มุสลิมะห์วันนี้
โดย... ลาตีฟะห์ กิตติธรรมรัตน์
กระแสอิสลาโมโฟเบีย (Islamophobia – ปรากฏการณ์ความกลัวอิสลาม) ที่ขยายวงกว้าง อันมีที่มาจากกลุ่มประเทศตะวันตก ซึ่งไม่หยุดนิ่งในการสร้างกระแสความกลัวต่ออิสลามจนนำไปสู่ปรากฏการณ์ความเกลียดชังอิสลามที่กำลังแพร่สะพัดไปทั่วทุกมุมโลก จะเห็นได้จากการประทับตราความเป็นผู้ก่อการร้ายให้กับมุสลิมอย่างมีนัยสำคัญ การปลุกกระแสสิทธิสตรี รวมถึงการต่อต้านการแสดงอัตลักษณ์ของสตรีมุสลิม
ในอดีต การแสดงอัตลักษณ์ของสตรีมุสลิมยังเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก ในประเทศไทย สตรีมุสลิมจะสวมใส่ฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) เมื่อไปร่วมงานบุญหรือพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ปัจจุบัน การตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลแก่ชีวิตทั้งในด้านวัตถุและจิตวิญญาณ ประกอบกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้สตรีมุสลิมหันมาให้ความสำคัญกับการสวมใส่อาภรณ์ ที่ถูกต้องตามหลักศาสนา
แต่ทว่า ยังมีสตรีมุสลิมอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงหลับใหลเพิกเฉย ต่ออภิสิทธิ์ในการเป็นเพศที่มีเกียรติและทรงคุณค่า จนบางครั้งสตรีและบุรุษมุสลิมที่ปราศจากความรู้ ความเข้าใจในอิสลามเสียเองที่เป็นผู้สร้างช่องโหว่สำหรับการโจมตีและให้ร้ายอิสลาม
สาระเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสตรีมุสลิม เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของตนที่มีต่อตัวเอง สังคมและประเทศชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้โลกได้สัมผัสกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ว่า
“โลกคือปัจจัยแห่งความสุข และปัจจัยแห่งความสุขที่ดีที่สุดในโลกนี้ คือสตรีที่มีคุณธรรม”
(รายงานโดยมุสลิม)
สิทธิของสตรีมุสลิมภายใต้ร่มเงาอิสลาม
ย้อนรอยไปในอดีต สังคมตะวันตก ตะวันออก หรือแม้กระทั่งสังคมไทย สตรีเป็นฝ่ายที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาย ไม่มีสิทธิและเสรีภาพอย่างที่ควรจะได้รับ ข้อความที่ว่า “ผู้หญิงคือนางฟ้าในเรือน” ซึ่งหมายถึง การจำกัดพื้นที่ของสตรีไว้แต่เพียงในบ้านเพื่อทำหน้าที่ภรรยาและมารดา หรือมุมมองทางเพศที่ว่า “ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน” กลายเป็นแบบแผนที่ยึดถือกันมาร่วมศตวรรษ
การที่สตรีถูกกีดกัน จากการศึกษาศาสตร์สำคัญๆ อันเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถประกอบอาชีพ การไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง การห้ามเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาหรืออ่านคัมภีร์ทางศาสนา การห้ามมิให้ครอบครองทรัพย์สมบัติแม้แต่ทรัพย์สินที่ตนหามาได้ การไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองตามที่ปรารถนา คดีอำแดงจั่นและอำแดงเหมือน ฯลฯ ล้วนเป็นที่มาของการต่อสู้ เรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในรูปแบบต่างๆ ขบวนการสตรีนิยม องค์กรสตรีที่ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นดอกเห็ด การประท้วง เดินขบวน การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อรับรองสวัสดิภาพของสตรีจึงเป็นปฏิบัติการที่โลกกำลังประจักษ์อย่างต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน ภายใต้ร่มเงาของอิสลามที่บริสุทธิ์ สตรีมุสลิมกลับมีสถานภาพที่แตกต่างอย่างน่าอัศจรรย์ ในยุคของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งเป็นยุคต้นแบบของมุสลิมทั่วโลก ภาพของสตรีมุสลิม คือ การให้เกียรติ ยกย่องเทิดทูน อิสรเสรีภาพ การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และสิทธิอันชอบธรรม อันจะเห็นได้จากชีวประวัติของเหล่าซอฮาบียะห์ (อัครสาวกที่เป็นสตรี) ในการแสดงบทบาทต่างๆ บนเวทีอันหลากหลาย
