มารยาทการโต้แย้งในอิสลาม
เรียบเรียง อับดุลวาเฮด สุคนธา
การโต้แย้งที่น่าชมเชย
การโต้แย้งที่น่าชมเชย คือ การโต้แย้ง การตักเตือนในสิ่งที่เป็นเท็จเพื่อความถูกต้อง ปกป้องจากการใส่ร้าย หรือ บิดเบือนข้อมูลทางวิชาการ
อัลลออฺ ทรงกล่าวว่า
﴿ ادْعُ إِلَى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُمْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ إِنَّ رَبَّكَ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنْ ضَلَّ عَنْ سَبِيلِهِ وَهُوَ أَعْلَمُ بِالْمُهْتَدِينَ ﴾
“จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระเจ้าของพระองค์และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง”
( ซูเราะ อัลนะหลุ 125 )
ท่าน อิม่าม อิบนุ กะซีร กล่าวว่า ใครก็ตามต้องการ โต้แย้ง ชี้แจง จงเป็นคนที่ใบหน้ายิ้มแย้ม พูดจาอ่อนหวานนิ่มนวล ใช้สำนวนที่สวยงาม
อิม่าม อัซสะดีย์ กล่าวว่า การโต้แย้งนั้นอย่าได้ใช้สำนวนที่ ด่าท่อ ตำหนิใส่ร้าย เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ ออกนอกเป้าหมายและจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ แต่ทว่าเป้าหมายของการโต้แย้ง การชี้ทางนำไปสู่ความถูกต้องแก่มนุษย์ ไม่ใช่การชนะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
การโต้แย้งที่น่าตำหนิและที่น่ารังเกียจ
คือการโต้แย้งสิ่งที่ถูกต้องด้วยกับความเท็จ เพื่อต้องการให้ความเท็จมีชัยชนะเหนือความจริง หรือการโต้แย้งเพื่อตัวเอง เพื่อชื่อเสียงให้ผู้คนได้ชมเชยว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการโต้แย้งหักล้าง ไม่ได้มีเป้าหมายในการช่วยเหลือศาสนา หรือต้องการให้ความจริงปรากฏ
อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า
الَّذِينَ يُجَادِلُونَ فِي آيَاتِ اللَّهِ بِغَيْرِ سُلْطَانٍ أَتَاهُمْ ۖ كَبُرَ مَقْتًا عِندَ اللَّهِ وَعِندَ الَّذِينَ آمَنُوا ۚ كَذَٰلِكَ يَطْبَعُ اللَّهُ عَلَىٰ كُلِّ قَلْبِ مُتَكَبِّرٍ جَبَّارٍ
“บรรดาผู้โต้เถียงในสัญญาณต่าง ๆ ของอัลลอฮฺโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ มายังพวกเขา เป็นที่น่าเกลียดชังยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ
และ ณ บรรดาผู้ศรัทธา เช่นนั้นแหละ อัลลอฮฺทรงประทับบนทุก ๆ หัวใจ ของผู้จองหองหยิ่งยะโส”
(ซูเราะ อัลฆอฟิร 35)
อัลลอฮฺ ทรงกล่าวอีกว่า
وَجَادَلُوا بِالْبَاطِلِ لِيُدْحِضُوا بِهِ الْحَقَّ
"และโต้เถียงด้วยความเท็จ เพื่อที่จะลบล้างความจริงให้สูญสิ้นไป"
(ซูเราะ อัลฆอฟิร 5)
อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า
فَلَا رَفَثَ وَلَا فُسُوقَ وَلَا جِدَالَ فِي الْحَجِّ
“แล้วก็ต้องไม่มีการสมสู่ และไม่มีการละเมิด และไม่มีการวิวาทใด ๆ ใน(เวลา)การทำฮัจญ์”
( ซูเราะห์ อัลบะกอเราะ 197)
อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า
وَمِنَ النَّاسِ مَن يُعْجِبُكَ قَوْلُهُ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَيُشْهِدُ اللَّهَ عَلَىٰ مَا فِي قَلْبِهِ وَهُوَ أَلَدُّ الْخِصَامِ
“และในหมู่มนุษย์นั้น มีผู้ที่คำพูดของเขา ทำให้เจ้าพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้
และจะอ้างอัลลอฮ์เป็นพยานซึ่งสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเขา และขณะเดียวกันก็เป็นผู้โต้เถียงที่ฉกาจฉกรรจ์ยิ่ง”
( ซูเราะห์ อัลบะกอเราะ 204)
ท่านมุกอติล กล่าวว่า การโต้เถียงในสิ่งที่เป็นเท็จ
