จุดยืนประเด็นผิดพลาดของนักวิชาการ
  จำนวนคนเข้าชม  1667


จุดยืนประเด็นผิดพลาดของนักวิชาการ

เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

          ส่วนหนึ่งจากความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อบรรดาปวงบ่าวของพระองค์ พระองค์ได้ส่งบรรดารอซูลมาทุกยุคทุกสมัย เพื่อทำหน้าที่เรียกร้องมนุษย์มาสู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ และได้ศรัทธาต่อพระองค์ ซึงจะนำไปสู่การเคารพภักดีต่อพระองค์ในรูปแบบที่ถูกต้อง และรอซูลคนสุดท้ายที่ทำหน้าที่นี้ ก็คือท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม 

 

          หลังจากท่านได้จากโลกนี้ไป ใช่ว่าภารกิจของท่านจะจบสิ้นลง ยังมีทายาทของท่านที่สืบมรดกความรู้ของท่าน ก็คือบรรดาผู้ที่มีความรู้ ที่ทำหน้าที่เจริญรอยตามท่าน ในการทำหน้าที่เผยแผ่บทบัญญัติของอัลลอฮฺ ดังนั้นการที่ผู้รู้ได้ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาก็เท่ากับว่าเขาได้ทำหน้าที่อันเดียวกับที่ท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กระทำไว้เป็นแบบอย่าง และแน่นอนในความเป็นมนุษย์ผู้รู้ทุกท่านย่อมมีข้อผิดพลาด และไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาดได้ ซึ่งความผิดพลาดของเราส่วนมากแล้วเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ 

 

     1. เกิดจากการพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งที่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด 

 
     2. เกิดจากการเข้าใจผิดตีความตัวบทคลาดเคลื่อนจากจุดประสงค์ที่ถูกต้องของตัวบท คือเกิดจากข้อคลุมเครือที่เกิดกับตัวเขาเองโดยที่เข้าใจว่าเขาได้กระทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว 

 

         จากสาเหตุดังกล่าวคือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับคนเรา เพราะมนุษย์นั้นเป็นผู้ที่มีอารมณ์ใฝ่ต่ำเกิดขึ้นได้ รัก ชอบ หลงใหลในลาภยศ ทรัพย์สินสมบัติ ภรรยาและลูกหลาน ดั่งคำพูดของอัลลอฮฺตาอาลาที่ว่า 

 

زُيِّنَ لِلنَّاسِ حُبُّ الشَّهَوَاتِ مِنَ النِّسَاءِ وَالْبَنِينَ وَالْقَنَاطِيرِ الْمُقَنطَرَةِ مِنَ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ وَالْخَيْلِ الْمُسَوَّمَةِ وَالْأَنْعَامِ وَالْحَرْثِ ۗ ذَٰلِكَ مَتَاعُ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا ۖ وَاللَّهُ عِندَهُ حُسْنُ الْمَآبِ (14) 

 

     “ได้ถูกทำให้สวยงาม (ลุ่มหลง) แก่มนุษย์ซึ่งความรักในบรรดาสิ่งที่เป็นเสน่ห์อันได้แก่ผู้หญิงและลูกชาย,ทองและเงินอันมากมาย และม้าดีและปศุสัตว์ และไร่นา นั่นเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วคราวในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้เท่านั้น และอัลลอฮ์นั้น พระองค์ คือที่กลับอันสวยงาม

 

          เมื่อคนเรามีความผิดพลาดสิ่งที่ต้องกระทำคือ การตักเตือนชี้แนะตามมารยาทที่อิสลามได้สอนไว้ เราจะไม่ไปซ้ำเติมหรือประจานความผิดพลาดของเขา 

 

وَإِذَا جَاءَكَ الَّذِينَ يُؤْمِنُونَ بِآيَاتِنَا فَقُلْ سَلَامٌ عَلَيْكُمْ ۖ كَتَبَ رَبُّكُمْ عَلَىٰ نَفْسِهِ الرَّحْمَةَ ۖ أَنَّهُ مَنْ عَمِلَ مِنكُمْ سُوءًا بِجَهَالَةٍ ثُمَّ تَابَ مِن بَعْدِهِ وَأَصْلَحَ فَأَنَّهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ (54) 

 