สังคมของสตรีมุสลิมในยุคนั้นจึงมิได้ถูกจำกัดแต่เพียงในบ้าน นางมีสิทธิ์ศึกษาหาความรู้ดั่งท่านหญิงคอดีญะห์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา) นักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงจากการค้าส่งออก นางมีสิทธิ์ศึกษาหาความรู้ดั่งท่านหญิงอาอีซะห์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา) ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง นางมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองดั่งการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของสตรีมุสลิมในสนธิสัญญาอัลอะเกาะบะห์
ถึงวันนี้ ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ซึ่งการแพร่กระจายของแนวคิดแบบโลกิยวิสัยกำลังเกิดขึ้นในทุกอณูของสังคม ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ภาพของสตรีมุสลิมที่ถูกนำเสนอโดยสื่อแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสวมผ้าคลุมหน้า (บุรก้า) ของสตรีชาวอัฟกานิสถาน พ่อชาวมุสลิมในอังกฤษที่ฆ่าลูกสาวเพราะความอับอาย หญิงมุสลิมที่ถูกข่มขืนหมู่ในปากีสถาน และอื่นๆ อีกมากมาย ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการชี้นำให้โลกเห็นว่าสตรีมุสลิมกำลังถูกกดขี่ ถูกลิดรอนสิทธิ และแน่นอนเป็นผลมาจากคำสอนของอิสลาม
สื่อที่ขาดจรรยาบรรณต่างเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้กับศาสนาอิสลาม ทว่าในความเป็นจริง ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นผลมาจากวัฒนธรรมหรือประเพณีของคนบางกลุ่ม หาได้มาจากคำสอนของอิสลามอันบริสุทธิ์ไม่ มุสลิมะห์วันนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนบทบาทและความรับผิดชอบของตนที่มีต่อสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสังคมมุสลิม ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องบุคลิกภาพอันทรงเกียรติและภาพลักษณ์ของ เหล่าซอฮาบียะห์ให้กลับคืนมาจรรโลงโลกอีกครั้ง
มุสลิมะห์วันนี้กับ 3 บทบาทที่ต้องทบทวน
สาเหตุความเข้าใจผิดและการบิดเบือนสถานภาพสตรีมุสลิมในปัจจุบันอาจมีที่มาจากสองประการ คือ ผู้ที่มีอคติต่อมุสลิม และปัจเจกชนมุสลิมที่ขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องในหลักศาสนา
ในส่วนของ มุสลิมะห์ การอยู่ในกลุ่มบุคคลที่สองถือเป็นอันตรายต่อตัวเองและสังคมอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ มุสลิมะห์จึงต้องทบทวนบทบาทและสถานภาพหลักของตน 3 ประการ คือ มุสลิมะห์ให้ฐานะนักศึกษา มุสลิมะห์ในฐานะของผู้ประกอบอาชีพ และมุสลิมะห์ในฐานะภรรยาและมารดา
มุสลิมะห์ในฐานะนักศึกษา
ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน นักศึกษามุสลิมะห์ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสมาคม ชมรม องค์กร การนำเสนอแนวคิดต่างๆ ผ่านสื่อสมัยใหม่ การเปิดเวทีและให้ความรู้กับสตรีเป็นการเฉพาะ การคลุมฮิญาบในกลุ่มนักศึกษามุสลิมะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาไทยซึ่งมีให้เห็นอย่างดาษดื่น นับเป็นความเมตตาที่นักศึกษามุสลิมะห์สามารถแสดงอัตลักษณ์ จุดยืน และความภาคภูมิใจในการเป็นมุสลิมได้อย่างเสรี
แม้จะภูมิใจในความเป็นมุสลิมไทย เรายังพบว่ามีนักศึกษามุสลิมะห์อีกจำนวนไม่น้อยที่เพิกเฉยต่อความเป็นมุสลิมะห์ของตน ไม่เข้าใจในหน้าที่ ความสำคัญ และบทบาทของการเป็นนักศึกษามุสลิมะห์ ณ ที่นี้ จึงขอเสนอให้นักศึกษามุสลิมะห์ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของตนสามประการ คือ การแสวงหาความรู้อย่างจริงจัง การวางตัวให้เหมาะสมในสังคมมหาวิทยาลัย และการขัดเกลาจิตวิญญาณ
การแสวงหาความรู้อย่างจริงจัง
ปัจจุบันนักศึกษามักสวมหมวกหลายใบ บ้างเป็นนักศึกษา นักกิจกรรม หรือกระทั่งเป็นนักเที่ยว ฯลฯ นักศึกษามุสลิมะห์ในภาพรวมก็ไม่แตกต่างจากลักษณะข้างต้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหน้าที่ของนักศึกษาคือการแสวงหาความรู้ อิสลามเองเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับความรู้เหนือสิ่งอื่นใด อันจะเห็นได้จากโองการแรกจากพระบัญชาของพระเป็นเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ คือ โองการที่สั่งให้อ่าน (อิกเราะ) อีกทั้งยังมีวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่สั่งให้ศึกษาตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ ให้แสวงหาความรู้แม้ต้องเดินทางไกลถึงประเทศจีน และที่สำคัญคือการบัญญัติว่า การแสวงหาความรู้นั้นเป็นหน้าที่ชั้นบังคับปฏิบัติสำหรับมุสลิมทุกคน
ในอดีต หลากหลายวัฒนธรรมปิดกั้นโอกาสในการแสวงหาความรู้ของเหล่าสตรี “เรียนไปทำไม ยังไงก็ต้องเลี้ยงลูก” ยังคงเป็นแนวคิดที่หลงเหลืออยู่จวบจนปัจจุบัน แต่ทว่าแนวคิดเหล่านี้ขัดกับหลักการอิสลามอย่างสิ้นเชิง อิสลามส่งเสริมให้สตรีทุกคนมีความรู้อย่างถึงที่สุด
ในยุคของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กลุ่มสตรีมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ถึงขั้นร้องให้ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จัดตารางเพื่อสอนศาสตร์ต่างๆ ให้กับพวกนาง
ท่านหญิงอาอีซะห์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา) ภรรยาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็มีความเป็นเลิศทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับ นางเป็นนักนิติศาสตร์หญิงคนแรกในอิสลาม
อุรวะห์ บิน อัซซุบัยร์ เคยกล่าวถึงนาง (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา) ว่า “ฉันไม่เคยเห็นใครมีความรู้ด้านนิติศาสตร์ การแพทย์ และบทกลอนมากไปว่าอาอีซะห์”
นอกจากนี้ ท่านหญิงอาอีซะห์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา) ยังเป็นผู้มีวาทศิลป์เป็นเลิศ อัลอะห์นาฟ อิบนุ ก็อยซ์ กล่าวถึงนางว่า “สุนทรพจน์ของอบูบักร อุมัร อุษมาน อะลี และบรรดาผู้นำในยุคต่อๆ มา ยังไม่สละสลวยเท่ากับสุนทรพจน์ของท่านหญิงอาอีซะห์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา)”
ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า อิสลามให้ความสำคัญกับการศึกษาของสตรีและยังเปิดโอกาสให้สตรีได้พัฒนาตัวเองในหลายๆ ด้าน ไม่นานนี้ ศูนย์อิสลามศึกษาอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford Center for Islamic Studies) โดย ดร.มุฮัมมัด อักรอม นัดวี ได้รวบรวมชีวประวัติของนักวิชาการสตรีมุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 จนถึงปัจจุบัน โดยพบว่านักวิชาการสตรีมุสลิมที่มีความเชี่ยวชาญด้านฮะดิษและนิติศาสตร์อิสลามมีจำนวนมากถึง 8,000 คน
เดิมที ดร.มุฮัมมัด อักรอม นัดวี คาดว่าจะพบรายชื่อนักวิชาการสตรีมุสลิมเพียง 20 – 30 คน เท่านั้น แต่ “อัลมุฮัดดิษาต” สารุกรมที่ท่านรวบรวมขึ้นกลับสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ทางปัญญาท่ามกลางกลุ่มสตรีมุสลิม อีกทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ว่า สตรีมุสลิมมิใช่เพศที่ต่ำต้อยหรือเหยื่อของอิสลามตามที่ถูกล่าวหา แต่พวกเธอคือผู้ที่สร้างอารยธรรมและผู้ถ่ายทอดวิชาการอิสลามให้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลัง
ดร.มุฮัมมัด อักรอม นัดวี ให้ข้อคิดไว้ว่า “นักวิชาการสตรีมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อิสลาม การย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราสามารถนำพาสังคมมุสลิมกลับมาเป็น (ใกล้เคียง) ดั่งเดิมได้”
การให้ความสำคัญกับการศึกษาและสิทธิของสตรียังถูกยืนยันโดยนักวิชาการชาวยุโรปหลายท่าน เช่น Annemarie Schimmel ที่เคยกล่าวว่า “ถ้าจะเปรียบสถานะสตรีก่อนการมาของอิสลาม กฎหมายอิสลามนับว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะผู้หญิงสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเองได้”
และ William Montgomery Watt ที่กล่าวว่า “ช่วงที่อิสลามมาถึงใหม่ๆ ผู้หญิงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ไม่มีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สินแต่กลับกลายเป็นทรัพย์สินของผู้ขาย หากสามีตาย ทุกอย่างก็จะตกเป็นของลูกชายอีก การให้สิทธิด้านทรัพย์สิน การรับมรดก การศึกษา และสิทธิในการหย่าร้าง ถือเป็นเกราะคุ้มกัน ขั้นพื้นฐานสำหรับสตรี”
