กินให้น้อย นอนให้น้อย พูดให้น้อย
อาจารย์อนีส เพ็ชรทองคำ
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย ญาติพี่น้อง ผู้ร่วมละหมาดญุมอะฮฺทุกท่าน ท่านทั้งหลายพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด การยำเกรงอัลลอฮฺ การปฏิบัติสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ การออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม เป็นรูปแบบเดียวจริงๆสำหรับมุสลิมอย่างเรา ที่จะทำให้เราได้รับความสุขในโลกดุนยา และได้รับชัยชนะในโลกอาคิเราะฮฺ
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย คำสั่งของศาสนามีเพียง 2 คำสั่งง่ายๆ คือคำสั่งใช้กับคำสั่งห้าม ใครที่ดำรงคำสั่งใช้และออกห่างจากคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺได้ แน่นอน เขาได้ทำให้อิสลามในตัวของเขาบริสุทธิ์ และเขาจะได้กลับไปหาอัลลอฮฺอย่างภาคภูมิใจ เพราะเขาได้เตรียมเสบียงที่ดียิ่งคือการตักวา ได้อยู่บนเตาฮีดที่ถูกต้อง และมีการงานที่ดีนำไปเสนอแด่อัลลอฮฺ เพื่อขายตัวเอง เพื่อแลกกับรางวัลด้วยกับสวนสวรรค์ที่อัลลอฮฺทรงเตรียมไว้ให้
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย หากว่าเราได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ของอิสลาม จะพบว่าในการเรียนการสอนไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ ส่วนหนึ่งจะมีการยกเอารูปแบบของการใช้ชีวิตของคนในสมัยก่อนมาให้เราได้มีโอกาสรับรู้ ..ตั้งแต่สมัยท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สมัยศ่อฮาบะฮฺ สมัยตาบิอีน และสมัยสะลัฟ 300 ปีแรกแห่งอิสลาม จะมีเรื่องราวที่เราฟังแล้ว แล้วเราก็รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ ..เรื่องเหลือเชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับมั๊วอฺญิซาต ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์ แต่เกี่ยวกับเรื่องทั่วๆไป ที่เมื่อเราฟังแล้ว เรารู้สึกว่าเขาทำได้อย่างไร ?
เช่น ศ่อฮาบะฮฺท่านหนึ่งละหมาดทั้งคืน ให้สลามเสร็จก็ละหมาดศุบฮฺต่อเลย หรืออีกหลายๆท่านที่ถือศีลอดตอนเช้า ตอนกลางคืนละหมาดกิยามุลลัยน์ ตอนเช้าถือศีลอดอีก เป็นอย่างนี้เรื่อยๆไป เขามีความมุ่งมั่น ทุ่มเทตัวเองให้กับศาสนาอย่างมากมาย เมื่อเราได้ยินได้ฟัง เราก็จะคิดว่า เขาทำได้อย่างไร ?
นั่นเป็นยุคสมัยแรกๆ แม้ในยุคต่อๆมา อย่างในยุคของอิมามอัลบุคอรีย์ อิมามมุสลิม เดินทางเพื่อที่จะไปรวบรวมหะดีษ ไม่ได้เปิดอินเตอร์เน็ตแบบในสมัยนี้ แต่ใช้การเดินทางที่ไม่ใช่การนั่งเครื่องบิน แต่ใช้เท้า ใช้สัตว์พาหนะเดินทางรอนแรมไป ใช้เวลายาวนาน เดินทางไปตั้งไกล พอไปถึง ได้รับหะดีษมา แต่ปรากฏว่า หะดีษบทนั้นมีสายรายงานที่ไม่ครบเงื่อนไขที่จะรับหะดีษได้ ก็ไม่เอาหะดีษบทนั้น ไม่บันทึก แล้วก็เดินทางกลับ ทั้งๆที่การเดินทางในสมัยนั้นกับสมัยนี้ มันคนละเรื่องกัน มันต่างกันมาก เขาเหล่านี้ทำได้อย่างไร ? เป็นยอดมนุษย์หรือ ?
