นพระเจ้าของทุกสรรพสิ่ง
อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า :
“แท้จริง บ้านหลังแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่ออิบาดะฮ์)นั้น คือบ้านที่มักกะฮ์(อัลกะอ์บะฮ์) โดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ(หมายถึงอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย)
ในบ้านนั้นมีหลายสัญญาณที่ชัดเจน (ส่วนหนึ่งนั้น) คือมะกอมอิบรอฮีม และผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้น เขาก็เป็นผู้ปลอดภัย
และสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีแก่มนุษย์ คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น(เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ และอุมเราะห์) และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริง อัลลอฮ์ นั้นไม่ทรงพึ่งพาประชาชาติทั้งหลาย”
(อาลาอิมรอน 3 : 96 -97)
ใน 1 รอบ อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงกำหนดช่วงระยะเวลาของการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุ้ลลอฮ์ อันทรงเกิยรติ ซึ่งถือว่าเป็นฤดูกาลที่ผู้คนต่างหลั่งไหลกันมายังบัยตุ้ลลอฮ์จากทุกสารทิศ จากต่างบ้านต่างเมืองและชาติพันธุ์ การรวมตัวของพวกเขาก่อให้เกิดความดีงามและประโยชน์ต่างๆ มากมายดังที่เราพบเห็นกัน
อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า :
“และจงประกาศแก่มวลมนุษย์เพื่อให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้า และทางอูฐ ที่จะมาจากทางไกลทุกทิศทุกทาง เพื่อพวกเขาจะได้ร่วมเป็นพยานในผลประโยชน์ของพวกเขา
และกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ ในวันที่เป็นที่ทราบกันดี คือวัดเชือด ตามที่พระองค์ได้ประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาจากสัตว์สี่เท้า ดังนั้น พวกเจ้าจงกินเนื้อของมัน และจงให้อาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน”
(อัลฮัจญ์ 22 : 27 – 28)
การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการเดินทางด้วยความศรัทธา เป็นการรวมตัวกันเพื่อความดีงาม ที่เต็มไปด้วยบรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่มีหัวใจเปี่ยมไปด้วยศรัทธา
การประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นภาพของการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในโลกนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่พี่น้องมุสลิมจะได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ต่างได้พูดคุยและรับทราบความเป็นไปของพี่น้องมุสลิมในแต่ละพื้นที่ในโลกนี้
ความหมายของฮัจญ์
ความหมายทางภาษาของคำว่า “ฮัจญ์” คือ การมุ่งไปหรือเจตนา และความหมายทางหลักปฏิบัติ การมุ่งหน้าไปยังบัยตุ้ลลอฮ์เพื่อประกอบศาสนกิจและอิบาดะฮ์ในเดือนที่เฉพาะเจาะจง เพื่อตอบรับคำบัญชาของอัลลอฮ์ ตะอาลา และปรารถนาความพึงพอพระทัยจากพระองค์
การประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติอิสลาม 5 ประการ เป็นข้อบังคับที่มีเงือนไข คือต้องเป็นมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปรัญญะสมประกอบ เป็นอิสระชน ไม่เป็นทาส และมีความสามารถทั้งร่างกายและทรัพย์สิน อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า :
“และสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีต่อมนุษย์คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น(อัลกะอ์บะฮ์) และผู้ใดปฏิเสธแท้จริงแล้ว อัลลอฮ์ นั้นไม่ทรงพึ่งพาประชาชาติทั้งหลาย”
(อาละอิมรอน 3 : 97)
ภาคผลของการประกอบพิธีฮัจญ์
