อัตตะบันนีย์ (ลูกบุญธรรม)
โดย อาจารย์คอลิด วงษ์สันต์
คำว่า “ลูก” ย่อมมีความหมายยิ่งสำหรับพ่อแม่ เพราะลูกเป็นแก้วตาและเป็นขวัญใจของพ่อแม่ ลูกช่วยชุบชีวิตชีวาให้พ่อแม่ และลูกเป็นผู้สืบสกุลของพ่อแม่ให้ยืนยงคงอยู่ต่อไป นอกจานั้นยังมีความหมายอีกมากมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในคำว่า “ลูก” ที่ผู้เป็นพ่อแม่ย่อมรู้กันดี
โดยเหตุนี้เอง อิสลามจึงห้ามการทำซินา (ผิดประเวณี) แต่ส่งเสริมให้มีการแต่งงานกันในหมู่มุสลิม เพื่อสร้างสรรค์เลือดเนื้อเชื้อไขที่บริสุทธิ์ สืบทอดไปจากพ่อแม่ ทั้งทางอุปนิสัยและลักษณะนิสัย
อิสลามห้ามมิให้ผู้เป็นพ่อปฏิเสธทารกที่เกิดจากภรรยาของตนว่าไม่ใช่ลูกของตน ถ้าเด็กเกิดมาในสภาพการแต่งงานของพ่อแม่ที่ถูกต้องตามบทบัญญัติอิสลาม และเช่นเดียวกัน อิสลามห้ามการนำลูกของคนอื่นมาตั้งสมอ้างว่าเป็นลูกของตน การตั้งสมอ้างลูกของคนอื่นว่า เป็นลูกของตนนี้นั้นอิสลามเรียกว่า “อัตตะบันนีย์”
“อัตตะบันนีย์” คือการที่คนใดคนหนึ่งนำลูกของอีกคนหนึ่งมาเป็นลูกของตนโดยให้เด็กคนนั้นได้รับสิทธิเสมือนลูกของทุกตนประการ
การให้การอุปการะเด็กที่อิสลามอนุญาตก็คือ การนำลูกของผู้อื่นมาให้การอุปการะเลี้ยงดู โดยให้เด็กคนนั้นรู้ว่า พ่อแม่ที่แท้จริงของเขานั้นเป็นใคร
อัตตะบันนีย์ มีอยู่แพร่หลายในสมัยตอนต้นๆ ของอิสลาม ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยนำเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงเป็นลูกของท่าน แบบตะบันนีย์ เด็กคนนั้นมีชื่อว่า ซัยด์ อิบนิ ฮาริซะฮ์ เป็นเด็กในตระกูล กัลบ์ ซึ่งฮะกีม อิบนิ ฮิซาม ซื้อให้แก่นางคอดียะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เมื่อนางคอดียะฮ์แต่งงานกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นางจึงยกซัยด์ให้กับท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ต่อมาพ่อและลุงของซัยด์มาหาท่านร่อซูลุลลอฮฺ เพื่อขอให้ซัยด์กลับไปอยู่กับครอบครัวของตน ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงให้โอกาสซัยด์เป็นผู้เลือกเอาว่า จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่และครอบครัวหรือจะอยู่กับท่านร่อซูรุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ซัยด์เลือกที่จะอยู่กับท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านร่อซูลจึงให้ซัยด์เป็นไทแก่ตัวเอง และถือเสมือนว่าซัยด์เป็นลูกชายของท่านนบีเองด้วย ผู้คนต่างรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่นั้นมา จึงเรียกซัยด์กันอย่างแพร่หลายว่า ซัยด์ อิบนุ มุฮัมมัด และซัยด์ผู้นี้เองที่เป็นทาสคนแรกที่เข้ารับอิสลาม
อัตตะบันนีย์ในทัศนะของอิสลาม
อิสลามถือว่า “อัตตะบันนีย์” เป็นการอำพราง เป็นการแอบอ้าง ปลอมแปลงสภาพจิตใจ ตลอดจนสิทธิและสถานะตำแหน่ง ให้ผิดไปจากความเป็นจริง
ที่ว่าอำพรางก็คือ ด้วยการนำเด็กที่มิใช่สมาชิกในครอบครัวที่แท้จริง ให้มามีสิทธิเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว เป็นเหตุให้เกิดการสับสนทางสิทธิในการสมรส เกิดการปะปนคลุกคลีกับคนในบ้าน จนกระทั่งเด็กกลายเป็นผู้มีสิทธิในมรดก และกลายเป็นผู้ตัดสิทธิในการรับมรดกของญาติพี่น้อง ร่วมสายเลือดที่แท้จริงของครอบครัวนั้นจากกองมรดกนั้นๆ
ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงห้ามการตะบันนีย์ และทำการยกเลิกการตะบันนีย์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้นโดยสิ้นเชิง ดังหลักฐานจากอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลอะฮฺซ๊าบ อายะฮฺที่ 4-5 ที่ว่า
