การกตัญญูต่อบิดามารดา
  จำนวนคนเข้าชม  14640


การกตัญญูต่อบิดามารดา

 

 

          ความหมายของการมีความกตัญญูต่อบิดามารดา คือ มีความจงรักภักดีต่อท่านทั้งสองในสิ่งที่ท่านทั้งสองสั่งใช้ ตราบใดที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ให้เกียรติท่านทั้งสอง พยายามปรนนิบัติต่อท่านทั้งสองทั้งคำพูด การกระทำ และทรัพย์สินตามความสามารถ

 

1. สถานะของการกตัญญู ต่อบิดามารดาในหลักศาสนา

 

          การกตัญญูต่อบิดามารดานั้นเป็นงานที่ประเสริฐสุดและเป็นการจงรักภักดีที่สูงสุด ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกำหนดเอาไว้คู่กับสิทธิของพระองค์ ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า

 

وَقَضَى رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُواْ إِلاَّ إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا

 

     “และพระเจ้าของเจ้าได้มีบัญชามิให้ทำการเคารพสักการะผู้ใดนอกจากเฉพาะพระองค์เท่านั้น และด้วยการทำดีต่อบิดามารดา

(ซูเราะฮฺ อัลอิสร็ออ์ อายะฮฺที่ 23)

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำหนดให้การกตัญญูต่อบิดามารดา ต้องมาก่อนการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกถามว่า การทำงานอะไรที่อัลลอฮฺ ทรงชื่นชอบที่สุด

     ท่านตอบว่า : “การทำละหมาดให้ครบตรงตามเวลา” 

     เขาถามต่อว่าแล้วต่อจากนั้นอะไรอีก?”

     ท่านตอบว่า : “การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 5513 และมุสลิม เลขที่ 122)

 

     และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกให้รู้ว่า อะไรคือบาปที่ยิ่งใหญ่ที่สุด? ดังที่มีรายงานของอะนัส บิน มาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า : -

 

أَكْبَرُالْكَبَائِرِالْإِشْرَاكُبِاللهِ،وَقَتْلُ النَّفْسِ ،وَعُقُوْقُالْوَالِدَيْنِ،وَقَوْلُالزُّوْرِ، وَشَهَادَةُ الزُّوْرِ

 

บาปที่ใหญ่ที่สุดคือ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ การฆ่าชีวิต การอกตัญญูต่อบิดามารดา การพูดเท็จ

ท่านได้กล่าวว่า : และการเป็นพยานเท็จ

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 6363 และมุสลิม เลขที่ 127)

 

2. ผลลัพธ์ที่เกิดจากการกตัญญูต่อบิดามารดาทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ

 

          การกตัญญูต่อบิดามารดานั้น ส่งผลดีทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ ผลที่ว่านั้นได้แก่ 

     1. ได้ทำสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสุขและได้รับชัยชนะทั้งในโลกดุนยานี้และในโลกอาคิเราะฮฺ 

     2. ทำให้ได้รับความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ดังในฮะดีษรายงานโดยอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า : -

 

رِضَا اللَّهِ فِي رِضَا الْوَالِدَيْنِ، وَسَخَطُ اللَّهِ فِي سَخَطِ الْوَالِدَيْنِ

 

     “ความพึงพอใจของอัลลอฮฺนั้น อยู่ที่ความพึงพอใจของบิดามารดา และความโกรธกริ้วของอัลลอฮฺนั้น อยู่ที่ความกริ้วโกรธของบิดามารดา

(บันทึกโดย อัตติรมีซีย์ เลขที่ 1899 ดู เศาะฮี๊ฮฺ อัลญามิอฺ เลขที่ 3507)

     3. ทำให้การขอดุอาอฺนั้นได้รับการตอบรับ และความทุกข์ยากหายไป 

          ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับพวกชาวถ้ำทั้งสามคน ที่พวกเขาได้ทำการงานที่ดีเด่นของพวกเขา แล้วอัลลอฮฺก็ได้ทรงให้ความทุกข์ยากของพวกเขาได้หมดสิ้นไป ด้วยกับงานที่ดีเหล่านั้น ซึ่งหนึ่งในงานดีเด่นอย่างยิ่งของพวกเขาก็คือ การกตัญญูต่อบิดามารดาของพวกเขา ดังที่มีรายงานจาก อิบนิอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา จากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า : -

 