เรื่องแบบนี้ไม่ได้เอามาเล่าให้ฟังแล้วก็คิดว่า เขาเจ๋งมากเลย แล้วก็ผ่านหูไป แต่เอามาเล่าเพื่อให้เราหาวิธีการที่จะเดินตามเขาเหล่านี้ เพราะเขาเหล่านี้เดินตามบรรดาศ่อฮาบะฮฺ ซึ่งบรรดาศ่อฮาบะฮฺก็เดินตามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และหนทางเหล่านี้ย่อมไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่การหลงทางอย่างแน่นอน เป็นการใช้เวลาของตัวเองเพื่อทุ่มเทไปกับเรื่องราวของศาสนา และสิ่งที่มีประโยชน์
การศึกษาการใช้ชีวิตของเขาเหล่านี้ก็คือ กุญแจสู่วิธีการที่จะทำตามแบบอย่างของเขาเหล่านี้ ดูว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร ? ตื่นมาเขาทำอะไร ? มีเป้าหมายอะไรในชีวิต ? กินอย่างไร ? อยู่อย่างไร ? เรียนอย่างไร ? นอนอย่างไร ? สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะเลือกเอามาว่า มีข้อใดบ้างที่เราสามารถปฏิบัติตามได้ แต่ก็มีบางสิ่งที่เราไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น
หนึ่ง : เขาเหล่านี้อยู่กับท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่เราไม่ได้อยู่กับท่าน แต่เป็นหะดีษที่อยู่กับเรา เป็นหะดีษที่เราต้องศึกษา สมัยก่อนมีเรื่องราวอะไรก็ไปหาท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เลย แถมนั่งอยู่ก็มีเรื่องราวคำสอนออกมาจากท่านอีก ซึ่งทั้งหมดที่ท่านพูดท่านบอกก็เป็นเรื่องราวความจริง ไม่ใช่เรื่องโกหก ศ่อฮาบะฮฺได้ฟังก็จำเอาไว้
ในเมื่อเราไม่ได้อยู่กับท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม ประเด็นนี้เราตัดทิ้งไป ไม่สามารถปฏิบัติตามได้
สอง : เขาเหล่านี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ กลางทะเลทรายทุกสิ่งสะอาด แต่เราอยู่กรุงเทพ ฯ มีมลพิษมากมาย จะย้ายไปต่างจังหวัดก็ไม่สะดวก ประเด็นแบบนี้ยังทำไม่ได้ก็ตัดทิ้งไปก่อน
สาม : การอยู่ใกล้ผู้รู้ คนสมัยก่อนหลังจากยุคท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะมีผู้รู้ที่สืบทอดมา เขาก็ไปอยู่กับผู้รู้ ได้รับความรู้ ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ตลอดเวลา แต่เราไม่มีผู้รู้ระดับนั้นอยู่ใกล้ๆตัว ประเด็นนี้ก็ตัดทิ้งไปก่อน หาความรู้จากคนที่เราสามารถเอาความรู้จากเขาได้
สี่ : มีความเข้าใจในเรื่องศาสนา เช่น ท่องอัลกุรอานได้ 30 ยุซตั้งแต่อายุ 7 ขวบ 10 ขวบ ท่องจำกันได้แล้ว แต่ตอนนี้เรายังท่องไม่ได้ จะย้อนเวลากลับไปท่องตอน 10 ขวบก็ทำไม่ได้ ย้อนเวลาไม่ได้
ดังนั้น เรามาว่ากันเรื่องปัจจุบัน มีวิธีการใดบ้างที่เราสามารถทำได้ตามแบบอย่างเขาเหล่านี้ วันนี้นำมาเสนอแค่ 3 วิธีการ ใกล้ตัวเรามากๆ นำมาจากหนังสือของชัยค์มุฮัมมัด บิน ซะอิ๊ด บิน รอซลาน เป็นนักวิชาการที่อยู่ในหนทางสลัฟ ใช้คำพูดของคนยุคก่อนมาเป็นหลักฐาน มีการยกอัลกุรอาน ยกอัลหะดีษ เป็นวิธีการที่จะทำให้มีความจำดี เป็นวิธีการที่จะทำให้คนที่ศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นวัยรุ่นหรือมีอายุมากแล้ว มีความจำที่กลับมาดีเหมือนเดิม มีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ มีความจำดี มีหัวอกดีอยู่ตลอดเวลา มีความคิดดี มีการใฝ่รู้ อ่านหนังสืออะไรก็จำ
