12 สุนนะฮฺสำหรับผู้ที่ถือศีลอด
  จำนวนคนเข้าชม  16378


12 สุนนะฮฺสำหรับผู้ที่ถือศีลอด

 

เรียบเรียงโดย อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

1. ขอดุอาอฺขณะละศีลอด

 

     ขณะละศีลอดท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวบทขอพรว่า

ذَهَبَ الظَّمَأُ وَابْتَلَّتِ الْعُرُوْقُ وَثَبَتَ الأَجْرُ إِنْ شَاءَ اللهُ

ซะฮะบัซ เซาะมะอุ, วับตัลละติล อุรูก, วะษะบะตัล อัจญ์รุ, อินชา อัลลอฮฺ

     “ความกระหายได้มลายไปแล้ว เส้นสายต่าง ได้เปียกชุ่มแล้ว และผลตอบแทนก็ปรากฏแล้ว หากอัลลอฮฺตะอาลาทรงประสงค์

(รายงานโดย อบู ดาวูด)

     ชัยคฺ .ดร.สุลัยมาน บิน ซะลีมุลลอฮฺ อัรรุหัยลีย์ กล่าวดุอาอฺนี้หลังจากละศีลอดเเล้ว ไม่ใช่ก่อนจะละศีลอด 

 

2. การรีบเร่งในการละศีลอดเมื่อเข้าเวลา

 

     มีรายงานจากซะฮฺล อิบนฺซะอีด แจ้งว่า แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( لا يَزَالُ النَّاسُ بِخَيْرٍ مَا عَجَّلُوْا الفِطْرَ )

มนุษย์ยังคงอยู่ในความดีตราบใดที่พวกเขารีบเร่งในการแก้ศีลอด

 (บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม)

        เพราะการรีบเร่งในการแก้ศีลอดเป็นมารยาทและพฤติกรรมของบรรดานะบี มีรายงานจากอะบิดดัรดาอฺ กล่าวว่า

ثَلاثٌ منِ أَخْلاقِ النُّبُوَّةِ : تَعْجِيْلُ الفِطْرِ ، وَتَأْخِيْرُ السُّحُوْرِ ، وَوَضْعُ اليَمِيْنِ عَلَى الشِّمَالِ في الصَّلاة

     “สามประการที่เป็นมารยาทของบรรดานบี คือ การรีบเร่งในการแก้ศีลอด การกินสะฮูรให้ล่า และการวางมือขวาบนมือซ้ายในขณะละหมาด” 

(บันทึกโดย : อัฎฎ๊อบรอนีย์)

 

3. ละศีลอดด้วยผลอินทผลัม

 

     จากท่าน อะนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะสัลลัม

كَانَ النَّبِيُّ يُفْطِرُ قَبْلَ أَنْ يُصَلِّيْ عَلىَ رُطَبَاْتٍ، فَإِنْ لَّمْ تَكُنْ رُطَبَاْتٌ فَتُمَيْرَاْتٍ، فَإِنْ لَمْ تَكُنْ تُمَيْرَاتٌ حَسَا حَسَوَاتٍ مِنْ مَّآءٍ.

     “จะละศีลอดก่อนละหมาด(มัฆริบ)ด้วยลูกอินทผาลัมสดจำนวนเล็กน้อย ถ้าไม่มีอินทผาลัมสดท่านจะละศีลอดด้วยอินทผาลัมแห้งเล็กๆ จำนวนหนึ่ง หรือถ้าไม่มีอินทผาลัมแห้ง ท่านจะจิบหรือดื่มน้ำสองสามครั้ง

( โดย อัต-ติรฺมิซี)

     อิบนุล ก๊อยยิม กล่าวว่า : ท่านนบี จะทำการละศิลอดด้วยลูกอินทผลัมสด หรือไม่ก็ด้วยอินทผลัมแห้ง หรือไม่ก็ด้วยน้ำ ตามลำดับ

     ท่านเชค อุษัยมีน กล่าวว่า ไม่มีซุนนะฮ์ที่ถูกต้องจากท่านนบีให้เจาะจงละศีลอดด้วยอินผาลัมจำนวนคี่(3,5,7,9) แต่ถ้าใคร ชอบกินพอดีประมาณ 3 เม็ด หรือ 5 เม็ด อยู่แล้ว ไม่เป็นไร ซุนนะฮ์ให้เริ่มแก้ด้วยกับอินทผาลัมสด ถ้าไม่มีก้อด้วยแบบแห้ง โดยไม่เจาะจงจำนวน ถ้าไม่มีก็น้ำเปล่า มีเพียงแค่วันอีดฟิตรี ที่มีสุนนะให้ทานอินทผลัมก่อนละหมาดที่สนามจำนวนคี่

 

4. ละศีลอดก่อนละหมาด

 

     จากท่าน อะนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า

كَانَ النَّبِيُّ يُفْطِرُ قَبْلَ أَنْ يُصَلِّيْ

ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะสัลลัม จะละศีลอดก่อนละหมาด (มัฆริบ)”

( รายงานโดย อัต-ติรฺมิซี)

 

5. ขอดุอาอฺในช่วงถือศีลอด

 

     ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

ثَلَاثَةٌ لَا تُرَدُّ دَعْوَتُهُمْ الْإِمَامُ الْعَادِلُ وَالصَّائِمُ حَتَّى يُفْطِرَ وَدَعْوَةُ الْمَظْلُومِ

   “ มีอยู่ 3 คน ที่การขอพรของพวกเขาจะไม่ถูกปัดคือ คนที่ถือศีลอดจนกว่าจะละศีลอด อีหม่ามที่ ยุติธรรม และคนที่ถูกข่มเหง

     ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าว่า

إِنَّ لِلصَّائِمِ عِنْدَ فِطْرِهِ لَدَعْوَةً مَا تُرَدُّ

สำหรับผู้ที่ถือศีลอดนั้น ขณะที่เขาละศีลอด การขอพรของเขาจะไม่ถูกปฏิเสธ

     ท่านอิหม่าม เนาวะวีย์ ส่งเสริมให้ขอดุอาในขณะถือศีลอด

     ท่านเชค อุษัยมีน กล่าวว่า สมควรขอดุอาช่วงเย็นดวงตะวันใกล้จะตกดินและช่วงที่ละศีลอดด้วย

 

6. รับประทานอาหารสะฮูร

 

     จากท่าน อะนัส บิน มาลิก ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

تَسَحَّرُوا فَإِنَّ فِي السَّحُورِ بَرَكَةً

จงลุกขึ้นทาน อาหารสะฮูร เพราะแท้จริงการทานอาหารสะฮูรนั้นมีความศิริมงคล

 (บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม)

         การทานอาหารสะฮูร ระยะเวลา แค่เพียงการอ่านกรุอ่าน ห้าสิบอายะ เพราะนี่คือการปฏิบัติตามซุนนะของท่านนบี

 

7. ล่าช้าในการท่านอาหารสะฮูร

 

     ระยะเวลาประมาณได้เท่ากับการอ่านอัลกุรอาน 50 อายะฮฺมีรายงานจากอะนัส จากเซดอิบนฺซาบิต กล่าวว่า

تَسَحَّرْنَا مَعَ النَّبِيِّ ثُمَّ قَامَ إِلَى الصَّلَاةِ قُلْتُ كَمْ كَانَ بَيْنَ الْأَذَانِ وَالسَّحُورِ قَالَ قَدْرُ خَمْسِينَ آيَةً

เราได้กินสะฮูรพร้อมกับท่านนะบี แล้วท่านได้ลุกขึ้นไปละหมาด

ฉันได้ถามท่านว่าระยะเวลาระหว่างการอะซานและการกินสะฮูรยาวนานเท่าใด ?

ท่านตอบว่าประมาณ 50 อายะฮฺ” 

(บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม)

ประโยชน์จากการรับประทานอาหารสะฮูร

- ทำให้ร่างกายแข็งแรงในการทำความดีตอนกลางวัน

- ทำให้ร่างกายมีความกระตื้อรื้อร้นในการถือศิลอด

- ปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบี

- ข้อแตกต่างระหว่างชาวยิว

- เพื่อให้เขานั้นลุกขึ้นมาละหมาดศุบฮี่

- เพื่อให้เขานั้นลุกขึ้นมารำลึกถึงอัลลอฮฺในช่วงท้ายของกลางคืน

 

8. หากมีใครมาด่าทอ สุนนะสำหรับผู้ที่ถือศีลอดให้ กล่าวว่า "ฉันถือศีลอด"

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

الصِّيَامُ جُنَّةٌ فَلا يَرْفُثْ وَلا يَجْهَلْ وَإِنْ امْرُؤٌ قَاتَلَهُ أَوْ شَاتَمَهُ فَلْيَقُلْ : إِنِّي صَائِمٌ (مَرَّتَيْنِ)