بَيْنَمَاثَلَاثَةُنَفَرٍيَتَمَاشَوْنَ أَخَذَهُمُ الْمَطَرُ،فَمَالُوْاإِلَى غَارٍفِيْ الْجَبَلِ،فَانْحَطَّتْ عَلَى فَمِ غَارِهِمْ صَخْرَةٌمِنَ الْجَبَلِ فَأَطْبَقَتْ عَلَيْهِمْ،فَقَالَ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ: انْظُرُوْاأَعْمَالاًعَمِلْتُمُوْهَاللهِ صَالِحَةً فَادْعُوْااللهَ بِهَا؛لَعَلَّهُ يَفْرُجُهَافَقَالَأَحَدُهُمْ : اللَّهُمَّ إِنَّهُ كَانَ لِيْ وَالِدَانِ شَيْخَانِ كَبِيْرَانِ،وَلِيْصِبْيَةٌ صِغَارٌكُنْتُ أَرْعَى عَلَيْهِمْ،فَإِذَارُحْتُ عَلَيْهِمْ فَحَلَبْتُ بَدَأْتُ بِوَالِدَيَّ أَسِقِهِمَاقَبْلَ وَلَدِيْ،وَإِنَّهُ نَاءَ بِيَ الشَّجَرُفَمَاأَتَيْتُ حَتَّى أَمْسَيْتُ فَوَجَدْتُهُمَاقَد ْ نَامَا،فَحَلَبْتُ كَمَا كُنْتُ أَحْلُبُ،فَجِئْتُ بِالْحِلَابِ فَقُمْتُ عِنْدَ رُؤُوْسِهِمَا،أَكْرَهُ أَنْ أُوْقِظَهُمَامِنْ نَوْمِهِمَا،وَأَكْرَهُ أَنْ أَبْدَأَ بِالصَّبْيَةِ قَبْلَهُمَا،وَالصَّبْيَةُ يَتَضَاغَوْنَ عِنْدَقَدَمَيَّ ،فَلَمْ يَزَلْ ذَلِكَ دَأْبِيْ وَدَأْبَهُمْ حَتَّى طَلَعَ الْفَجْرُ،فَإِنْ كُنْتَ تَعْلَمُ أَنِّيْ فَعَلْتُ ذَلِكَ ابْتِغَاءَوَجْهِكَ فَافْرُجْ لَنَافُرْجَةً نَرَى مِنْهَا السَّمَاءَ فَفَرَجَ اللَّهُ لَهُمْ فُرْجَةً حَتَّى يَرَوْنَ مِنْهَا السَّمَاءَ ...الحديث

 

     “ขณะที่ชายสามคนกำลังเดินเล่นกันอยู่ ก็ได้เกิดฝนตกหนัก พวกเขาจึงเข้าไปหลบฝนในถ้ำแห่งหนึ่งในภูเขา แล้วมีหินก้อนใหญ่จากภูเขานั้น ก็หล่นลงมาปิดปากถ้ำที่พวกเขาอยู่ พวกเขาบางคนจึงได้พูดแก่พรรคพวกว่า 

     พวกท่านจงนึกถึงการงานที่ดีที่สุดที่พวกท่านได้เคยกระทำเอาไว้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ และเป็นงานที่ดีที่สุด แล้วอ้างอิงเป็นสื่อ (ตะวัซซุล) ต่ออัลลอฮฺด้วยกับงานนั้น หวังว่าพระองค์จะทรงทำให้ก้อนหินนั้นเปิดออก 

     ดังนั้น คนหนึ่งในพวกเขาก็ได้กล่าวว่า : โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพเจ้ามีบิดามารดาที่ชราภาพและมีลูกๆที่ยังเล็กที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบเลี้ยงดูพวกเขา ซึ่งในแต่ละครั้งที่ข้าพเจ้าได้ไปรีดนม แล้วเมื่อได้น้ำนมมา ก็จะเริ่มให้บิดามารดาได้ดื่มก่อนเป็นคนแรก แล้วถึงจะให้ลูกๆของข้าพเจ้าได้ดื่มกิน 

     วันหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้ไปรีดนม ขณะจะกลับ ก็มีต้นไม้ใหญ่ล้มขวางทาง กว่าข้าพเจ้าจะผ่านมาได้ก็ตกเย็นค่ำแล้ว และปรากฏว่าทั้งบิดาและมารดาได้นอนหลับไปแล้ว ทั้ง ที่ข้าพเจ้าได้นำภาชนะใส่นมกลับมาเช่นเคย ข้าพเจ้าก็ยืนคอยอยู่ตรงศีรษะของท่านทั้งสอง โดยไม่กล้าที่จะปลุกท่านทั้งสองให้ตื่น และไม่ต้องการให้ลูกๆ ดื่มกินก่อนท่านทั้งสอง โดยที่เด็กเหล่านั้นก็ร้องกันเสียงระงมอยู่ตรงเท้าทั้งสองข้างของข้าพเจ้า 