“อัลลอฮฺมิได้ทรงให้บรรดาลูกบุญธรรมของพวกเจ้า เป็นลูกของพวกเจ้าจริงๆ นั่นเป็นเพียงคำพูดของพวกเจ้า ด้วยปากของพวกเจ้าเอง และอัลลอฮฺนั้นทรงพูดความจริง และขณะเดียวกัน พระองค์เป็นผู้ทรงแนะนำสู่ทางอันเที่ยงตรง
จงเรียกพวกเขา (ลูกบุญธรรม) ตามบิดาของพวกเขา (คือถ้าเขาชื่อ ชัยด์ บิดาเขาชื่อ ฮาริซะฮ์ ก็ให้เรียกว่า “ชัยด์ อิบนิ ฮาริซะฮ์” ไม่ใช่เรียกว่า “ซัยด์ อิบนิ มุฮัมมัด” เพราะซัยด์มิได้เป็นลูกจริงๆ ของมุฮัมมัด หากแต่เป็นเพียงลูกบุญธรรมเท่านั้น) นั่นเป็นสิ่งที่ยุติธรรมยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ
ถ้าหาก พวกเจ้าไม่รู้จักบิดาของพวกเขาแล้ว พวกเขาก็เป็นพี่น้องของพวกเจ้าในทางศาสนา และเป็นมิตรสหายของพวกเจ้า และไม่มีบาปใดๆ แก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าผิดพลาดไปในเรื่องนี้ แต่ทว่า (ที่จะมีโทษนั้นคือ) การที่หัวใจของพวกเจ้าจงใจเท่านั้น
และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ เป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ”
เมื่อเราพิจารณาอัลกุรอาน อายาตดังกล่าว จะพบว่า “อัตตะบันนีย์” เป็นเพียงการเรียกที่ปราศจากมูลความจริง เป็นเพียงถ้อยคำที่ออกมาจากปลายลิ้น เป็นเพียงลมปากที่มิอาจเปลี่ยนสภาพความเท็จให้มาเป็นความจริงได้ เป็นคำพูดที่ไม่สามารถทำให้คนอื่นกลายมาเป็นญาติ เป็นเชื้อสายกันได้ ไม่สามารถทำให้ลูกของคนอื่นมาเป็นลูกในไส้ได้ และไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของทั้งพ่อทั้งลูกได้
ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงห้ามการ “ตะบันนีย์” และห้ามการมีเงื่อนไข ตลอดจนสิทธิที่เคยถือปฏิบัติกันมาแต่ก่อนที่เกี่ยวกับลูกตะบันนีย์ ดังเช่น ทางด้านมรดก อิสลามมิให้ใครอื่นมามีสิทธิเหนือสายเลือดที่แท้จริง และทางด้านการสมรส เช่น การอนุมัติการสมรสกับภรรยาของลูกตะบันนีย์ได้ เมื่อหย่าขาดหรือตายจากกันไปแล้ว ฯลฯ เป็นต้น
อัลกุรอานระบุไว้ว่า
“และบรรดาญาติที่ใกล้ชิดนั้น บางคนของพวกเขา กับอีกบางคนนั้น ย่อมเป็นผู้สมควรยิ่งในการที่จะได้รับมรดกซึ่งกันและกัน (ตามบทบัญญัติ) ซึ่งอยู่ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ”
(อัลอันฟาล 8 : 75)
ยังมีการรับเลี้ยงอีกแบบหนึ่ง ที่ผู้คนสำคัญผิดคิดว่าเป็นการ “ตะบันนีย์” ที่อิสลามห้าม แต่หาใช่เป็นเช่นนั้นไม่ นั่นก็คือการที่คนคนหนึ่ง นำเด็กกำพร้าหรือเก็บเด็กที่พลัดหลงมาให้การเลี้ยงดู ให้ความเอ็นดู เมตตาสงสาร ให้การอบรมสั่งสอน ดูแล ให้อาหาร เสื้อผ้า แต่ก็มิได้ถือว่าเด็กนั้นเป็นลูกในไส้ และไม่ให้สิทธิแก่เด็กเยี่ยงลูกในไส้ของตน การกระทำเช่นนี้ในอิสลามนับเป็นการกระทำที่น่าสรรเสริญ สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า
“ฉันและผู้ที่โอบอุ้มเลี้ยงดูเด็กกำพร้านั้น จะอยู่ในสวรรค์คู่กันอย่างนี้ ... พลางท่านก็ชี้ไปที่นิ้วชี้และนิ้วกลางของท่านให้ดู”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และอบูดาวูด)
อันแสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างผู้โอบอุ้มเด็กกำพร้ากับท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในสวรรค์ หากเขาประสงค์จะให้เด็กที่เลี้ยงไว้นั้น มีส่วนในทรัพย์สินของเขา ก็ควรจะยกทรัพย์สินให้แก่เด็กตามที่เขาต้องการในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ และด้วยการ “วะซียะฮ์” สั่งเสียงไว้ก่อนตาย ภายในขอบเขตที่ไม่เกิดหนึ่งในสามของทรัพย์สินทั้งหมดของเขา เพื่อที่ทรัพย์สินนั้น จะได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเด็กอย่างถูกต้องในภายหลัง
ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์