มีแต่การอภัยโทษ
  จำนวนคนเข้าชม  2335


มีแต่การอภัยโทษ

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา และในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขณะนี้ เราใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสุดท้ายของเดือนร่อมะฎอนในปีนี้แล้ว มีความรู้สึกเหมือนกับว่า เราเพิ่งจะเข้าสู่เดือนร่อมะฎอนมาไม่กี่วันนี้เอง ...เวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ...เพิ่งเข้าปีใหม่มาไม่กี่วัน นี่ก็จะเข้าไปครึ่งปีแล้ว ... การที่เรามีความรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่เวลามันก็เท่าเดิมนั้น มันคือสัญญาณหนึ่งหรือสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เราทราบว่า วันกิยามะฮฺใกล้เข้ามาแล้ว

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

 لا تَقُومُ السَّاعَةُ حَتَّى يَتَقَارَبَ الزَّمَانُ ،วันกิยามะฮฺจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าเวลาจะชิดติดกัน” 

 

          หมายความว่า เราอยู่ในช่วงสมัยที่ใกล้วันกิยามะฮฺแล้ว ที่เวลามันสั้นลงๆ ทั้งๆที่มันก็เท่าเดิม แต่เหมือนกับว่าเราจะทำอะไรๆได้น้อยลง หรือว่าเราไม่ได้เร่งมือที่จะลงมือทำมัน เดี๋ยวๆก็เข้าร่อมะฎอนแล้ว กำลังใจเย็นทำความดีไปเรื่อยๆเฉื่อยๆ หรือบางทีก็เหมือนกับว่ายังไม่ได้ลงมือทำความดีเลย เผลอแป๊บเดียว จะหมดร่อมะฎอนแล้ว นึกขึ้นมาได้ว่า เวลาแห่งการตักตวงความดี ตักตวงผลบุญมากมายกำลังจะจากเราไปแล้ว รู้สึกเสียดาย จึงต้องเร่งมือกันหน่อย.... 

 

          ชัยค์มุฮัมมัด บินศอลิหฺ อัลอุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ อุละมาอ์คนสำคัญท่านหนึ่งของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ จึงได้กล่าวว่า 10 คืนกลางของเดือนร่อมะฏอนนั้นมันประเสริฐกว่า 10 คืนแรกของเดือนร่อมะฎอน และ 10 คืนสุดท้ายของเดือนร่อมะฎอนนั้นมันประเสริฐกว่า 10 คืนกลางของเดือนร่อมะฎอนเสียอีก ดังนั้น ในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนร่อมะฎอนจึงมีความประเสริฐมากที่สุด 

          ทั้งนี้ เพราะส่วนมากแล้ว ความประเสริฐของช่วงเวลาแต่ละช่วงนั้น ความประเสริฐจะอยู่ในช่วงท้ายของเวลามากกว่าช่วงต้นเวลา อย่างเช่น ในช่วงอัศรฺ ช่วงท้ายของวันศุกร์จะประเสริฐกว่าช่วงเช้าของวันศุกร์ หรือช่วงอัศรฺของวันอะร่อฟะฮฺจะประเสริฐกว่าช่วงเช้าของวันอะร่อฟะฮฺ ก็เพื่อให้เราได้มีความกระฉับกระเฉง ขวนขวายในการทำอิบาดะฮฺ ทำความดีให้มากยิ่งๆขึ้นไป

 

          ดังนั้น ในอีกไม่กี่วันที่เหลืออยู่นี้ เราอย่าเพิ่งอ่อนล้า อย่าเพิ่งอ่อนแรง หรือเฉื่อยชาในการทำอิบาดะฮฺในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าวันเวลาจะเหลืออยู่เพียง 2 – 3 วันก็ตาม เพราะคืนลัยละตุลก็อดรฺก็ยังอาจอยู่ในช่วงเวลานี้ ความประเสริฐในเรื่องต่างๆของเดือนร่อมะฎอนยังคงมีอยู่ และความประเสริฐอย่างหนึ่งของเดือนร่อมะฎอนที่จะขอมาย้ำเตือนกันในวันนี้ก็คือ เดือนร่อมะฎอนเป็นเดือนแห่งการอภัยโทษ เป็นเดือนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานการอภัยโทษให้แก่บ่าวของพระองค์ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ...