     ข้าพเจ้ายืนอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งรุ่งสาง หากพระองค์เห็นว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ทำไปนั้นเป็นการปรารถนาผลบุญจากพระองค์ท่าน ก็ได้โปรดกรุณาให้ก้อนหินนั้นได้ขยับไปจากพวกเราให้ได้มองเห็นท้องฟ้าสักนิดหนึ่งเถิด 

     แล้วอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็ได้ทรงให้ก้อนหินนั้นขยับตัวไปจนกระทั่งพวกเขาแลเห็นท้องฟ้าได้ ...”

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 5517 และมุสลิม เลขที่ 4926)

 

3. โทษของการตัดพ่อตัดแม่ 

 

          เนื่องจากว่าการกตัญญูและการทำดีต่อบิดามารดานั้น มีฐานะและมีคุณค่ายิ่ง ดังที่มีบอกไว้ในฮะดีษก่อนหน้านี้ ซึ่งหากว่าไม่มีการกตัญญู ก็นับว่าเป็นบาปอันยิ่งใหญ่ ใครที่เป็นเช่นนั้นก็ต้องได้รับการลงโทษอย่างสาสม ดังที่มีตัวบทบ่งบอกไว้มากมายเช่น 

     1. การอกตัญญูนั้นเป็นบาปใหญ่ ทำให้ต้องเข้าไฟนรก

     2. ผู้ที่อกตัญญูนั้นจะถูกลงโทษในดุนยานี้

ดังมีรายงานจาก อบี บักเราะฮฺ ว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

مَامِنْ ذَنْبٍ أَجْدَرَأَنْ يُعَجِّلَ اللَّهُ لِصَاحِبِهِ الْعُقُوبَةَ فِي الدُّنْيَا مَعَ مَايَدَّخِرُلَهُ فِي الْآخِرَةِمِنَ الْبَغْيِ وَقَطِيعَةِ الرَّحمِ

 

     “ไม่มีโทษใดที่สมควรอย่างยิ่ง ที่อัลลอฮฺจะทรงรีบเร่งจัดการลงโทษในดุนยานี้ พร้อมทั้งสะสมการลงโทษเอาไว้อีกในโลกอาคิเราะฮฺยิ่งไปกว่า การละเมิดก่ออธรรม และการตัดขาดเครือญาติ

 

(บันทึกโดย อบูดาวู้ด เลขที่ 4256 อัตติรมีซีย์เลขที่ 2511ท่านกล่าวว่า ฮะดีษฮะซัน เศาะฮี๊ฮฺ และ อิบนุ มายะฮฺ เลขที่ 4211 ดู เศาะฮี๊ฮฺ อัลญามิอฺเลขที่ 5580)

          และที่ใกล้ชิดที่สุด กับผู้คนทั้งหลายในทางสายเลือดนั้น ก็คือ บิดามารดา

 

4. การปฏิสัมพันธ์ตามหลักการศาสนาต่อบิดามารดาที่มิได้เป็นมุสลิม:

 

          จำเป็นที่ผู้ที่เป็นบุตรจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับบิดาและมารดาของตนอย่างเป็นธรรม แม้ว่าทั้งสองนั้นจะมิใช่เป็นมุสลิมก็ตาม ดังคำตรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า

 

وَإِنْ جَاهَدَاكَ عَلَى أَنْ تُشْرِكَ بِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ فَلَا تُطِعْهُمَا وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفًا

 

     “และถ้าเขาทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าก็อย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และจงอดทนอยู่กับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดี...”

(ซูเราะฮฺ ลุกมาน อายะฮฺที่ 15)

 

          ดังนั้น หลักการศาสนาจึงกำหนดแก่ผู้เป็นบุตรในการที่จะต้องมีการปฎิบัติดีต่อบิดามารดา พร้อมให้ความเอ็นดูเมตตาท่านทั้งสองด้วยความบากบั่น ตลอดจนใช้คำพูดที่นุ่มนวล แต่ว่าจะต้องไม่ภักดีตามท่านทั้งสองในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ตะอาลา เพราะบางทีการปฏิบัติดีต่อทั้งสองนั้นอาจเป็นสาเหตุให้ทั้งสองเห็นดีเห็นงามและเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในที่สุดก็เป็นไปได้ เท่ากับว่าบุตรนั้นได้ทำดีต่อบิดามารดาทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ

 

 

จากหนังสือจริยธรรมสำหรับเยาวชน  อัลอิศลาหฺ สมาคม