มารยาทในการประพฤติปฎิบัติต่อบรรดาผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  1889


มารยาทในการประพฤติปฎิบัติต่อบรรดาผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

 

          บทนำว่าด้วยความจำเป็นต้องไม่พอใจต่อบรรผู้ปฏิเสธศรัทธา และไม่พอใจต่อความเชื่อ และการปฏิบัติที่เป็นการปฏิเสธศรัทธาของพวกเขา จำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมจะต้องมีความไม่เห็นด้วยกับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา และแสดงการคัดค้านพวกเขาเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาและหลงผิด ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

 

لَّا تَجِدُ قَوْمًا يُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ يُوَادُّونَ مَنْ حَادَّ اللَّهَ وَرَسُولَهُ وَلَوْ كَانُوا آبَاءَهُمْ أَوْ أَبْنَاءَهُمْ أَوْ إِخْوَانَهُمْ أَوْ عَشِيرَتَهُمْ ۚ أُولَٰئِكَ كَتَبَ فِي قُلُوبِهِمُ الْإِيمَانَ وَأَيَّدَهُم بِرُوحٍ مِّنْهُ

 

     “เจ้าจะไม่พบกลุ่มชนใดที่พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ  จะรักใคร่ชอบพอผู้ที่ต่อต้านอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์

     ถึงแม้ว่าพวกเขา เป็นบรรพบุรุษของพวกเขา  ลูกหลานของพวกเขา หรือเครือญาติของพวกเขาก็ตาม

    ชนเหล่านั้น อัลลอฮฺได้ทรงบันทึกการศรัทธาไว้ในจิตใจของพวกเขาแล้ว และได้ทรงสนับสนุนพวกเขาด้วยการสนับสนุน ส่งเสริมจากพระองค์...”

(ซูเราะฮฺ อัลมุญาดะละฮฺ อายะฮฺที่  22)

 และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสอีกว่า

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَتَّخِذُوا عَدُوِّي وَعَدُوَّكُمْ أَوْلِيَاءَ تُلْقُونَ إِلَيْهِم بِالْمَوَدَّةِ

 

     “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ยึดเอาศัตรูของข้า และศัตรูของพวกเจ้าเป็นมิตรสนิท โดยให้ความรักใคร่สนิทสนมแก่พวกเขา...”

(ซูเราะฮฺ อัลมุมตะฮินะฮฺ อายะฮฺที่ 1)

 

          ดังนั้น จึงไม่เป็นที่อนุมัติให้ทุ่มเทความรักใคร่  สนิทสนมจนเกินไปแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาโดยรวม  ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะสู้รบหรือไม่ก็ตาม

(ดู อิบนุฮะญัร, ฟัตฮุลบารีย์ เล่ม 5 หน้า 233)

 

การแบ่งประเภทของผู้ปฏิเสธศรัทธาออกเป็นมุฮาริบและไม่ใช่มุฮาริบ

 

     บรรดาผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น  ดูตามสถานการณ์ของพวกเขาพอจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ : -

     1. มุฮาริบ (ผู้เป็นศัตรู) คือพวกที่ต่อต้านมุสลิม จะสู้รบ  ทำร้าย  ก่อกวน ให้ภัยทุกข์ทรมาน กับคนมุสลิม  ฉะนั้น  ลำดับแรกก็ให้ทำการเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาสู่อิสลาม หากพวกเขาไม่ตอบสนองก็ให้ทำการรบกับพวกเขา  ถือเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนศาสนา และป้องกันภัยอันตรายจากพวกเขา หรือให้พ้นจากการมารุกรานมุสลิม

 

     2. มุซาลิมีน  (ผู้ยอมสวามิภักดิ์) คือพวกที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยใด   บางส่วนก็ได้แก่ ผู้ที่มีสัญญาสันติภาพร่วมกัน ซึ่งจะอยู่อาศัยปนเปกันไปในหมู่มุสลิม และพวกเขาก็จะจ่ายส่วยภาษีแต่โดยดี และบรรดาพวกที่มีสนธิสัญญากับมุสลิม  และพวกเขาก็ยังคงรักษาสัญญานั้นเป็นอย่างดี

 

           บรรดาผู้ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหล่านี้  ก็ถือว่าอนุญาตให้คบหาสมาคมได้ และปฎิบัติดีต่อพวกเขา  ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ว่า : -

 

لا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُمْ مِنْ دِيَارِكُمْ أَنْ تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ

 

     “อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้า ในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า  ในการที่พวกเจ้าจะทำดีต่อพวกเขา และให้ความเที่ยงธรรมแก่พวกเขา แท้จริง อัลลอฮฺทรงรัก บรรดาผู้มีความเที่ยงธรรม