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราได้รับความปลอดภัยจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ และเป็นสิ่งที่นำเราให้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ...มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ไม่สามารถเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ จนกว่าเขาจะสะอาดปราศจากความผิดต่างๆตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดไว้ ดังนั้น เราจึงต้องทำให้ตัวของเราสะอาดปราศจากความผิด โดยการไม่ทำมัน แต่ถ้าหากพลาดพลั้งไปทำความผิดเข้า หรือแม้ว่าจะตั้งใจทำ ก็ต้องรู้สำนึกตัวเองว่าเป็นความผิด และละเลิก ออกห่างจากความผิดนั้น และกลับสู่การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยเร็ว 

          และแน่นอน ต้องมีหลายเรื่องที่เราไม่รู้ตัวว่า เราทำความผิด ซึ่งเราจะพบว่า ในเดือนร่อมะฎอนนี้ อิบาดะฮฺสำคัญที่ทำในเดือนนี้คือ การถือศีลอดในช่วงกลางวัน และการละหมาดกิยามุลลัยล์ในช่วงกลางคืนนั้น ผลบุญของมันคือการได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยน์ รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»

 

     “ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดเดือนร่อมะฎอนด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

          อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยน์ รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

ومَن قامَ ليلةَ القدرِ إيمانًا واحتِسابًا غُفِرَ لَهُ ما تقدَّمَ من ذنبِهِ

 

     “ผู้ใดก็ตามที่ยืนละหมาดยามค่ำคืนร่อมะฎอน(ละหมาดกิยามุลลัยล์)ด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

          มาดูการทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยน์ รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

: «مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ».

 

     “และผู้ใดที่ได้ยืนขึ้น(ทำละหมาด หรือทำอิบาดะฮฺต่างๆ) ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

          เราจะเห็นว่า อิบาดะฮฺหลักๆที่เราทำในเดือนร่อมะฎอนนั้น นำเราไปสู่การได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทั้งสิ้น สำคัญที่เงื่อนไขของการที่จะได้รับการอภัยโทษนั้นคือ การที่เราต้องทำอิบาดะฮฺด้วยกับความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริงว่า มันเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเราทำอิบาดะฮฺนั้นด้วยกับการที่เรามุ่งมั่นตั้งใจ มีความปรารถนาอย่างเต็มเปี่ยมว่าเราอยากจะได้รับผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในการที่เราทำอิบดะฮฺต่างๆ ....ต้องครบเงื่อนไขทั้งสองประการนี้ เราจึงจะได้รับการอภัยโทษในบาปต่างๆของเราที่ผ่านมา 

          มีมุสลิมบางกลุ่มที่เขาทำอิบาดะฮฺโดยไม่มีความมุ่งหวังอยากจะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะเขามีความคิดว่า การทำอิบาดะฮฺต่างๆนั้น ต้องทำอย่างอิคลาส เมื่อทำอย่างอิคลาศก็จะต้องไม่มุ่งหวังในรางวัลที่ทำ ซึ่งความคิดอย่างนี้ไม่ตรงตามอะกีดะฮฺของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ที่จะต้องทำอิบาดะฮฺทุกอย่างอย่างอิคลาศ และต้องมุ่งหวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วย ซึ่งอย่างน้อยอัลหะดีษข้างต้นก็ถือเป็นหลักฐานในเรื่องนี้ได้อย่างดี

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ เราอย่าให้การถือศีลอดของเรา หรือการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดที่เราทำนั้น เราทำมันเฉยๆ ทำมันเหมือนกับเป็นประเพณี เพราะเราจะไม่ได้รับความประเสริฐจากการทำอิบาดะฮฺในเดือนร่อมะฎอนอย่างครบถ้วน ดังนั้น ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เรายังคงเข็มแข็งต่อไป และได้แสวงหา ได้พบกับคืนลัยละตุลก็อดรฺในคืนที่เหลืออยู่ การได้พบกับคืนลัยละตุลก็อดรฺก็คือ การที่เรายังคงขมักเขม้น ขวนขวายทำอิบาดะฮฺอยู่อย่างเข้มแข็ง ซึ่งผลของมันนั้นนอกจากจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มพูนอย่างมากมายเหลือคณานับแล้ว ยังเป็นค่ำคืนแห่งการอภัยโทษอีกด้วย

 

          อัลหะดีษ รายงานจากท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัมกล่าวว่า

 

ليلةُ القدْرِ ليلةٌ سمِحَةٌ ، طَلِقَةٌ ، لا حارَّةٌ ولا بارِدَةٌ ، تُصبِحُ الشمسُ صبيحتَها ضَعيفةً حمْراءَ.