วิธีการที่หนึ่ง กินให้น้อย การกินน้อยๆทำให้เรามีสุขภาพดี ทำให้เราไม่เจ็บป่วย ตอนนี้โรคภัยต่างๆก็มาจากอาหารที่เรากิน บางคนเลือกกินในสิ่งที่ดี บางคนกินไม่เลือก บางคนกินมากเกินไป กินมากเกินความจำเป็นของร่างกาย ดังนั้น กินให้น้อย กินให้พอดี
กินให้พอดี ความหมายของมันคือ
1. การเอามือขึ้นจากอาหาร คือเลิกกินในขณะที่ใจเรายังมีความต้องการอาหารอยู่บ้างเล็กน้อย ตอนหิวมันต้องการมาก สังเกตตัวเราเมื่อเวลาที่เราถือศีลอด เราไปตลาด เราจะหิ้วมาทุกอย่างเลย แต่พอเวลาละศีลอด กินนิดเดียวก็อิ่มแล้ว ที่อยู่บนโต๊ะก็เหลือแล้ว นี่คือชะฮฺวะฮฺ ความอยาก ความต้องการ เห็นแล้วมันอยากกิน
ดังนั้น อย่ากินจนอิ่ม เมื่อกินไปแล้ว รู้สึกว่า อยากจะกินต่ออีกหน่อย ตอนนั้นแหละให้เลิกกิน คดข้าวมาทีละน้อยๆ กินทีละน้อยๆ จนรู้สึกว่า ตัวเองพอแล้วสำหรับมื้อนี้ ...เช้ามาไม่ได้กินอะไร เดินไม่ค่อยถูกแล้ว ก็กินให้ร่างกายมีเรี่ยวแรง นี่เรียกว่ากินให้อยู่รอด
2. การไม่กินจนกว่าตัวเองจะหิว คือ หิวแล้วค่อยกิน อย่าไปกินตามความอยากของจิตใจ หิวแล้วค่อยกิน
มีบุคคลท่านหนึ่งเข้าไปหาท่านหะซัน ในขณะที่ท่านหะซันกินอาหารกลางวันอยู่ ท่านหะซันชวนเขามากินด้วยกัน
บุคคลคนนี้บอกกับท่านหะซันว่า ฉันกินจนไม่ไหวจะกินแล้ว
ท่านหะซันก็เลยบอกว่า ซุบฮานัลลอฮฺ มุสลิมกินจนไม่ไหวจะกินอย่างนั้นหรือ ?
คือมันเกินอิ่มมากเกินไป การกินน้อยๆ การกินในสิ่งที่จำเป็นที่พออยู่ได้ นี่คือการกินน้อย เป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีความคิดที่ดี มีความจำที่ดี
ตัวอย่างจากท่านอิมามชาฟีอีย์ ตั้งแต่อายุ 14 ปีไม่เคยกินอิ่มเลย คือมีความสามารถที่จะกินให้อิ่มได้ แต่พออายุ 14 ปีรู้เคล็ดลับว่า การกินน้อยทำให้ความจำดี สุขภาพก็ดีด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เคยกินอิ่มเลย การกินมากทำให้เราง่วงนอน สติปัญญาก็จะปิด มีความง่วง มีความอืด ประสาทสัมผัสจะลดลง ทำให้ขี้เกียจ นำพาไปสู่การมีโรคภัยไข้เจ็บ นั่นคือการกินที่มากเกินความต้องการ
วิธีการที่สอง นอนให้น้อย การนอนน้อยๆแต่พอเพียง อะไรคือคำว่านอนอย่างพอเพียง ...เมื่อนอนแล้วตื่นขึ้นมารู้สึกสดใส การนอนน้อยเกินไปหรือนอนมากเกินไปจะทำให้ร่างกายไม่สดใส ไม่สดชื่น นอนมาทั้งคืน แล้วตื่นละหมาดศุบฮฺ แล้วนอนต่อ อย่างนี้ทำให้รางกายไม่สดใส ความจำลดลง ประสิทธิภาพของร่างกายลดลง
หะดีษของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกให้เราทราบว่า เวลาที่คนเรานอนหลับ ชัยฏอนมันจะมาผูกปมที่ศีรษะของเราสามปม
عَنْ أَبِى هُرَيْرَةَ - رضي الله عنه - أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ - صلى الله عليه وسلم - قَالَ «يَعْقِدُ الشَّيْطَانُ عَلَى قَافِيَةِ رَأْسِ أَحَدِكُمْ إِذَا هُوَ نَامَ ثَلاَثَ عُقَدٍ، يَضْرِبُ كُلَّ عُقْدَةٍ عَلَيْكَ لَيْلٌ طَوِيلٌ فَارْقُدْ، فَإِنِ اسْتَيْقَظَ فَذَكَرَ اللَّهَ انْحَلَّتْ عُقْدَةٌ، فَإِنْ تَوَضَّأَ انْحَلَّتْ عُقْدَةٌ، فَإِنْ صَلَّى انْحَلَّتْ عُقْدَةٌ فَأَصْبَحَ نَشِيطًا طَيِّبَ النَّفْسِ، وَإِلاَّ أَصْبَحَ خَبِيثَ النَّفْسِ كَسْلاَنَ». متفق عليه.