การประกอบพิธีฮัจญ์มีภาคผลมากมาย ทำให้เรามีข้อมูลความรู้ที่กว้างขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสให้เราทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และเป็นการฟื้นฟูความรู้สึกของการเป็นพี่น้อง ความผูกผัน ความสามัคคี การปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม อีกทั้งผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ยังได้ร่วมประกอบศาสนกิจและปฏิบัติตามข้อบังคับที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ตะอาลา และแบบฉบับของร่อซูลของ ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พระองค์อีกด้วย
ส่วนหนึ่งจากภาคผลต่างๆของการประกอบพิธีฮัจญ์ คือ :
เป็นเหตุให้ได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ ตะอาลา
เป็นเหตุให้ได้รับการอภัยโทษจากความผิดต่าง ๆ
เป็นเหตุให้ประสบผลสำเร็จ ได้เข้าสวรรค์
เป็นการให้ความสำคัญต่อพิธีทางศาสนา
เป็นเหตุให้เกิดความยำเกรงและขัดเกลาจิตใจ
เป็นเหตุให้ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์รู้สึกภาคภูมิใจ และมีเกียรติที่เป็นส่วนหนึ่งจากประชาชาติอิสลาม
เป็นเหตุให้มุสลิมได้ฝึกฝนความอดทนต่อความยากลำบาก และ
เป็นเหตุให้มีความมานะพยายามเพื่อให้ได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ ตะอาลา
หากหัวใจเราได้ซึมซับคุณค่าของการประกอบพิธีฮัจญ์และปฏิบัติพิธีฮัจญ์อย่างดี ก็จะสร้างพลังและความมานะพยายามให้แก่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ ไม่ว่ากับตัวบุคคลหรือหมู่คณะก็ตาม เพราะพวกเราได้ร่วมมือกันสร้างเสถียรภาพให้แก่ประชาชาติมุสลิมด้วยความรู้และการปฏิบัติ
ดังนั้น ผู้ใดที่รักษามารยาทในการประกอบพิธีฮัจญ์ และละทิ้งสิ่งต้องห้ามและสิ่งไร้สาระ แน่นอน เขาได้ชำระตัวเองจากความผิดต่างๆ และอัลลอฮ์ ตะอาลา จะทรงอภัยบาปต่างๆ ของเขา และเขาจะกลับภูมิลำเนาในสภาพที่บริสุทธิ์ มีความยำเกรง และได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ ตะอาลา
พิธีฮัจญ์
คำอ่าน “ลับบัยกัลลอ ฮุมมะ ลับบัยก์ ลับบัยกะ ลาชะรีกะ ละกะ ลับบัยก์ อินนั้ลฮัมดะ วั้ลเนี้ยะมะตะ ละกะ วัลมุลก์ ลาชะรีกะ ละกะ”
“โอ้ อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ได้ตอบสนองคำเรียกร้องของพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ตอบสนองคำเรียกร้องของพระองค์แล้ว ด้วยการไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระองค์ แท้จริงแล้ว การสรรเสริญ ความโปรดปราน และอำนาจนั้นเป็นของพระองค์ ไม่มีการตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระองค์”
ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะกล่าวถ้อยคำ “ตั้ลบียะฮ์” อันยิ่งใหญ่นี้ตั้งแต่เริ่มครองเอียะห์รอม เป็นคำกล่าวที่ยอดเยี่ยม ดีงาม มีผลต่อจิตใจที่ผูกพันด้วยศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา และเป็นการประกาศให้ทราบถึงการเชื่อฟังพระองค์โดยปราศจากเงื่อนไข
แน่นอน คำกล่าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิม เพื่อให้ชีวิตและกิจการงานต่างๆ ของเราหนักแน่น มั่นคงอยู่ในแนวทางของบัญญัติศาสนา เพราะในปัจจุบันมีความบกพร่องมากมายเกิดกับชนในยุคนี้ คำพูดและการกระทำของเราแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
การกล่าวถ้อยคำเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตของผู้ที่เป็นมุสลิม เพื่อขัดเกลาจิตใจของพวกเราจากความอิจฉาริษยา และการสร้างความแตกแยกกัน เหนือสิ่งอื่นใด และเพื่อกระตุ้นให้มุสลิมมีจิตใจที่พร้อมสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจนี้ ให้มีความอดทน อดกลั้น และยอมรับกับทุกๆความยากลำบากในระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ และการเยือนสถานที่อันทรงเกียรติต่าง ๆ
หลังการกล่าว “ตั้ลบิยะฮ์”
ผู้เป็นบ่าวจะละทิ้งสิ่งที่เป็นฝ่าฝืน และหันกลับมาเชื่อฟังอัลลอฮ์ ตะอาลา ละทิ้งความหยาบช้า หันกลับมาจำนน และน้อมนอบต่อพระองค์