แต่ทว่าหลังจากศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นยุคที่อิสลามตกต่ำ สถานการณ์ต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปจนทำให้หลายคนเข้าใจว่าสตรีมุสลิมถูกกดขี่ข่มเหง ถูกปฏิเสธในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน และถูกกีดกันทางการศึกษา โดยจะพบว่าผลสำรวจของ UNESCO Institute of Statistics (UIS) ระหว่างปี ค.ศ.1990 – 2009 ชี้ให้เห็นว่าร้อยละของสตรีที่อ่านออกเขียนได้ในกลุ่มประเทศมุสลิมยังมีจำนวนน้อยกว่าบุรุษมาก
ถ้าจะกล่าวยังเป็นธรรม ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนมีที่มาและสาเหตุ เพราะต้องทำใจยอมรับว่าหลายประเทศที่อ้างตัวว่าเป็นประเทศมุสลิมยังคงมีแบบปฏิบัติและวัฒนธรรมที่มิใช่อิสลามปะปนอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพาดพิงว่าวัฒนธรรมที่พวกเขายึดถือเป็นวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งล้วนเป็นการกล่าวเท็จต่ออิสลามอย่างอภัยมิได้
ท่ามกลางความล้มเหลวทางการศึกษาของสตรีมุสลิม อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ร้อยละของสตรีมุสลิมที่จบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในปี 2002 – 2003 ตามสถิติของยูเนสโก มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น ในบาห์เรนมีถึง 74% บังกลาเทศ 24% บรูไน ดารุสซาลาม 49% คีร์กิซสถาน 64% เลบานอน 47% กาตาร์ 71% ตุรกี 44% เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา 43% และญี่ปุ่น 25% ถ้าการมีความรู้สะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพของสตรีในกลุ่มประเทศต่างๆ สิทธิที่สตรีได้รับในกลุ่มประเทศมุสลิมย่อมมีมากกว่าประเทศที่เสรีอย่างสหรัฐอเมริกาเสียด้วยซ้ำ
สำหรับประเทศไทย ซึ่งแม้จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ก็ไม่มีการปิดกั้นทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็น ศาสนิกใด ในทางกลับกัน กลับให้โอกาสและสนับสนุนอย่างดีที่สุด มีนักศึกษามุสลิมและมุสลิมะห์จำนวนไม่น้อยที่ได้รับทุนการศึกษาเรียนฟรีจากรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วประเทศ
นักศึกษามุสลิมะห์ไทยจึงต้องมีการวางแผนทางการศึกษาอย่างชัดเจน พึงรำลึกว่าการขวนขวายและลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้คือหน้าที่หลักและกำไรที่ไม่มีวันสูญเสีย การแสวงหาความรู้ในสาขาวิชาที่ตนเลือก จึงควรเป็นเป้าหมายหลักของชีวิตนักศึกษาและท้ายที่สุดต้องสามารถตอบโจทย์ให้ได้ว่า ตนได้สาระความรู้อะไรจากวิชาที่เรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสังคมไทยและสังคมมุสลิมให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างไร
การวางตัวอย่างเหมาะสมในสังคม มหาวิทยาลัย
การวางตัวให้เหมาะสมเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักศึกษาต้องให้ความสำคัญ นักศึกษามุสลิมะห์ต้องสร้างและรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมะห์ แสดงจุดยืนของตนอย่างถ่อมตนและนอบน้อม รู้จักและเคารพวัฒนธรรมของผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา ใช้ความอ่อนโยนและจิตวิทยาในการสร้างความเข้าใจกับต่างศาสนิก ผ่อนปรนและผูกมิตรกับเพื่อนนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ ที่สำคัญต้องพึงรำลึกอยู่เสมอว่า การแสดงความแข็งกร้าว แม้จะตั้งใจทำเพื่อศาสนาก็มิอาจทำให้ผู้อื่นยอมรับอย่างจริงใจได้
อนึ่ง ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่สำคัญของนักศึกษามุสลิมะห์ปัจจุบัน คือ ทัศนคติต่อบุคคลต่างกลุ่ม เช่น เพื่อนนักศึกษาที่ไม่ได้คลุมฮิญาบ เพื่อนนักศึกษาที่มีแนวคิดในประเด็นคิลาฟต่างกัน ด้วยเหตุนี้ นักศึกษามุสลิมะห์จึงควรปลูกฝังวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ไม่จำกัดพื้นที่งานดะอ์วะฮ์ให้อยู่กับเรื่องเสื้อผ้า การแต่งกาย แต่ต้องรำลึกว่า การดะอ์วะฮ์ของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มีจุดเริ่มต้นมาจากลักษณะนิสัยของท่านใน ความเป็นอัลอะมีน ผู้ซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือและวางใจได้ อัลกุรอานได้วางแนวทางไว้ว่า
“จงเรียกร้องสู่แนวทางของพระเจ้าของสูเจ้าด้วยวิทยปัญญา และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า...”