(ซูเราะฮฺ อัลมุมตะฮินะฮฺ อายะฮฺที่  8)

 

 มีรายงานจากอัสมาอฺ บินติ อบีบักร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา แจ้งว่า : -

 

قَدِمَتْ عَلَيَّ أُمِّي وَهِيَ مُشْرِكَةٌ فِي عَهْدِ قُرَيْشٍ إِذْ عَاهَدَهُمْ  رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، فَقُلْتُ : يَا رَسُولَ اللَّهِ ، قَدِمَتْ عَلَيَّ أُمِّي وَهِيَ رَاغِبَةٌ ، أَفَأَصِلُ أُمِّي ؟ قَالَ : "نَعَمْ صَلِي أُمَّكِ"

 

     “มารดาของฉันซึ่งเป็นมุชริกได้มาหาฉันตั้งแต่สมัยกุเรช  ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกกับชาวกุเรช ฮุดัยบียะฮฺ 

     ดังนั้น ฉันจึงได้ถามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า : โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ แม่ของฉันได้เข้ามาหาฉัน โดยมีธุระบางอย่างและติดต่อกันบ้าง ดังนั้น ฉันจะติดต่อและหยิบยื่นข้าวของให้แม่ของฉันจะได้หรือไม่?  

     ท่านร่อซูลกล่าวว่า :   ได้ซิ  เธอจงสานสัมพันธ์กับแม่ของเธอเถิด

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 2427 และมุสลิม เลขที่  1671)

 

          หวังว่า ฮิกมะฮฺของการอนุมัติให้ทำดีกับศาสนิกอื่นที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยอันใดนั้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการโน้มน้าวจิตใจของพวกเขา  หรือเป็นการปูพื้นหัวใจเหล่านั้นให้ได้สัจธรรม หรือทำให้มีจิตใจคล้อยตามที่ทำดีด้วย  

         มีความเที่ยงธรรมและซื่อสัตย์ต่อคนต่างศาสนิกพร้อมทั้งยึดมั่นอยู่กับความจริงและความเป็นที่ไว้วางใจในขณะที่อยู่ร่วมกับพวกเขา

         จำเป็นที่จะต้องมีความซื่อตรงในการปฎิบัติต่อคนต่างศาสนิกและห้ามกดขี่ข่มเหงพวกเขา ดังที่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า : -

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُونُوا قَوَّامِينَ لِلَّهِ شُهَدَاءَ بِالْقِسْطِ وَلَا يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَىٰ أَلَّا تَعْدِلُوا اعْدِلُوا هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَىٰ

 

     “โอ้  ผู้ศรัทธาทั้งหลาย  จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮฺ  จงเป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรมและจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิดเพราะมันเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับความยำเกรงยิ่งกว่า...” 

(ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 8)

 และอัลลอฮฺ ได้ตรัสอีกว่า :

 

إِنَّ اللّهَ يَأْمُرُكُمْ أَن تُؤدُّواْ الأَمَانَاتِ إِلَى أَهْلِهَا وَإِذَا حَكَمْتُم بَيْنَ النَّاسِ أَن تَحْكُمُواْ بِالْعَدْلِ

 

     “แท้จริง  อัลลอฮฺทรงใช้ให้พวกเจ้าให้มอบคืนของฝากแก่เจ้าของของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินในระหว่างผู้คน  พวกเจ้าก็จงตัดสินด้วยความยุติธรรม...”

(ซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 58)

 

          อายะฮฺใช้ให้คืนบรรดาของฝากต่างๆ กับเจ้าของของมัน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร  ละให้ตัดสินชี้ขาดในหมู่ชนด้วยความยุติธรรม ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนดีหรือไม่ดีก็ตาม 

(อิบนุ กะษีร, ตัฟซีร อัลกุรอาน อัลอะซีม, เล่ม 1 หน้า 505)

 

          พร้อมทั้งต้องซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้  ตราบที่พวกเขายังคงซื่อสัตย์และไม่ผิดสัญญาดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

وَأَوْفُوا بِعَهْدِ اللَّهِ إِذَا عَاهَدتُّمْ وَلَا تَنقُضُوا الْأَيْمَانَ بَعْدَ تَوْكِيدِهَا

 

     “และพวกเจ้าจงปฏิบัติให้ครบตามพันธะสัญญาของอัลลอฮฺ เมื่อพวกเจ้าได้ให้สัญญาไว้ และพวกเจ้าอย่าได้ทำลายคำสาบาน  หลังจากได้ยืนยันนั้น...”

(ซูเราะฮฺ อันนะฮฺลุ อายะฮฺที่ 91)

 

 

จากหนังสือจริยธรรมสำหรับเยาวชน  อัลอิศลาหฺ สมาคม