การกล่าว “ตั้ลบียะฮ์” มิได้หมายถึงเพียงแค่การตอบรับการประกอบพิธีฮัจญ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตอบรับในทุกสิ่งที่อัลลอฮ์ ตะอาลา ผู้เป็นพระเจ้าทรงบัญชาใช้ และตอบรับทีจะละทิ้งทุกสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไว้ โดยตอบรับพระองค์เพียงผู้เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์
ดังนั้น ผู้ศรัทธาที่กล่าว “ตั้ลบียะฮ์” ด้วยวาจา จะต้องแสดงออกมาด้วยการกระทำตามคำกล่าวนั้นด้วย
การฝึกฝนและขัดเกลามารยาทที่ได้รับจากการทำฮัจญ์
พิธีกรรมฮัจญ์นั้นแฝงไปด้วยบทเรียนในการศรัทธาและข้อคิดมากมาย เพระการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นการปลดแอกตัวเองออกจากความลุ่มหลงในทรัพย์สินและวัตถุ และยกระดับจิตใจด้วยคุณค่าของการเดินทางด้วยศรัทธาสู่ดินแดนอันทรงเกียรติเพื่ออัลลอฮ์ ตะอาลา และยังแสดงให้เห็นถึงการยอมรับอย่างจริงใจต่อกำหนดชะตาของอัลลอฮ์ ตะอาลา
การปฏิบัติตามคำบัญชาและหลีกห่างจากข้อห้ามต่างๆ ของพระองค์โดยปราศจากเงื่อนไข ในเรื่องเหล่านี้ไม่มีตัวอย่างใดจะชัดเจนยิ่งไปกว่าการที่ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม ยอมที่จะเชือดบุตรชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจของท่าน เพื่อเชิดชูการตอบรับพระบัญชาจากอัลลอฮ์ ตะอาลา
ในอิสลาม การประกอบพิธีฮัจญ์มีความสำคัญและคุณค่าอย่างใหญ่หลวง มีหลักฐานมากมายที่ชี้ถึงเรื่องดังกล่าวไว้ เช่น
เมื่อท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถูกถามถึงการงานใดที่มีความประเสริฐมากที่สุด ?
ท่านตอบว่า : การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา และร่อซูลของพระองค์
มีผู้ถามต่อว่า : แล้วอะไรอีกล่ะ ?
ท่านตอบว่า : การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์
มีผู้ถามอีกว่า : แล้วอะไรอีกล่ะ ?
ท่านตอบว่า : การทำฮัจญ์ที่ได้รับการตอบรับ
และท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้กล่าวอีกว่า :
“ผู้ใดที่ประกอบพิธีฮัจญ์ แล้วเขาไม่หยาบคายและไม่ประพฤติชั่ว เขาจะกลับมาในสภาพที่เหมือนกับวันที่มารดาของเขาคลอดเขาออกมา”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
“ระหว่างอุมเราะห์ครั้งหนึ่งกับอุมเราะห์อีกครั้งหนึ่ง เป็นการลบล้างความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น และการทำฮัจญ์ที่ได้รับการตอบแทน ไม่มีอะไรจะตอบแทนได้ นอกจากสวนสวรรค์”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
ท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ ได้รายงานไว้ถึงความประเสริฐของบรรดาผู้ประกอบพีธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ไว้ว่า : ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“บรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์เป็นตัวแทนของอัลลอฮ์ หากพวกเขาวิงวอนขอ พระองค์ก็จะทรงตอบรับพวกเขา และหากพวกเขาขออภัยโทษต่อพระองค์ พระองค์ก็จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา”
(บันทึกโดย อันนะซาอีย์)
อิบาดะฮ์ทุกๆอย่างที่มุสลิมปฏิบัติ คือการประพฤติดีงามและมีประโยชน์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีจะสะท้อนกลับไปหาชีวิตของเราและสมาชิกในสังคมรอบตัวเราอีกด้วย
ผลลัพธ์ของการทำฮัจญ์ต่อจริยธรรมและมารยาท
เราสามารถสรุปได้ดังนี้คือ :
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ทำให้เห็นถึงความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบรรดามุสลิม เพราะพวกเราต่างมีเป้าหมายเดียวกันและมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ ตะอาลา และการประสบความสำเร็จได้รับสวนสวรรค์จากพระองค์
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการชำระทั้งภายในและภายนอก ร่างกายและจิตวิญญาณ ดังนั้นผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เขาจะกลับจากการทำฮัจญ์ในสภาพเป็นผู้บริสุทธิ์ ไร้มลทิน เหมือนกับวันที่มารดาของเขาคลอดเขาออกมา
