ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับโรคร้ายแรง(1)
โดย นายแพทย์อะหมัด มุฮัมมัด กันอาน
แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญะม้าล ไกรชิต
การตรวจผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษาต้องตั้งอยู่บนจรรยาบรรณและจริยธรรมอันดีงาม เช่น ความเชื่อใจ ซื่อสัตย์ สุจริต ปกปิดความลับของผู้ป่วย และค้นคว้าข้อมูลเพื่อการรักษาอย่างสุดความสามารถ
ในหลักการทางการแพทย์เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนสิ่งอื่นใด ผู้ป่วยจะต้องทราบดีถึงโรคที่เขากำลังเป็นอยู่ ทั้งสาเหตุ อาการ ผลตรวจ อาการข้างเคียงต่างๆ และโอกาสในการหายหรืออาจเสียชีวิต รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องทราบ ตลอดจนบทบัญญัติข้อควรปฏิบัติต่างๆ ก่อนจะเสียชีวิต เช่น การสั่งเสีย คืนของฝาก และการชำระหนี้สิน ฯลฯ และอื่นๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่า การตรวจพบโรคร้ายแรงไม่ใช่เรื่องง่าย แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องละเอียดรอบคอบและมีเหตุมีผล ตามลำดับขั้นตอนที่เราพอจะสรุปได้ดังนี้คือ
♥- ต้องทราบดีถึงลักษณะของโรคและวิธีการรักษาที่เหมาะสม
♥- ให้ผู้ป่วยเตรียมใจให้พร้อมเพื่อทราบข้อมูลของโรค
♥- แพทย์ผู้รักษาจะต้องสอบถามอาการของผู้ป่วยก่อนจะตรวจและวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด
♥- ใช้เหตุผลในการเลือกข้อมูลต่างๆ และขอบเขตของข้อมูลเพื่อนำมาวินิจฉัยโรค
♥- การวินิจฉัยโรคให้แก่ผู้ป่วยต้องใช้ภาษาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ทำให้ผู้ป่วยเห็นถึงการให้ความสำคัญ เห็นอกเห็นใจและเมตตาเขา
♥- ให้เวลากับผู้ป่วยเพื่อให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน
♥- ตอบข้อสงสัยแก่ผู้ป่วยให้ชัดเจน ถึงแม้จะเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับโรคที่เขาเป็นก็ตาม
♥- ให้ผู้ป่วยนึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์ทรงสามารถให้โรคต่างๆ หายได้ และการหายป่วยนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์เพียงองค์เดียว และถ้าเราจะเล่าให้ผู้ป่วยฟังถึงบางเหตุการณ์ที่อัลลอฮฺทรงให้บางคนหายป่วย หลังจากที่บรรดาแพทย์ต่างคิดว่าไม่มีทางรักษาแล้ว แต่ก็ควรระมัดระวังมิให้เป็นการให้ความหวังแก่ผู้ป่วยว่าเขาจะต้องหายอย่างแน่นอน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยปล่อยเวลาล่วงเลยไป ไม่สะสางภาระหน้าที่และสิ่งควรทำเมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตตามที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้
♥- ติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะนานเพียงใดก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคร้ายแรงบางโรคอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปีก็ตาม
♥- เราไม่ควรปกปิดข้อเท็จจริงของโรคแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยให้ความสนใจที่จะทราบถึงอาการและลักษณะของโรคนั้นๆ รวมถึงสุขภาพของเขาในอนาคตด้วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยปฏิบัติตนเข้าใกล้กับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สะสางภารหน้าที่ของตน รวมถึงสิทธิต่างๆ ของผู้อื่นด้วยและอื่นๆ ที่เป็นเรื่องจำเป็นที่เขาจะต้องปฏิบัติก่อนจะไปพบกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
จรรยาบรรณในการประกอบอาชีพได้ระบุว่า สำหรับแพทย์ผู้รักษาในกรณีของโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วย สมควรที่แพทย์ผู้รักษาจะต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงของโรคนั้นๆ แก่ผู้ป่วยหรือครอบครัวของผู้ป่วย ยกเว้นหากผู้ป่วยไม่ต้องการให้ผู้อื่นทราบ หรือเจาะจงให้ทราบเพียงแค่บางคนเท่านั้น
เราควรระมัดระวังในบางสถานการณ์ที่อ่อนไหว เช่น บ่อยครั้งที่ครอบครัวของผู้ป่วยขอให้แพทย์ผู้รักษาไม่บอกอาการป่วยที่แท้จริงของโรคแก่ผู้ป่วย โดยอ้างเหตุผลว่า พวกเขาทราบดีว่าผู้ป่วยไม่สามารถทนรับสภาพกับผลของการตรวจได้ และอาการป่วยของเขาอาจจะแย่ลงหากรู้ความจริงเกี่ยวกับโรคของเขา ซึ่งส่วนมากแล้วเหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดจากลูกๆ ต่อบรรดาบิดามารดาของพวกเขา ในสถานการณ์เช่นนี้ แพทย์ผู้รักษาควรจะต้องพูดคุยกับครอบครัวของผู้ป่วยด้วยการช่วยเหลือของนักจิตวิทยาหรือนักพัฒนาสังคม เพื่อให้ครอบครัวของผู้ป่วยเข้าใจถึงอาการของโรคร้ายแรงนั้นๆ และบัญญัติศาสนาถือเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องเปิดเผยและแจ้งเรื่องนี้แก่ผู้ป่วยตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวและสะสางภาระหน้าที่ของตน
แน่นอน ที่ผ่านมาตามข้อมูลวิชาการ ส่วนมากแล้วครอบครัวของผู้ป่วยจะตกลงและยอมรับในเรื่องดังกล่าว และจะมีหนึ่งในคนเหล่านั้นเสียสละทำหน้าที่แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ป่วยด้วยตนเอง แต่หากครอบครัวของผู้ป่วยไม่ยินยอมและยืนกรานที่จะปิดบังผลตรวจแก่ผู้ป่วย แต่ว่าจากการประเมินของแพทย์ผู้รักษาและนักจิตวิทยาพบว่าผู้ป่วยมีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถรับฟังและทราบข้อเท็จจริงของผลตรวจของเขาได้ ให้แพทย์ผู้รักษามอบหมายให้ทีมแพทย์แจ้งให้เขาทราบด้วยตัวเอง
ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์