 

     "คืนลัยละตุลก็อดรฺเป็นคืนแห่งการอภัยโทษ เป็นคืนที่มีอากาศดี ไม่ร้อนและไม่หนาว ดวงอาทิตย์ในตอนเช้ามีแสงสวยงาม (แสงอ่อนๆ)"

 

          ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้สอนท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ภรรยาของท่าน ให้อ่านดุอาอ์ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺว่า

 

«اللهم إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي»

 

     “โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ที่ทรงให้อภัยโทษ พระองค์ทรงชอบที่จะให้อภัย (บาปต่างๆ ของบ่าวของพระองค์) ดังนั้นขอพระองค์โปรดอภัยโทษ(ในบาปต่างๆ) ของข้าพระองค์เถิด

 

     ก็ขอให้เรายังคงกล่าวดุอาอ์นี้บ่อยๆในค่ำคืนที่เหลืออยู่ กล่าวอย่างจริงใจ อย่างต้องการที่จะได้รับผลตามนั้น

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ก่อนจบคุฏบะฮฺในวันนี้ มีเรื่องหนึ่งที่เราทุกคนต้องทำเมื่อจบเดือนร่อมะฎอนแล้ว ต้องทำก่อนละหมาดอีดฟิฏรฺ ก็คือ การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ซะกาตฟิฏเราะฮฺหรือซะกาตุลฟิฏรฺถูกบัญญัติให้มุสลิมทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ จะเป็นอิสรชนหรือเป็นทาส ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะรวมถึงผู้วิกลจริตที่มีชีวิตอยู่จนถึงวันสุดท้ายของเดือนร่อมะฏอนและครอบครองอาหารเกินจากอาหารที่ตนเองและบุคคลที่อยู่ภายใต้การอุปการะดูแลใช้รับประทาน ...ใครที่เข้าเกณฑ์นี้จะต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ รวมถึงเด็กทารกที่เพิ่งเกิดในช่วงปลายเดือนร่อมะฎอนก็จะต้องจ่ายซะกาตนี้เช่นเดียวกัน 

         ผู้ใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้อยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของเขา ผู้นั้นก็จะต้องเป็นผู้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺแทนผู้อยู่ภายใต้การอุปการะนั้นด้วย เช่น สามีมีหน้าที่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺแทนภรรยา พ่อมีหน้าที่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺแทนลูกๆของเขา ผู้เป็นนายมีหน้าที่จ่ายซะกาตนี้แทนผู้เป็นทาส และหากผู้ใดมีความประสงค์อยากจะจ่ายสำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ถือเป็นการทำศ่อดะเกาะฮฺ 

 

          ส่วนผู้ที่มีอาหารไม่เพียงพอสำหรับตัวของเขาเองและผู้อยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของเขาในการบริโภคสำหรับวันอีดและค่ำคืนของวันอีดก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ 

 

          และอนุญาตที่จะให้ซะกาตของคนหลายคนหรือคนในครอบครัวหลายๆคนแก่คนยากจนเพียงหนึ่งคน และอนุญาตเช่นกันที่จะแบ่งซะกาตของคนหนึ่งคนใดให้แก่คนยากจนหลายๆ คน หากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

 

          เป้าหมายของซะกาตฟิฏเราะฮฺก็เพื่อเป็นการลบล้างความผิดเล็กๆน้อยๆของเราที่เราอาจจะทำในระหว่างที่เราถือศีลอด เช่น การพูดจาที่ไม่ดี การพูดจาไร้สาระ หรือทำในสิ่งที่ไร้สาระต่างๆ ....อีกทั้งเพื่อเป็นการเกื้อกูลคนยากจนให้เขามีอาหารรับประทานอย่างอิ่มหนำสำราญในวันอีด ไม่ต้องไปวอนขอจากผู้ใด ..... นี่เป็นเรื่องของความดีงาม ความเมตตาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานแก่เรา

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้เรามีความเข้มแข็งในการทำอิบาดะฮฺทั้งหมด และโปรดรับการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเรา และโปรดอภัยโทษให้แก่เราในทุกๆความผิด โปรดให้เราเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการรักษาบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โปรดให้เราได้รับความดีงามจากเดือนร่อมะฎอนในปีนี้ และได้พบกับเดือนร่อมะฎอนในปีต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«تَحَرَّوْا لَيْلَةَ القَدْرِ فِي الوِتْرِ، مِنَ العَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ»

 

พวกท่านจงแสวงหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺในค่ำคืนที่เป็นคี่จากค่ำคืนสุดท้ายของเดือนร่อมะฎอนเถิด

 

 

มัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน