คำถามน่ารู้เกี่ยวกับสตรีในเดือนรอมาฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  6222


คำถามน่ารู้เกี่ยวกับสตรีในเดือนรอมาฎอน

 

อุมมุ  อุ้ลยา แปลและเรียบเรียง

 

     คำถาม หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรต้องถือศีลอดหรือไม่ ?

 

          คำตอบ จำเป็นต้องถือศีลอดยกเว้นในกรณีที่การถือศีลอดเป็นอันตรายและสร้างความยากลำบากที่ไม่ใช่สภาวะปกติแก่ตัวเธอเอง ก็อนุญาตให้ไม่ต้องถือศีลอดได้ แต่เธอจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ ส่วนในกรณีที่เธอไม่ได้ถือศีลอด เหตุเพราะเป็นห่วง กังวล เกรงจะเป็นอันตรายต่อทารก หรือลูกเล็กที่ยังต้องให้นม ก็ให้เธอถือศีลอดชดใช้พร้อมกับเสียฟิดยะฮฺ ( ให้อาหารแก่คนยากจนหนึ่งคนหนึ่งมื้อทั้งนี้ เพราะการไม่ถือศีลอดในสภาวะดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้งแก่แม่และบุตร 

 

ที่มา :   ( www.aliftaa.jo)

 

           หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรจำเป็นต้องถือศีลอดไม่ว่าสภาพใดๆ ยกเว้นในกรณีที่เธอเกรงว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบจากการถือศีลอด ก็ให้ละเว้นไม่ต้องถือศีลอด แต่ต้องชดใช้ หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าการถือศีลอดเป็นอันตรายต่อตัวเธอ ก็อนุญาตให้เธอไม่ต้องถือศีลอดได้ และให้เธอถือศีลอดใช้ เช่นเดียวกันหากอาจเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ก็อนุญาตให้ละเว้นการถือศีลอด และให้เธอถือศีลอดใช้ กระนั้นก็ตาม อย่าได้ละเว้นการถือศีลอดอย่างพร่ำเพรื่อ นอกจากจะมีผลกระทบแก่เธอและทารกเท่านั้น 

 

ที่มา (อัลฟะตาวา อัดดุรูส ฟิ้ล มัสญิดิ้ลหะรอม 469 )

 

 

     คำถาม หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร หากละเว้นการถือศีลอด ทั้งๆ ที่ไม่มีอุปสรรค แข็งแรงดี กระฉับกระเฉง และการถือศีลอดไม่ส่งผลกระทบอะไร ศาสนามีบทบัญญัติอย่างไร ?

          คำตอบ ไม่อนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรละเว้นการถือศีลอดนอกจากจะมีอุปสรรคเท่านั้น และเมื่อเธอไม่ได้ถือศีลอด ก็จำเป็นที่เธอต้องถือศีลอดใช้ ดังที่อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า 

 

وَمَن كَانَ مَرِيضًا أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ يُرِيدُ اللهُ بِكُمُ الْيُسْرَ  وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ 

 

     “และคนป่วย หรือคนเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮฺประสงค์ให้มีความสะดวกง่ายดายในแก่พวกเจ้า และไม่ประสงค์ให้เกิดความยากลำบากแก่พวกเจ้า

(อัลบะก่อเราะฮฺ 185)

ทั้งนี้เพราะ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรต่างอยู่ในสถานะของผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน

 

ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ(19 / 161)

 

     คำถาม หญิงตั้งครรภ์มักคลื่นไส้อาเจียนหลังละหมาดซุบฮิ การถือศีลอดของเธอจะใช้ได้หรือไม่?

 

          คำตอบ ไม่เป็นอะไรเลย การถือศีลอดของเธอใช้ได้ หากเธออาเจียนโดยไม่ได้เจตนา ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

ผู้ใดที่อาเจียนเอาชนะเขา (อาเจียนโดยไม่เจตนา) ย่อมไม่มีการชดใช้ใดๆ” 

 

 ที่มา :  (อัลฟะตาวา อัดดุรูส ฟิ้ล มัสญิดิ้ลหะรอม 503 )

 

     คำถาม ควรบวชหกหรือบวชใช้ก่อน?

 

          คำตอบ ไม่เป็นไรที่จะถือบวชสุนัต อาทิ บวชหก หรือ บวชวันอะรอฟะฮฺ บวชวันอาชูรอ ก่อนที่จะบวชใช้เดือนรอมฎอน หากมีเวลาเหลือพอ เพราะห้วงเวลาในการบวชใช้นั้นกว้าง แต่ที่ดีกว่าคือ ควรเริ่มบวชใช้รอมฎอนก่อน และสามารถบวชสุนัตอื่นๆ ด้วยเหนียตที่จะบวชใช้ เมื่อนั้นเขาก็จะได้รับผลบุญของการบวชสุนัตในวันนั้นๆ และผลบุญของการบวชใช้ในรอมฎอนที่ขาดไป (เช่น บวชสุนัตวันอาชูรอ และเหนียตรวมบวชใช้ไปด้วยในคราวเดียวกัน-ผู้แปล)

 

           แต่สำหรับในกรณีบวชหกแล้ว จะได้ผลบุญก็ต่อเมื่อบวชรอมฎอนได้ครบเต็มเดือนเสียก่อน เพราะบวชหกนั้นต่อเนื่องจากเดือนรอมฎอน ดังที่มีฮะดีษระบุว่าผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และติดตามการถือศีลอดนั้นด้วยการถือศีลอดอีก 6 วัน ในเดือนเชาว้าล ก็เท่ากับว่าเขาได้ถือศีลอดตลอดทั้งปี”   

ที่มา : (มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ)

 

           ที่สมควรยิ่ง คือ ควรบวชใช้ก่อน แม้อุละมาอฺบางท่านจะเห็นว่าอนุญาตให้บวชหกก่อนก็ตามอันเนื่องจากมีห้วงเวลาที่กว้างกว่า แต่ที่ดีที่สุดแล้วคือ การบวชฟัรฎู เพราะเป็นเรื่องบังคับสำหรับตัวเธอ จากนั้นจึงค่อยบวชสุนัต ดังที่มีหะดีษระบุว่าอัลลอฮฺจะยังไม่ทรงตอบรับการงานที่เป็นซุนนะฮฺ จนกว่าจะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นฟัรฎูเสียก่อน”  

 

ที่มา : (อัลฟะตาวา อัดดุรูส ฟิ้ล มัสญิดิ้ลหะรอม 523 )

 

 

     คำถาม ผู้หญิงควรละหมาดตะรอเวียฮฺที่ใดดีที่สุด?

 

          คำตอบ ละหมาดตะรอเวียะฮฺของผู้หญิงภายในบ้านของเธอเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด แต่หากการที่เธอไปละหมาดที่มัสญิดแล้วทำให้เธอรู้สึกแข็งขันกระฉับกระเฉงมากกว่า และมีคุชั้วะ (นอบน้อมในการละหมาด) มากกว่า หรือเกรงว่าหากละหมาดที่บ้านแล้วจะทำให้เธอพลาดไม่ได้ละหมาด ในกรณีเช่นนี้ การละหมาดในมัสญิดสำหรับเธอนั้นถือเป็นสิ่งประเสริฐยิ่งกว่า

 

ที่มา :  (ฟะตาวา เชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ)

 

 

     คำถาม มีประจำเดือนมาหกวัน อาบน้ำยกหะดัษตอนกลางคืนและถือศีลอดในวันถัดมา จากนั้นมีคราบสีน้ำตาลขุ่นแต่ยังถือศีลอดอยู่ กรณีเช่นนี้จะยังนับว่าใช่ประจำเดือนหรือไม่ ซึ่งปกติจะมาประจำเดือนอยู่ 7 วัน

 

          คำตอบ คราบที่ปรากฏไม่นับว่าเป็นประจำเดือน เพราะคราบหรือร่องรอยที่ปรากฏหลังจากที่ตัวสะอาดแล้ว ไม่นับว่าเป็นอะไร ดังที่ท่านหญิงอฏียะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เคยกล่าวไว้ว่า

«كنا لا نعد الصفرة والكدرة بعد الطهر شيئاً»

เราไม่นับเอาคราบเมือกสีเหลืองและคราบขุ่นหลังจากที่ตัวสะอาดแล้วว่าเป็นสิ่งใดเลย

          อีกรายงานหนึ่ง ไม่ปรากฏคำว่าหลังจากที่สะอาดฉะนั้น เลือดประจำเดือด คือเลือดข้น ไม่ใช่ทั้งคราบเมือกสีเหลืองหรือรอยขุ่น เมี่อเป็นเช่นนี้ การถือศีลอดของผู้หญิงคนนี้จึงใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในวันที่เธอเห็นคราบหรือไม่เห็นคราบก็ตาม เพราะคราบที่ปรากฎหาใช่ประจำเดือนไม่   

 

ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวา เชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺเชค (19 / 105)

 

 

     คำถาม กรณีที่ผู้หญิงถือศีลอดทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าตัวสะอาดแล้วหรือไม่ พอรุ่งเช้าวันถัดไปจึงมั่นใจว่าตัวสะอาดแน่ การถือศีลอดของเธอใช้ได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่เธอไม่แน่ใจว่าสะอาดจริงแล้วหรือยัง?