     “และเมื่อบรรดาผู้ศรัทธาต่อบรรดาโองการของเราได้มาหาเจ้า(มุฮัมมัด) ก็จงกล่าวเถิดว่าขอความปลอดภัยจงมีแด่พวกท่านเถิด พระเจ้าของพวกเจ้าได้กำหนดการเอ็นดูเมตตาไว้บนตัวของพระองค์ว่า

     ผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากระทำความชั่วโดยไม่รู้ แล้วเขาสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวหลังจากนั้น และปรับปรุงแก้ไขแล้ว แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตา

(ซูเราะฮฺ อัล-อันอาม)

 

          อายะห์นี้อัลลอฮฺได้อภัยโทษให้แก่บ่าวของพระองค์ที่ได้กระทำความผิด โดยไม่รู้และเขาได้สำนึกกลับตัวจากความผิด และจากอายะห์นี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของอัลลอฮฺที่มีต่อบ่าวของพระองค์ ก็คือความเมตตา ดังนั้นในการเป็นมนุษย์ย่อมมีความผิดพลาด 

          การที่นักวิชาการคนหนึ่งผิดพลาดในศาสนาใช่ว่าเขาเจตนาที่จะทำลายศาสนา หากเราพบว่าเขาผิดพลาดในฮุกุมของอัลลอฮฺ นักวิชาการท่านอื่นก็สามารถจะชี้แจงข้อผิดพลาดนั้นๆได้ 

          เมื่อพบว่านักวิชาการท่านนั้นผิดพลาดในหลักการ บรรดาคนที่รับความรู้จากนักวิชาการท่านนั้น จำเป็นต้องละทิ้งประเด็นที่นักวิชาการท่านนั้นได้ผิดพลาดไม่ใช่ยึดถือตัวบุคคลจนไม่แยกแยะผิดถูก และบางครั้งด้วยกับการยึดติดกับตัวบุคคลจนไปตำหนิด่าทอกับนักวิชาการท่านอื่น ที่มาชี้แจงข้อผิดพลาดของนักวิชาการที่เราเลื่อมใสในวิชาความรู้ของเขา 

          และบุคคลที่ชี้แจงความผิดพลาดของนักวิชาการท่านใด เขาจะต้องไม่ใช้สำนวนดูถูกเหยียดหยามด่าทอ ไปลดเกียรตินักวิชาการท่านอื่น หรือตำหนิติเตียนโจมตีใส่ร้าย หรือนักวิชาการที่เตือนนักวิชาการที่เขาผิดพลาด จะต้องไม่เรียกร้องผู้คนไม่ให้รับความรู้จากเขาในประเด็นที่ถูกต้อง 

 

ท่านผู้ทรงความรู้ อิบนุลก็อยยิม ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาท่าน 

     “ใครที่มีความรู้ในบทบัญญัติศาสนา และในความเป็นจริงเป็นที่ทราบกัน แท้จริงบุคคลที่ทรงเกียรติ สำหรับเขานั้นต่ออิสลามและบรรดามุสลิมนั้นมีต่ำแหน่งที่เป็นที่ยอมรับ แต่บางครั้งความบกพร่องความผิดพลาด เขาได้รับการอภัย และได้รับผลบุญเนื่องจากการวินิจฉัยของเขา ไม่อนุญาตให้ไปนำความผิดพลาดในเรื่องนั้น หรือไปทำลายตำแหน่งของเขา(ทำลายความน่าเชื่อถือ) ให้ถูกลดคุณค่าจากจิตใจของบรรดามุสลิม

(จากหนังสือ เอียะลามอัลมูวักกีอีน 3/295)

 

          แน่นอนนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้คนอย่างกว้างขวาง เมื่อนักวิชาการท่านใดเกิดความผิดพลาดในฮุกุมของอัลลอฮฺ นักวิชาการที่ทำการชี้แจงจะต้องมีความละเอียดอ่อนรอบคอบในการใช้สำนวนในการชี้แจง และจะต้องไม่ใช้สำนวนด่าทอ ตำหนิ หรือไปลดความน่าเชื่อถือของนักวิชาการท่านนั้นๆ 

 