(อันนะฮฺลฺ 16 : 125)
อีกประการที่ต้องคำนึงถึง คือ การวางตัวในเรื่องหนุ่มสาว นักศึกษามุสลิมะห์ต้องเทิดทูนในเกียรติและศักดิ์ศรีของตน การกระทำอันใดที่จะนำไปสู่การลดเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเอง จึงควรหลีกเลี่ยง ให้คิดอยู่เสมอว่า คู่ชีวิตจะต้องปรากฏตัวเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม การแสดงออกด้วยการขอดุอาต่อพระเป็นเจ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งคู่ครองที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ทำได้มากที่สุดในชีวิตนักศึกษา การแสดงออกด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ออกเดท เล่นเฟสบุ๊คอย่างไร้ขอบเขต และแนวทางอื่นๆ ตามสมัยนิยม ล้วนแต่จะนำมาซึ่งจุดดำในจิตใจ อันเป็นบ่อเกิดของความเย็นชาต่อบาปทั้งสิ้น
ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สอนไว้ในวจนะของท่านว่า
“แท้จริงเมื่อบ่าวผู้หนึ่งทำความผิดในประการหนึ่ง ก็จะมีจุดดำขึ้นจุดหนึ่งในใจของเขา เมื่อเขาหยุดทำความผิดและขออภัยโทษ จุดดำในหัวใจของเขาก็จะถูกลบ และหากเขาทำผิดอีกครั้ง จุดดำก็จะเกิดขึ้นอีกจนกระทั่งมันเต็มบนหัวใจเขา”
(รายงานโดยอัตติรมิซีย์)
การศึกษาที่ปราศจากคุณธรรม มีแต่จะนำมาซึ่งความเสียหาย การศึกษาในอิสลามจึงต้องมีทั้งวิชาการและจริยธรรมควบคู่กันไปเสมอ มุสลิมะห์จึงต้องรำลึกว่า การเป็นผู้ศรัทธาคือเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา ทั้งนี้ นอกจากจะต้องจริงจังกับการแสวงหาความรู้อย่างมีวินัยแล้ว ยังต้องจริงจังกับการขัดเกลาจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์
นักศึกษามุสลิมะห์ควรจัดตารางสำหรับการทำอิบาดะห์ประจำวันอย่างเป็นระบบ เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ปลูกฝังคุณลักษณะของประชาชาติสายกลาง (อุมมะตันวะชะตอ) ที่สำคัญ ต้องออกห่างจากการติฉินนินทาที่มักเป็นกิจวัตรของสตรีทั่วไป จงอย่าลืมว่า การนินทาเปรียบดั่งการกัดกินเนื้อศพพี่น้องของตน ซึ่งมีโทษหนัก อีกทั้งเป็นการกระทำที่เป็นบาปและน่ารังเกียจ สังคมมุสลิมควรผลักดันตัวเองให้ออกห่างจากการติฉินนินทาที่นับว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของความแตกแยกอย่างไม่ต้องสงสัย
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และพวกเจ้าอย่าสอดแนม และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน
คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และ จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
(อัลหุญุร๊อต 49 : 12)
วารสารมุสลิม กทม.