 

          คำตอบ การถือศีลอดถือว่าใช้ไม่ได้ จำเป็นที่เธอจะต้องชดใช้ เพราะแต่เดิมเธอยังคงมีประจำเดือนอยู่ การที่เธอถือศีลอดโดยที่ยังไม่มั่นใจในความสะอาด ถือเป็นเข้าสู่การทำอิบาดะฮฺทั้งๆ ที่ยังมีความคลางแคลงสงสัยในเงื่อนไขของการทำอิบาดะฮฺนั้นอยู่ (เงื่อนไขคือ ต้องสะอาดปราศจากเฮดหรือนิฟาส) กรณีเช่นนี้ จึงนับเป็นสิ่งขัดขวางทำให้การถือศีลอดของเธอยังใช้ไม่ได้

 

ที่มา : (มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ) 107/19)

 

     คำถาม สมควรพาเด็กไปมัสยิดหรือไม่?

 

          คำตอบ หากว่าเด็กรบกวนผู้ที่กำลังละหมาดไม่ว่าจะด้วยการกระโดดโลดเต้น ร้องตะโกน หรือส่งเสียงดังก็ดี น่าเกรงว่าผู้ที่พาเด็กไปมัสยิดอาจมีความผิดอันเนื่องจากทำให้ผู้ละหมาดเสียสมาธิ และเป็นการสร้างความรบกวน การที่ผู้หญิงอยู่กับเด็กๆ ในบ้านจึงเป็นการดีกว่าที่จะพาเด็กมามัสยิดในกรณีที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ถ้าหากเป็นเด็กที่นิ่ง เรียบร้อย รู้มารยาท ก็ไม่เป็นไรที่จะพามา แต่หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นคนที่เป็นผู้ปกครองต้องจัดการและทำให้เด็กเงียบ  

 

-เชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ –  ที่มา : (ลิกออฺ อัชชะฮฺรีย์ 41) 

 

     คำถาม คนเดินทาง บวชหรือไม่บวช อันไหนดีกว่ากัน?

 

           ที่ดีที่สุด คือ ทำในสิ่งที่สะดวกสำหรับเขา หากว่าการถือศีลอดเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า ก็ให้ถือศีลอด และหากว่าการไม่ถือศีลอดเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า ก็ไม่ต้องถือศีลอด แต่หากว่าสะดวกพอๆ กัน ที่ดียิ่งคือ ควรถือศีลอด เพราะถือเป็นการกระทำของท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และเป็นแนวทางการปฏิบัติของท่าน อีกทั้งยังเป็นการรักษาบทบัญญัติศาสนาของตัวเองให้ปลอดภัยที่สุด การถือศีลอดในรอมฎอนจึงนับว่าสะดวกง่ายดายกว่าการที่ต้องถือศีลอดชดใช้ เราจึงให้น้ำหนักในการประเมินว่า 

. หากการไม่ถือศีลอด เป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดายกว่า ก็ไม่ต้องถือศีลอด

. หากการถือศีลอด  เป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดายกว่า ก็ให้ถือศีลอด 

. หากทั้งสองกรณีสะดวกพอๆ กัน  ที่ดีกว่าคือ ควรถือศีลอด

 

ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ (19 / 137)

 

     ฮุก่มของผู้ที่เสียชีวิตแต่ยังเหลือบวชที่ต้องชดใช้ ?

 

          หากเขาเสียชีวิตไปโดยยังเหลือบวชใช้ในเดือนรอมฎอนค้างอยู่ ก็ให้วะลีย์ซึ่งหมายถึงญาติใกล้ชิดถือศีลอดชดเชยให้ ดังฮะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :  

«من مات وعليه صيام صام عنه وليه»

ผู้ใดที่เสียชีวิตไปโดยที่เขายังมีการถือศีลอดชดใช้ค้างอยู่ ก็ให้ผู้เป็นวะลีย์ถือศีลอดแทนเขาผู้นั้น 

     และหากวะลีย์ไม่ได้ถือศีลอดแทนให้เขา ก็ให้ให้อาหารแก่คนยากจนแทนในแต่ละวันที่ขาดไป

 

ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ (19 /  386)