การถือศีลอดนั้นเป็นโล่กำบัง ดังนั้นพวกท่านอย่าได้พูดจาหยาบคาย และอย่าได้พูดเท็จ

( รายงานโดยบุคอรีย์)

 

9. การละหมาดกิยามุรอมฎอน หรือ ละหมาดตะร่อเวี๊ยะห์

 

     ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

     “ผู้ใดที่ยีนละหมาดในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธาและหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ อัซซะวะญัล เขาจะได้รับอภัยโทษความผิดที่เคยทำมาก่อน” 

(บันทึกโดยบุคอรียฺ และมุสลิม)

 

10. ดุอา พบกับค่ำคืนอัลก็อดร์

 

     ท่านหญิงอาอีชะห์ ร่อฎิยั้ล ลอฮุอันฮา เคยถามว่า โอ้ท่านร่อซูลของอัลลอฮฺ จงบอกให้ดิฉันทราบเถิด หากดิฉันทราบว่าคืนไหนเป็นคืน อัลก็อดร์ ดิฉันจะกล่าวขออะไรในคืนนั้น 

     ท่านตอบว่า เธอจงกล่าวอย่างนี้ الَّلهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ العَفْوَ فَاعْفُ عَنِّ 

     “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอภัยโทษ พระองค์ทรงรักการอภัยขอพระองค์ ได้โปรดทรงอภัยโทษให้ฉันด้วย

(มุสลิม)

          ปรากฏว่าท่านนบีส่งเสริมให้แสวงหาค่ำคืนอัล-ก็อดรฺ กำชับให้บรรดาศ่อฮาบะฮ์ปลุกลูกๆ และครอบครัว เพื่อหวังจะได้รับความดีในค่ำคืนนี้ ซึ่งมันจะอยู่ในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน ค่ำคืนเลขคี่

 

11. การเอี๊ยะติก๊าฟ

 

          บรรดานักวิชาการได้มีมติว่า การเอี๊ยะติก๊าฟนั้นมีบทบัญญัติให้กระทำได้ ความจริงท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัมเคยทำเอี๊ยะติก๊าฟ 10 วัน 10 คืนในทุกๆเดือนของรอมฎอน (ในช่วงท้ายของรอมฎอน) ในปีสุดท้ายก่อน ที่ท่านจะเสียชีวิตท่านได้เอี๊ยะติก๊าฟ 20 วัน 20 คืน

          ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นซุนนะฮ์มุอักกะดะฮ์(มุ่งเน้นให้กระทำ) ที่ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เคยปฏิบัติไว้

كان النبيُّ صلى الله عليه وسلم يعتكِف في كلِّ رمضان عشرة أيَّام، فلمَّا كان العام الذي قُبِضَ فيه؛ اعتكف عشرين يومًا))؛.

     “แท้จริงท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำเอียะติกาฟสิบวันสุดท้ายของร่อมะฎอน ในช่วงปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิตท่านทำ เอียะติกาฟ ยี่สิบวัน

(อัลบุคอรีย์และมุสลิม)

أن النبي صلى الله عليه وسلم كان يعتكف العشر الأواخر من رمضان حتى توفاه الله ثم اعتكف أزواجه من بعده

     “แท้จริงท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำเอียะติกาฟสิบวันสุดท้ายของร่อมะฎอนจนกระทั่งอัลลอฮ์ได้เอาชีวิตของท่านไป หลังจากนั้นบรรดาภรรยาของท่านก็ได้เจริญรอยตามท่าน” 

(รายงานโดยอัลบุคอรีย์)

 

12. ดุอาอฺให้แก่ผู้เลี้ยงอาหารละศีลอด

 

     เพราะท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยปฏิบัติเช่นนั้น ซึ่งคำวิงวอนขอดุอาอฺมีอยู่หลายชนิดเช่น

أَكَلَ طَعَامَكُمُ الأَبْرَارُ وَصَلَّتْ عَلَيْكُمُ المَلائِكَةُ وَأَفْطَرَ عِنْدَ كُمُ الصَّائِمُوْنَ

     “ขอให้คนดี มาร่วมรับประทานอาหารของพวกท่าน และขอให้บรรดามะลาอิกะฮฺขอพรให้แก่พวกท่าน และขอให้บรรดาผู้ถือศีลอดมาร่วมแก้ศีลอดกับพวกท่าน“ 

(บันทึกโดย : อิบนฺอะบีซัยบะฮฺ อะหมัด และอันนะซาอียะฮฺ)