เจ้าหนี้ต้องจ่ายซะกาตจากทรัพย์ที่ยังอยู่กับลูกหนี้ไหม?
แปลเรียบเรียง อ.เอาว์ลา มูลทรัพย์
คำถาม :
ขอความเห็นเกี่ยวกับหนี้สินที่ดำเนินมาจะครบรอบปีซึ่งอยู่กับลูกหนี้ โดยที่ข้าพเจ้า(เจ้าหนี้) ยังไม่ได้รับคืนหนี้สินนั้น(จากลูกหนี้)เลย ฉันจะต้องจ่ายซะกาตหรือไม่ แล้วฉันจะต้องทำอย่างไร , ขออัลลอฮฺตอบแทนคุณงามความดีแก่ท่านด้วย ?
คำตอบ : ชัยคฺ บิน บาซ ร่อฮิม่าฮุ้ลลอฮฺ
กรณีที่หนี้สินนั้นอยู่กับลูกหนี้ที่ยังไม่สะดวกใช้ มีความทุกข์ยากลำบากที่จะชดใช้ ท่านก็ยังไม่ต้องจ่ายซะกาต จนกว่าจะได้รับมอบหนี้สินนั้นคืน
เช่นเดียวกันกับกรณีที่ว่า ถ้าลูกหนี้เหนียวหนี้ (คือสะดวกใช้หนี้แต่ยังไม่ใช้) โดยท่านได้ทวงถามสิทธิแก่เขาแล้ว เขาก็บ่ายเบี่ยงยังไม่ชดใช้ กรณีนี้ก็ยังไม่บังคับท่าน(เจ้าหนี้)ต้องจ่ายซะกาตจนกว่าจะได้รับมอบหนี้สินนั้นคืน แล้วค่อยนับรอบขึ้นปีใหม่ไป
ส่วนกรณีหนี้สินนั้นอยู่กับลูกหนี้(ที่ดี) สะดวกใช้หนี้ ไม่เหนียวหนี้ เมื่อใดที่ท่านทวงหนี้สินแก่เขา เขาก็ชดใช้หนี้สินดังกล่าว กรณีนี้จำเป็นที่ท่านต้องจ่ายซะกาต เมื่อหนี้สินนั้นครบรอบปี แม้ท่านจะยังไม่ได้รับหนี้สินคืนก็ตามที เหตุผลก็เพราะว่าหนี้สินดังกล่าว ประหนึ่งว่ายังอยู่กับท่าน ตราบใดที่ลูกหนี้นั้นดี ไม่เหนียวหนี้ ไม่บ่ายเบี่ยง ดังนั้นจึงเหมือนว่าหนี้สิน(ทรัพย์)นั้นยังอยู่กับท่าน ส่วนของซะกาตก็อยู่ในส่วนนั้น เมื่อมันครบรอบปี
ที่มา : https://binbaz.org.sa/fatwas/8650/حكم-اخرج-الداىن-زكاة-ماله-الذي-عند-المدين