          สำหรับในยุคปัจจุบันถือว่าเป็นฟิตนะห์แห่งยุคที่มีการตอบโต้กันระหว่างนักวิชาการ ผู้ที่ออกมาทำการชี้แจงข้อผิดพลาดของนักวิชาการท่านหนึ่งๆ โดยใช้สำนวนตำหนิด่าทอ จนใครได้ยินการชี้แจงนั้นจะรู้สึกว่านักวิชาการคนนั้นไม่เหลือความดีอยู่เลย เสมือนว่าความดีที่เขาทำมามากมายหมดสิ้นไปด้วยกับข้อตำหนิบางประการ และชี้แจงข้อตำหนิหนึ่งยังไม่พอนักวิชาการที่ออกมาชี้แจง ยังเรียกร้องผู้คนไม่ให้ไปรับความรู้ในประเด็นที่ถูกต้อง การกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ค้านกับแนวทางของชาวสลัฟ และบรรดาผู้ที่รับความรู้จากนักวิชาการที่เขาถูกเตือนในความผิดพลาด เมื่อรับรู้ความผิดพลาดของนักวิชาการที่ตัวเองให้ความเชื่อถือ ไม่ยอมปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องที่ถูกชี้แจง ยังคงปฏิบัติตามสิ่งที่ผิดเพราะยึดติดในตัวบุคคล 

 

          สำหรับแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ เรายังคงให้เกียรตินักวิชาการในประเด็นที่ผิดพลาด ไม่ไปลบลู่หรือลดความน่าเชื่อถือต่อเขา แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดพลาดนั้น แต่ยังคงรับความรู้ของเขาที่ถูกต้อง 

 

          ดังนั้นบรรดาผู้รู้ก็เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่สามารถจะรอดพ้นจากความผิดพลาดได้ และด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม จึงได้สอนให้ประชาชาติของท่านได้มีการตักเตือนกัน 

 

عَنْ أَبِيْ رُقَيَّةَ تَمِيْمِ بْنِ أَوْسٍ الدَّارِيِّ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ النَّبِيَّ قَالَ

" الدِّيْنُ النَّصِيْحَةُ ، قُلْنَا : لِمَنْ ؟ قَالَ : لِلهِ وَلِكِتَابِهِ وِلِرَسُوْلِهِ وِلِأَئِمَّةِ المُسْلِمِيْنَ وَعَامَّتِهِمْ

رَوَاهُ مُسْلِمٌ.

 

     จากท่านอบู รุก็อยยะฮฺ นั่นคือ ตะมีม อิบนุ เอาสฺ อัด-ดารีย์ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า

     ท่านนบี กล่าวว่าศาสนา คือ อันนาซีหะฮฺ ความบริสุทธิ์ใจ 

     พวกเราถามว่า : เพื่อใครล่ะ

     ท่านนบี ตอบว่าเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อศาสนาทูตของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำมุสลิม และเพื่อบรรดามุสลิมทั่วไป” 

(บันทึกโดยมุสลิม )

 

          การตักเตือนกันด้วยความบริสุทธิ์ใจให้เกิดสิ่งที่ดีๆ เตือนกันให้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺให้ถูกต้อง เตือนกันให้เข้าใจอัลกุรอ่าน เตือนกันให้ได้ปฏิบัติตามท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม และให้ได้เข้าใจอัลกุรอ่าน เตือนกันให้เชื่อฟังผู้นำ และให้การชี้แนะผู้นำให้ได้ปฏิบัติตามอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ และเตือนบุคคลทั่วไปด้วยกับการสอนพวกเขาให้เข้าใจคำสอนของศาสนา ให้ได้ปฏิบัติตามอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ 

 

          ดังนั้น การตักเตือน คือ เพื่อต้องการให้เกิดความดีและความบริสุทธิ์ และคนเราทุกคนย่อมต้องการคำตักเตือนและคำชี้แนะ เพราะเราทุกคนมีความบกพร่อง ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่เป็นการวินิจฉัยจากบรรดาอิหม่ามมัสฮับต่างๆ หรือจะเป็นผู้รู้คนใด และภายหลังเราพบว่ามีคนมาชี้แจงความผิดพลาดของนักวิชาการเหล่านั้น ด้วยกับหลักฐานที่ถูกต้องเรา เราก็จำเป็นต้องละทิ้งคำพูดของบรรดานักวิชาการเหล่านั้น แต่เรายังคงให้เกียรติต่อนักวิชาการเหล่านั้น ไม่ไปลบลู่หรือด่าทอพวกเขา ขอดุอาต่ออัลลอฮฺได้เมตตาแก่พวกเขา และอภัยโทษต่อข้อบกพร่องและความผิดพลาดของพวกเขา

 

          ขออัลลอฮ์ ได้ประทานทางนำที่ถูกต้องและให้เราได้เจริญตามแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม และเหล่าศอหาบะห์ของท่าน