เวลากลางคืนยังอีกยาวไกล นอนไปก่อน เวลากลางคืนยังอีกยาวนาน นอนไปก่อน ...เมื่อคนๆนี้ตื่นขึ้นมาแล้วเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ กล่าวดุอาอ์ตอนตื่นนอน ดังนี้ ปมอันที่หนึ่งมันก็จะหลุดไป ...เมื่อไปอาบน้ำละหมาด ปมอันที่สองก็จะหลุดไป ...เมื่อไปละหมาด ปมอันสุดท้ายก็จะหลุดไป ...เขาก็จะตื่นขึ้นมาในสภาพที่กระฉับกระเฉง มีจิตใจที่กระชุ่มกระชวย ตื่นมาแบบนี้จะทำอะไรก็จะง่ายดาย แต่ถ้าหากไม่ทำอย่างนี้ จะทำให้เขารู้สึกไม่ดี งัวเงีย ไม่มีแรง ขี้เกียจ นั่นคือลักษณะของคนที่นอนนานเกินไป ดังนั้น นอนน้อยๆ นอนให้พอดี ตื่นขึ้นมาก็จะสดชื่น สดใส
ชัยค์รอสลานบอกว่า ในหนึ่งวัน อย่านอนเกิน 8 ชั่วโมง เพราะมันคือหนึ่งในสามของวัน ถ้านานเกิน 8 ชั่วโมง ร่างกายจะหนืด จะอืด ...มีศ่อฮาบะฮฺท่านหนึ่งบอกท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า มีผู้ชายคนหนึ่งนอนจนไม่ได้ตื่นละหมาด ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้บอกว่า
ذَاكَ رَجُلٌ بَالَ الشَّيْطَانُ فِي أُذُنِهِ
“ชัยฏอนปัสสาวะรดเข้าไปในหูของเขาแล้ว”
( บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม )
การนอนน้อยเป็นลักษณะที่อัลลอฮฺทรงชมเชยเอาไว้สำหรับผู้ที่ยำเกรง ไม่ได้หมายถึงอดนอนธรรมดา แต่อดนอนเพื่อซิกรุลลอฮฺ ละหมาด หรือหาความรู้ที่มีประโยชน์ เป็นการอดนอนที่มีเหตุผลที่ดี อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัซซาริยาต อายะฮฺที่ 17 – 18
كَا نُوا قَلِيلًا مِّنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ ( 17 )
“พวกเขาหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน”
وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ ( 18 )
“และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)”
คนที่มีความยำเกรงนั้น ตอนกลางคืนเขาจะนอนน้อย เนื่องจากเขาละหมาด อ่านอัลกุรอาน ซิกรุลลอฮฺ ละหมาดตะฮัจยุต ...และก่อนละหมาดศุบฮฺก็ตื่นขึ้นมาละหมาดสุนัต ขออภัยโทษ ขอดุอาอ์ อะไรก็แล้วแต่ ใช้เวลาในช่วงกลางคืนสำหรับการนอนแค่เพียงพอ เพื่อที่จะตื่นขึ้นมาอย่างสดใส นี่คือวิธีการนอนน้อย อย่างนี้จะช่วยให้ความจำของเราดี จิตใจกระฉับกระเฉงนั่นเอง
วิธีการที่สาม พูดให้น้อย การพูดน้อยๆ พูดในสิ่งที่มีประโยชน์เป็นความดี พูดน้อยคือพิมพ์น้อยด้วย พิมพ์น้อย หมายถึง โพสต์น้อย แชทน้อย ทุกๆอย่างที่ออกมาจากเรา ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนหรือคำพูดก็แล้วแต่ ก็คือคำพูดของเรา เราต้องรับผิดชอบในข้อเขียนที่เราเขียนและคำพูดที่เราพูด หากว่าคำพูดของเราเป็นเรื่องที่ดี ก็พูดเลย แต่หากเป็นเรื่องที่ไม่ดี ก็อย่าพูด ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ فَلْيَقُلْ خَيْرًا أَوْ لِيَصْمُتْ ،
“ใครก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺแล้ว ก็จงพูดในสิ่งที่ดี หากพูดดีไม่ได้ก็เงียบเสีย”
( บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม )
ท่านอิมามชาฟิอีย์อธิบายว่า คำว่า”เงียบ”หมายถึง ใครก็ตามที่คิดจะพูด ให้คิดเสียก่อน ก่อนที่จะพูดออกมา ...ใครต้องการจะพิมพ์อะไร จะแชทอะไร ก็ให้คิดเสียก่อน หากว่ามันไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น ก็พูดออกไปได้ แต่หากว่าเป็นอันตราย หรือสงสัยว่าจะเป็นอันตราย ก็อย่าไปพูด อย่าไปเขียนในสิ่งที่คิดว่า หรือสงสัยว่า ถ้าพูดไปจะกระทบใครไหม พิมพ์ไปแล้วจะไปกระทบใครไหม ก็อย่าพูด อย่าเขียน