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ฝึกฝนให้มุสลิมระงับความโกรธ ควบคุมกริยาตนเมื่อต้องเบียดเบียนเสียดหรือกระทบกระทั่งกับบรรดาผู้ร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ ในขณะปฏิบัติศาสนกิจท่ามกลางความแออัด เพราะความหยาบคาย การประพฤติไม่ดี และการทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นข้อห้ามในการประกอบพิธีฮัจญ์
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ช่วยเปิดโลกทัศน์ พัฒนาบุคลิกภาพ และสร้างเสริมประสบการณ์ให้แก่มุสลิม เพราะเราจะได้พบเห็น ลักษณะ รูปพรรณสัณฐาน ภาษาพูด และวิถีชีวิตจากผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา วัฒนธรรมที่หลากหลาย และจารีตประเพณีที่แตกต่างกัน
♦ ในระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์เราจะมีโอกาสได้เรียนรู้ ศึกษาและสอนผู้อื่น เพราะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องศึกษาเรียนรู้พิธีกรรม ข้อบังคับและข้อห้ามต่างๆ ของการทำฮัจญ์ ซึ่งบางทีอาจมีการจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางไปทำฮัจญ์ หรือมีการสอน บรรยายและอธิบาย หรือสอบถามปัญหาหรือข้อสงสัยจากผู้มีความรู้ในช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ เพราะคำถามที่มีประโยชน์คือครึ่งหนึ่งของวิชาความรู้
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ช่วยฝึกฝนให้เรามีความยุติธรรม เท่าเทียมกัน เพราะเราจะได้เห็นบรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทุกคนต่างก็สวมใส่ผ้านุ่งสีขาวเหมือนกัน ประกอบพิธีกรรม ยืนอยู่บนสถานที่เปล่งเสียงด้วยคำกล่าวเดียวกัน และต่างก็หวังความเมตตาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน โดยละทิ้งความเห็นแก่ตัว เข้าข้างพวกพ้องและการเหยียดผิว เพราะข้อแตกต่างที่จะจำแนกระหว่างมนุษย์ ณ ที่อัลลอฮ์ ตะอาลา คือความยำเกรงเท่านั้น
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ช่วยฝึกฝนให้มุสลิมมีระเบียบวินัย เพราะทุกๆพิธีกรรมนั้นต้องปฏิบัติตามลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน อย่างมีระบบไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ช่วยฝึกฝนเราให้มีความเป็นพี่น้องซึ่งกันและกัน ให้เราได้ใคร่ครวญถึงข้อเท็จจริงของมนุษย์ในโลกนี้ คือวันหนึ่งเราก็จะจากโลกนี้ไป โดยไม่สามารถเอาอะไรติดไม้ติดมือไปได้เลยแม้แต่น้อย นอกจากผลงานที่เราได้ทำเอาไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ช่วยฝึกฝนให้เราลดชีวิตที่หรูหราฟู่ฟ่า และความสนุกสนานเพลิดเพลินในโลกนี้ และการลดละในที่นี้คือการไม่ผูกพันกับมันจนเกินไป ด้วยการให้ความปรารถนาอันดับแรกของเราคือการได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ ตะอาลา
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ช่วยฝึกฝนให้เรามีมารยาทที่ดี เช่น การหักห้ามจิตใจไม่กระทำผิด ระงับความโกรธ ไม่ทะเลาะวิวาท มีความสุภาพและสงบเสงี่ยม
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์ช่วยฝึกฝนเราให้มีความนอบน้อมถ่อมตน ไม่ทำตัวโดดเด่นเหนือใคร ให้เรามีความอดทนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะอดทนต่อการเชื่อฟังอัลลอฮ์ ตะอาลา อดทนต่อการไม่ฝ่าฝืน และอดทนกำหนดสภาวะของพระองค์ ให้เรารู้จักเสียสละและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นอิบาดะฮ์ทั้งร่างกายและทรัพย์สิน
♦ ในการประกอบพิธีฮัจญ์จะเต็มไปด้วยความเสียสละและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง รักใคร่สามัคคีกันและเสียสละ
♦ การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์จากบาปและการฝ่าฝืนทั้งมวล จนกระทั่งเราเดินทางกลับภูมิลำเนาเสมือนกับวันที่มารดาของเราได้คลอดเราออกมา
ที่มา วารสารสายสัมพันธ์