ท่านอิบนุ อับบาสกล่าวว่า การโต้เถียง เป็นการพูดจนทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจ
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ท่านนบี กล่าวว่า
«أَبْغَضُ الرِّجَالِ إِلَى اللَّهِ الْأَلَدُّ الْخَصِمُ»
“บุคคลจากบรรดาผู้ชายที่ถูกกริ้วโกรธยิ่ง ณ อัลลอฮฺ คนที่ชอบโต้เถียงกันย่างรุนแรง”
( บันทึก มุสลิม)
คำพูดชาวสลัฟกับการตำหนิคนชอบโตเถียง
จากท่าน ซียาด บิน ฮุดัยริย์ กล่าวว่า
ท่านอุมัรกล่าวแก่ ฉันว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า สิ่งใดจะทำลายศาสนาอิสลาม
ฉันตอบว่า ไม่ทราบ ครับ
ท่านอุมัรตอบว่า สิ่งจะทำลายอิสลามคือ
♦ การบิดเบือนของผู้รู้
♦ การโต้เถียงแบบ คนมุนาฟิก
♦ การตัดสินแบบคนหลง
ท่านอิบนุ อุมัร กล่าวว่า คนหนึ่งจะยังไม่มีอิม่านที่แท้จริง จนกว่าเขานั้นจะละทิ้งการโต้เถียงที่น่าตำหนิ ไร้สาระ
ท่านอิมามมาลิกได้กล่าวว่า "ห้ามรับเอาความรู้จากบุคคลสี่ประเภทต่อไปนี้
1. คนโง่เขลาที่แสดงออกถึงความโง่ออกมาอย่างชัดเจน
2. คนที่ใช้อารมณ์ และเรียกร้องผู้อื่นไปสู่การใช้อารมณ์ของเขาเอง
3. คนที่เป็นที่รู้จักกันดีว่ากล่าวเท็จต่อคำพูดของผู้คนทั้งหลาย แม้ว่าเขาจะไม่ได้กล่าวเท็จต่อหะดีษของท่านรอสูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ตาม
4. คนที่มีคุณงามความดี แต่ไม่มีความรู้ในสิ่งที่เขาพูด"
ท่าน อะลี ร่อดิยัลลอุฮันฮุ เครื่องหมายของ "คนโง่" มี 6 ประการ
(1) โกรธโดยไม่มีเหตุผล
(2) ชอบพูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
(3) ไม่รู้จักกาลเทศะและไม่มีมารยาท
(4) ไว้ใจคนไม่เลือกหน้า
(5) ชอบเปิดเผยความลับของผู้อื่น
(6) ไม่รู้จักแยกแยะระหว่างมิตรและศัตรู
ท่านมูฮัมหมัด บิน ฮุเซน กล่าวว่า ลักษณะของ"คนโง่"
♣ ชอบโต้เถียง
♣ ชอบตำหนิ ใส่ร้าย
♣ ชอบเอาชนะ
ท่าน เชค ซอแหละ อัลเฟาซาน กล่าวว่า จำเป็นสำหรับคนที่โง่เขลา นิ่งเงียบ อย่าได้พูดเว้นแต่สิ่งที่เขารู้เท่านั้น หากคนโง่เงียบ คงจะไม่มีใครทะเลาะกัน
มารยาทของการโต้แย้ง
♦ จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ใจ เพื่อปกป้องสัจธรรม และเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺ ละทิ้งการโอ้อวดทั้งคำพูดและการกระทำ หรือเพื่อยกเกียรติ ตำแหน่งของตัวเอง
♦ ความรู้จะต้องอยู่บนรากฐานที่ถูกต้องตามอัลกรุอ่านและซุนนะฮฺ จะต้องใช้หลักฐานมาก่อนใช้สติ หรือ อารมณ์ ความคาดเดา นึกคิดเอง
♦ จะต้องพยามค้นหาความถูกต้อง ออกห่างการเห็นแก่พวกพ้อง จะต้องปฏิบัติตามความถูกต้องเมื่อหลักฐานปรากฏชัด
♦ จะต้องรักษามารยาทในการโต้แย้งอย่างสันติและเป็นธรรมระหว่างทั้งสองฝ่าย อย่านำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง อย่าพยามสร้างความสับสนโดยการอ้างหลักฐานที่เป็นเท็จ หรือเรื่องราวอุปโลกน์ขึ้นมาโดยที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องในหลักศาสนา เรื่อง ตัวบทหะดีษ์ อ่อนหรือ ถูกตัดต่อ เรื่องเล่าเป็นเท็จ
♦ จะต้องน้อมรับผลในการโต้แย้ง เมื่อความจริงปรากฏตามตัวบทที่ถูกอ้างอิงในเรื่องนั้นๆ
ผลเสียของการโต้เถียง (น่าตำหนิ)
♣ การโต้เถียงที่ไร้สาระนำไปสู่การตำหนิระหว่างพวกพ้อง
♣ การโต้เถียงนำไปสู่การปกป้องความเท็จ และ ตัดสินผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน
♣ สร้างศัตรูระหว่างกัน
♣ สร้างความแตกแยกในสังคม
♣ กลายเป็นคนจอมโกหก
♣ กลายเป็นคนกลับลิ้น ไปมา(กลับกลอก)
♣ กลายเป็นคนชอบปกป้องความเท็จ และปฏิเสธความจริง