นั่นก็คือสามวิธีการที่จะทำให้เพิ่มความจำ เพิ่มประสิทธิภาพของตัวเรา ทำให้เรามีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง คือการกินให้น้อย..นอนให้น้อย..พูดให้น้อย ทั้งหมดให้อยู่ในความพอดี
خيرالاموراو سطها สำหรับสิ่งที่ดีนั้น ความดีของมันอยู่ที่ความพอดี ...มีคนกลุ่มหนึ่งไม่นอนเลย คนกลุ่มนี้จะไม่มีความสดใส ไม่มีพลัง ..กินน้อยจนเกินไป ไม่มีแรงละหมาดฟัรฎู ..อันนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ต้องทำสิ่งที่ดีให้อยู่ในความพอดี ...วันนี้เราศึกษาในสามวิธีการนี้ แต่อันที่จริงยังมีอีกหลายอย่าง การคบเพื่อนที่ดี การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ เพื่อให้เราเข้าใกล้คนรุ่นก่อนที่เขามีความจำดี มีความตั้งใจที่ดี มีความทุ่มเทในเรื่องศาสนา ซึ่งวิธีการสามประการนี้เป็นเพียงบางส่วนที่เราสามารถทำได้เลย เพื่อให้เข้าใกล้กับลักษณะดังกล่าว ที่เรียกว่า “วะเราะอ์”
ท่านอิบนิลกอยยิมอธิบายว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัมลัมได้รวมลักษณะของคำว่า”วะเราะอ์” เอาไว้ในหะดีษบทเดียวเลยว่า
: مِنْ حُسْنِ إِسْلَامِ الْمَرْءِ، تَرْكُهُ مَا لَا يَعْنِيهِ.
“ส่วนหนึ่งจากความดีงามสำหรับอิสลามของคนๆหนึ่ง ก็คือ การที่เขาละทิ้งในสิ่งที่มันไม่มีประโยชน์สำหรับเขา”
( บันทึกโดยอิมามอัตติรมีซีย์ และท่านอื่นๆ )
ทิ้งคำพูด(ไม่พูดมาก) ทิ้งอาหาร(ไม่กินมาก) ทิ้งการฟัง ทิ้งสิ่งที่มันมากเกินไป การนั่งเสวนามากเกินไป ความคิดที่มันมากเกินไป และอีกหลายๆอย่าง การขยับเขยื้อน การเคลื่อนไหวที่อยู่ภายนอกและภายในที่มันมากเกินไป และไม่มีประโยชน์สำหรับเขา นี่คือ”วะเราะอ์”
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย หวังว่าจะได้นำไปปฏิบัติ และลองทำดูว่า จะสำเร็จหรือไม่ มันเป็นวิธีการของคนที่เขาได้บุกเบิกเส้นทางมาแล้ว ของบรรดาศ่อฮาบะฮฺ บรรดาตาบิอีนที่เขาได้ทำแบบนี้ ทำให้เขามีสุขภาพที่ดี มีความจำดี มีความคิดที่ดี มีจิตใจดี มีความอดทน มีความทุ่มเทในเรื่องศาสนา
เรื่องราวเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องเอามาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนทั้งหลาย หรือคนที่อยู่ในสภาพที่กำลังแสวงหาความรู้ ต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เรายังมีพลังความคิด มีเวลาเหลือเฟือมากมาย บริหารเวลาของเราให้ดี อย่าไปทุ่มเทเวลาให้มากไปกับเรื่องของการกิน มีตรงไหนกินตรงนั้น ไม่ต้องไปเสิร์ชหา ร้านนั้นอยู่ตรงนี้ ร้านนี้อยู่ตรงโน้น ไม่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกิน พูดถึงแบบอย่างที่ดีไว้แล้ว
กินเพื่อให้อยู่ได้ ...อย่าทุ่มเวลาไปกับเรื่องการพูดมากเกินไป ...นอนมากเกินไป ...เอาเวลาต่างๆเหล่านี้มาใช้ในหนทางของอัลลอฮฺ อินชาอัลลอฮฺ เราก็จะเข้าใกล้ลักษณะของคนที่มีรูปแบบดีๆในอดีต ทั้งศ่อฮาบะฮฺและตาบิอีนในยุคแรกนั่นเอง
( คุฏบะฮฺวันศุกร์มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )